"...สถานการณ์การฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในประเทศไทย ปัจจุบันมีกลุ่มคนที่แม้แต่เข็มที่ 1 ยังไม่ได้ไปฉีดเลย โดยเฉพาะที่ต่างจังหวัด ซึ่งคนกลุ่มนี้น่าสงสารมาก ดังนั้น ถ้าหากผู้ที่ฉีด 2 เข็มไปแล้ว สละสิทธิ์ไม่ไปตามนัดหมายที่กล่าวไว้ วัคซีนก็จะตกไปถึงกลุ่มคนที่เขายังไม่เคยที่จะฉีดวัคซีนเลย ซึ่งส่วนตัวก็อยากจะขอความร่วมมือไปยังประชาชนทั่วไปที่ผ่านการฉีดวัคซีน 2 เข็มแล้วให้ปฏิบัติตามนี้ด้วย..."
...............................
ประเด็นการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 เข็ม 3 กำลังเป็นเรื่องที่ถูกกล่าวถึงกันอย่างมากในสังคมไทยช่วงเวลานี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีผลการวิจัยออกมารองรับว่า การฉีดวัคซีนสลับเข็มระหว่างซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า จะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสสูงขึ้นได้ ขณะที่บุคคลที่เคยฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มไปแล้ว เมื่อไปตรวจวัดภูมิคุ้มกันโรค กลับพบว่า มีภูมิคุ้มกันน้อยมาก
ความต้องการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันของคนในสังคมไทย จึงยิ่งมีมากขึ้น
ล่าสุดเกิดกรณีมีบุคคลที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบจำนวน 2 โดส ผ่านระบบต่าง ๆ ไปแล้ว แต่บุคคลเหล่านี้มีประวัติเคยไปลงทะเบียนฉีดวัคซีนในช่องทางอื่น ๆ เช่นผ่านช่องทางของโครงการไทยร่วมใจเป็นต้น และเพิ่งได้รับแจ้งวันนัดให้ไปฉีดวัคซีน แต่ก็ไม่สามารถไปฉีดได้ เพราะถูกร้องขอไว้ ด้วยเหตุผลที่ว่า ในประเทศไทยยังมีคนจำนวนอีกมาก ที่ไม่ได้การฉีดวัคซีน เข็มแรก
ประเด็นการฉีดวัคซีนโควิดเข็ม 3 ในสังคมไทย ดูเหมือนจะยิ่งมีปัญหาความไม่ชัดเจนมากเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) มีโอกาสสัมภาษณ์ นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับความชัดเจนเรื่องนโยบายการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ร่วมไปถึงปัญหาและอุปสรรค์ต่าง ๆ
มีรายละเอียดสำคัญ ดังต่อไปนี้
นพ.โสภณ เมฆธน : ขณะนี้ทราบมาว่าเกิดกรณีบุคคลที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบจำนวน 2 โดส จากการฉีดผ่านระบบต่าง ๆ เช่น ระบบประกันสังคม แต่บุคคลเหล่านี้มีประวัติเคยไปลงทะเบียนฉีดวัคซีนในช่องทางอื่น ๆ เช่นผ่านช่องทางของโครงการไทยร่วมใจเป็นต้น และได้รับแจ้งวันนัดให้ไปฉีดวัคซีน ซึ่งถ้าหากบุคคลเหล่านี้ไปฉีดตามโครงการที่ได้แจ้งนัดหมายไว้ ก็จะกลายเป็นการฉีดวัคซีนโดส 3 ไปโดยปริยาย
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งส่วนตัวต้องขอชี้แจงประเด็นเกี่ยวกับระบบการลงทะเบียนฉีดวัคซีนก่อนว่าแม้ว่าระบบของโครงการไทยร่วมใจที่นัดฉีดวัคซีนนั้นจะไม่ได้ผูกกับนัดหมายของหมอพร้อมก่อนหน้านี้ แต่ว่าผู้ที่เคยไปฉีดวัคซีนมาก่อนหน้าแล้ว ถ้าหากเดินทางไปที่ศูนย์ฉีดวัคซีนตามนัดหมายเพื่อที่จะฉีดเข็มหนึ่ง เจ้าหน้าที่จะมีการตรวจสอบ ด้วยการกรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชนบุคคลนั้น แล้วข้อมูลขึ้นมาว่าฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว เจ้าหน้าที่จะไม่ฉีดให้
“ยกตัวอย่าง ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนบางซื่อ ตามที่ทราบ จะมีคนมาฉีดเข็ม 3 อยู่บ่อย ๆ แต่พอเจ้าหน้าที่เช็คประวัติ เขาก็รู้เลยว่าฉีด 2 เข็มไปแล้ว และมาฉีดเข็ม 3 เขาก็ไม่ฉีดให้ ดังนั้น ผมขอเรียนว่าคนที่เคยไปฉีดวัคซีน 2 เข็มมาแล้วไม่ว่าจะผ่านช่องทางอะไรก็ตาม แต่ถ้าหากมีการนัดให้ไปฉีดวัคซีนเข็มแรกในโครงการไทยร่วมใจ หรือโครงการอื่น ๆ ก็ไม่ควรที่จะไปฉีด” นพ.โสภณระบุ
นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า สถานการณ์การฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในประเทศไทย ปัจจุบันมีกลุ่มคนที่แม้แต่เข็มที่ 1 ยังไม่ได้ไปฉีดเลย โดยเฉพาะที่ต่างจังหวัด ซึ่งคนกลุ่มนี้น่าสงสารมาก ดังนั้น ถ้าหากผู้ที่ฉีด 2 เข็มไปแล้ว สละสิทธิ์ไม่ไปตามนัดหมายที่กล่าวไว้ วัคซีนก็จะตกไปถึงกลุ่มคนที่เขายังไม่เคยที่จะฉีดวัคซีนเลย ซึ่งส่วนตัวก็อยากจะขอความร่วมมือไปยังประชาชนทั่วไปที่ผ่านการฉีดวัคซีน 2 เข็มแล้วให้ปฏิบัติตามนี้ด้วย
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ยักล่าวกล่าวถึงการทำงานของระบบเก็บข้อมูลการฉีดวัคซีนว่า “จริง ๆ ที่วางระบบแล้ว ใครจะฉีดอะไรก็ตามแต่ ทุกอย่างมันต้องวิ่งมาเข้าที่กระทรวงสาธารณสุขว่าคนไหนฉีดแล้วกี่เข็ม แต่ว่าถ้าเกิดโรงพยาบาลมีปัญหาไหนฉีดแล้วไม่ลงบันทึก 1.ผลการดำเนินงานเขาก็ไม่มี 2.การจะเบิกค่าใช้จ่ายจาก สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ)มันก็ไม่ได้ และอันที่ 3. มันก็จะไม่รู้ข้อมูลได้แน่ชัดว่าใครฉีดหรือไม่ฉีดกันแน่ แล้วถ้าหากในอนาคตมันต้องมีการใช้นโยบายการออกใบรับรองว่าใครฉีดหรือไม่ฉีด นี่ก็จะเป็นปัญหาเป็นอย่างยิ่ง”
ดังนั้นระบบเหล่านี้ก็คงจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกันอยู่เรื่อย ๆ ในอนาคตเพื่อจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ซึ่งก็เหมือนกับกรณีแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่ต้องมีการอัปเดตอยู่ตลอดเวลา
@ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร /ภาพจาก https://www.infoquest.co.th/
เมื่อถามถึงกรณีที่ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ว่า ในสัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจนเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโดส 3 ให้กับประชาชนทั่วไปที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 โดสไปแล้ว
ผู้ช่วยรัฐมนตรีสาธารณสุข กล่าวว่า “เรื่องนี้ต้องมีการพูดคุยกันก่อน และคงจะมีความชัดเจนเร็ว ๆ นี้ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ในพื้นที่ต่างจังหวัดก็ยังมีคนไม่ได้วัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว แล้วเราจะไปเข็มที่ 3 กันแล้วหรือ ซึ่งนี่คือปัญหาที่กระทรวงสาธารณสุขต้องมีการพูดกันอีกทีหนึ่ง”
แต่สิ่งที่ต้องขอประชาชน ก็คือว่าถ้าหากมีความชัดเจนในเรื่องวัคซีนเข็ม 3 สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 โดสไปแล้ว ก็ขอประชาชนว่าอย่าเอานัดหมายวัคซีนที่ลงไว้ในไทยร่วมใจว่าให้ไปฉีดเข็มแรก เอาไปเป็นเข็ม 3 เพราะการฉีดเข็ม 3 นั้นอาจจะมีความแตกต่างในเรื่องของชนิดวัคซีนและวิธีการฉีดวัคซีนก็เป็นไปได้
“ผมสมมติเฉยๆว่าถ้ามีเข็ม 3 นะ มันจะเป็นการฉีดเข้าไปในชั้นผิวหนังก็ได้ ซึ่งมันจะใช้ปริมาณวัคซีนที่น้อยกว่า ซึ่งถ้าทำแบบนี้ก็จะฉีดวัคซีนได้อีกมหาศาลเป็นต้น คือเรามีประเด็นต้องมาพิจารณากันก่อนว่า ตามที่เป็นข่าวไปแล้วว่าฉีดซิโนแวคแล้วภูมิมันตก ก็ควรจะต้องฉีดเข็ม 3 ทีนี้ตามหลักการก็ต้องดูว่าจะฉีดอะไร ซึ่งเท่าที่ดูก็น่าจะเป็นวัคซีนยี่ห้อแอสตร้าเซนเนก้า และมันก็มีประเด็นมาพิจารณาอีกว่าจะฉีดห่างจากเข็ม 2 สักกี่เดือนดี แล้วจะฉีดวิธีไหนมันจะมีวัคซีนพอหรือไม่ มีเรื่องต้องมาพิจารณาเยอะมาก”
ผู้ช่วยรัฐมนตรีสาธารณสุข เน้นย้ำอีกว่า คนที่ฉีดซิโนแวค 2 โดสไปแล้ว ขอให้ทิ้งไปเลยไม่ว่าจะมีคิวจองวัคซีนโครงการอะไรอื่น ๆ อยู่ในนั้น อย่าไปคิดว่านั่นจะเป็นวัคซีนเข็ม 3 และขอให้รอความชัดเจนจากทางรัฐบาลที่จะออกมาหลังจากหารือแล้วจะดีกว่า
เมื่อถามถึงกรณีที่มีบุคคลที่จองวัคซีนทางเลือก ไปนัดฉีดวัคซีนกับช่องทางของทางรัฐบาลด้วยอีกทางหนึ่ง แล้วในภายหลังปรากฏว่านัดหมายของวัคซีนจากทางรัฐบาลกับนัดหมายวัคซีนทางเลือกกระชั้นชิดมาก เรื่องนี้จะดำเนินการอย่างไร จะมีการประสานข้อมูลกันไหม
ผู้ช่วยรัฐมนตรีสาธารณสุข ย้ำว่า คนไทยทุกคนมีสิทธิได้รับวัคซีน แต่เรื่องของวัคซีนทางเลือกก็เป็นเรื่องของเขา เป็นการตัดสินใจของแต่ละคนว่าจะทำอย่างไร ถ้าหากมีการนัดฉีดวัคซีนแบบกระชั้นชิดเกิดขึ้น ซึ่งส่วนตัวถ้าหากเกิดกรณีบุคคลได้รับนัดหมายกระชั้นชิดกันแบบนี้ ก็อยากให้เขาไปสอบถามผู้เชี่ยวชาญให้แน่ชัดว่าจะฉีดได้ไหม ถ้าฉีดไปแล้ว 2 แล้วโมเดอร์นามาพอดี แล้วจะดำเนินการอย่างไร
“ผมคิดว่าในอนาคตคงมีองค์ความรู้ออกมาเพิ่มเติมอีก โดยเฉพาะกรณีการฉีดเข็ม 3 เช่น แบบโมเดอร์นา อาจจะบอกว่าฉีดครึ่งหนึ่งได้หรือไม่ ดังนั้นก็ต้องดูทางผู้เชี่ยวชาญอีกทีหนึ่ง”
เมื่อถามว่าข้อมูลประวัติการฉีดวัคซีนของประชาชนนั้น โรงพยาบาลเอกชนจะสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้หรือไม่
ผู้ช่วยรัฐมนตรีสาธารณสุข ตอบว่า "การทำงานของระบบ ทางกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครองนั้นมีการเชื่อมข้อมูลมากับทางหมอพร้อมแล้ว แค่กรอกเลขบัตรประชาชน 13 หลักก็รู้ได้เลยว่าคนนั้นฉีดวัคซีนมาแล้ว คนนั้นฉีดวัคซีนไปกี่เข็มแล้ว ฉีดอะไร ซึ่งทางโรงพยาบาลเอกชนก็สามารถเข้าถึงข้อมูลตรงนี้ได้ด้วยเช่นกัน และในอนาคตคาดว่าคงมีการใช้ระบบนี้กับที่สนามบินก่อนขึ้นเครื่องบินด้วยเช่นกัน"
"ส่วนประเด็นโรงพยาบาลเอกชนที่ถามมานั้น คิดว่าเรื่องนี้ก็คงเป็นสิ่งที่หมอของทางโรงพยาบาลก็คงจะต้องพิจารณาในเรื่องของการจัดการฉีดให้กับผู้ที่เพิ่งได้รับวัคซีนด้วยว่ามันจะมีความเหมาะสมหรือไม่ และในอนาคตก็คงจะมีคำแนะนำเรื่องนี้ที่ชัดเจนออกมาอีกทีหนึ่ง"
“โรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพนั้นเขาก็รู้ระบบอยู่แล้ว แต่คำถามก็คือว่า เขาจะตรวจสอบก่อนที่จะฉีดวัคซีนหรือไม่ คือบัตรประชาชนเสียบเข้าไปก็รู้แล้วว่าใครฉีดหรือไม่ฉีด บางแห่งผู้ใช้บริการมาก็ฉีดให้เลย แบบนี้เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามเรื่องวัคซีนทางเลือกนั้นมันก็เป็นเรื่องของคนที่จ่ายเงิน และเรื่องของโรงพยาบาลที่จอง ซึ่งเขาก็ควรจะต้องปรึกษาหารือกัน และก็เป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลเอกชนด้วยที่จะต้องดูแลผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนให้ปลอดภัย” ผู้ช่วยรัฐมนตรีสาธารณสุข กล่าวทิ้งท้าย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage/