"...ในความคิดของเคลียร์ กระบวนการที่ทำให้เกิดนิสัยมีอยู่ 4 ประการคือ สิ่งเร้าหรือสิ่งกระตุ้น (cue) ความอยากและความกระตือรือร้นที่จะทำในสิ่งนั้น (craving) การตอบสนอง (response) และผลที่ได้รับ (reward) ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราผ่านร้านหมูปิ้งกลิ่นหอมควันโขมงใกล้ที่ทำงาน (cue) เราจะรู้สึกอยากลิ้มรสขึ้นมาทันที (craving) จึงตัดสินใจซื้อพร้อมกินหมดก่อนเข้าทำงาน (response) ด้วยความอิ่มอกอิ่มใจว่าอร่อยสมใจอยาก จนกลายเป็นนิสัยติดตัวที่ต้องหยุดแวะซื้อทุกเช้า (reward)..."
......................................
ผมมักจะได้รับคำถามอยู่เสมอว่า ทำไมจึงเขียน weekly mail ได้ทุกสัปดาห์มาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว คำตอบก็คือ ผมเริ่มจะให้เป็นงานอดิเรกจนกลายมาเป็น “นิสัย” (habit) ถึงทุกวันนี้ ถ้าสัปดาห์ไหนไม่ได้เขียน weekly mail ก็จะรู้สึกเหมือนกับขาดอะไรในชีวิตไป และคงจะเป็นเรื่องบังเอิญที่เมื่อสองวันก่อน ผมท่องเข้าไปในกูเกิลเพื่อค้นหาหนังสือ “best seller” พบว่า มีหนังสือชื่อ Atomic Habits (เพราะชีวิตดีได้กว่าที่เป็น) ผมจึงรีบหามาอ่านผ่าน on line และพบว่าอ่านสนุกเนื้อหาจูงใจเขียนขึ้นอย่างง่าย ๆ ผมเลยใจจดใจจ่ออ่านเพลินจนจบเรื่อง และคิดว่าควรจะเสนอเป็นเรื่องสำหรับ weekly mail ฉบับนี้
หนังสือ Atomic Habits เป็น best seller ติด 1 ใน 10 มาตั้งแต่ปี 2018 ถือเป็นหนังสือขายดีระดับโลกของ New York Times ซึ่งมียอดขายกว่า 5 ล้านเล่ม และได้รับการแปลไปกว่า 50 ภาษาทั่วโลก ผู้เขียนคือ เจมส์ เคลียร์ (James Clear) นักเขียนชาวอเมริกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างนิสัยเพื่อชีวิตที่ดีกว่า
เจมส์ เคลียร์ เริ่มต้นหนังสือด้วยประโยคเด็ดที่ว่า “Tiny Changes Remarkable Results” การปรับเปลี่ยนเพียงนิดเดียวแต่ผลได้เกินความคาดหมาย โดยยกตัวอย่างว่า ใน 1 ปี มี 365 วัน ถ้าเราทำวันละ 1 และเมื่อคำนวณตามหลักคณิตศาสตร์ 1 ยกกำลัง 365 จะเท่ากับ 1 แต่หากเราเพิ่มแต่วันละจาก 1 เป็น 1.01 จะทำให้ผลเป็น 1.01 ยกกำลัง 365 เท่ากับ 37.78 หรือเพิ่มขึ้นกว่าถึง 38 เท่า เป็นข้อพิสูจน์ ที่แสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ที่เล็กมาก ๆ อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ขึ้นได้เสมอ[1]
จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้คือ สูตรสำเร็จที่เกิดจากประสบการณ์ล้วน ๆ ของผู้เขียนที่ขัดเกลานิสัยมาตั้งแต่อายุ 15 ปี โดยไม่พึ่งพาหลักวิทยาศาสตร์ใด ๆ แม้กระทั่งวิชาชีวกลศาสตร์ (Biomechanics) ในระดับปริญญาตรีที่ร่ำเรียนมา เคลียร์เป็นนักกีฬาเบสบอลที่เก่งกาจของทีมโรงเรียนมัธยมแฮมิลตัน รัฐโอไฮโอ เจริญรอยตามพ่อที่เป็นนักเบสบอลอาชีพ แต่วันหนึ่ง ขณะกำลังซ้อมเบสบอลอยู่ได้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เมื่อเพื่อนร่วมทีม ทำไม้เบสบอลหลุดมือมากระแทกศีรษะและใบหน้าของเคลียร์อย่างจัง ด้วยความแรงทำให้สมองบวมและใบหน้ายุบ ต้องรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียูด้วยอาการโคม่าหลายสัปดาห์กว่าร่างกายจะกลับมาเป็นปกติ แต่ ณ เวลานั้น ก็ไม่สามารถเล่นเบสบอลได้เหมือนเก่า ถูกตัดตัวออกจากทีม มองเห็นวันข้างหน้าด้วยความมืดมน แต่ได้ตัดสินใจเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเดนิสัน มหาวิทยาลัยชั้นนำด้าน Liberal Arts ซึ่งเคลียร์เชื่อว่า เป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดในชีวิต เขาได้รับเลือกเป็นนักกีฬาเบสบอลของมหาวิทยาลัย แม้จะเป็นผู้เล่นสำรองคนสุดท้าย แต่ก็เป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง และพร้อมจัดระเบียบชีวิตตนเองเสียใหม่ แทนที่จะ
เล่นวิดีโอเกมส์กับเพื่อน ๆ จนดึกดื่น ก็เลือกที่จะเข้านอนเร็วและตื่นเช้าขึ้นมาทบทวนบทเรียน จัดห้องพักให้สะอาดเรียบร้อยเพื่อสร้างบรรยากาศให้เป็นคนมีนิสัยชอบเรียนหนังสือ จัดตารางเวลาประจำวัน ไปโรงยิมฯ สัปดาห์ละ 3 ครั้ง เป็นผลให้ร่างกายสูงใหญ่ 193 เซนติเมตร น้ำหนักเพิ่มขึ้นจาก 72 กิโลกรัมเป็น 90 กิโลกรัมจากการที่สร้างนิสัยหรือพฤติกรรมวันละเล็กวันละน้อย ทำให้เคลียร์ได้รับเลือกเป็นกัปตันทีมเบสบอล เป็นนักกีฬาดีเด่นของมหาวิทยาลัย พร้อมกับเรียนจบเป็นบัณฑิตปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง
เคลียร์สรุปประสบการณ์ชีวิตชองตนเองว่า ไม่ได้เป็นบัณฑิตเกียรตินิยมและนักกีฬาดีเด่นชั่วข้ามคืน แต่หากเป็นผลที่ทำมาจนเป็นนิสัยตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 เพราะฉะนั้น การสร้างนิสัยดี ๆ อะไรสักอย่างหนึ่ง แม้ในระยะแรกจะเป็นสิ่งที่เล็กและไม่สำคัญ แต่หากเราทำสิ่งนั้นอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถสร้างผลสำเร็จที่น่าประทับใจและสมหวังขึ้นมาได้ และนี่คือ แรงบันดาลใจที่ทำให้เคลียร์ลุกขึ้นมาเขียนเล่าประสบการณ์ชีวิตใน Atomic Habits
เคลียร์อธิบายว่า นิสัยคือ ความประพฤติที่เคยชินหรือวิธีการที่ใช้แก้ปัญหาของชีวิตโดยใช้ความพยายามเพียงเล็กน้อยก็จะช่วยให้เราใช้ชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพได้ คนทุกคนมีนิสัยแตกต่างกัน ทั้งนิสัยดีและนิสัยไม่ดี ซึ่งเคลียร์เชื่อว่า มนุษย์สามารถสร้างนิสัยได้ด้วยจิตสำนึก[2]
ในความคิดของเคลียร์ กระบวนการที่ทำให้เกิดนิสัยมีอยู่ 4 ประการคือ สิ่งเร้าหรือสิ่งกระตุ้น (cue) ความอยากและความกระตือรือร้นที่จะทำในสิ่งนั้น (craving) การตอบสนอง (response) และผลที่ได้รับ (reward) ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราผ่านร้านหมูปิ้งกลิ่นหอมควันโขมงใกล้ที่ทำงาน (cue) เราจะรู้สึกอยากลิ้มรสขึ้นมาทันที (craving) จึงตัดสินใจซื้อพร้อมกินหมดก่อนเข้าทำงาน (response) ด้วยความอิ่มอกอิ่มใจว่าอร่อยสมใจอยาก จนกลายเป็นนิสัยติดตัวที่ต้องหยุดแวะซื้อทุกเช้า (reward)
อย่างไรก็ตาม เมื่อเราจะปรับปรุงนิสัยต้องไม่คาดหวังที่จะเห็นผลแบบทันทีทันใด เพราะอาจจะทำให้เกิดความผิดหวัง ในที่สุดก็จะเลิกทำ ดังนั้น การตั้งใจจะทำอะไรให้เป็นนิสัยนั้น ควรจะตั้งเป้าหมายไว้ว่า เราอยากจะเป็นอะไร มากกว่าเราจะบรรลุผลสำเร็จอย่างไร (identity-based habits) ตัวอย่างเช่น คนสองคนตั้งใจจะเลิกสูบบุหรี่ เมื่อมีคนยื่นบุหรี่มาให้สูบ หากคนแรกพูดว่า “ไม่เป็นไรครับ ขอบคุณครับ ผมกำลังพยายามจะเลิกสูบ” ทำให้ฟังเหมือนดูเหมือนว่า เขายังเป็นคนสูบบุหรี่แต่กำลังพยายามจะเลิกสูบ แต่เมื่อคนที่สองพูดว่า “ไม่ครับ ผมไม่สูบบุหรี่” เราจะเห็นความเป็นตัวตนที่เด็ดขาดว่า จะไม่สูบบุหรี่ ดังนั้น ความแน่วแน่ในการสร้างนิสัยใหม่ต้องเกิดจากเนื้อในตน
ในสัปดาห์หน้า ผมจะมาเล่าต่อถึงหัวใจสำคัญ 4 ข้อของเจมส์ เคลียร์ ในการสร้างนิสัยที่ดีและลดเลิกนิสัยที่ไม่ดี ซึ่งเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่เรามักมองข้ามไป ซึ่งคล้องจองกับชื่อหนังสือ “Atomic Habits” ว่าจะสร้างนิสัยอย่างไรให้ได้สมฤทธิ์ผล
แหล่งที่มา:
[1] James Clear (เจมส์ เคลียร์) Atomic Habits : An Easy & Proven Way to Build Good Habits & Break Bad Ones, Penguin Random House LLC 2018
[2] Poosuwan, B., 2021. "Atomic Habits" ลงทุนฝึกนิสัยให้ดีขึ้น 1% ผลลัพธ์ที่ได้ จะเหมือนกับดอกเบี้ยทบต้น - ThaiPublica. [online] ThaiPublica. Available at: <https://thaipublica.org/2019/01/pridi130/> [Accessed 1 August 2021].