ช่วงนี้คนไข้โควิดใหม่ตัวเลขวันละเกือบ 2 หมื่นคนทุกวัน ผมเชื่อว่า ทันทีที่คนรู้ว่าผลตรวจโควิดเป็นบวก ส่วนใหญ่จะตกอกตกใจว่า แล้วตัวเองจะป่วยหนักไหม ? อยู่รักษาตัวที่บ้านจะปลอดภัยหรือไม่ ? จะต้องเข้าโรงพยาบาลหรือถึงขั้นต้องเข้าไอซียู และเสียชีวิตไหม ?
.............................
ผมได้ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการจาก รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย หนึ่งในแม่ทัพด่านหน้าที่รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้ความว่า…
โดยเฉลี่ยใน 100 คนที่ติดโควิด-19 จะแบ่งผู้ป่วยได้เป็น 3 กลุ่ม
(1) 50 คน จะเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว - ในจำนวนนี้ 20 คน จะไม่มีอาการ 30 คน จะมีอาการเล็กน้อย และหายเอง
(2) 30 คน จะเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง - มีอาการแต่ไม่รุนแรง อาจมีลงปอดบ้าง กลุ่มนี้อยู่โรงพยาบาลสนาม หรือดูแลที่บ้านได้
(3) 20 คน จะเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีแดง - ต้องอยู่โรงพยาบาล คนไข้กลุ่มนี้ 5 คนจะมีอาการหนักมาก ในกลุ่มคนไข้อาการหนักมาก 2 จาก 5 คนนี้ จะต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ และสุดท้าย 1 ใน 2 คนที่ใส่เครื่องช่วยหายใจจะเสียชีวิต
โดยสรุปคือ ในจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 100 คน จะมี 1 คนที่เสียชีวิตตามสถิติในขณะนี้
จะเห็นว่า ทั้งผู้ป่วยและญาติส่วนใหญ่ ก็ไม่ต้องเครียดจนเกินสถานการณ์ไป ขอให้ท่านตั้งสติ ดูว่าตัวเองอยู่ในคนไข้กลุ่มไหน และให้ความร่วมมือปฏิบัติตามที่ทีมผู้ให้การรักษาแนะนำ เพราะยิ่งเครียด ร่างกายจะยิ่งอ่อนแอที่จะสู้กับโควิด-19
ทีนี้หากดูเฉพาะในจำนวน 100 คนที่เสียชีวิต ประมาณ 80 คน จะเป็นผู้ป่วยสูงอายุที่เกิน 60 ปี กับคนที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีโรคประจำตัว 7 โรค เบาหวาน ความดันสูงบวกโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเส้นเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคปอดเรื้อรัง ไตวายเรื้อรัง และโรคอ้วน โรคอ้วนแม้จะอายุไม่มากก็เสี่ยงเสียชีวิตหากติดโควิด-19
อีก 20 คน แม้เป็นคนที่ไม่มีประวัติโรคประจำตัว แต่เพราะได้รับเชื้อมาก โรคเป็นรุนแรง หรือมารับการรักษาช้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่อายุใกล้ ๆ 50-60 ปี
ถ้าดูจากสถิติข้างต้น กล่าวได้ว่า คนที่อายุต่ำกว่า 60 ปี และไม่มีโรคประจำตัว รวมถึงไม่อ้วนเกินไป มีความเสี่ยงน้อยมากที่จะป่วยหนักและเสียชีวิต ดังนั้น คนกลุ่มนี้จึงไม่ควรต้องกังวลหรือเครียดมากเกินไป (ทั้งนี้กล่าวเฉพาะความกังวลหรือเครียดที่เกี่ยวกับความรุนแรงของโรคที่จะเกิดขึ้นเท่านั้น)
วิธีที่คนมีโรคประจำตัว 7 โรค จะลดความเสี่ยงป่วยหนักจากโควิด-19 ได้ คือ การดูแลรักษา คุมโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ให้ดีที่สุด รวมทั้ง คนที่อ้วนเกินไปก็ต้องพยายามลดน้ำหนักให้ได้
และจากข้อมูลที่พบว่า คนที่สูบบุหรี่หากติดโควิด-19 จะป่วยหนัก และเสียชีวิตมากกว่าคนไม่สูบบุหรี่ที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19 มากกว่า 2 เท่า องค์การอนามัยโลกจึงรณรงค์มา 2 ปีติดต่อกันแล้วว่า การระบาดของโควิด-19 เป็นช่วงเวลาดีที่สุดที่จะเลิกสูบบุหรี่ และเลิกดื่มสุรา ผมขอเพิ่มลดนำ้หนักในคนที่อ้วนเกินด้วยครับ
เขียนโดย ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ