"…ผลสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวกว่า 30 บริษัท สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนักมาก โดยปกติแล้วรัฐจะช่วยเหลือทุกภาคส่วนอย่างเท่าๆ กัน จึงอยากให้รัฐให้ความช่วยเหลือตามระดับความรุนแรงของผลกระทบมากกว่า โดยมีข้อเสนอเชิงนโยบาย ทั้งหมด 5 มาตรการหลัก ได้แก่ 1. การช่วยเหลือผู้ประกอบการ 2. การสร้างความเชื่อมั่นและการบริหารจัดการความเสี่ยง 3. การกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว 4. การฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว และ 5. การจัดทำยุทธศาสตร์แบบบูรณาการ…"
……………………………………………
ผลกระทบจากโควิดเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจภาคการท่องเที่ยวซบเซา ด้วยสถานการณ์การระบาดที่รุนแรงและมาตรการลดการเคลื่อนย้าย ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาภายในประเทศ หลายธุรกิจต้องปิดตัว หรือต้องลดการจ้างงาน
อย่างไรก็ตามแม้รัฐจะเปิดโครงการ ‘ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์’ และ ‘สมุย พลัส โมเดล’ แล้ว ก่อนจะขยายผลไปในพืนที่ท่องเที่ยวอื่น แม้สถานการณ์การท่องเที่ยวจะเริ่มดีขึ้น แต่ผลกระทบจากโควิดสะสมมากกว่า 1 ปีแล้ว การจะฟื้นฟูต้องใช้เวลา
ดังนั้นแล้วรัฐควรจะช่วยเหลือเยียวยาภาคการท่องเที่ยวอย่างไรในสถานการณ์การระบาดของโควิด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมข้อมูลจากงานเสวนายุทธศาสตร์และข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด ต่อภาคการท่องเที่ยว จากคณะผู้วิจัย วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
ดร.นิภาวรรณ ธิราวัฒน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัยและการบริหารวิชาการ กำกับดูแลกลุ่มบริหารวิชาการ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ตัวแทนคณะผู้วิจัยได้นำเสนอผลสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวกว่า 30 บริษัท สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนักมาก โดยปกติแล้วรัฐจะช่วยเหลือทุกภาคส่วนอย่างเท่าๆ กัน จึงอยากให้รัฐให้ความช่วยเหลือตามระดับความรุนแรงของผลกระทบมากกว่า โดยมีข้อเสนอเชิงนโยบาย ทั้งหมด 5 มาตรการหลักดังนี้
1. มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยว ได้แก่ มาตรการเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ ที่นอกเหนือจากการให้สินเชื่อ อาทิ การให้เงินเปล่า เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องและพัฒนาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะโรงแรมขนาดเล็ก เนื่องจากปัจจุบันภาคประชาชนเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนภายใต้ความช่วยเหลือของธนาคารต่างๆได้ เนื่องจากติดเงื่อนไขมากมาย, การรับซื้อสินทรัพย์จากผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ประกอบการนำสินทรัพย์มาแปลงเป็นทุนได้ และการจัดทำโครงการร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการที่ขาดสภาพคล่อง หรือ Venture Capital โดยให้ลงทุนเป็นระยะเวลา 3-5 ปี
การลดภาษีทางอ้อมลง 2% เช่น ลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มลง 2% เฉพาะธุรกิจในภาคท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การขนส่ง อาหาร โรงแรม ท่องเที่ยว บันเทิง วัฒนธรรม กีฬา เป็นต้น และ การคืนภาษีเงินให้ได้รวดเร็วขึ้นภายใน 3-6 เดือน เนื่องจากเอกชนจะได้นำเงินในส่วนนี้ไปหมุนเวียนได้เร็ว โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด รวมถึง มาตรการลดต้นทุนด้านแรงงานสำหรับธุรกิจด้านการท่องเที่ยว 10% ให้กับผู้ประกอบการ เนื่องจากนโยบายของรัฐในหารจ่ายเงินผู้ประกอบการกว่า 2,000 บาท ระยะเวลา 2 เดือน เพื่อแก้ปัญหาคงไม่เพียงพอและไม่ต่อเนื่องที่จะทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวฟื้นฟูได้มากเท่าที่ควร
มาตรการลดราคาน้ำมัน 15% โดยอาจให้ e-coupon เป็นส่วนลดสำหรับผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ให้ลดราคาน้ำมันสำหรับภาคธุรกิจท่องเที่ยวทั้งในทางบก ทางน้ำด้วย เพราะการลดราคาต้นทุนนี้ จะช่วยให้ธุรกิจท่องเที่ยวมีสภาพคล่องทางการเงินมากขึ้น การเลื่อนการชำระภาษีรถยนต์และค่าต่อทะเบียนรถประจำปี หรือรัฐจ่ายเงินอุดหนุนให้ผู้ประกอบการรถตู้และการขนส่งในการท่องเที่ยว เนื่องจากปัจจุบันพบมีค่าใช้จ่ายของระบบ GPS ประมาณ 2,000 บาทต่อปี ซึ่งในภาวะวิกฤตโควิดผู้ประกอบการยังขาดแคลนเงินในส่วนนี้ หากรัฐช่วยได้ จะช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานของผู้ประกอบการด้านการขนส่งได้ และ ควรลดการเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย เหลือ 1% จากราคาค่าเช่ารถยนต์
ทั้งนี้จากการคำนวณด้วยโปรแกรมทางสถิติถึงผลการใช้มาตรการในการแก้ปัญหาวิกฤตการท่องเที่ยว จากมาตรการลดภาษีทางอ้อม 2% มาตรการลดราคาน้ำมัน 10% และมาตรการลดต้นทุนด้านแรงงาน 10% จะพบว่า ทุกองค์ประกอบทางเศรษฐกิจปรับตัวสูงขึ้นมากกว่ากรณีเราได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างหนักหน่วง (Extreme Impacts) และการตั้งสมมติฐานหนักเบาของผลกระทบจากโควิดออกเป็น 3 ระดับ (Measures Impacts)
“โดย GDP ปรับขึ้นมาสูงถึง 1.85 ดัชนีราคาปรับตัวลดลง (GDP deflator) -1.33 แสดงว่าผู้บริโภคจะได้ซื้อสินค้าในราคาที่ถูกลง ส่งผลให้ครัวเรือนออกมาใช้จ่ายมากขึ้น เงินบาทอ่อนค่ามากขึ้น (Exchange rate) ซึ่งจะดีต่อภาคการส่งออก จะทำให้การส่งออกของไทยดีขึ้น และผลตอบแทบการลงทุน (Returns to capital) และการจ้างงานจะดีขึ้น (Employment) แสดงให้เห็นว่าหากรัฐใช้มาตรการดังกล่าวจะช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤตการท่องเที่ยวในช่วงโควิดได้” ดร.นิภาวรรณ กล่าว
2. มาตรการสร้างความเชื่อมั่นและการบริหารจัดการความเสี่ยง ได้แก่ การนำเข้าวัคซีนที่มีคุณภาพมากขึ้น ให้หลากหลายและครอบคลุม ซึ่งต้องมีการจัดลำดับให้ ‘กลุ่มผู้มีรายได้น้อย’ ได้รับวัคซีนก่อนด้วย นอกเหนือจากบุคลากรการแพทย์ กลุ่มผู้สูงวัย หญิงตั้งครรภ์ และกลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเสี่ยง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องเดินทางออกไปทำงานอยู่ตลอด ด้วยความจำเป็นในการดำรงชีพ การประเมินสถานการณ์และความเสี่ยงในอนาคตอย่างเป็นระบบ เนื่องจากปัจจุบันชุดข้อมูลยังอยู่ในมือของแต่ละภาคส่วน ทำให้การนำข้อมูลไปสร้างนโยบายทำได้ยากและช้า ต้องขอข้อมูลจากแต่ละหน่วยงาน ซึ่งใช้ระยะเวลาในการเก็บรวมรวมไม่เท่ากัน
การส่งเสริมนโยบายการสื่อสารเชิงรุกบนพื้นที่ฐานข้อมูลจริง เพื่อให้ประชาชนสามารถวางแผนเตรียมตัวได้เป็นอย่างดี ซึ่งควรจะมีการติดตาม ประเมิน และสุ่มตรวจสถานประกอบการอย่างเป็นระบบและเข้มงวดมากขึ้น เพื่อให้โครงการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยดำรงไว้ซึ่งมาตรฐานความปลอดภัยอย่างเข้มแข็ง และ การผลักดันการทำระบบ Tourist Tracker ไม่เพียงแต่เฉพาะจัดเก็บข้อมูลนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ทำอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น แต่ควรเก็บข้อมูลจากนักท่องเที่ยวชาวไทยด้วย เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการสร้างนโยบายได้ในอนาคต ทั้งนี้อยากให้จัดเก็บข้อมูลในระบบ Big Data เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกคนสามารถใช้ และเข้าไปดึงข้อมูลมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว
3. มาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว ได้แก่ การเสนอให้ภาครัฐอนุญาตให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศได้ ควบคู่กับการดูแลเรื่องมาตรการสาธารณสุขอย่างเข้มงวด เช่น Vaccine Passport เพิ่มจำนวนโครงการและพื้นที่ต้นแบบ Safety Zone โครงการพื้นที่ท่องเที่ยวปลอดภัย สำหรับนักท่องเที่ยวให้มากขึ้นกว่าเดิม และครอบคลุมในจังหวัดที่เป็นที่ท่องเที่ยวเมืองหลัก นอกเหนือจากกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ชลบุรี และน่าน
“โดยเหตุผลที่เน้นการช่วยเหลือในที่ท่องเที่ยวเมืองหลักก่อนนั้น เนื่องจากจังหวัดเหล่านี้พี่งพาการท่องเที่ยวมากกว่าจังหวัดอื่น จึงควรให้ความสำคัญกับจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมากกว่าก่อน” ดร.นิภาวรรณ กล่าว
การช่วยสนับสนุนด้านการตลาดการท่องเที่ยว อาทิ การจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสินค้าการขาย โดยเฉพาะร้านค้าสินค้าเล็กๆ ในชุมชน ซึ่งคณะผู้วิจัยพบว่าวิธีนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากประชาชนเป็นอย่างดี เพราะเมื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมรูปแบบดังกล่าวมักจะได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่น การส่งเสริมให้ประชาชนในจังหวัดท่องเที่ยวในภูมิภาคตนเอง เนื่องจากนักท่องเที่ยวในปัจจุบันน้อยลง โดยรัฐควรจะส่งเสริมให้ท่องเที่ยวในจังหวัดตนเอง หรือจังหวัดอื่นภายในประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงแค่ช่วงวันหยุดยาว (Long-weekend) แต่ยังรวมถึงวันอื่นๆด้วย
และ การสนับสนุนงบประมาณในการทำงานนวัตกรรม งานวิจัยใหม่ๆ รวมถึงออนไลน์แพลตฟอร์ม ด้านการท่องเที่ยว และมุ่งเน้น Digitalization โดยให้มีการบูรณาระหว่างกันมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันนวัตกรรมนั้นยังกระจัดกระจาย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเองก็ทำ หอการค้าก็ทำ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมต่างก็ทำนวัตกรรมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่สำคัญยังไม่มีคนใช้มากเท่าที่ควร เพราะฉะนั้นเราควรมีบูรณาการให้มาอยู่ร่วมกัน และมีการประชาสัมพันธ์ ทำการตลาดเชิงรุกให้เป็นที่รู้จักเหมือนอย่างแอปพลิเคชัน Agoda ด้วย
4. มาตรการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว ได้แก่ การจัดตั้งกองทุนเปิดเพื่อฟื้นฟูด้านการท่องเที่ยว โดยอาจร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันลงทุนในหลักทรัพย์ ซึ่งอาจมีอายุระยะเวลา 5-10 ปี เนื่องจากได้รับผลกรับผลกระทบจากโควิดมานาน การฟื้นฟูย่อมต้องใช้เวลา การจัดตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือกัน จะสร้างสภาพคล่องทางการเงินไปหมุนเวียนธุรกิจต่อได้ นอกจากนั้นยังควร สนับสนุนงบประมาณเพื่อส่งเสริมการจัดกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสคลี่คลายลง
และ ควรบูรณาการการจัดทำนโยบายที่เข้มแข็ง เพื่อช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยวและสนับสนุนการฟื้นฟูอย่างยั่งยืนและทั่วถึง โดยเน้นการประสานงานและร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานทุกระดับ รวมทั้งภาคเอกชนด้วย เนื่องจากหากไม่บูรณาการร่วมกัน การออกมาตรการบางประการอาจขัดแย้งกันเองได้ และการกำหนดมาตรการจากส่วนกลาง อาจทำให้เกิดการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด บางภูมิภาคไม่อาจใช้ได้ เนื่องจากแต่ละภูมิภาคไม่เหมือนกัน
5. การจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวแบบบูรณาการ การท่องเที่ยวแบบบูรณาเป็นปัญหาที่ประเทศไทยประสบกันมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตามแม้จะมีพยายามทำมาบ้างแล้ว แต่ยังไม่สมบูรณ์แบบ ดังนั้นเราจึงอยากให้ข้อเสนอรัฐนำไปพัฒนาให้ดีขึ้น ได้แก่ การส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยการจัดทำยุทธศาสตร์ที่ระดมความเห็นจากทุกภาคส่วน รวมถึงภาคประชาชนด้วย โดยไม่เพียงแต่มุ่งเน้นด้านเศรษฐกิจด้านเดียว แต่ให้เน้นการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย
การตั้งเป้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้รัฐกำหนดเป้าหมายมาอย่างชัดเจนว่าจะมุ่งเป้าพัฒนาการท่องเที่ยวด้านใด เช่น การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (Green Tourism) หรือการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical and Wellness) เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนสามารถปรับแผนการบริหารธุรกิจได้อย่างมั่นคง และ การสร้างจังหวัดนำร่องให้เป็นเขตปกครองเศรษฐกิจพิเศษด้านการท่องเที่ยว โดยอาจขอเก็บรายได้ของจังหวัดไว้ 15% ส่วนที่เหลือคืนส่งให้รัฐ เพื่อให้เกิดความคล่องและยืดหยุ่นในการบริหารจังหวัดตนเอง และตอบสนองความต้องการท้องถิ่นได้
นอกจากนั้น ยังรวมถึง การสร้าง Smart City และ Smart Tourism ที่จะพัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลส่วนกลาง โดยการทำเป็นระบบ Bid data ซึ่งทุกภาคส่วนสามารถจัดเก็บและดึงข้อมูลนักท่องเที่ยวไปใช้ได้ โดยขอให้นำไปเชื่อมกับ Tourist Tracker ที่เสนอไว้ข้างต้นด้วย การปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับธุรกิจท่องเที่ยวและการลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยวของนักลงทุนต่างชาติ จำกัดจำนวนใบอนุญาตผู้ประกอบการทัวร์จากต่างประเทศ การนำธุรกิจที่ดำเนินการผิดกฎหมายหรือผิดระเบียบ ให้เข้ามาอยู่ภายใต้กฎระเบียบอย่างเท่าเทียมกัน หลังจากพบว่าในปัจจุบันมีผู้ประกอบการหลายรายที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนโรงแรมอย่างถูกกฎหมาย ประสบปัญหาเรื่องเงื่อนไขเอกสารที่เยอะ และการจ่ายเงินซ้ำซ้อนระหว่างการขอขึ้นทะเบียน และ ควรปรับปรุงกฎหมายด้านผังเมือง และกฎหมายด้านสิ่งแวลดล้อม เพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ เช่น กำหนดให้เรือที่มาจอดที่ท่าเรือในเมืองหลักท่องเที่ยวสามารถจอดได้เกิน 30 วัน
“ทั้งนี้ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด ต่อภาคการท่องเที่ยวดังกล่าว ทางวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล จะเป็นส่วนกลางในการประสานความร่วมมือระหว่างภาคประชาชนและรัฐบาลต่อไป โดยหลังจากจบการเสวนาออนไลน์นี้จะเขียนรายงานและสรุปนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี แต่ข้อเสนอเชิงนโยบายจะถูกนำไปปรับใช้หรือไม่จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของนายกรัฐมนตรีต่อไป” ดร.นิภาวรรณ กล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage