ศ.นพ.ยง เผยไทยมีวัคซีนจำกัด-เผชิญโควิดกลายพันธุ์เดลตา จำเป็นต้องสลับชนิดฉีด ซิโนแวคก่อน ตามด้วยแอสตร้าฯ กระตุ้นภูมิต้านทานสูงขึ้นเร็วใน 6 สัปดาห์ ชี้ไวรัสไม่รู้ว่าวัคซีนยี่ห้ออะไร ย้ำอนาคตมีวัคซีนชนิดอื่น พร้อมปรับเปลี่ยน
-----------------------------------------
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 12 ก.ค.2564 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชาการกุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประเด็นเรื่อง การให้วัคซีนโควิดสลับชนิดกัน ว่า วิกฤตโควิดอยู่มาแล้วกว่าปีครึ่ง โดยจะหยุดวิกฤตโรคนี้ได้ด้วยวัคซีน หากส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนและมีภูมิต้านทานเกิดขึ้น ลดอาการรุนแรง การป่วยหนักและเสียชีวิต และหากลดการติดเชื้อด้วยได้จะดียิ่งขึ้น โดยในประเทศไทยเริ่มฉีดวัคซีนมาตั้งแต่ 28 ก.พ. และได้มีการฉีดอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังฉีดวัคซีนไม่ถึง 13 ล้านโดส โดยขอบเขตนี้ยังไม่ถึงเป้าหมาย เพราะปริมาณวัคซีนมีจำกัด จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องบริหารวัคซีนให้ได้ประโยชน์สูงสุด โดยการจะทำได้ ต้องมีการศึกษาวิจัยรูปแบบของไทยจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ระยะแรก วัคซีนทุกบริษัททุกยี่ห้อผลิตจากต้นแบบสายพันธุ์ไวรัสที่มาจากอู่ฮั่น เพราะกระบวนการผลิตต้องใช้เวลา กว่าจะผลิตได้ใช้เวลาร่วม 1 ปี และระยะเวลานั้นตัวไวรัสก็กลายพันธุ์ หนีออกจากระบบของภูมิต้านทาน จะเห็นได้ว่า บริษัทไหนที่ผลิตวัคซีนออกมาได้ก่อน การศึกษาประสิทธิภาพก็สูง แต่หากบริษัทไหนใช้สายพันธุ์เดิมและมาศึกษาระยะหลัง ประสิทธิภาพก็จะลดลง เป็นเรื่องปกติ
ศ.นพ.ยง กล่าวถึงชนิดวัคซีนที่มีการใช้ในประเทศไทย ว่า สำหรับประเทศไทย มีการใช้วัคซีนชนิดเชื้อตาย และไวรัสเวกเตอร์ โดยเชื้อตาย คือ ซิโนแวค ส่วนซิโนฟาร์มเพิ่งเข้ามา ส่วนไวรัสเวกเตอร์ คือ แอสตร้าเซนเนก้า โดยไวรัสเชื้อตายผลิตมาจากวิธีเดิมที่ทำมากว่า 50 ปีแล้ว ด้วยการเพาะเลี้ยงไวรัสบนเซลล์เพาะเลี้ยง เช่นเดียวกับโปลิโอหรือเชื้อพิษสุนัขบ้า และฆ่าทำลายด้วยสารเคมี และทำให้บริสุทธิ์ จากนั้นจึงมาฟอร์มให้เป็นวัคซีน และใส่ตัวเร่งภูมิต้านทาน วัคซีนชนิดนี้จึงคลาคสิกใช้มานาน ส่วนไวรัส แวกเตอร์ เป็นเทคโนโลยีใหม่ใช้ดีเอ็นเอ ที่มีรหัสพันธุกรรมที่แปลโค้ดเดียวกับรหัสพันธุกรรมส่วนของสไปรท์โปรตีนของโคโรนาไวรัส ใส่ในตัวอะดิโนไวรัสของซินแปมซี เป็นต้น โดยไวรัสนี้ถูกทำหมันแล้ว เมื่อเข้าไปร่างกายก็ไม่เติบโต แต่ขณะเดียวกันจะสร้างโปรตีนคล้ายโคโรนาไวรัสใส่เข้าไปเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภูมิต้านทาน จริงๆ ในไวรัส แวกเตอร์ก็ไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่เสียทีเดียว เพราะเคยใช้ในอีโบลา
@ เชื้อกลายพันธุ์ วัคซีนเชื้อตายกระตุ้นภูมิน้อยน้อยกว่าไวรัสแวกเตอร์
ศ.นพ.ยง กล่าวว่า วัคซีนชนิดเชื้อตาย การกระตุ้นภูมิคุ้มกันจะน้อยกว่าชนิดไวรัสเวกเตอร์ จากเดิมที่วัคซีนซิโนแวคคิดค้นขึ้นมา จะต้องยอมรับว่าการกระตุ้นภูมิต้านทานสูงเท่าเทียมหรือสูงกว่าคนที่หายป่วยแล้ว แต่ตอนเริ่มต้น เมื่อใช้วัคซีนชนิดนี้ การป้องกันโรคมีประสิทธิภาพสูง แต่ด้วยที่ไวรัสมีการกลายพันธุ์ เมื่อไวรัสกลายพันธุ์ จึงต้องการภูมิต้านทานสูงขึ้น จึงหลบหลีกวัคซีนเชื้อตายได้ง่ายกว่า ดังนั้น ปัจจุบันจากการศึกษาวัคซีนเชื้อตายครบ 2 เข้ม ภูมิต้านทานของคนที่หายจากโรคสายพันธุ์อู่ฮั่นดั้งเดิม แต่เมื่อติดสายพันธุ์อัลฟาหรือเดลตา ต้องการภูมิต้านทานสูงขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง และลดลงทุกตัวที่ผลิตจากสายพันธุ์อู่ฮั่น
ศ.นพ.ยง กล่าวเพิ่มเติมว่า ในทางปฏิบัติจึงต้องมาพิจารณาว่า หากฉีดซิโนแวค 2 เข็มห่างกัน 10 สัปดาห์ รู้ว่าไวรัสเวกเตอร์ 2 ครั้งห่างกันน้อยกว่า 6 สัปดาห์ ภูมิต้านทานที่กระตุ้นขึ้นสูงไม่ดีเท่ากับเกิน 6 สัปดาห์ ยิ่งห่างนานยิ่งดี แต่เดิมคิดว่า ไวรัสเวกเตอร์ หรือแอสตร้าฯ เข็มเดียวก็เพียงพอป้องกันไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่นได้ แต่เมื่อเจอเดลตา วัคซีนแอสตร้าฯ เข็มเดียวก็ไม่สามารถป้องกันได้ แต่กว่าจะรอ 2 เข็มต้องใช้เวลา 10 สัปดาห์หรือนานกว่านั้นจึงป้องกันได้
@ ฉีดเข็ม 1 ซิโนแวค ตามด้วยเข็ม 2 แอสตร้าฯ ภูมิขึ้นใน 6 สัปดาห์
ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้จึงต้องหาจุดสมดุลว่า ทำอย่างไรให้ประชาชนไทยมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นเร็ว เหมาะสมที่สุด ในขณะที่ไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม และรู้ว่าวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม มีประสิทธิภาพกระตุ้นภูมิคุ้มกันไม่พอในการป้องกันสายพันธุ์เดลตา แต่แอสตร้าเซนเนก้าเข็มเดียวก็ไม่เพียงพอ จึงเป็นที่มาของการทำการศึกษาว่า เช่นนั้นฉีดวัคซีนเชื้อตายก่อน และตามด้วยไวรัสเวกเตอร์ การฉีดวัคซีนเชื้อตายก่อน เปรียบเหมือนให้ร่างกายติดเชื้อ และไปสอนหน่วยความจำของร่างกาย และอีกประมาณ 3-4 สัปดาห์ค่อยกระตุ้นด้วยไวรัสเวกเตอร์ ที่มีอำนาจในการกระตุ้นภูมิฯได้มากกว่า ผลปรากฏว่าการกระตุ้นได้สูงกว่าที่คาดคิด คือ หากให้ซิโนแวคก่อน และตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ภูมิต้านทานสูงขึ้นเร็ว แม้จะสูงไม่เท่ากับแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม แต่ได้ภูมิต้านทานที่สูงในเวลาเพียง 6 สัปดาห์เท่านั้น แทนจะรอไปถึง 12 สัปดาห์
ศ.นพ.ยง กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีคนไข้มากกว่า 40 คนที่ได้ติดตามมา จะเห็นว่ากลุ่มแรกฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ภูมิต้านทานจะสูงเท่ากับคนไข้ที่หายแล้ว โดยหลักก็น่าจะป้องกันโรคได้ แต่ด้วยไวรัสกลายพันธุ์ทำให้ภูมิที่เท่ากัน ป้องกันไม่ได้ แต่หากฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม และวัดภูมิต้านทานอีก 1 เดือนหลังจากนั้น ห่างกัน 10 อาทิตย์ วัดที่ 14 สัปดาห์ภูมิต้านทานจะป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้ แต่ต้องใช้เวลา 14 สัปดาห์ แต่หากมาฉีดวัคซีนสลับกัน ด้วยการให้ซิโนแวคเข็มแรก และเข็มสองเป็นแอสตร้าเซนเนก้า จะเห็นว่าภูมิฯขึ้นมาใกล้เคียงกับแอสตร้าฯ 2 เข็ม จะเห็นว่า หากแอสตร้า 2 เข็มภูมิต้านทานขึ้นมาระดับ 900 แต่หากซิโนแวกและตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ภูมิต้านทานอยู่เกือบ 800 ขณะที่หากซิโนแวค 2 เข็มอยู่ที่ประมาณ 100 แต่การติดเชื้อธรรมชาติจนมีภูมิต้านทานอยู่ที่ 70-80
“หากสลับชนิดกระตุ้นภูมิขึ้นได้ และมีโอกาสป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้ ขณะเดียวกันการสัมฤทธิ์ผลกระตุ้นภูมิต้านทานเรา จะใช้เวลาเพียง 6 สัปดาห์ แต่หากแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 12 สัปดาห์ ต้องใช้เวลายาวนาน 1 เท่าตัว ดังนั้น สถานการณ์การระบาดที่รุนแรง เรารอเวลายาว 12 สัปดาห์ไม่ได้ การฉีดวัคซีนสลับเข็ม และใช้เวลาเพียง 6 สัปดาห์ มีภูมิฯ สูงใกล้เคียงกับการฉีดวัคซีน 12 สัปดาห์ จึงน่าจะเป็นประโยชน์สูงสุดของไทยที่มีการระบาดของโรค ประกอบกับตอนนี้ไทยมีวัคซีน 2 ชนิด คือ ชนิดเชื้อตายและไวรัส แวกเตอร์ จึงเหมาะสม ณ เวลานี้ แต่ในอนาคตหากมีวัคซีนอื่นเข้ามา เราก็จะหาวิธีที่ดีกว่า หรือหากไวรัสกลายพันธุ์มากกว่านี้ ก็ต้องมีวัคซีนที่เฉพาะสายพันธุ์นั้น” ศ.นพ.ยง กล่าว
@ ฉีดวัคซีนสลับชนิดแล้วกว่า 1,200 คน ยังไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง
ศ.นพ.ยง ตอบคำถามว่าการศึกษาผลข้างเคียงฉีดสลับกันมีความน่ากังวลหรือไม่ ว่า มีการทดสอบบล็อกกิ้ง แอนติบอดี้ (Blocking antibody) ระหว่างซิโนแวค 2 เข็ม กับซิโนแวคแล้วตามด้วยแอสตราเซเนกา พบว่า เปอร์เซ็นต์การขัดขวางขึ้นไปสูง นี่เป็นหลักฐานที่นำมาใช้ประกอบกัน และความปลอดภัยของวัคซีนต้องมาก่อน ทุกคนต้องถามว่าสลับแล้วจะปลอดภัยหรือไม่ จากการศึกษาเบื้องต้นมีการศึกษาฉีดวัคซีนสลับชนิดในประเทศไทยมากกว่า 1,200 คน โดยที่ฉีดสลับเยอะสุด คือ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และที่ลงบันทึกในหมอพร้อม เรื่องอาการข้างเคียงไม่มีใครน 1,200 คนมีอาการรุนแรง จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า การให้วัคซีนสองชนิดนี้มีความปลอดภัยในชีวิตจริง ส่วนการศึกษาของเราก็จะออกมาเช่นกัน ขอให้ผู้ปฏิบัติสบายใจได้ว่า เราไม่ได้ฉีดสลับเป็นคนแรก ทั้งนี้ ข้อมูลการฉีดวัคซีนต่างชนิด อาจเพราะบางคนมีอาการแพ้จากวัคซีนชนิดแรก หรืออาจมีปัจจัยอื่นๆ อย่างไรก็ตาม กำลังทำการศึกษาทางคลินิกบันทึกทุกวัน ผลจะออกมาภายในสิ้นเดือนนี้ อย่างไรก็ตาม การสลับชนิดต้องมีการศึกษานำมาก่อน โดยเริ่มขึ้นในอังกฤษช่วงวัคซีนขาดแคลน ทีมมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด นำแอสตร้าเซนเนก้าสลับไฟเซอร์ โดยการศึกษาสิ้นสุดแล้ว และข้อมูลหมอพร้อมที่ได้รับการฉีดสลับ 1,200 ราย ก็มากพอสมควร ส่วนการศึกษาทางคลินิกกำลังจะออกมาสิ้นเดือนนี้ เป็นการบันทึกทุกวัน รวมถึงมองว่าเป็นเหตุผลหนึ่งที่คณะกรรมการเอามาพิจารณาแน่นอน
"ปกติทุกสิ่งทุกอย่างถ้าเป็นของใหม่ก็อยากจะให้ทำตามคำแนะนำ ยกตัวอย่างวัคซีนในเด็กเกือบทุกชนิดเลย ไม่ว่าจะเป็นไข้สมองอักเสบ หรือ ท้องเสีย เมื่อผลิตออกมาใหม่ๆบริษัทจะบอกว่า การใช้จะต้องไม่ข้ามกัน หมายถึงเข็มที่ 1 2 และ 3 จะต้องใช้ยี่ห้อเดียวกัน ต่อมาแม้กระทั่งวัคซีนท้องเสีย บาดทะยัก เคยถามไหมว่าลูกฉีดยี่ห้ออะไร ปีนี้ประมูลได้ยี่ห้ออะไร ไวรัสหรือแบคทีเรียต่างๆ มันคงไม่รู้หรอกว่า วัคซีนที่ฉีดไปยี่ห้ออะไร ในทำนองเดียวกัน โควิดวัคซีนเมื่อผลิตขึ้นมาใหม่ๆ และมีต่างแพลตฟอร์ม ทุกส่วนก็ต้องบอกว่าให้ใช้ตามการศึกษาที่ผ่านมา การใช้สลับกันต้องมีการศึกษานำมาก่อน เราจะเห็นได้ชัดอันหนึ่งก็คือว่า การใช้วัคซีน mRNA สลับกับไวรัส แวกเตอร์ เริ่มในอังกฤษ โดยเฉาะช่วงที่มีวัคซีนขาดแคลน เลเวหลังจากนั้น จึงได้มีการศึกษากันขึ้นมา การศึกษานี้ก็ได้สิ้นสุดไปแล้ว ในบ้านเราถึงแม้จะบอกว่า ไม่ควรสลับวัคซีนกันนะ แต่ก็ยังมีการสลับวัคซีนในชีวิตจริง อาจจะด้วยเหตุผลอันใดไม่ทราบ ส่วนในรายละเอียดของการศึกษาในทางคลินิก กำลังจะออกมาภายในสิ้นปีนี้ จะมีการบันทึกทุกวันว่ามีอาการข้างเคียงหรือไม่ภายในสิ้นเดือนนี้" ศ.นพ.ยงกล่าว
ทั้งนี้ ศ.นพ.ยง กล่าวถึงสถานการณ์สายพันธุ์ของไวรัสในปัจจุบัน ว่า มีการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตา หรือสายพันธุ์อินเดีย จากเดิมที่มีการระบาดของสายพันธุ์อัลฟา หรือสายพันธุ์อังกฤษ สามารถแพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์จี ทำให้สายพันธุ์อัลฟาครองโลก ต่อมาโควิดสายพันธุ์อินเดียแพร่เร็วกว่าสายพันธุ์อังกฤษอีก 1.4 เท่า ทำให้ขณะนี้สายพันธุ์อินเดีย กลบสายพันธุ์อังกฤษแล้ว สำหรับประเทศไทยสายพันธุ์ที่ระบาดตอนนี้ คือ สายพันธุ์เดลตา โดยเฉพาะ กทม. เป็นเดลตาประมาณ 70-80% และมีแนวโน้มระบาดทั่วประเทศ ส่วนสายพันธุ์เบตา หรือสายพันธุ์แอฟริกาใต้ เป็นสายพันธุ์ที่หลีกหนีวัคซีนเก่งสุด ทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนลดต่ำมาก แต่เนื่องจากเบตา แพร่กระจายได้น้อยกว่า จึงขึ้นมาเบียดเดลตาไม่ได้
ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ขณะนี้สายพันธุ์เดลตา จึงพบมากในประเทศไทย และผู้ป่วยส่วนใหญ่ตอนนี้ เป็นสายพันธุ์เดลตา ประกอบกับปริมาณเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา ยังตรวจพบในลำคอจำนวนมาก ทำให้การแพร่กระจาย การติดต่อจากคนสู่คนง่ายกว่าเมื่อก่อนมาก จึงอยากให้พี่น้องทุกคนตระหนักว่า การหาไทม์ไลน์การติดต่อสายพันธุ์นี้จะไล่ตามยากมาก เพราะติดต่อง่าย ดังนั้นทุกคนต้องปฏิบัติการป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด ใส่หน้ากากอนามัย 100% เว้นระยะห่าง สุขอนามัยต้องเต็ม 100% สิ่งนี้ป้องกันดีกว่าวัคซีนทุกวันนี้ ดังนั้น ไม่ว่าจะฉีดแล้วหรือกำลังรอ การปฏิบัติตัวยังต้องทำต่อเนื่อง
เมื่อถามว่า คนๆหนึ่งมีโอกาสติดโควิดผสมสองสายพันธุ์หรือไม่ ศ.นพ.ยง กล่าวว่า เป็นไปได้ หากชุมชนนั้นมีไวรัสสองตัวระบาดอยู่ โดยหากเราเกิดไปรับเชื้อจาก นาย ก. ที่รับสายพันธุ์อัลฟา ส่วนนาย ข.รับสายพันธุ์เดลตา ก็มีความเป็นไปได้ที่จะรับไวรัสสองสายพันธุ์ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติของไวรัส
“แต่ที่ต้องกลัว คือ หากไวรัสสองสายพันธุ์นี้เกิดแบ่งตัวในหนึ่งเซลล์เดียวกัน และอาจมีแลกชิ้นส่วน จะเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ แต่โคโรนาไวรัสที่ระบาดมา 1 ปีครึ่ง การแยกชิ้นส่วนแบบนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้น หรือที่เรียกว่า รีคอมบิเนชั่น (Recombination) ส่วนที่พบปัจจุบันเราเรียกว่า co-infection หมายถึงในผู้ป่วย 1 คนเจอไวรัสสองตัว” ศ.นพ.ยง กล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage