"..ตัวแทนบริษัทไทฆีส์ ยังได้ยืนยันกับสำนักข่าวอิศรา ว่า เกี่ยวกับงานโครงการฯ ส่วนนี้ ทางบริษัทฯ ไม่ได้เป็นผู้เสนอตัวทำเข้าทำระบบเอง แต่ว่ามาจากการเชิญชวนของทางศาลยุติธรรมให้เป็นผู้เข้าไปดำเนินการ..."
..........................
ประเด็นตรวจสอบกรณีที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2564 ที่ผ่านมา สำนักงานศาลยุติธรรม ได้รับข้อสังเกตของ ก.ต. ไปดำเนินการตรวจสอบให้ได้ความชัดเจน เกี่ยวกับรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมเพื่อตรวจสอบการเลือกตั้งกรรมการศาลยุติธรรมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมบางท่านให้ข้อสังเกตว่า กรณีดังกล่าวควรจะดำเนินการเป็นสองแนวทาง คือ ให้สำนักงานศาลยุติธรรมไปดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษบริษัทผู้รับจ้างกรณีให้ข้อมูลอันเป็นเท็จเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้รับจ้างที่อ้างว่าสามารถดำเนินการพัฒนาระบบเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์ได้ และสมควรแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วยนั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า สำนักงานศาลยุติธรรม ได้ส่งตัวแทนไปแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกงกับบริษัท ไทฆีส์ จำกัด ในฐานะผู้รับจ้างทำระบบการเลือกตั้งกรรมการศาลยุติธรรมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่ สถานีตำรวจพหลโยธินเป็นทางการแล้ว
ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจพหลโยธิน ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า สำนักงานศาลยุติธรรม ได้ส่งตัวแทนเจ้าหน้าที่มาแจ้งความในข้อหาฉ้อโกง กับ บริษัท ไทฆีส์ จำกัด จริง จากกรณีที่ได้มีการว่าจ้างให้บริษัท ไทฆีส์ มาทำระบบลงคะแนนเลือกตั้ง นับคะแนน และก็ส่งให้กับทางศาล แต่ปรากฎว่าระบบการนับคะแนนกลับมีความล่าช้า เช่นบอกว่าจะเสร็จสิ้นการนับคะแนนตอน 18.00 น. ก็ลากยาวออกไปเป็นเวลา 20.00 น. ไม่แตกต่างจากการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งที่ผ่านมาเลย และกำลังจะมีการประสานกับทางบริษัทฯ เพื่อให้เข้ามาให้ปากคำในคดีนี้ต่อไป
ส่วนตัวแทนบริษัทฯ ยืนยันกับสำนักข่าวอิศราว่า ที่ผ่านมาได้มีการชี้แจงประเด็นต่าง ๆ กับทางสำนักงานศาลยุติธรรมไปหมดแล้ว ถ้าหากมีการแจ้งความอะไรทางบริษัทฯ ก็พร้อมที่จะชี้แจง
(อ่านประกอบ : บ.ไทฆีส์ฯ พร้อมชี้แจง! สนง.ศาล ยธ.แจ้งความข้อหาฉ้อโกงทำระบบจัดเลือกตั้ง I-Vote แล้ว)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท ไทฆีส์ จำกัด ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2552 ทุน 30 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 55/621 หมู่ที่ 9 ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
แจ้งประกอบธุนกิจการบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์อื่นๆ
ปรากฎชื่อ นาย พันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชต์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ และถือหุ้นใหญ่
นำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ณ 31 ธันวาคม 2562 แจ้งว่ามีรายได้รวม 43,388,584.50 บาท รวมรายจ่าย 29,122,698.45 บาท กำไรสุทธิ 13,749,292.85 บาท
@ รูปถ่ายที่ตั้งบริษัท ไทฆีส์ จำกัด
จากการตรวจสอบฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐ พบว่า นับตั้งแต่ปี 2561 -2564 บริษัท ไทฆีส์ จำกัด เป็นคู่สัญญาหน่วยงานรัฐ 6 สัญญา รวมวงเงิน 31.99 ล้านบาท (เท่าที่ตรวจสอบพบ) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นคู่สัญญาว่าจ้างงานมากที่สุด 5 สัญญา
งานว่าจ้างในส่วน สำนักงานศาลยุติธรรม มี 1 สัญญา คือ จ้างเหมาบริการจัดการเลือกตั้งในศาลยุติธรรมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (COJ i-Vote) ระยะที่ 1 สำหรับการเลือกซ่อมกรรมการตุลาการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยวิธีเฉพาะเจาะจง วงเงิน 150,000 บาท (ดูรายละเอียดในตาราง)
ขณะที่ในรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ อนุ ก.ต. กรณีการจ้างทำระบบการเลือกตั้งกรรมการศาลยุติธรรมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว ที่สำนักข่าวอิศรา นำมาเสนอไปก่อนหน้านี้ ระบุไว้ว่า ในการดำเนินการเลือกตั้ง ผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานศาลยุติธรรมในขณะนั้น อนุมัติงบประมาณจ้างเหมาเอกชนจัดการเลือกตั้งในศาลยุติธรรม (COJ I-Vote) ให้แก่สำนักงาน ก.บ.ศ. และสำนักงาน ก.ต. ประจำปีงบประมาณ 2562 เพิ่มเติม 1,025,000 บาท แบ่งเป็นระยะที่ 1 การเลือกตั้งซ่อม ก.ต. 1.5 แสนบาท และระยะที่ 2 เลือกตั้งซ่อม ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิ และการเลือกตั้งซ่อม ก.บ.ศ. ประจำชั้นศาล และการเลือกตั้งซ่อม ก.ศ. รวม 875,000 บาท
ส่วนขอบเขตของงาน (TOR) เพื่อการจัดเลือกกรรมการของศาลยุติธรรมในเดือน ต.ค. 2562 จำนวน 3 ครั้ง ให้มีการลงคะแนนโดยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ทั้งระบบปฏิบัติการ IOS และ Android กำหนดให้ระว่างการดำเนินการเลือกตั้ง ต้องมีรายงานหน้าจอแสดงจำนวนผู้ใช้สิทธิแบบ Real Time หน้าจอรายงานแสดงจำนวนผู้แสดงความประสงค์ใช้สิทธิลงคะแนนเลือก หรือไม่ประสงค์จะใช้สิทธิแบบ Real time กำหนดให้มีการ Back Up ข้อมูลสรุปผลการเลือกรายการผู้มาใช้สิทธิและข้อมูลรายการคะแนนดิบใน Private Blockchain เพื่อส่งมอบให้คณะกรรมการดำเนินการเลือก และลบข้อมูลต้นฉบับเพื่อส่งมอบงาน และกำหนดให้ผู้รับจ้างต้องเก็บข้อมูล Log Files ของการเลือกตั้งแต่ละครั้งไว้เป็นเวลา 90 วัน นับถัดจากวันเลือกตั้งแล้วเสร็จตาม TOR
หลังจากนั้น สำนักงานศาลยุติธรรมว่าจ้าง บริษัท ไทฆีส์ จำกัด ดำเนินการ ค่าจ้าง 875,000 บาท โดยทำสัญญาจ้างเหมาบริการจัดการเลือกตั้งในศาลยุติธรรมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (COJ I-Vote) สัญญาเลขที่ 256/2562 ลงวันที่ 14 ส.ค. 2562 อย่างไรก็ดีเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม (ขณะนั้น) กำหนดให้การเลือกตั้งซ่อม ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิ การเลือกตั้งซ่อม ก.บ.ศ. ประจำชั้นศาล และการเลือกตั้งซ่อม ก.ศ. ซึ่งกำหนดไว้ 3 ครั้งตาม TOR เปลี่ยนเป็นเลือกตั้งพร้อมกันในวันเดียวต่างจาก TOR
คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ จึงเชิญผู้แทนบริษัท ไทฆีส์ จำกัด เข้าหารือเพื่อปรับลดวันเลือกตั้งและปรับลดค่าจ้างเหลือ 6.5 แสนบาท และมีการแก้ไขสัญญาเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2562
หลังจากนั้นมีการตรวจรับงานจ้างของคณะกรรมการตรวจรับพัสดุสำหรับการจ้างเหมาบริการจัดการเลือกตั้งในศาลยุติธรรมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 2 โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ตามที่บริษัท บริษัท ไทฆีส์ จำกัด ผู้รับจ้าง มีหนังสือส่องมอบรายการการบริการเป็นเงิน 6.5 แสนบาท
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอิศรา ได้รับคำชี้แจงจากตัวแทน บริษัท ไทฆีส์ จำกัด ไปแล้วว่า ที่ผ่านมานั้นบริษัทฯ ได้มีการชี้แจงประเด็นต่าง ๆ กับทางสำนักงานศาลยุติธรรมไปหมดแล้ว ถ้าหากมีการแจ้งความอะไรทางบริษัทฯ ก็พร้อมที่จะชี้แจง
พนักงานบริษัทฯ ยังได้ชี้แจงกับสำนักข่าวอิศรากรณีการทำงานเรื่องการประมวลผลที่มีความล่าช้าว่า "ต้องขออธิบายให้ทราบเกี่ยวกับการเลือกตั้งกรรมการบริหารศาลยุติธรรมที่ผ่านมาก่อนว่าในส่วนของกระบวนการทำงานของระบบนั้นตอนแรกได้มีการคุยกันไว้ว่าจะมีการเลือกตั้งด้วยกัน 3 วันด้วยกัน ในช่วงปี 2562 ซึ่งก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประมาณ 1 อาทิตย์ ก็มีการเปลี่ยนแปลงให้การเลือกตั้ง 3 วัน หรือ 3 ครั้งนั้นเหลือแค่เพียง 1 วัน ผลก็คือทำให้บริษัทฯ ต้องมีการปรับปรุงโปรแกรมอย่างเร่งด่วน เพื่อให้สามารถใช้งานได้"
"ในการเลือกตั้งทั้งวันตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น และประธานก็มาปิดการเลือกตั้งตอน 16.30 น. เราก็จะเริ่มนับคะแนนการเลือกตั้งครั้งที่ 1 ก่อน จากนั้นก็จะมีการประมวลผลข้อมูลทั้งหมด อย่างไรก็ตามปรากฎว่ามีกรรมการบอกว่าขอพิมพ์สรุปการเลือกตั้งครั้งที่ 1 ให้เลย ซึ่งในกระบวนการของเรา จริง ๆ แล้วเราต้องให้เขานับให้ครบทั้ง 3 ครั้งก่อน แต่ว่ามีการลัดขั้นตอนพิมพ์รายงานสรุปผลการเลือกตั้งก่อน หรือก็คือมีการแทรกข้อมูลในระบบ พอมันกดปุ่มพิมพ์ปุ๊บ คีย์ข้อมูลของเราที่มันเอาไว้ถอดรหัส มันเกิดถูกเคลียร์ ระบบถูกเคลียร์ไป ทำให้การถอดรหัสในขั้นที่ 2 และขั้นที่ 3 ถอดไม่ได้แล้ว ซึ่งความล่าช้านั้นก็มาจากตรงนี้ ผมต้องไปหาคีย์ที่อยู่ในระบบ แต่พอถอดรหัสอีกที คีย์ตัวนี้มันจะถูกแบ็คอัพโดยตัวที่อยู่บนคลาวด์ มันก็ทำให้ใชเวลานานพอสมควร แต่เราก็สามารถเอาคีย์ตัวนั้นกลับมาเพื่อประมวลผลต่อไปได้ หรือสรุปก็คือปัญหาความล่าช้าดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นจากทางเทคนิคนั่นเอง" พนักงานบริษัทชี้แจง
เมื่อถามถึงกรณีผลการตรวจสอบพบว่าบริษัทฯ ไม่ใช่ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นการเลือกตั้งให้แก่พรรคประชาธิปัตย์มากก่อน พนักงานบริษัท ไทฆีส์ฯ ชี้แจงว่า "ที่ผ่านมานั้นบริษัทฯ เคยมีการให้คำปรึกษาทางด้านไอทีกับคนของพรรคประชาธิปัตย์อยู่บ้าง โดยเป็นการหารือในเรื่องของการเตรียมระบบสำรองต่างๆ"
ทั้งนี้ ตัวแทนบริษัทไทฆีส์ ยังได้ยืนยันกับสำนักข่าวอิศรา ว่า เกี่ยวกับงานโครงการฯ ส่วนนี้ ทางบริษัทฯ ไม่ได้เป็นผู้เสนอตัวทำเข้าทำระบบเอง แต่ว่ามาจากการเชิญชวนของทางศาลยุติธรรมให้เป็นผู้เข้าไปดำเนินการ
อนึ่ง เกี่ยวกับการตรวจสอบการเลือกตั้งกรรมการศาลยุติธรรมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว ปัจจุบันยังไม่มีการชี้มูลความผิดจากหน่วยงานตรวจสอบแห่งใดเป็นทางการ
ผู้เกี่ยวข้องทั้งในส่วนภาครัฐ และเอกชนที่ปรากฎในข่าว จึงยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
อ่านประกอบ :
ไม่เคยพัฒนาแอปให้ ปชป.! เบื้องลึกเอกชนทำระบบ I-Vote ก่อนอนุ ก.ต.พบปัญหาเพียบ (2)
ล้วงที่มาศาลฯ จัดเลือกตั้ง I-Vote! ก่อนอนุ ก.ต. สอบพบปัญหาอื้อ-โปรแกรมแปลกประหลาด (1)
โปรแกรมแปลกประหลาด! เผยผลสอบ อนุ ก.ต.ปมเลือกตั้ง I-Vote ปัญหาเพียบ-ประสิทธิภาพไม่พอ
เป็นทางการ! เปิดข้อสังเกต ก.ต. สั่งฟันเอกชน- สอบศาลยุติธรรมจัดเลือก I-Vote ก.บ.ศ.
ฉ้อโกง-แก้ไขข้อมูล! ก.ต. สั่งฟัน บ.เอกชน - สอบ ’บิ๊ก’ ศาลยุติธรรมจัดเลือก I-Vote ก.บ.ศ.
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage