"...ในบันทึกถ้อยคำของ นายเอนก ฉัตรไชยศิริ ระบุว่า ตนกับนางประพิศติดต่อทําธุรกิจกันและมีการยืมเงินกันจํานวน 10 ล้านบาทขึ้นไปหลายครั้ง โดยจะให้เป็นเงินสดหรือโอนเข้าบัญชีเงินฝากของนางประพิศ ..."
...................................................
กรณีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 มีคำพิพากษาตัดสินในคดีกล่าวหา นายชนุตร์ปกรณ์ วงศ์สีนิล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) กับพวก 1 ราย คือ นายอธิธัช เรือนทองคำ เรียกรับเงินจากคู่สัญญาตัวแทนจำหน่ายข้าวสารบรรจุถุงให้กับ อคส. โดยประวิงเวลาในการดำเนินการชำระเงินค่าข้าวคืน ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6 และมาตรา 11 และ พ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 123/1 ประกอบ ป.อ.มาตรา 86
โดยศาลฯ พิพากษาว่า นายชนุตร์ปกรณ์ วงศ์สีนิล มีความผิดตาม มาตรา 6 พ.ร.บ.ป.ป.ช. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 123/1 ให้ลงโทษจำคุก 17 ปี
ส่วนนายอธิธัช เรือนทองคำ (ไม่ระบุสถานะตำแหน่งที่ชัดเจน) ในฐานะผู้สนับสนุนพนักงาน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ ศาลฯ มีคำสั่งให้ยกฟ้อง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีนี้ มาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องไปแล้วว่า
1. นายชนุตร์ปกรณ์ วงศ์สีนิล ได้เรียกร้องเงินจากนางประพิศ มานะธัญญา กรรมการผู้จัดการบริษัทเจียเม้ง จํากัด จํานวน 30,000,000 บาท เป็นค่าตอบแทนเพื่อจะช่วยเหลือในเรื่องดําเนินการคืนเงินดังกล่าว และช่วยเหลือเกี่ยวกับสัญญาอื่น ๆ ที่บริษัทเจียเม้ง จํากัด ยังมีภาระผูกพันอยู่กับองค์การคลังสินค้า จนนางประพิศยินยอมให้เงินตามที่ นายชนุตร์ปกรณ์ เรียกร้อง
2. มีการจัดเตรียมสถานที่ โดยเตรียมห้องพักหมายเลข 652 โรงแรมริชมอนด์ เพื่อรับมอบเงิน เมื่อได้รับเงินแล้วนายชนุตร์ปกรณ์ จึงอนุมัติคืนเงินค่าข้าวจํานวน 131,200,000 บาท ให้แก่บริษัทเจียเม้ง จํากัด ในวันเวลาดังกล่าว โดยไม่รอผลการให้ตรวจสอบเพิ่มเติมในเรื่องการขอคืนเงินแต่อย่างใด
3. คำให้การของทีมงานเลขานุการของ นายชนุตร์ปกรณ์ จำเลย ที่ 1 ในฐานะพยานฝ่ายโจทก์ ชี้ให้ศาลฯ เห็นถึงพฤติการณ์ของ นายชนุตร์ปกรณ์ จำเลย ที่ 1 ในการรวบรัดสั่งอนุมัติให้คืนเงินค่าข้าว ให้กับ บริษัทเจียเม้ง จํากัด ที่กลายมาเป็นหลักฐานสำคัญในคดีนี้
4. ขั้นตอนการเจรจาต่อรองเรียกรับเงินระหว่าง นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 กับผู้บริหารบริษัท เจียเม้ง จํากัด ที่พบว่า ตัวเลขวงเงินที่ขอเรียกรับในครั้งแรกสูงถึง 100 ล้านบาท โดยนายชนุตร์ปกรณ์ อ้างว่าเป็นคำสั่งของผู้ใหญ่รายหนึ่ง ก่อนจะมีการเจรจาต่อรองเหลือแค่ 30 ล้านบาทในภายหลัง
5. ข้อมูลลำดับเหตุการณ์การรวบรวมเงินจำนวน 30 ล้านบาท ของ บริษัทเจียเม้ง จํากัด เพื่อนำไปส่งมอบให้กับ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 ที่โรงแรมริชมอนด์ ตามที่มีการนัดหมายไว้ ซึ่งมีการรวบรวมเงินมาจากหลายส่วน เมื่อไปถึงที่นัดหมายพบว่า มีตัวละคร ที่ชื่อว่านายบารมี และจ่าแดง (ไม่ทราบนามสกุล) มาคอยพบ และตรวจสอบจำนวนเงิน ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกัน บริษัทเจียเม้ง จํากัด ได้ส่งตัวแทนไปรับเช็คคืนเงินค่าข้าวจํานวน 131,200,000 บาท ที่สำนักงาน อคส. ด้วย
6. ข้อมูลการต่อสู้ทางคดีของ นายชนุตร์ปกรณ์ วงศ์สีนิล อ้างว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเรียกรับเงิน 30 ล้านบาท ถูกนางประพิศไม่พอใจ และโกรธแค้น แต่ศาลฯ เห็นว่า ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้
7. นายอธิธัช เรือนทองคำ (ไม่ระบุสถานะตำแหน่งที่ชัดเจน) ในฐานะผู้สนับสนุนพนักงาน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ ศาลฯ มีคำสั่งให้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า ไม่มีพยานหลักฐานใดที่แสดงว่า นายอธิธัช เรือนทองคำ จำเลยที่ 2 ร่วมรู้เห็นในการที่นายบารมีไปรอรับเงิน 30,000,000 บาท ที่ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 เรียกเป็นการตอบแทนการสั่งคืนเงินค่าข้าวให้แก่บริษัทเจียเม้ง จํากัด และขณะที่นายภานุมาสกับพวกส่งมอบเงินให้นายบารมี นายอธิธัช เรือนทองคำ จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ด้วย
(อ่านประกอบ : มีหลักฐานแค่เป็นผู้จองห้องพักรับเงิน 30 ล.! ไขเหตุศาลฯ ยกฟ้องจำเลยที่ 2 คดีข้าวถุง (6))
ส่วนข้อมูลที่ยังไม่เปิดเผยเป็นทางการต่อสาธารณะ คือ นายบารมี และจ่าแดง ที่คอยทำหน้าที่รับและตรวจสอบเงินจำนวน 30 ล้านบาท รวมถึง ผู้ใหญ่ปริศนา ที่ นายชนุตร์ปกรณ์ อ้างว่าเป็นผู้ออกคำสั่งให้มาเรียกเงิน 100 ล้าน ก่อนจะต่อรองเหลือ 30 ล้านบาทในภายหลัง แท้จริงแล้วมีตัวตนจริงหรือไม่ ทำไมบุคคลเหล่านี้ ถึงไม่ปรากฎชื่ออยู่ในกลุ่มผู้ถูกกล่าวหาคดีนี้ด้วย
อย่างไรก็ดี หนึ่งในพยานบุคคลฝ่ายโจทก์ ที่ปรากฎข้อมูลอยู่ในคำพิพากษาคดีนี้ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการให้ยืมเงินจำนวน 20,000,000 บาท แก่นางประพิศ มานะธัญญา กรรมการผู้จัดการบริษัทเจียเม้ง จํากัด เพื่อนำไปจ่ายให้กับนายชนุตร์ปกรณ์ และพวก ก็มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย
พยานบุคคลรายนี้ คือ นายเอนก ฉัตรไชยศิริ หรือ เสี่ยเปี๊ยก เจ้าของโรงสีโชควรลักษณ์รุ่งเรือง
โดยในบันทึกถ้อยคำของ นายเอนก ฉัตรไชยศิริ ระบุว่า ตนกับนางประพิศติดต่อทําธุรกิจกันและมีการยืมเงินกันจํานวน 10 ล้านบาทขึ้นไปหลายครั้ง โดยจะให้เป็นเงินสดหรือโอนเข้าบัญชีเงินฝากของนางประพิศ
ทั้งนี้ ในฐานข้อมูลข่าวของสำนักข่าวอิศรา นั้น นายเอนก ฉัตรไชยศิริ หรือเสี่ยเปี๊ยก เคยปรากฎข้อมูลถูก นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 วงเงิน 2.525 ล้านบาท เกี่ยวกับปัญหาความไม่ชอบมาพากล การระบายข้าว แบบ รัฐ ต่อรัฐ หรือ จีทูจี เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2556 ว่า มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง ผู้ก่อตั้งบริษัท เพรซิเดนท์อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด และบริษัทสยามอินดิก้า จำกัด ผู้มากบารมีในวงการค้าข้าวประเทศไทย ทำให้ได้รับสิทธิ์พิเศษในการซื้อข้าวจากรัฐบาลราคาต่ำ เพื่อนำมาขายต่อในราคาสูง
ขณะที่ นายเอนก ฉัตรไชยศิริ ยืนยันกับ สำนักข่าวอิศราว่า ในการทำธุรกิจของ หจก. มีการเข้าไปรับซื้อข้าวในสต็อกรัฐบาลมาขายต่อ ส่วนที่ถูกระบุว่า ซื้อข้าวราคาต่ำมาขายต่อในราคาสูงไม่เป็นความจริง มีโรงสีบางแห่งมาติดต่อขอซื้อสินค้า เพื่อจะทำไปปกปิดความผิด จากการที่นำข้าวในโกดังออกไปขายก่อนหน้านี้ และไม่มีความสัมพันธ์พิเศษกับ เสี่ยเปี๋ยง แต่อย่างใด
(อ่านประกอบ : “เสี่ยเปี๊ยก” โต้ข้อมูล “หมอวรงค์” โวยถูกแทงข้างหลัง - เตรียมอำลาวงการข้าว)
สำหรับข้อมูลทางธุรกิจของ หจก.โรงสีโชควรลักษณ์รุ่งเรืองกิจ นั้น จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2545 มีหุ้นส่วน 3 คน นายเอนก ฉัตรไชยศิริ นางสุมาลี ฉัตรไชยศิริ และนางสาววราภรณ์ ฉัตรไชยศิริ สำนักงานตั้งอยู่ที่ 145 หมู่ที่ 9 ตำบลโพตลาดแก้ว. อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี แจ้งประกอบกิจการโรงสีข้าว และค้าข้าว เดิมที่มีทุน 5 ล้านบาท ก่อนจะปรับเพิ่มเป็น 100 ล้าน เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2548
ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 ได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัท โรงสีโชควรลักษณ์รุ่งเรืองกิจ จำกัด มีทุนจดทะเบียน 100,000,000 บาท นางสาว วราภรณ์ ฉัตรไชยศิริ และ นาย เอนก ฉัตรไชยศิริ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
ณ 9 กันยายน 2563 นาย เอนก ฉัตรไชยศิริ ถือหุ้นใหญ่สุด 60% มูลค่า 60,000,000 บาท นางสาว วราภรณ์ ฉัตรไชยศิริ และ นาง สุมาลี ฉัตรไชยศิริ ถือหุ้นอยู่คนละ 20% มูลค่าหุ้นที่ถืออยู่คนละ 20,000,000 บาท
ข้อมูลงบการเงินที่เปิดเผยในฐานข้อมูลออนไลน์ ล่าสุด ณ 31 ธันวาคม 2562 แจ้งว่า มีรายได้รวม 775,637,359.06 บาท รวมรายจ่าย 735,680,686.36 บาท กำไรสุทธิ 12,740,280 บาท
โดยในช่วงปี 2556 หจก.โรงสีโชควรลักษณ์รุ่งเรืองกิจ เคยได้รับงานจ้างปรับปรุงข้าวสารบรรจุถุงเพื่อลดค่าครองชีพผู้บริโภค จาก อคส. จำนวน 2 สัญญา สัญญาละ 836,250,000.00 บาท รวมวงเงิน 1,672,500,000 บาทด้วย
นี่คือ โพรไฟล์ข้อมูลและธุรกิจ ของ นายเอนก ฉัตรไชยศิริ หรือเสี่ยเปี๊ยก ที่มีอยู่ในฐานข้อมูลข่าวของสำนักข่าวอิศรา ณ ขณะนี้
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยัง บริษัท โรงสีโชควรลักษณ์รุ่งเรืองกิจ จำกัด เพื่อขอสัมภาษณ์ นายเอนก ฉัตรไชยศิริ ได้รับแจ้งจากคนใกล้ชิดว่า นายเอนก พักรักษาตัวอยู่ และไม่สามารถให้ข้อมูลอะไรได้
อ่านประกอบ :
คุก 17 ปี! อดีต ผอ.อคส. เรียกรับเงินคู่สัญญาขายข้าวถุง ยุค 'ยิ่งลักษณ์'
พลิกปูมคดีเรียกเงินข้าวถุง 30 ล้าน โดนคุก 17 ปี - กรณีถุงมือยางแสนล. ใครจะเป็นรายต่อไป
ใช้ห้องพัก รร.ดัง รับเงิน 30 ล.! เจาะคำพิพากษาคดีข้าวถุง อดีต ผอ.อคส. โดนคุก 17 ปี (1)
คำให้การ 2 เลขาฯ มัดเจ้านาย! เจาะคำพิพากษาคดีข้าวถุง อดีต ผอ.อคส. โดนคุก 17 ปี (2)
อ้างผู้ใหญ่ปริศนาขอ 100 ล. ก่อนลดเหลือ 30! เจาะคำพิพากษาคดีข้าวถุง อดีต ผอ.อคส. (3)
ช็อตต่อช็อต! นาทีหิ้วเงิน 30 ล. จ่ายสินบนคดีข้าวถุง (4) 'นายบารมี-จ่าแดง' โผล่ช่วยนับ
เจาะคำพิพากษาคดีข้าวถุง (5) ข้อต่อสู้ ผอ.อคส.ถูกโกรธแค้น-ปัดเรียก 30 ล.- ศาลฯ ไม่เชื่อ
มีหลักฐานแค่เป็นผู้จองห้องพักรับเงิน 30 ล.! ไขเหตุศาลฯ ยกฟ้องจำเลยที่ 2 คดีข้าวถุง (6)
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage