"...จากการตรวจสอบรายละเอียดทีโออาร์การประกวดราคาทั้ง 4 พื้นที่ พบว่า มีการระบุเงื่อนไขลิขลิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ไว้ในรายการสินค้า ชุดโปรแกรมจัดการระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดและให้สามารถเชื่อมต่อกับกล้องเครื่องบันทึกภาพและควบคุมกล้อง พร้อมทั้งควบคุมอุปกรณ์การถอดรหัสสัญญาณภาพที่มีอยู่เดิมได้เป็นอย่างดี เหมือนกันทั้งหมด ต่างกันแค่จำนวน ลิขลิทธิ์ ..."
...............................
"ได้สั่งการให้คณะกรรมการกำหนดทีโออาร์จัดซื้อจัดจ้างติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดพร้อมอุปกรณ์ (CCTV) ในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ของ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.สงขลา) โดยเฉพาะใน อ.สะบ้าย้อย วงเงินงบประมาณ 10 ล้านบาท ระงับขั้นตอนการเสนอราคางานโครงการฯ และให้คณะกรรมการกำหนด TOR และกองพัสดุ ไปทบทวนรายละเอียดทีโออาร์ตามข้อร้องเรียนแล้ว ต้องรอฟังผลว่า คณะกรรมการฯ จะมีการทบทวนรายละเอียดหรือยืนยันความถูกต้องของทีโออาร์ตามเดิม"
เมื่อถามว่า การสั่งทบทวนรายละเอียดทีโออาร์ ทำทุกโครงการในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาหรือไม่ นายประพันธ์ ศรีสุวรรณ ตอบว่า "ถ้าเป็นทีโออาร์แบบเดียวกันทั้งหมด หากจะมีการแก้ไขก็คงทำเหมือนกันทุกพื้นที่ แต่ขณะนี้ มีเฉพาะในส่วนของ อ.สะบ้าย้อย ที่มีเอกชน ยื่นข้อเสนอเข้ามาแล้ว ซึ่งยื่นเข้ามาก่อนที่จะมีการสั่งทบทวนรายละเอียดทีโออาร์ประมาณ 2 วัน จึงทำให้ต้องการสั่งระงับ ขั้นตอนการเสนอราคางานโครงการฯ ไปก่อน
"ผมได้สั่งการให้ทำหนังสือแจ้งเอกชน ที่ยื่นเสนอราคางานโครงการฯ นี้ เข้ามาแล้ว ว่าจะขอระงับขั้นตอนการเสนอราคางานโครงการฯ นี้ไปก่อน เมื่อทุกอย่างดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ค่อยมาเริ่มขั้นตอนการยืนเสนอราคากันใหม่"
คือ คำชี้แจงล่าสุด ของ นายประพันธ์ ศรีสุวรรณ ปลัด อบจ.สงขลา และปฎิบัติหน้าที่นายกอบจ.สงขลา ที่ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ต่อสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) กรณีการจัดซื้อจัดจ้างโครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดพร้อมอุปกรณ์ (CCTV) ในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ของ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.สงขลา) โดยเฉพาะใน อ.สะบ้าย้อย วงเงินงบประมาณ 10 ล้านบาท ที่ถูกร้องเรียนจากผู้ประกอบการให้ทบทวนการกำหนดทีโออาร์ และรายละเอียดโครงการ ที่มีการกำหนดเงื่อนไขชุุดโปรแกรมจัดการระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ที่มีลิขลิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 30 ลิขสิทธิ์ และสามารถเชื่อมต่อกับกล้องเครื่องบันทึกภาพและควบคุมกล้อง พร้อมทั้งควบคุมอุปกรณ์การถอดรหัสสัญญาณภาพที่มีอยู่เดิมได้เป็นอย่างดี และการกำหนดอุปกรณ์ถอดรหัสสัญญาณภาพ จะต้องสามารถใช้ร่วมกับกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเครื่องบันทึกภาพ และซอฟต์แวร์บริหารจัดการได้เป็นอย่างดี ซึ่งถูกมองว่าไม่โปร่งใส และไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่ไม่สามารถเข้ามาเสนอราคาได้ ขัดกับพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ส่อว่าจะมีการล็อกสเปค
(อ่านประกอบ : ประชุมสภา อบจ.สงขลา เดือด! สมาชิกแฉล็อกสเปคซื้อ CCTV 4 อำเภอ-พุ่งเป้า 'สะบ้าย้อย', เจาะทีโออาร์ซื้อกล้อง CCTV 10 ล. สะบ้าย้อย อบจ.สงขลา มีล็อกสเปคจริงหรือ?, อบจ.สงขลา สั่งทบทวนTOR ซื้อ CCTV 4 อำเภอแล้ว-ให้ระงับประกวดราคา อ.สะบ้าย้อย ชั่วคราว)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา สืบค้นฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างของ อบจ.สงขลา พบข้อมูลเพิ่มเติมว่า โครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดพร้อมอุปกรณ์ (CCTV) ในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ของอบจ.สงขลา ดำเนินการพร้อมกันใน 4 พื้นที่ คือ
1. พื้นที่อำเภอบางกล่ำ กำหนดราคากลาง 6,996,000 บาท จากวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร 7,000,000 บาท ประกาศราคากลางเมื่อวันที่ 17 ก.ค.2563
2. สวนสาธารณะเมืองสงขลา อำเภอเมืองสงขลา กำหนดราคากลาง 6,999,000 บาท จากวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร 7,000,000 บาท ประกาศราคากลางเมื่อวันที่ 17 ก.ค.2563
3. พื้นที่อำเภอเทพา กำหนดราคากลาง 9,825,900 บาท จากวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร 10,000,000 บาท ประกาศราคากลางเมื่อวันที่ 17 ก.ค.2563
4. พื้นที่อำเภอสะบ้าย้อย กำหนดราคากลางอยู่ที่ 9,856,300 บาท จากวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร 10,000,000 บาท ประกาศราคากลางเมื่อวันที่ 17 ก.ค.2563
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบรายละเอียดทีโออาร์การประกวดราคาทั้ง 4 พื้นที่ พบว่า มีการระบุเงื่อนลิขลิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ไว้ในรายการสินค้า ชุดโปรแกรมจัดการระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดและให้สามารถเชื่อมต่อกับกล้องเครื่องบันทึกภาพและควบคุมกล้อง พร้อมทั้งควบคุมอุปกรณ์การถอดรหัสสัญญาณภาพที่มีอยู่เดิมได้เป็นอย่างดี เหมือนกันทั้งหมด ต่างกันแค่จำนวน ลิขลิทธิ์
โดยในส่วนพื้นที่อำเภอเทพา กำหนดไว้ 30 ลิขสิทธิ์ , สวนสาธารณะเมืองสงขลา อำเภอเมืองสงขลา กำหนดไว้ 43 ลิขสิทธิ์ , พื้นที่อำเภอบางกล่ำ กำหนดไว้ 19 ลิขสิทธิ์ , พื้นที่อำเภอสะบ้าย้อยกำหนดไว้ 30 ลิขสิทธิ์
ตัวอย่างการกำหนดเงื่อนไขทีโออาร์พื้นที่อำเภอบางกล่ำ จำนวน 19 ลิขสิทธิ์
จากการตรวจสอบยังพบว่า ในการอ้างอิงแหล่งที่มาราคากลาง ของการจัดซื้อจัดจ้างโครงการทั้ง 4 พื้นที่ มีการอ้างอิงราคากลางจากใบเสนอราคาของ เอกชน 3 ราย ด้วย คือ 1. บริษัท ซิสทรอนิกส์ จำกัด 2. บริษัท เปรม กรุ๊ป เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และ 3. บริษัท จีเนียส ทราฟฟิค ซิสเต็ม จำกัด เหมือนกันด้วย
อย่างไรก็ดี ยังไม่มีข้อมูลยืนยันเป็นทางการว่า เอกชนทั้ง 3 ราย เข้าร่วมการแข่งขันราคาเสนอจัดซื้อจัดจ้างโครงการทั้ง 4 พื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอสะบ้าย้อย ที่มีการสั่งระงับการประกวดราคาชั่ัวคราวอยู่ในขณะนี้ด้วยหรือไม่
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage