"....สำนักข่าวอิศรา สืบค้นฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างของ อบจ.สงขลา พบว่า เมื่อวันที่ 17 ก.ค.2563 อบจ.สงขลา ได้ออกประกาศราคากลางกิจกรรมจัดซื้อโทรทัศน์วงจรปิดพร้อมอุปกรณ์และติดตั้ง อำเภอสะบ้าย้อย กำหนดราคากลางอยู่ที่ 9,856,300 บาท จากวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร 10,000,000 บาท แสดงรายการโทรทัศน์วงจรปิดพร้อมอุปกรณ์และติดตั้ง ไว้จำนวน 26 รายการ ระบุชุดโปรแกรมจัดการระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่มีลิขสิทธิ์ ถูกต้องตามกฎหมาย ไว้จำนวน 30 ลิขสิทธิ์ ในรายการสินค้าที่ 8 ซึ่งเป็นชุดโปรแกรมจัดการระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด จริง..."
..................................
ประเด็นตรวจการจัดซื้อจัดจ้างโครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดพร้อมอุปกรณ์ (CCTV) ในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยเฉพาะใน อ.สะบ้าย้อย วงงบประมาณ 10 ล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org ) รายงานไปแล้วว่า ในการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.สงขลา) ที่ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.สงขลา) ต.พะวง อ.เมือง จ.สงขลา เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา มีการอภิปรายนอกวาระการประชุม ตั้งข้อสงสัยในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดพร้อมอุปกรณ์ (CCTV) ในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยเฉพาะในอ.สะบ้าย้อย งบประมาณ 10 ล้านบาท ด้วยการคัดเลือกผู้ประกอบการ
โดยนายวิชัย กุหลาบวรรณ ส.อบจ.เขต 1 อ.เมืองสงขลา ได้อภิปรายพร้อมโชว์หนังสือร้องเรียนจากผู้ประกอบการอย่างน้อย 2 ราย ที่ส่งมายังประธานสภาอบจ.สงขลา เพื่อเรียกร้องให้สภาฯ อบจ.สงขลาทบทวนการกำหนด ทีโออาร์ และรายละเอียดโครงการ เนื่องจากมองว่าไม่โปร่งใส และไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่ไม่สามารถเข้ามาเสนอราคาได้ ซึ่งขัดกับพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ส่อว่าจะมีการล็อกสเปก เกิดขึ้น เช่น การกำหนดชุุดโปรแกรมจัดการระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ที่มีลิขลิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 30 ลิขสิทธิ์ และสามารถเชื่อมต่อกับกล้องเครื่องบันทึกภาพและควบคุมกล้อง พร้อมทั้งควบคุมอุปกรณ์การถอดรหัสสัญญาณภาพที่มีอยู่เดิมได้เป็นอย่างดี และการกำหนดอุปกรณ์ถอดรหัสสัญญาณภาพ จะต้องสามารถใช้ร่วมกับกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเครื่องบันทึกภาพ และซอฟแวร์บริหารจัดการได้เป็นอย่างดี
นายวิชัย กุหลาบวรรณ ยังย้ำด้วยว่า ทั้ง 2 ข้อที่ระบุมา เป็นการแสดงให้เห็นว่ามีเจตนาไม่โปร่งใส และเอื้อต่อบริษัทที่ถูกคัดเลือกเอาไว้แล้ว เนื่องจากผู้ประกอบการรายอื่นๆ ไม่สามารถทราบความหมายที่ชัดเจนว่า อุปกรณ์ถอดรหัสสัญญาณภาพที่มีอยู่เดิมนั้น ใช้โปรแกรมอะไร และไม่รู้ว่าผู้ประกอบการรายเดิมได้ส่งมอบรหัสให้กับ อบจ.สงขลา หรือยัง และหากโปรแกรมถอดรหัสเป็นลิขสิทธิ์ของผู้รับจ้างรายเดิมแต่เพียงผู้เดียวไม่มีจำหน่ายตามท้องตลอด จะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ จึงเสนอให้ อบจ.สงขลา ปรับปรุงทีโออาร์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมโปร่งใส
ขณะที่ นายประพันธ์ ศรีสุวรรณ ปลัดอบจ.สงขลา และปฎิบัติหน้าที่นายกอบจ.สงขลา ได้ตอบในสภาฯ ว่า โครงการติดตั้งกล้อง CCTV ได้ทำตามขั้นตอนทุกประการโดยกำหนดให้เสนอราคาในวันที่ 14 ส.ค.2563 ซึ่งหากมีการร้องเรียนมาทาง อบจ.สงขลา ก็จะดำเนินการแก้ไข โดยจะให้คณะกรรมการกำหนด TOR และกองพัสดุกลับไปทบทวน เพื่อให้เกิดความชัดเจน โดยเร็วที่สุด และอาจจะระงับการเสนอราคาโดยคณะกรรมการจะพิจารณาอีกครั้ง
(อ่านประกอบ : ประชุมสภา อบจ.สงขลา เดือด! สมาชิกแฉล็อกสเปคซื้อ CCTV 4 อำเภอ-พุ่งเป้า 'สะบ้าย้อย')
น่าสนใจว่า การกำหนดทีโออาร์ โครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดพร้อมอุปกรณ์ (CCTV) ในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยเฉพาะใน อ.สะบ้าย้อย วงงบประมาณ 10 ล้านบาท มีลักษณะเป็นไปตามข้อร้องเรียนของผู้ประกอบการ ที่ นายวิชัย กุหลาบวรรณ นำมากล่าวอ้างหรือไม่?
สำนักข่าวอิศรา สืบค้นฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างของ อบจ.สงขลา พบว่า เมื่อวันที่ 17 ก.ค.2563 อบจ.สงขลา ได้ออกประกาศราคากลางกิจกรรมจัดซื้อโทรทัศน์วงจรปิดพร้อมอุปกรณ์และติดตั้ง อำเภอสะบ้าย้อย กำหนดราคากลางอยู่ที่ 9,856,300 บาท จากวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร 10,000,000 บาท
แสดงรายการโทรทัศน์วงจรปิดพร้อมอุปกรณ์และติดตั้ง ไว้จำนวน 26 รายการ ระบุชุดโปรแกรมจัดการระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่มีลิขสิทธิ์ ถูกต้องตามกฎหมาย ไว้จำนวน 30 ลิขสิทธิ์ ในรายการสินค้าที่ 8 ซึ่งเป็นชุดโปรแกรมจัดการระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด จริง
ส่วนประเด็นเรื่องความสามารถเชื่อมต่อกับกล้องเครื่องบันทึกภาพและควบคุมกล้อง พร้อมทั้งควบคุมอุปกรณ์การถอดรหัสสัญญาณภาพที่มีอยู่เดิมได้เป็นอย่างดี ระบุอยู่ในรายละเอียดสินค้า รายการที่ 8 และ รายการที่ 6 คือ อุปกรณ์ถอดรหัสสัญญาณภาพ Full HD ขนาด 1 ช่อง จำนวน 4 เครื่อง และสินค้ารายการที่ 8 ด้วย
ขณะที่การกำหนดความสามารถใช้งานร่วมกับเครื่องบันทึกภาพได้เป็นอย่างดี อยู่ในรายละเอียด สินค้า รายการที่ 7 คือ เครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายสำหรับการบันทึกภาพวงจรปิด พื้นที่จัดเก็บข้อมูลไม่น้อยกว่า 64 TB จำนวน 1 ชุด (ดูเอกสารประกอบ)
ทั้งนี้ อบจ.สงขลา ยังระบุข้อกำหนดการติดตั้งโดยทั่วไป ว่า อุกรณ์ที่นำเสนอจะต้องสามารถใช้งานร่วมกับระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่มีอยู่เดิมได้เป็นอย่างดี โดยผู้เสนอราคาที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติต้องเตรียมอุปกรณ์สำหรับการทดสอบการใช้งานร่วมกับระบบที่มีอยู่เดิม ภายใน 15 วัน นับจากที่ได้รับแจ้งจากอบจ.สงขลาด้วย
นอกจากนี้ ผู้ขายหรือผู้รับจ้างต้องทำให้กล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่ติดตั้งใหม่ สามารถทำงานร่วมกับกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถเชื่อมโยงระบบภาพมายังศูนย์ควบคุมระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด อบจ.สงขลาได้ด้วย (ดูเอกสารประกอบ)
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อเท็จจริงที่ปรากฎอยู่ในทีโออาร์จัดซื้อจัดจ้างโครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดพร้อมอุปกรณ์ (CCTV) ในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยเฉพาะในอ.สะบ้าย้อย งบประมาณ 10 ล้านบาท ด้วยการคัดเลือกผู้ประกอบการ ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบล่าสุด
ส่วนเหตุผลในการกำหนดทีโออาร์ลักษณะนี้ มีวัตถุประสงค์เป็นอย่างไร คงต้องรอฟังคำชี้แจงของผู้บริหารอบจ.สงขลา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดเจนอีกครั้ง
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage