"...คณะกรรมการไต่สวนมีมติชี้มูลความผิด นายพิทยา รัตนพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศอ.บต. ผู้รับผิดชอบโครงการติดตั้งเสาไฟโซลาร์เซลล์ และภรรยา กรณีมีพยานหลักฐานการเรียกรับสินบนจากบริษัทผู้รับเหมาในโครงการ ขณะที่เสาไฟโซลาร์เซลล์ก็ยังใช้งานไม่ได้จำนวนมาก..."
................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้ากรณีปรากฏข่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่รัฐและผู้เกี่ยวข้องกับโครงการโคมไฟส่องสว่างโซลาร์เซลล์ให้กับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต.) โดยมีโครงการจัดซื้อจัดจ้างและติดตั้งรวม 6 สัญญาใช้งบประมาณ 1,011,916,500 บาท เป็นทางการแล้ว
โดยมีผู้ถูกกล่าวหา จำนวน 4 ราย เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ระดับ ซี 7 จำนวน 1 ราย ส่วนผู้เกี่ยวข้องที่เหลืออีก 3 ราย ถูกชี้มูลฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำความผิด
- ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดคดีอาญา จนท.รัฐ ซี 7 - พวก 3 ราย ทำโครงการเสาโซลาร์เซลล์พันล้าน ศอ.บต.
- “ผอ.ศูนย์ฯ ศอ.บต.-ภรรยา” โดน ป.ป.ช.ฟันเรียกสินบน “เสาโซลาร์เซลล์พันล้าน”
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลเป็นทางการว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกชี้มูลความผิดในคดีนี้ จำนวน 4 ราย ประกอบไปด้วย
1. นายพิทยา รัตนพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศอ.บต.
2. นางศลิษา รัตนพันธ์ ภรรยา นายพิทยา รัตนพันธ์
3. บริษัท แสงมิตร อีเลคตริค จำกัด
4. นางอุรุวัลย์ ฤดีพิพัฒนพงศ์ กรรมการ บริษัท แสงมิตร จำกัด
โดยนายพิทยา รัตนพันธ์ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 มาตรา 157 ความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 1231 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 มาตรา 103 และมีมูลความผิดทางวินัย พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 85 (1) (4)
นางศลิษา รัตนพันธ์ มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานฯกระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐ ฯ กระทำผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 123/1 และมาตรา 103 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86
นางอุรุวัลย์ ฤดีพิพัฒนพงศ์ กรรมการ บริษัท แสงมิตร จำกัด และ บริษัท แสงมิตร อีเลคตริค จำกัด มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 144 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน ฯ กระทำผิด มาตรา 157 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐ ฯ กระทำผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 123/1 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86
รายงานข่าวแจ้งว่า เดิมที่ผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ มี 7 ราย คือ 1. นายพิทยา รัตนพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศอ.บต. 2. นางศลิษา รัตนพันธ์ ภรรยา นายพิทยา รัตนพันธ์ 3. นางสาวโชษิตา รัตนพันธ์ บุตรของ นายพิทยา รัตนพันธ์ 4. บริษัท แสงมิตร จำกัด 5. นางอุรุวัลย์ ฤดีพิพัฒนพงศ์ กรรมการ บริษัท แสงมิตร อีเลคตริค จำกัด 6. ห้างหุ้นส่วนจำกัด แกรนด์ เฟมัส และ 7. นายปพนวัฒน์ วิภูนิติศีลกุล หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด แกรนด์แฟมัส
อย่างไรก็ดี ในส่วน นางสาวโชษิตา รัตนพันธ์ บุตรของ นายพิทยา รัตนพันธ์ ห้างหุ้นส่วนจำกัด แกรนด์ เฟมัส และ นายปพนวัฒน์ วิภูนิติศีลกุล หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด แกรนด์แฟมัส คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาสำนวนไต่สวนแล้ว เห็นว่า ไม่ปรากฎพฤติการณ์และพยานหลักฐานว่า ได้มีการกระทำความผิดตามที่มีการกล่าวหา เห็นควรให้ข้อกล่าวหาเป็นอันตกไป
สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต
มาตรา 144 ระบุว่า ผู้ใดให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัตแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการหรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า สำหรับโครงการที่ถูกตรวจสอบ นั้น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.)ได้รับงบประมาณอุดหนุนจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2557 ต่อเนื่องถึงปี 2559 ตรวจสอบพบจากเอกสาร มีทั้งสิ้น 6 โครงการด้วยกัน ได้แก่
1) โครงการจัดซื้อพร้อมติดตั้งชุดโคมส่องสว่างถนนแบบโซล่าเซลล์ในพื้นที่เพื่อความปลอดภัยของประชาชน จำนวน 2,000 ชุด งบประมาณ 126,000,000 บาท
2) โครงการติดตั้งเสาไฟฟ้าพร้อมโคมส่องสว่างโซล่าเซลล์ในศาสนสถานและสถานที่ฝังศพ เผาศพ จำนวน 3,484 ชุด งบประมาณ 219,492,000 บาท
3) โครงการสนับสนุนการติดตั้งโคมไฟฟ้าส่องสว่างระบบโซล่าเซลล์ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,500 ชุด งบประมาณ 94,500,000 บาท
4) โครงการติดตั้งโคมไฟถนนแอลอีดีด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 3,365 ชุด งบประมาณ 212,000,000 บาท
5) โครงการติดตั้งโคมไฟส่องสว่างด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมหลอดประหยัดพลังงานชนิดแอลอีดี เพื่อความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 4,500 ชุด งบประมาณ 270,000,000 บาท
6) โครงการติดตั้งโคมไฟส่องสว่างแบบโซล่าเซลล์ จำนวน 1,555 ชุด งบประมาณ 89,924,500 บาท
รวมงบประมาณทั้งจัดซื้อและติดตั้งทั้งสิ้น 1,011,916,500 บาท
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับ บริษัท แสงมิตร อีเลคตริค จำกัด นั้น จากการตรวจสอบพบว่า จดทะเบียนจัดตั้ง 25 ธันวาคม 2535 ทุนปัจจุบัน 116,500,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 319,321 ถนนสวนผัก แขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน จังหวัดกรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจการขายส่งอุปกรณ์สำหรับให้แสงสว่าง
ปรากฏชื่อ นางสาวอุรุวัลย์ ฤดีพิพัฒนพงศ์ นางสาว อุรุวัลย์ ฤดีพิพัฒนพงศ์ นาง นวรัตน์ ฤดีพิพัฒนพงศ์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
ณ 31 พฤษภาคม 2564 สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ถือหุ้นใหญ่สุด 27.8970% มูลค่า 32,500,000 บาท นางสาว อุรุวัลย์ ฤดีพิพัฒนพงศ์ ถืออยู่ 25.2074% มูลค่า 29,366,600 บาท นาง นวรัตน์ ฤดีพิพัฒนพงศ์ 18.9414% มูลค่า 22,066,700 บาท นาย มีชัย ภัทรเปรมเจริญ 17.6538% มูลค่า 20,566,700 บาท นางสาว บุษราคัม ฤดีพิพัฒนพงศ์ 10.3004% มูลค่า 12,000,000 บาท
ขณะที่ นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์ยืนยัน “ทีมข่าวอิศรา” ก่อนหน้านี้ว่า คณะกรรมการไต่สวนมีมติชี้มูลความผิด นายพิทยา รัตนพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศอ.บต. ผู้รับผิดชอบโครงการติดตั้งเสาไฟโซลาร์เซลล์ และภรรยา กรณีมีพยานหลักฐานการเรียกรับสินบนจากบริษัทผู้รับเหมาในโครงการ ขณะที่เสาไฟโซลาร์เซลล์ก็ยังใช้งานไม่ได้จำนวนมาก
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า การชี้มูลความผิดดังกล่าวเป็นเพียงกระบวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดในคดีนี้ ยังมีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลได้อีก
- เจาะโครงการเสาไฟโซลาร์เซลล์พันล้าน! ชาวบ้านร้องติดๆ ดับๆ
- ศอ.บต.แจงเสาโซลาร์เซลล์เสียแค่ 531 ต้น อ้างถูกขโมยแบตเตอรี่!
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/