"...กรณีลักษณะอย่างนี้อาจจะถือว่าเป็นการเตะถ่วงเพื่อไม่ให้เป็นผู้ทิ้งงาน โดยมีเจตนาจะช่วยเหลือ เมื่อมีเรื่องขึ้นมายิ่งหนัก เพราะถ้าเข้าข่ายเป็นผู้ทิ้งงานที่สามารถวินิจฉัยได้แล้ว แต่ไม่เสนอกลับทำมาในลักษณะหารือเพื่อที่จะให้กรมบัญชีกลางสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงานไม่ได้ หนักหนาสาหัสแน่..."
.......................
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ทำหนังสือลงวันที่ 13 ก.ค.2564 ถึงปลัดกระทรวงการคลัง แจ้งการพิจารณาลงโทษบริษัท บูรพาเทคนิคคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ให้เป็นผู้ทิ้งงาน
หนังสือระบุว่า "ตามที่ บริษัท บูรพาเทคนิคคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ได้เข้ายื่นข้อเสนอ/เป็นคู่สัญญากับการไฟฟ้าภูมิภาค ตามสัญญาจ้างเลขที่ จ.ป. 218/2558 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 ปรากฏว่าบริษัท บูรพาเทคนิคคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) กระทำการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา โดยการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำอันมีลักษณะเป็นการทิ้งงาน ตามมาตรา 109(2) แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ดังนั้น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จึงเห็นสมควรพิจารณาสั่งให้ บริษัท บูรพาเทคนิคคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ทิ้งงาน"
ลงนามโดย นายนุกูล ตูพานิช รองผู้ว่าการก่อสร้าง และบริหารโครงการปฏิบัติงานแทนผู้ว่าราชการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
(อ่านประกอบ : กฟภ.กลับลำ แจ้งปลัดคลัง ให้ บมจ.บมจ.บูรพาฯ เป็นผู้ทิ้งงานระบบไฟฟ้าปัตตานี 125 ล.)
คือ ความเคลื่อนไหวล่าสุดในประเด็นตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก กรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการร้องเรียนในช่วงปลายปี 2561 ว่า กฟภ. ได้ทำหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญางานโครงการก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควี ช่วงสถานีไฟฟ้าปัตตานี 2-สถานีไฟฟ้าสายบุรี จังหวัดปัตตานี วงเงิน 125 ล้านบาท กับ บริษัท บูรพาเทคนิคคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) เนื่องจากบริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างงานให้แล้วเสร็จตามสัญญาได้ พร้อมแจ้งขอสงวนสิทธิ์ในการเรียกค่าปรับจนถึงวันบอกเลิกสัญญา
แต่หลังจากนั้นในช่วงปี 2562 กฟภ. ยังคงทำสัญญาว่าจ้างเอกชนรายนี้เข้ามารับงานหลายสัญญา
ทั้งที่ ตามหลักการทางกฎหมาย การที่บริษัทฯ ถูกบอกเลิกสัญญาจ้าง เนื่องจากทำงานไม่แล้วเสร็จตามสัญญา ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญาซึ่งเป็นการกระทำอันมีลักษณะเป็นการทิ้งงาน ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุ ภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 109 (2) ที่ระบุว่า คู่สัญญาของหน่วยงานของรัฐหรือผู้รับจ้างช่วงที่หน่วยงานของรัฐอนุญาตให้รับช่วงงานได้ไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือนั้น ให้ปลัดกระทรวงการคลังเป็นผู้มีอํานาจสั่งให้ผู้ยื่นข้อเสนอหรือคู่สัญญาเป็นผู้ทิ้งงาน และให้แจ้งเวียนรายชื่อผู้ทิ้งงานให้หน่วยงานของรัฐทราบกับแจ้งเวียนในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลางรวมทั้งแจ้งให้ผู้ทิ้งงานทราบด้วย
ขณะที่ผู้บริหาร กฟภ. ยืนยันกับสาธารณชนมาโดยตลอดว่า เหตุผลที่ไม่ลงโทษ บริษัท บูรพาเทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด (มหาชน) เป็นผู้ทิ้งงาน เป็นเพราะ 1. บริษัท บูรพาเทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด (มหาชน) มีเจตนาที่จะดําเนินเนินงานก่อสร้าง ให้แล้วเสร็จตามสัญญา โดยมีการดําเนินงานก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน ภาคใต้ ทําให้มีปัญหาอุปสรรคที่ไม่สามารถควบคุมได้ทั้งในส่วนของสถานการณ์บริเวณพื้นที่ก่อสร้าง และแรงงานที่มีความประสงค์จะทํางานในพื้นที่ดังกล่าว ส่งผลให้การดําเนินงานก่อสร้างมีความก้าวหน้าน้อยมาก และจากการตรวจสอบงานก่อสร้างสายส่งและระบบจําหน่ายที่ บริษัท บูรพาเทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด (มหาชน) เป็นคู่สัญญาในช่วงเวลาเดียวกัน จํานวน 3 สัญญา บริษัท บูรพาเทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด (มหาชน) ยังคงมุ่งมั่นดําเนินงานก่อสร้างและแล้วเสร็จตามสัญญา
2. บริษัท บูรพาเทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด (มหาชน) มิได้ปฏิเสธความรับผิดชอบและ ยินยอมชําระค่าปรับให้แก่ กฟภ.
(อ่านประกอบ : คำชี้แจง กฟภ. กรณีเลิกสัญญา-ไม่ลงโทษ บ.ทำระบบไฟฟ้าปัตตานี 125 ล., 'อิศรา' ถาม 'กฟภ.' ตอบ! ทำไมบอกเลิกสัญญา-ไม่ลงโทษ บ.บูรพาฯ ทำระบบไฟฟ้าปัตตานี 125 ล.)
ปัจจุบัน กฟภ. ยังไม่ได้ออกมาชี้แจงต่อสาธารณะเป็นทางว่า ทำไมถึงเปลี่ยนใจ ลงโทษให้ บริษัท บูรพาเทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด (มหาชน) เป็นผู้ทิ้งงานดังกล่าว
แต่มีการวิเคราะห์กันว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ กฟภ. ต้องตัดสินใจทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อแจ้งการพิจารณาลงโทษบริษัท บูรพาเทคนิคคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ให้เป็นผู้ทิ้งงาน
น่าจะมาจากท่าทีของ คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง
กล่าวคือ ในช่วงเดือนมีนาคม 2564 ภายหลังจากที่สำนักข่าวอิศรา ตีแผ่ข้อมูลเรื่องนี้ต่อสาธารณชน และได้รับคำชี้แจงจาก กฟภ. ถึงเหตุผลที่ไม่ลงโทษ บริษัท บูรพาเทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด (มหาชน) เป็นผู้ทิ้งงานดังกล่าว
เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 กฟภ. ได้ทำหนังสือถึง อธิบดีกรมบัญชีกลาง เพื่อขอหารือเกี่ยวกับการพิจารณาเป็นผู้ทิ้งงาน ของ บริษัท บูรพาเทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด (มหาชน) โดยให้เหตุผลข้อเท็จจริงการไม่เสนอเรื่องให้ บริษัทฯ เป็นผู้ทิ้งงานดังกล่าว พร้อมขอเรียนหารือว่าการพิจารณาของ กฟภ. ที่เห็นว่าบริษัท บูรพาฯ มีเหตุผลสมควร จึงไม่ถือว่าบริษัท บูรพาฯ กระทำการทิ้งงานสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 109 (2) หรือไม่ หรือ กฟภ.ควรจะต้องดำเนินการอย่างไร
จากนั้น เมื่อวันที่ 11 มิย.2564 คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ได้ทำหนังสือถึง ผู้ว่าฯ กฟภ. ลงนามโดยนายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการวินิจฉัย เพื่อแจ้งให้ทราบว่า กรณีนี้เป็นดุลพินิจของ กฟภ. ในการพิจารณาว่า บริษัทฯ กระทำการอันมีลักษณะเป็นทางการทิ้งงานตามความในมาตรา 109 หรือไม่ เมื่อได้ผลการพิจารณาแล้วให้เสนอความเห็นไปยังปลัดกระทรวงการคลัง หากปลัดกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัทฯ สมควรเป็นผู้ทิ้งงาน ก็จะดำเนินการออกคำสั่งให้บริษัทและกรรมการผู้จัดการของบริษัทฯ เป็นผู้ทิ้งงาน พร้อมทั้งแจ้งเวียนชื่อผู้ทิ้งงานให้หน่วยงานของรัฐต่าง ๆ ทราบ แต่หากปลัดกระทรวงการคลังเห็นว่า บริษัทฯ ไม่สมควรเป็นผู้ทิ้งงาน จะแจ้งผลการพิจารณาไปให้ กฟภ.ทราบต่อไป
โดยแหล่งข่าวระดับสูงกรมบัญชีกลาง ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า เกี่ยวกับกรณีนี้ กรมบัญชีกลาง เพิ่งได้รับหนังสือหารือจาก กฟภ. เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 หลังจากที่สำนักข่าวอิศรา ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ และเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงแล้ว กรณีนี้ อาจทำให้ กฟภ. ถูกมองว่ามีลักษณะเป็นการเตะถ่วงเพื่อไม่ให้บริษัทเป็นผู้ทิ้งงาน และมีเจตนาที่จะช่วยเหลือบริษัทได้
"กรณีลักษณะอย่างนี้อาจจะถือว่าเป็นการเตะถ่วงเพื่อไม่ให้เป็นผู้ทิ้งงาน โดยมีเจตนาจะช่วยเหลือ เมื่อมีเรื่องขึ้นมายิ่งหลัก เพราะถ้าเข้าข่ายเป็นผู้ทิ้งงานที่สามารถวินิจฉัยได้แล้ว แต่ไม่เสนอกลับทำมาในลักษณะหารือเพื่อที่จะให้กรมบัญชีกลางสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงานไม่ได้ หนักหนาสาหัสแน่" แหล่งข่าวระบุ
ด้วยปัจจัยนี้ จึงอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ในการทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงการคลัง แจ้งการพิจารณาลงโทษบริษัท บูรพาเทคนิคคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ให้เป็นผู้ทิ้งงานดังกล่าว กฟภ. จะยึดหลักกฎหมายปฏิบัติ ตามมาตรา 109(2) อย่างเคร่งครัด โดยไม่ระบุเหตุผลเดิมเรื่องสถานการณ์ความไม่สงบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแสดงความรับผิดชอบของเอกชนมาใช้ประกอบด้วย
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าอะไรจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ กฟภ. กลับลำแบบ 360 องศา ดังกล่าว
ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นไปแล้ว ก็คือ นับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 ที่ กฟภ. ได้ทำหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญางานโครงการก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควี ช่วงสถานีไฟฟ้าปัตตานี 2-สถานีไฟฟ้าสายบุรี จังหวัดปัตตานี วงเงิน 125 ล้านบาท กับ บริษัท บูรพาเทคนิคคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) เนื่องจากบริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างงานให้แล้วเสร็จตามสัญญาได้ จนถึงปัจจุบัน
บริษัท บูรพาเทคนิคคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ปรากฏชื่อเป็นคู่สัญญารับงานจาก กฟภ. จำนวนกว่า 12 สัญญา รวมมูลค่าทั้งสิ้น 285,202,917 บาท (เท่าที่ตรวจสอบพบ) (ดูตารางประกอบ)
ที่มา : ภาษีไปไหน , สำนักข่าวอิศรา รวบรวม
ขณะที่เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2564 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางไปยื่นคำร้องกล่าวโทษผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และคณะ ฐานทุจริตต่อหน้าที่ กรณีอาจเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการเอกชนที่ทำผิดสัญญาหรือทิ้งงานที่ทำไว้กับ กฟภ. โดยไม่ขึ้นแบล็คลิสต์หลังบอกเลิกสัญญา อีกทั้งภายหลังยังจัดทำทีโออาร์โครงการใหม่ตัดเงื่อนไขเดิมทิ้ง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเดิมที่เคยถูก กฟภ.บอกเลิกสัญญา สามารถเข้ามาประมูลงานได้อีก
นี่ยังไม่รวมถึงผลการสอบสวนภายในของ กฟภ. ซึ่งในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (สร.กฟภ.) ได้ทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) กฟภ. (นายฉัตรชัย พรหมเลิศ) เพื่อทวงถามเรื่องนี้เป็นทางการมาแล้ว เนื่องจากเกรงว่าเรื่องนี้จะกลายเป็นปัญหาสะสม อีกทั้งเรื่องดังกล่าวเป็นที่สนใจของประชาชนและพนักงาน กฟภ. ทั่วประเทศ เพราะเป็นเรื่องของผลประโยชน์ต่างตอบแทนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ จะถูกหรือผิด ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องต้องออกมาชี้แจง อธิบายให้สังคมรับรู้ เพื่อเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการเปิดเผยความจริงให้ปรากฏ เพราะเรื่องมีความเกี่ยวพันกับงบประมาณแผ่นดินด้วย
ดังนั้น การที่ กฟภ.ตัดสินใจทำหนังสือแจ้งให้ บริษัท บูรพาเทคนิคคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ทิ้งงานในช่วงเวลานี้
จะช่วยบรรเทาและแก้ข้อกล่าวหาเหล่านี้ทั้งในส่วนการสอบสวนภายใน รวมไปถึงการสอบสวนของ ป.ป.ช. ได้หมดไปหรือไม่
ต้องจับตาดูกันต่อไป แบบห้ามกระพริบตาโดยเด็ดขาด!
อ่านประกอบ :
เปิดปม! กฟภ.ไม่ลงโทษเอกชนเป็นผู้ทิ้งงาน? หลังบอกเลิกสัญญาระบบไฟฟ้าปัตตานี 125 ล. (1)
อ้างเหตุสุดวิสัย! เปิดหนังสือ กฟภ. แจ้งเลิกสัญญา-ไม่ลงโทษ ทำระบบไฟฟ้าปัตตานี 125 ล.(2)
เจอตั้งเสาเปล่าริมถนนหลักสิบต้น! ตามไปดูโครงการสายส่งระบบไฟฟ้าปัตตานี 125 ล. (3)
คำชี้แจง กฟภ. กรณีเลิกสัญญา-ไม่ลงโทษ บ.ทำระบบไฟฟ้าปัตตานี 125 ล.
'อิศรา' ถาม 'กฟภ.' ตอบ! ทำไมบอกเลิกสัญญา-ไม่ลงโทษ บ.บูรพาฯ ทำระบบไฟฟ้าปัตตานี 125 ล.
ส่องโครงการระบบไฟฟ้าสะบ้าย้อย-ปัตตานี 175 ล. -ทำไมผู้รับเหมาส่งงานครบไร้ปัญหา
สหภาพ กฟภ.ทวงถาม‘ฉัตรชัย’ สอบปมสร้างสายส่งไฟฟ้าปัตตานี 125 ล.ไม่ลงโทษเอกชนทิ้งงาน
ยื่น ป.ป.ช.สอบ ‘ผู้ว่าฯ กฟภ.’ไม่ลงโทษเอกชนทิ้งงาน ปมสร้างสายส่งไฟฟ้าปัตตานี 125 ล.
หนักหนาสาหัสแน่! แฉ กฟภ.เพิ่งถามกรมบัญชีกลาง ไม่ลงโทษ บ.บูรพาฯ ทิ้งงาน-หลัง อิศรา ตีข่าว
เข้าม.109 หรือไม่! คกก.วินิจฉัยฯ แจ้ง กฟภ.ใช้ดุลพินิจกรณี บมจ.บูรพาฯ ทิ้งงาน 125 ล.
กฟภ.กลับลำ แจ้งปลัดคลัง ให้ บมจ.บมจ.บูรพาฯ เป็นผู้ทิ้งงานระบบไฟฟ้าปัตตานี 125 ล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/