"...กรณีลักษณะอย่างนี้อาจจะถือว่าเป็นการเตะถ่วงเพื่อไม่ให้เป็นผู้ทิ้งงาน โดยมีเจตนาจะช่วยเหลือ เมื่อมีเรื่องขึ้นมายิ่งหลัก เพราะถ้าเข้าข่ายเป็นผู้ทิ้งงานที่สามารถวินิจฉัยได้แล้ว แต่ไม่เสนอกลับทำมาในลักษณะหารือเพื่อที่จะให้กรมบัญชีกลางสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงานไม่ได้ หนักหนาสาหัสแน่..."
...................................
ประเด็นตรวจสอบกรณี ในช่วงปลายปี 2561 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ทำหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญางานโครงการก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควี ช่วงสถานีไฟฟ้าปัตตานี 2-สถานีไฟฟ้าสายบุรี จังหวัดปัตตานี วงเงิน 125 ล้านบาท กับ บริษัท บูรพาเทคนิคคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) เนื่องจากบริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างงานให้แล้วเสร็จตามสัญญาได้ พร้อมแจ้งขอสงวนสิทธิ์ในการเรียกค่าปรับจนถึงวันบอกเลิกสัญญา แต่หลังจากนั้นในช่วงปี 2562 กฟภ. ยังคงทำสัญญาว่าจ้างเอกชนรายนี้เข้ามารับงานหลายสัญญา
ทั้งที่ ตามหลักการทางกฎหมาย การที่บริษัทฯ ถูกบอกเลิกสัญญาจ้าง เนื่องจากทำงานไม่แล้วเสร็จตามสัญญา ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญาซึ่งเป็นการกระทำอันมีลักษณะเป็นการทิ้งงาน ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุ ภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 109 (2) ที่ระบุว่า คู่สัญญาของหน่วยงานของรัฐหรือผู้รับจ้างช่วงที่หน่วยงานของรัฐอนุญาตให้รับช่วงงานได้ไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือนั้น ให้ปลัดกระทรวงการคลังเป็นผู้มีอํานาจสั่งให้ผู้ยื่นข้อเสนอหรือคู่สัญญาเป็นผู้ทิ้งงาน และให้แจ้งเวียนรายชื่อผู้ทิ้งงานให้หน่วยงานของรัฐทราบกับแจ้งเวียนในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลางรวมทั้งแจ้งให้ผู้ทิ้งงานทราบด้วย
ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เคยติดตามนำเสนอข้อมูลเชิงลึกมาให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องนั้น
กำลังกลับมาเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองจากสังคมอีกครั้ง
เมื่อสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบข้อมูลใหม่ว่า ในช่วงเดือนมีนาคม 2564 ภายหลังจากที่สำนักข่าวอิศรา ตีแผ่ข้อมูลเรื่องนี้ต่อสาธารณชน และได้รับคำชี้แจงจาก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เหตุผลที่ไม่ลงโทษ บริษัท บูรพาเทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด (มหาชน) เป็นผู้ทิ้งงานนั้น
เป็นเพราะ
1. บริษัท บูรพาเทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด (มหาชน) มีเจตนาที่จะดําเนินเนินงานก่อสร้าง ให้แล้วเสร็จตามสัญญา โดยมีการดําเนินงานก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน ภาคใต้ ทําให้มีปัญหาอุปสรรคที่ไม่สามารถควบคุมได้ทั้งในส่วนของสถานการณ์บริเวณพื้นที่ก่อสร้าง และแรงงานที่มีความประสงค์จะทํางานในพื้นที่ดังกล่าว ส่งผลให้การดําเนินงานก่อสร้างมีความก้าวหน้าน้อยมาก และจากการตรวจสอบงานก่อสร้างสายส่งและระบบจําหน่ายที่ บริษัท บูรพาเทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด (มหาชน) เป็นคู่สัญญาในช่วงเวลาเดียวกัน จํานวน 3 สัญญา บริษัท บูรพาเทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด (มหาชน) ยังคงมุ่งมั่นดําเนินงานก่อสร้างและแล้วเสร็จตามสัญญา
2. บริษัท บูรพาเทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด (มหาชน) มิได้ปฏิเสธความรับผิดชอบและ ยินยอมชําระค่าปรับให้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
ในช่วงเวลาเดียวกัน เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ทำหนังสือถึง อธิบดีกรมบัญชีกลาง เพื่อขอหารือเกี่ยวกับการพิจารณาเป็นผู้ทิ้งงาน ของ บริษัท บูรพาเทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด (มหาชน) โดยให้เหตุผลข้อเท็จจริงการไม่เสนอเรื่องให้ บริษัทฯ เป็นผู้ทิ้งงาน ดังนี้
1.) พื้นที่ก่อสร้างอยู่ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีเหตุการณ์ไม่สงบ และไม่สามารถประเมินหรือคาดการณ์ได้ส่วงหน้า โดยในช่วงเวลาที่ดำเนินงานก่อสร้างตั้งแต่ปี 2559-2561 เกิดเหตุการณ์ไม่สงบต่อเนื่อง และบ่อยครั้ง ทั้งในบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง และพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียง ส่งผลกระทบให้ต้องหยุดงานก่อสร้าง อีกทั้งทำให้พนักงาน และแรงงาน เกิดความวิตกกังวลถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สินและร่างกาย จึงหยุดงาน และลาออกไปจำนวนมาก
2.) เกิดเหตุการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และพื้นที่ใกล้เคียงส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินงานก่อสร้างได้ แม้บริษัท บูรพาฯ จะได้รับการขยายเวลาตามมติคณะรัฐมนตรี แต่ก็เป็นเพียงระยะเวลาส่วนน้อยที่ได้รับผลกระทบ
3.) ภายหลังถูกบอกเลิกสัญญา บริษัท บูรพาฯ ยังคงติดต่อและให้ความร่วมมือกับ กฟภ.เป็นอย่างดี รวมทั้งยินดีรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยเบื้องต้น บริษัท บูรพาฯ ได้ชำระเงินค่าปรับบางส่วนเป็นจำนวนเงิน 6,000,000 บาท ให้แก่ กฟภ.
4.) ในช่วงเวลาเดียวกับงานก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควี ช่วงสถานีไฟฟ้าปัตตานี 2 - สถานีไฟฟ้าสายบุรี จังหวัดปัตตานี บริษัท บูรพาฯ เป็นคู่สัญญางานก่อสร้างสายส่งกับ กฟภ. หลายสัญญา และสามารถดำเนินงานก่อสร้างแล้วเสร็จตามสัญญา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น และตั้งใจในการปฏิบัติตามสัญญา
กฟภ. พิจารณาเหตุผลของ บริษัท บูรพาฯ แล้วเห็นว่า บริษัท บูรพาฯ ไม่มีเจตนาและพฤติกรรมที่จะเป็นผู้ทิ้งานจริง หรือจงใจทำให้ กฟภ. เกิดความเสียหายโดยตรง และเห็นว่าการที่ผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญา มิได้กระทำไปโดยไม่มีเหตุผลสมควร กพภ.จึงมีหนังสือแจ้งบริษัท แจ้งผลการพิจารณาดังกล่าวให้บริษัท บูรพาฯ ทราบ
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น กฟภ. จึงขอเรียนหารือว่าการพิจารณาของ กฟภ. ที่เห็นว่าบริษัท บูรพาฯ มีเหตุผลสมควร จึงไม่ถือว่าบริษัท บูรพาฯ กระทำการทิ้งงานสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 109 (2) หรือไม่ หรือ กฟภ.ควรจะต้องดำเนินการอย่างไร (ดูหนังสือประกอบ)
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวระดับสูงกรมบัญชีกลาง ว่า เกี่ยวกับกรณีนี้ กรมบัญชีกลาง เพิ่งได้รับหนังสือหารือจาก กฟภ. เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 หลังจากที่สำนักข่าวอิศรา ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ และเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงแล้ว กรณีนี้ อาจทำให้ กฟภ. ถูกมองว่ามีลักษณะเป็นการเตะถ่วงเพื่อไม่ให้บริษัทเป็นผู้ทิ้งงาน และมีเจตนาที่จะช่วยเหลือบริษัทได้
"กรณีลักษณะอย่างนี้อาจจะถือว่าเป็นการเตะถ่วงเพื่อไม่ให้เป็นผู้ทิ้งงาน โดยมีเจตนาจะช่วยเหลือ เมื่อมีเรื่องขึ้นมายิ่งหลัก เพราะถ้าเข้าข่ายเป็นผู้ทิ้งงานที่สามารถวินิจฉัยได้แล้ว แต่ไม่เสนอกลับทำมาในลักษณะหารือเพื่อที่จะให้กรมบัญชีกลางสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงานไม่ได้ หนักหนาสาหัสแน่" แหล่งข่าวระบุ
อนึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2564 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องกล่าวโทษผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และคณะ ฐานทุจริตต่อหน้าที่ กรณีอาจเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการเอกชนที่ทำผิดสัญญาหรือทิ้งงานที่ทำไว้กับ กฟภ. โดยไม่ขึ้นแบล็คลิสต์หลังบอกเลิกสัญญา อีกทั้งภายหลังยังจัดทำทีโออาร์โครงการใหม่ตัดเงื่อนไขเดิมทิ้ง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเดิมที่เคยถูก กฟภ.บอกเลิกสัญญา สามารถเข้ามาประมูลงานได้อีก
ขณะที่ นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้ทำหนังสือชี้แจงต่อกระทรวงมหาดไทย ใน 5 ประเด็นหลัก ดังนี้
1. กฟภ.ได้ว่าจ้าง บริษัท บูรพาฯ เป็นผู้ก่อสร้างงานก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควี ช่วงสถานีไฟฟ้าปัตตานี 2 – สถานีไฟฟ้าสายบุรีจ.ปัตตานีระยะทาง 50 กม.วงเงิน 125 ล้านบาท (ไม่รวม vat) ตามสัญญาจ้างเลขที่ จ.ป.218/2558 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 ระยะเวลาสัญญา 720 วันครบกาหนดสัญญาวันที่ 15 ก.พ. 2561 ต่อมาได้ มีการขยายเวลาสัญญา ตามมติ ครม. ช่วยเหลือจากเหตุอุทกภัยในภาคใต้ จานวน 120 วัน ให้ครบกาหนดสัญญาในวันที่ 15 มิ.ย.2561
2. กฟภ.ได้ยกเลิกสัญญาผู้รับจ้างเนื่องจากเห็นว่าผู้รับจ้างไม่สามารถดาเนินการให้แล้วเสร็จตามสัญญาจ้าง โดยความล่าช้าเกิดจากบริษัทฯ ไม่สามารถทำงานตามแผนงานที่กาหนดไว้ แม้ว่าจะได้รับการขยายระยะเวลาเพิ่มอีกจานวน 120 วัน แล้วก็ตาม
3. ภายหลังจากบอกเลิกสัญญา กฟภ.ได้มีหนังสือที่ มท 2306.20/25803 ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2562 ถึงปลัดกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาบริษัทฯ ว่ากระทำการอันมีลักษณะเป็นการทิ้งงานตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการ บริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 109 (2) ไม่ปฏิบัติตามสัญญา/ข้อตกลงหรือไม่
4. กรมบัญชีกลางส่งเรื่องคืน เพื่อให้ กฟภ.มีหนังสือเปิดโอกาสให้บริษัทฯ ชี้แจง เหตุผลข้อเท็จจริงก่อนและเมื่อชี้แจงกลับมาแล้ว ขอให้ กฟภ.พิจารณาข้อชี้แจงดังกล่าวว่าสามารถ รับฟังได้หรือไม่ หากไม่สามารถรับฟังได้ และเห็นควรพิจารณาให้เป็นผู้ทิ้งงาน ให้รวบรวมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน ก่อนจัดส่งให้กรมบัญชีกลางเพื่อพิจารณาให้เป็นผู้ทิ้งงาน ตามหนังสือเลขที่ กค 0405.7/28672 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2562
5. กฟภ.มีหนังสือแจ้งบริษัทฯ ให้ชี้แจงเหตุผล ซึ่งสรุปสาระสาคัญได้ ดังนี้ การส่งมอบพื้นที่ล่าช้ากว่าแผน, พื้นที่ก่อสร้างซับซ้อนและยากในการเข้าถึงพื้นที่มากกว่าโครงการอื่นๆ , มีเหตุการณ์ความไม่สงบมาโดยตลอด, ประสบอุทกภัยเป็นเวลานาน แต่ได้รับการขยายเวลาเพียง 120 วัน , มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างเพื่อลดผลกระทบกับประชาชน (ร้องเรียน) หลังจากถูกบอกเลิกสัญญาจ้าง และหลังจากที่ถูกบอกยกเลิกสัญญานี้แล้ว บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นทางานกับ กฟภ.ในสัญญาอื่นๆ อีก 5 สัญญาจนแล้วเสร็จ มิได้จงใจทำให้ กฟภ.เกิดความเสียหาย และบริษัทฯ ชำระค่าปรับบางส่วนให้ กฟภ.เป็นเงิน 6 ล้านบาท เป็นหลักประกัน
ผลการตรวจสอบของ ป.ป.ช. จะออกมาเป็นอย่างไร คงติดตามดูกันต่อไป
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับกรณีนี้ ปัจจุบันยังไม่มีการชี้มูลความผิดจากหน่วยงานตรวจสอบแห่งใด
ผู้เกี่ยวข้องทั้งในส่วนภาครัฐ และเอกชนที่ปรากฎในข่าว จึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
อ่านประกอบ :
เปิดปม! กฟภ.ไม่ลงโทษเอกชนเป็นผู้ทิ้งงาน? หลังบอกเลิกสัญญาระบบไฟฟ้าปัตตานี 125 ล. (1)
อ้างเหตุสุดวิสัย! เปิดหนังสือ กฟภ. แจ้งเลิกสัญญา-ไม่ลงโทษ ทำระบบไฟฟ้าปัตตานี 125 ล.(2)
เจอตั้งเสาเปล่าริมถนนหลักสิบต้น! ตามไปดูโครงการสายส่งระบบไฟฟ้าปัตตานี 125 ล. (3)
คำชี้แจง กฟภ. กรณีเลิกสัญญา-ไม่ลงโทษ บ.ทำระบบไฟฟ้าปัตตานี 125 ล.
'อิศรา' ถาม 'กฟภ.' ตอบ! ทำไมบอกเลิกสัญญา-ไม่ลงโทษ บ.บูรพาฯ ทำระบบไฟฟ้าปัตตานี 125 ล.
ส่องโครงการระบบไฟฟ้าสะบ้าย้อย-ปัตตานี 175 ล. -ทำไมผู้รับเหมาส่งงานครบไร้ปัญหา
สหภาพ กฟภ.ทวงถาม‘ฉัตรชัย’ สอบปมสร้างสายส่งไฟฟ้าปัตตานี 125 ล.ไม่ลงโทษเอกชนทิ้งงาน
ยื่น ป.ป.ช.สอบ ‘ผู้ว่าฯ กฟภ.’ไม่ลงโทษเอกชนทิ้งงาน ปมสร้างสายส่งไฟฟ้าปัตตานี 125 ล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/