"...จากการสอบสวนของ ปปง.พบว่า การกู้ยืมเงินของ บริษัท เมอร์รี่ไรซ์แลนด์ จำกัด จาก บริษัท ฮินตัน เป็นการกู้ยืมเงินจำนวนสูงถึง 5,000 ล้านบาท โดยไม่มีการกำหนดระยะเวลาในการคืนเงินกู้ ลักษณะการปล่อยกู้ มีการจัดทำสัญญากู้ยืมจำนวน 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาแรก ลงวันที่ 14 พ.ค.2556 จำนวน 3,000 ล้านบาท และสัญญาฉบับที่สอง ลงวันที่ 10 ก.ค.2556 ซึ่งเปลี่ยนจากสัญญาฉบับแรกมาเป็นสัญญาฉบับที่สอง เป็นยอดเงิน 5,000 ล้านบาท ... บริษัท ฮินตัน เทรดดิง แอสเสส จำกัด เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งภายใต้กฎหมายของหมู่เกาะบริติช เวอร์จิน..."
ในการนำเสนอข้อมูลเบื้องลึกตัวละครที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเส้นทางเงินคดีทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่รัฐ หรือ จีทูจี ที่ถูกสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ออกคำสั่งอายัดทรัพย์ไว้ และนำไปสู่การยื่นเรื่องฟ้องคดีต่อศาล เพื่อขอให้ยึดทรัพย์ตกเป็นสมบัติของแผ่นดิน ของสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) หลายตอนก่อนหน้านี้
มีตัวละครใหม่ที่น่าสนใจ คือ บริษัท ฮินตัน เทรดดิง แอสเสส จำกัด ที่จดทะเบียนจัดตั้งบนเกาะบริติช เวอร์จิน
ตัวละครนี้ ปรากฎอยู่ในคำให้การของ นายสรวิศ จันทร์สกุลพร ลูกชายของนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ เสี่ยเปี๋ยง อดีตพ่อค้าข้าวชื่อดัง ผู้ก่อตั้งบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด กับ นางกิ่งแก้ว จันทร์สกุลพร หรือ ลิ่มปิสุข ที่หยิบยกขึ้นมาแก้ต่างในคดีถูกอายัดทรัพย์สินมูลค่าหลายร้อยล้านบาท ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่รัฐ หรือ จีทูจี
นายสรวิศ ยืนยันว่า เงินกู้ยืมจากบริษัท เมอร์รี่ไรซ์แลนด์ จำกัด ที่ นายสรวิศ เป็นผู้ริเริ่มก่อการจัดตั้ง รวมประมาณ 730 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาใช้หมุนเวียนและลงทุนในสลากออมทรัพย์และหน่วยลงทุนในกองทุนของบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ แหล่งที่มาของเงินจำนวนนี้ เป็นเงินของ บริษัท เมอร์รี่ไรซ์แลนด์ จำกัด ที่ได้มาจากการดำเนินกิจการ และการกู้ยืมเงินจากบริษัท ฮินตัน เทรดดิง แอสเสส จำกัด ที่จดทะเบียนบนเกาะบริติช เวอร์จิน
@นายสรวิศ จันทร์สกุลพร
ขณะที่ จากการสอบสวนของ ปปง.พบว่า การกู้ยืมเงินของ บริษัท เมอร์รี่ไรซ์แลนด์ จำกัด จาก บริษัท ฮินตัน เป็นการกู้ยืมเงินจำนวนสูงถึง 5,000 ล้านบาท โดยไม่มีการกำหนดระยะเวลาในการคืนเงินกู้
ลักษณะการปล่อยกู้ มีการจัดทำสัญญากู้ยืมจำนวน 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาแรก ลงวันที่ 14 พ.ค.2556 จำนวน 3,000 ล้านบาท และสัญญาฉบับที่สอง ลงวันที่ 10 ก.ค.2556 ซึ่งเปลี่ยนจากสัญญาฉบับแรกมาเป็นสัญญาฉบับที่สอง เป็นยอดเงิน 5,000 ล้านบาท
ผลการสอบสวนของ ปปง. ระบุด้วยว่า บริษัท ฮินตัน เทรดดิง แอสเสส จำกัด เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งภายใต้กฎหมายของหมู่เกาะบริติช เวอร์จิน
ส่วนกรรมการผู้มีอำนาจลงนามในการทำสัญญากู้ยืมระหว่าง บริษัท ฮินตันกับ บริษัท เมอร์รี่ไรซ์แลนด์ จำกัด ในขณะนั้น คือ นายเฉิน ยี่ทง เป็นชาวจีน จาก มณฑลไหหลำ หรือ ไห่หนาน
@ ภาพเล็ก นายลิตร พอใจ กับ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ เสี่ยเปี๋ยง
ทั้งนี้ นายเฉิน ยี่ทง ยังเป็นบุคคลคนเดียวกับ คนที่ร่วมกับ นายลิตร พอใจ ( นายลิตร เป็นพนักงานในบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด มีสถานะเป็นพนักงานขับรถให้กับนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร) ซึ่งปรากฎชื่อเป็นตัวแทนของบริษัท ไห่หนาน เกรน แอนด์ ออยล์ อินดัสเทรียล เทรดดิ้ง จำกัด รัฐวิสาหกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เข้ามาทำสัญญาซื้อข้าวจีทูจี ของรัฐบาลไทย โดยได้รับมอบอำนาจในการเข้ามารับข้าวในสต็อกรัฐบาลออกไปขายต่อให้กับกลุ่มผู้ส่งออกข้าวในประเทศ ในการลงทุนเปิด บริษัท ซิมเปิ้ล เบสท์ เทรดดิ้ง จำกัด (อ่านประกอบ :ตามรอยปปง.ล่าเงินทุจริตจำนำข้าว (4)'ข้อมูลภาษี-แคชเชียร์เช็ค' หลักฐานมัด 'ลูกเสี่ยเปี๋ยง')
โดยข้อมูลเกี่ยวกับ บริษัท ซิมเปิ้ล เบสท์ เทรดดิ้ง จำกัด นั้น เคยมีการตรวจสอบพบว่า เป็นหนึ่งในเอกชน 4 ราย คือ บริษัท อินเตอร์ลิงค์ อิมปอร์ต แอนด์ เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด, บริษัท คอมพาวด์ อินเตอร์เทรด จำกัด, บริษัท แคปปิตอลซ์ เทรดดิ้ง จำกัด, บริษัท ซิมเปิ้ล เบสท์ เทรดดิ้ง จำกัด) ที่อ้างว่า เป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงจากบริษัทจีน ที่เข้ามาทำสัญญาซื้อข้าวในประเทศไทย
แต่ไม่พบว่า เคยได้รับเงินจากบริษัทจีนที่เข้ามาทำสัญญาซื้อขายข้าว รวมไปถึงการตรวจสอบข้อมูลกับกรมศุลกากรเมื่อปี 2556-2558 ก็ไม่พบว่าบริษัทจีน 4 แห่ง และผู้รับมอบอำนาจช่วงฯ ได้ทำการส่งออกข้าวไปยังประเทศจีน ด้วย
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา เคยตรวจตรวจสอบข้อมูล บริษัท ซิมเปิ้ล เบสท์ เทรดดิ้ง จำกัด พบว่า จดทะเบียนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 ทุน 1 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 184/217 อาคารฟอรั่ม ทาวเวอร์ ชั้น 31 ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
แจ้งประกอบธุรกิจนำเข้าส่งออกสินค้าเกษตร
ปรากฎชื่อ นาย เฉิน ยี่ถง เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 30 เมษายน 2557 นายลิตร พอใจ ถือหุ้นใหญ่สุด 5,100 หุ้น มูลค่า 127,500 บาท นาย เฉิน ยี่ถง ถืออยู่ 4,000 หุ้น มูลค่า 100,000 บาท นาง กง เชาว์หลิง ถืออยู่ 900 หุ้น มูลค่า 22,500 บาท
นำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ณ 31 ธันวาคม 2556 แจ้งว่า ไม่มีรายได้ มีค่าใช้จ่ายในการบริหาร 8,000 บาท ขาดทุนสุทธิ 8,000 บาท
ปัจจุบัน บริษัทฯ ได้จดทะเบียนเลิกบริษัท ซึ่งนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนไว้แล้ว เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2557 และได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 ไปแล้ว
ส่วนเส้นทางเงินกู้ จำนวน 5 พันล้านบาท ไปอยู่ที่ไหน อย่างไร ใครเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง? โปรดติดตามตอนต่อไป
อ่านประกอบ :
ตามรอยปปง.ล่าเงินทุจริตจำนำข้าว (1) : ชำแหละเครือข่ายสยามอินดิก้า-บัญชีหมื่นล. 'สุธี'
ตามรอยปปง.ล่าเงินทุจริตจำนำข้าว (2) : คำให้การ ผู้สอบบัญชี VS คำโต้แย้งสยามอินดิก้า
ตามรอยปปง.ล่าเงินทุจริตจำนำข้าว (3) คำให้การ 'สรวิศ' ลูกเสี่ยเปี๋ยง ก่อนโดนยึดทรัพย์
ตามรอยปปง.ล่าเงินทุจริตจำนำข้าว (4)'ข้อมูลภาษี-แคชเชียร์เช็ค' หลักฐานมัด 'ลูกเสี่ยเปี๋ยง'
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/