"...เงินกู้ยืมจากบริษัท เมอร์รี่ไรซ์แลนด์ จำกัด ที่ นายสรวิศ เป็นผู้ริเริ่มก่อการจัดตั้ง รวมประมาณ 730 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาใช้หมุนเวียนและลงทุนในสลากออมทรัพย์และหน่วยลงทุนในก่องทุนของบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ แหล่งที่มาของเงินจำนวนนี้ เป็นเงินของ บริษัท เมอร์รี่ไรซ์แลนด์ จำกัด ที่ได้มาจากการดำเนินกิจการ และการกู้ยืมเงินจากบริษัท ฮินตัน เทรดดิง แอสเสส จำกัด ที่จดทะเบียนบนเกาะบริติช เวอร์จิน..."
ในบรรดารายชื่อบุคคลคนใกล้ชิด นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ เสี่ยเปี๋ยง อดีตพ่อค้าข้าวชื่อดัง ผู้ก่อตั้งบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ตัวละครสำคัญในคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่ปรากฎชื่อถูก สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สั่งอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต และยื่นเรื่องฟ้องร้องคดีต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้ยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินอยู่ในขณะนี้ (อ่านประกอบ : ตามรอยปปง.ล่าเงินทุจริตจำนำข้าว (1) : ชำแหละเครือข่ายสยามอินดิก้า-บัญชีหมื่นล. 'สุธี', ตามรอยปปง.ล่าเงินทุจริตจำนำข้าว (2) : คำให้การ ผู้สอบบัญชี VS คำโต้แย้งสยามอินดิก้า)
ชื่อของ นายสรวิศ จันทร์สกุลพร มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
@นายสรวิศ จันทร์สกุลพร
โดยข้อมูลของ นายสรวิศ จันทร์สกุลพร ที่ปรากฎอยู่ในคำพิพากษาของศาลแพ่ง เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2562 ที่ผ่านมา ที่สั่งยึดทรัพย์นายสรวิศ เป็นที่ดิน เงินฝากบัญชีธนาคาร เงินลงทุนในบริษัทหลักทรัพย์มูลค่าหลายร้อยล้านบาท
ระบุว่า นายสรวิศ เป็นลูกชายของนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร กับ นางกิ่งแก้ว จันทร์สกุลพร หรือ ลิ่มปิสุข
@นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร
@ นางกิ่งแก้ว จันทร์สกุลพร
ทั้งนี้ นายสรวิศ ในการต่อสู้ในชั้นศาลว่า ทรัพย์สินของตนที่ถูกปปง.ออกคำสั่งอายัดทรัพย์ไว้ เป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยสุจริต ไม่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตระบายข้าวจีทูจี
โดยที่ดินจำนวนนับร้อยแปลง ที่อยู่ในความครอบครอง ได้มาจาก 3 ส่วน คือ 1. กู้ยืมเงิน 260 ล้านบาท จากญาติที่ชื่อ นายสมชาย เวศวิฑูรย์ มาซื้อคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี 2. นางกิ่งแก้ว จันทร์สกุลพร มารดายกให้ โดยที่ดินจำนวนนี้ นางกิ่งแก้ว ใช้เงินส่วนตัวซื้อหามาเอง 3. นำเงินที่ได้จากการขายพระเครื่องที่ได้รับมาจากคุณปู่ ไปซื้อ
ส่วนเงินฝากในบัญชีธนาคารมูลค่าหลายสิบล้านบาท นายสรวิศ ยืนยันว่า เป็นเงินของตนเอง ได้มาจากการประกอบธุรกิจโดยสุจริตเช่นกัน บางส่วนมาจากการรับคืนเงินกู้และดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืมโดยชอบตามกฎหมาย เงินค่าปันผลค่าเบี้ยประกันชีวิต เป็นต้น
ขณะที่เงินกู้ยืมจากบริษัท เมอร์รี่ไรซ์แลนด์ จำกัด ที่ นายสรวิศ เป็นผู้ริเริ่มก่อการจัดตั้ง รวมประมาณ 730 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาใช้หมุนเวียนและลงทุนในสลากออมทรัพย์และหน่วยลงทุนในกองทุนของบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ แหล่งที่มาของเงินจำนวนนี้ เป็นเงินของ บริษัท เมอร์รี่ไรซ์แลนด์ จำกัด ที่ได้มาจากการดำเนินกิจการ และการกู้ยืมเงินจากบริษัท ฮินตัน เทรดดิง แอสเสส จำกัด ที่จดทะเบียนบนเกาะบริติช เวอร์จิน
นายสรวิศ ยังยืนยันด้วยว่า ตนเป็นเพียงแค่บุตรของ นายอภิชาติ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกับการประกอบธุรกิจหรือดำเนินกิจการใดๆ ของนายอภิชาติ ไม่เคยถูกแจ้งความ ไม่เคยถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนเกี่ยวกับกรณีการทุจริตโครงการระบายข้าวจีทูจี หรือถูกดำเนินคดีใด
รวมถึงยังไม่เคยมีความเกี่ยวข้องกับบริษัท เพรซิเดนท์ อะกริเทรดดิ้ง จำกัด(ของนายอภิชาติ) และมีส่วนในการเข้าไปบริหารงานในกิจการของ บริษัทสิราลัย หรือ กีธา พร็อพเพอร์ตี้ส์ หนึ่งในจำเลยคดีทุจริตระบายข้าว แค่เป็นเพียงผู้ถือหุ้นเท่านั้น
ส่วนการบริหารงานบริษัทสิราลัย ทั้งหมด เป็นของ นางสาวธันยพร จันทร์สกุลพร พี่สาว (หนึ่งในจำเลยคดีทุจริตระบายข้าวอีกราย ที่อยู่ระหว่างการหลบหนีคดีในต่างประเทศ)
และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ในช่วงที่ถูกระบุพฤติการณ์การกระทำความผิดในคดี ยังอยู่ในช่วงการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและปริญญาตรีด้วย
@ ธันยพร จันทร์สกุลพร
ทั้งหมดเป็นข้อมูลคำชี้แจงของ นายสรวิศ ที่นำมาใช้คัดค้านการถูกอายัดทรัพย์จาก ปปง.
อย่างไรดี ข้อมูลคำชี้แจงดังกล่าว ศาลแพ่ง พิเคราะห์แล้ว เห็นว่ายังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ จึงเห็นสมควรสั่งให้ ยึดทรัพย์ของ นายสรวิศ ตกเป็นของแผ่นดิน
ส่วนรายละเอียดคำพิพากษาของศาลแพ่ง เป็นอย่างไรนั้น จะขอนำมาเสนอแบบเจาะลึก ในตอนต่อๆไป
อ่านประกอบ :
ตามรอยปปง.ล่าเงินทุจริตจำนำข้าว (1) : ชำแหละเครือข่ายสยามอินดิก้า-บัญชีหมื่นล. 'สุธี'
ตามรอยปปง.ล่าเงินทุจริตจำนำข้าว (2) : คำให้การ ผู้สอบบัญชี VS คำโต้แย้งสยามอินดิก้า
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/