"...เป็นที่น่าสังเกตว่า ในรายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวน ที่แต่งตั้งโดยประธานศาลฎีกา ไม่ได้ปรากฏอยู่ในสำนวนการสอบสวนว่า แม่ของผู้พิพากษา เป็นโจทก์ฟ้องร้องคดีความกับบริษัทเอกชนที่ออกโฉนดทับที่ดิน ซึ่งมีการฟ้องร้องกันหลายคดีไว้แต่อย่างใด..."
...........................
ประเด็นตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก กรณีนักธุรกิจบริษัทเอกชนรายใหญ่แห่งหนึ่ง ที่เข้าไปลงทุนทำโครงสร้างอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ในพื้นที่จังหวัดแหล่งท่องเที่ยวภาคใต้จังหวัดหนึ่ง ว่า ถูกผู้พิพากษารายหนึ่ง เข้ามาแทรกแซงกระบวนการต่อสู้คดีข้อพิพากษาที่ดินจำนวน 46 แปลง ระหว่างบริษัทกับคู่กรณี ซึ่งมีคดีฟ้องร้องกันจำนวนหลายคดีทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง
จนกระทั่งบริษัทต้องยอมจ่ายเงินชดเชยจำนวน 400 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินสด 200 ล้านบาท และเป็นหุ้นจำนวน 200 ล้านบาท เพื่อไกล่เกลี่ยกับคู่กรณี ไม่ให้นำเรื่องนี้ไปเผยแพร่ต่อสาธารณะหลังจากบริษัทแพ้คดีความบางคดี เพราะกลัวว่าจะมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ทางธุรกิจ นักลงทุนชาวต่างชาติจะไม่เข้ามาร่วมลงทุนด้วย
โดยพฤติการณ์ของผู้พิพากษารายนี้ที่ถูกร้องเรียน มีทั้งการร่วมคณะกับคู่กรณีบุกรุกเข้ามาเก็บข้อมูลหลักฐานในที่ดินที่มีข้อพิพากษา มีการข่มขู่เจ้าพนักงานสอบสวน การล็อบบี้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีที่รู้จักกันให้มีการประทับรับฟ้องคดีอาญาของคู่กรณี โดยอ้างว่าโจทก์เป็นญาติ และก่อนวันนัดฟังคำพิพากษาได้มีการโทรศัพท์สอบถามผลคดีล่วงหน้า รวมไปถึงการมีส่วนร่วมรู้เห็น สั่งการ ให้คำแนะนำ ปรึกษา หรืออยู่เบื้องหลังการเจรจาทำบันทึกข้อตกลงเพื่อไกล่เกลี่ยคดีจนได้รับเงินชดเชยกว่า 400 ล้านบาท ด้วย
ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org นำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องในขณะนี้
(อ่านประกอบ : ลาออกแสดงความบริสุทธิ์! เปิดตัวหน้าห้อง รมช.มหาดไทย ผลสอบ 'ก๊วนรุกที่' ระบุรับ 20 ล., ผู้พิพากษาได้ 137 ล้าน! เปิดเส้นทางเงิน-หุ้น 400ล้าน 'ก๊วนรุกที่’-หน้าห้อง รมต.รับ 20 ล.)
ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2564 เว็บไซต์ phukethotnews ได้เผยแพร่รายงานข่าว เรื่อง "แม่ผู้พิพากษาแจงลูกชายไม่เกี่ยวแทรกแซงคดีเรียกค่าชดเชย 400 ล้าน ยันเป็นที่ดินของตัวเองกับหุ้นส่วน"
เนื้อข่าวระบุว่า นายฐนท จันทรนิ่ม ทนายความและตัวแทนแม่ผู้พิพากษาที่ตกเป็นข่าว ถูกนักธุรกิจใหญ่ร้องเรียน ก.ต.ว่า แทรกแซงคดีและเรียกค่าชดเชย 400 ล้าน ได้ออกมาชี้แจงกับสื่อมวลชน พร้อมโชว์หนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์และร้องขอความเป็นธรรม กรณีที่มีสื่อนำเสนอข่าว “บริษัทเอกชนร้องเรียน ก.ต. ผู้พิพากษาร่วม “ก๊วนรุกที่” แทรกแซงคดี
โดยนายฐนท กล่าวว่า ตามที่มีสำนักข่าวแห่งหนึ่ง ลงข่าวว่า นักธุรกิจบริษัทเอกชนรายใหญ่ร้องเรียนว่า ถูกผู้พิพากษารายหนึ่งเข้ามาแทรกแซงกระบวนการต่อสู้คดีระหว่างบริษัทกับคู่กรณีจนบริษัทยอมจ่ายค่าชดเชย 400 ล้านบาท เกี่ยวกับเรื่องนี้ มารดาของผู้พิพากษาที่ถูกอ้างถึง ได้ชี้แจงผ่านมาทางตน ว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นของแม่ของผู้พิพากษา โดยเมื่อปี 2551 เจ้าของที่ดินที่รู้จักกัน มีที่ดินประมาณ 600 ไร่ ได้แบ่งขายที่ดินมือเปล่าและ ส.ค.1 บางส่วน รวมประมาณ 200 ไร่ ให้กับแม่ของผู้พิพากษาในราคา 3 ล้านบาท
ต่อมาในปี 2553 บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งได้ออกโฉนดทับที่ดินของมารดาผู้พิพากษา และส่วนของเจ้าของที่ดินที่แบ่งขายให้กับแม่ผู้พิพากษาที่เหลืออยู่ทั้งหมด หลังจากนั้นทางแม่ของผู้พิพากษา ก็ได้ฟ้องร้องบริษัทเอกชนที่ออกโฉนดทับที่ดิน ซึ่งมีการฟ้องร้องกันหลายคดี ต่อมาบริษัทเอกชนรายดังกล่าวได้ร้องเรียนผู้พิพากษาซึ่งเป็นลูกชายของเจ้าของที่ดินที่มีปัญหากันเมื่อปี 2559 ทั้งที่อ้างว่า ร่วมก๊วนบุกรุกที่ดินตั้งแต่ปี 2553
ต่อมาบริษัทเอกชนแพ้คดี จึงมาขอเจรจายุติเรื่อง โดยยอมจ่ายเงินชดเชย 400 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินสด 200 ล้านบาท และ หุ้นในบริษัท 200 ล้านบาท โดยบริษัทเอกชนได้รับที่ดินจากการจ่ายค่าชดเชยไปมากกว่า 400 ไร่ เป็นค่าตอบแทน ซึ่งมารดาผู้พิพากษาทำสัญญาแบ่งผลประโยชน์กับเจ้าของที่ดินอีกรายโดยได้รับเงินตามส่วนเป็นเงินสด 65 ล้านบาท และหุ้นในบริษัทมูลค่า ประมาณ 72 ล้านบาท เพราะที่ดินแปลงนั้นมารดาของผู้พิพากษาเป็นเจ้าของที่แท้จริง ร่วมกับทางหุ้นส่วน ไม่ได้ถือกรรมสิทธิ์แทนผู้พิพากษา และบริษัทเอกชนดังกล่าวก็ไม่ได้จ่ายเงินเปล่า แต่ได้ที่ดินที่ออกโฉนดไปกว่า 400 ไร่ และปัจจุบันมีแนวทางหลวงตัดผ่าน ทำให้ราคาที่ดินพุ่งพราวไร่ละประมาณ 8 ล้านบาท ทำให้ที่ดินแปลงดังกล่าวมีมูลค่าถึง 3,000 ล้านบาท
นายฐนท การออกมาชี้แจงต่อสื่อมวลชนในครั้งนี้ ก็เพื่อขอความเป็นธรรมกับกรณีที่เกิดขึ้น เพราะส่งผลกระทบกับชื่อเสียงทั้งของมารดาและผู้พิพากษา ประกอบกับที่ผ่านมาการนำเสนอข่าวเป็นการให้ข้อมูลของทางบริษัทเอกชนเพียงฝ่ายเดียว
(อ่านข่าวฉบับเต็มได้ที่นี่ Phuket Hot News)
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา ได้ตรวจสอบรายงานผลสอบสวนข้อร้องเรียนของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นของคณะกรรมการสอบสวน ที่แต่งตั้งโดยประธานศาลฎีกา เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2563 พบว่า มีการระบุข้อมูลที่มาที่ไปการฟ้องร้องคดีความข้อพิพาทเรื่องที่ดินก่อนที่จะมีการทำบันทึกข้อตกลงเพื่อไกล่เกลี่ยโดยการจ่ายเงินชดเชย 400 ล้านบาท ไว้ดังนี้
@ จุดเริ่มต้นกรณีข้อพิพาทที่ดิน
เมื่อปี 2533 บริษัท ก. ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินตามแบบหมายเลข 3 และหนังสือรับรองการทำประโยชน์รวม 46 แปลง แต่ภายหลังบริษัทดังกล่าวประสบปัญหาทางเศรษฐกิจจึงโอนที่ดินชำระหนี้แก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ จำกัด (บบส.)
ต่อมาปี 2556 บริษัทเอกชนรายใหญ่ที่เป็นผู้ร้องเรียนพฤติการณ์ผู้พิพากษา ได้ซื้อที่ดินทั้ง 46 แปลง จากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ จำกัด (บบส.) และเข้าพัฒนาที่ดิน จากนั้นระหว่างปี 2548 ถึงปี 2550 บริษัทเอกชนรายใหญ่รายนี้ ขอออกโฉนดที่ดินในที่ดินดังกล่าว โดยสำนักงานที่ดินจังหวัดแห่งหนึ่งได้ออกโฉนดที่ดินให้แก่บริษัทเอกชนรายใหญ่ไปแล้ว
ปี 2553 คู่กรณีบริษัทเอกชนรายใหญ่รายนี้ ได้ขอออกโฉนดที่ดินร่วมกับพวก โดยใช้แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.) เป็นหลักฐานในการขอออกโฉนด
แต่ คู่กรณี ได้ขอถอนคำขอออกโฉนดสำหรับที่ดินแปลงนี้ เพราะมีการนำแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1 ) เลขที่ดังกล่าวออกโฉนดให้แก่บุคคลอื่นไปแล้ว
ปี 2553 คู่กรณี ขอออกโฉนดที่ดินร่วมกับพวก โดยใช้แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เป็นหลักฐานในการขอออกโฉนด โดยมีการให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินไว้ตามบันทึกถ้อยคำ เจ้าพนักงานที่ดินนัดรังวัด เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553 ตามใบนัดรังวัด
เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553 คู่กรณี และพวก นำเจ้าพนักงานที่ดินเข้าไปในที่ดินของบริษัทเอกชนรายใหญ่ เพื่อรังวัดที่ดิน วันดังกล่าวมีผู้พิพากษาที่ผู้ถูกกล่าวหาไปยืนถ่ายรูปที่ดิน
ตัวแทนบริษัทเอกชนรายใหญ่ ซึ่งได้รับมอบหมายจากบริษัทเอกชนรายใหญ่ ให้ดูแลที่ดินของบริษัท ห้ามมิให้ คู่กรณีกับพวกทำการรังวัดที่ดิน และถ่ายรูป คู่กรณี กับพวกไว้ ซึ่งปรากฎภาพของผู้พิพากษาที่ผู้ถูกกล่าวหา คือ บุคคลที่สวมเสื้อสีขาวกำลังยืนถ่ายรูป
วันที่ 16 มิถุนายน 2553 บริษัทเอกชนรายใหญ่ มอบอำนาจให้ตัวแทน ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธร เพื่อดำเนินคดีแก่ คู่กรณีบริษัทเอกชนรายใหญ่และพวก
โดยกล่าวหาว่าร่วมกันบุกรุกเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้น ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุข
นายตำรวจยศพันตำรวจโท ในขณะนั้น ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบคดี ตรวจสอบหลักฐานการขอออกโฉนตที่ดินในที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ได้ความว่า คู่กรณีบริษัทเอกชนรายใหญ่ และพวก ไปขอออกโฉนดที่ดินในปี 2552 โดยอ้างว่าซื้อที่ดิน ส.ค.1 เนื้อที่ 64 ไร่ จากนาย อ. เมื่อปี 2549 ในราคา 200,000 บาท และซื้อที่ดิน ส.ค.1 เนื้อที่ 24 ไร่ จากนาย ร. เมื่อปี 2549 ในราคา 1,000,000 บาท
นายตำรวจยศพันตำรวจโท สอบปากคำนาย อ. ทายาทของนาย ป. ผู้แจ้งการครอบครองที่ดิน ส.ค.1 นาย อ. ให้การว่าเมื่อปี 2552 คู่กรณีบริษัทเอกชนรายใหญ่ ไปพบนาย อ. อ้างว่าได้ครอบครองที่ดิน ส.ค.1 ซึ่งเป็นของบิดานาย อ.
คู่กรณีบริษัทเอกชนรายใหญ่ ประสงค์จะขอออกโฉนดที่ดินแต่ไม่มี ส.ค.1 ประกอบ จึงขอให้นาย อ. ไปขอคัดสำเนา ส.ค.1 ดังกล่าวมาให้ โดยให้ค่าตอบแทนเป็นเงิน 200,000 บาท
เมื่อ นาย อ. ได้ ส.ค.1 มาแล้ว คู่กรณีบริษัทเอกชนรายใหญ่ ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับนาย อ. ในราคา 200,000 บาท โดยระบุว่าทำสัญญาซื้อขายกันในปี 2549
จากนั้น นายตำรวจยศพันตำรวจโท ได้สอบปากคำ นาย ร. ได้ความว่า คู่กรณีบริษัทเอกชนรายใหญ่ ขอให้นาย ร. ไปคัดสำเนา ส.ค.1 มาให้ เมื่อได้สำเนา ส.ค.1 มาแล้ว
คู่กรณีบริษัทเอกชนรายใหญ่ ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดิน ส.ค.1 กับนาย ร. ในราคา 1,000,000 บาท โดยระบุว่า ทำสัญญาซื้อขายกันในปี 2549
นายตำรวจยศพันตำรวจโท เห็นว่านาย อ. และ นาย ร. เพิ่งจะไปขอคัดสำเนา ส.ค.1 เมื่อปี 2552
การที่คู่กรณีบริษัทเอกชนรายใหญ่ ระบุว่าทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับ นาย อ. และ นาย ร. เมื่อปี 2549 จึงไม่เป็นความจริง
นายตำรวจยศพันตำรวจโท เห็นว่าการกระทำของ คู่กรณีบริษัทเอกชนรายใหญ่ กับพวก เป็นความผิดฐานบุกรุกเข้าไปในสังหาริมทรัพย์ของบริษัทเอกชนรายใหญ่ และความผิดที่กล่าวหามีอัตราโทษจำคุกเกิน 3 ปี
จึงไปยื่นคำร้องขอให้ศาลจังหวัด ออกหมายจับ คู่กรณีบริษัทเอกชนรายใหญ่ และพวก เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2553 โดยได้ยื่นคำร้องพร้อมเอกสารและภาพถ่ายที่บริษัทเอกชนรายใหญ่ มอบไว้ในสำนวน
แต่ต่อมาได้มีการคืนคำร้องให้แก่ นายตำรวจยศพันตำรวจโท โดยไม่ได้สั่งคำร้อง
@ คู่กรณี บริษัทเอกชนรายใหญ่ลุยฟ้องคดีความ
ปี 2557 คู่กรณีบริษัทเอกชนรายใหญ่ เป็นโจทก์ฟ้อง บริษัทเอกชนรายใหญ่ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2557 เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำ และหมายเลขแดง ต่อศาลจังหวัด
โดยอ้างว่า บิดาของตนเอง ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตาม ส.ค.1 และที่ดินมือเปล่าที่อยู่ติดกันรวม 400 ไร่ โดยทำเหมืองแร่
ต่อมาปี 2516 บิดาโจทก์เลิกทำเหมืองแร่ ปี 2545 บิดาถึงแก่ความตาย คู่กรณีบริษัทเอกชนรายใหญ่ ในฐานะบุตรได้ครอบครองทำประโยชน์ต่อมา โดยปลูกยางพารา สะตอ และพืชผลอาสินต่าง ๆ และให้พรรคพวกของตนเองเฝ้าดูแลที่ดิน ปี 2552
คู่กรณีบริษัทเอกชนรายใหญ่ ได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินในที่ดินตาม ส.ค.1 และตรวจสอบระวางแผนที่ที่ดินพบว่า บริษัทเอกชนรายใหญ่ นำหลักฐานที่ดินซึ่งอยู่คนละตำแหน่งกับที่ดินของคู่กรณีบริษัทเอกชนรายใหญ่ มาออกโฉนดจำนวน 12 ฉบับ ทับที่ดินของคู่กรณีบริษัทเอกชนรายใหญ่ จำนวน 400 ไร่ ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินทั้งสิบสองฉบับ
ศาลชั้นต้นสืบพยาน คู่กรณีบริษัทเอกชนรายใหญ่ในฐานะโจทก์ และบริษัทเอกชนรายใหญ่ในฐานะจำเลยแล้ว ให้นัดฟังคำพิพากษาช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2561
แต่คู่กรณีบริษัทเอกชนรายใหญ่ ก็ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2561 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ต่อมาปี 2558 คู่กรณีบริษัทเอกชนรายใหญ่ เป็นโจทก์ฟ้อง เจ้าของบริษัทเอกชนรายใหญ่ และผู้เกี่ยวข้อง จำนวน 7 ราย ซึ่งมีคนในครอบครัวเจ้าของบริษัทเอกชนรายใหญ่ รวมอยู่ด้วย จำนวน 3 คดี
คดีที่หนึ่ง
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ให้ประทับฟ้อง เมื่อสืบพยานโจทก์จำเลยเสร็จแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ว่า ฝ่ายจำเลย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137,267 ประกอบ มาตรา 83 ให้ลงโทษฐานร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารราชการตามมาตรา 267 เป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด
จำคุกคนละ 1 ปี
ต่อมาฝ่ายจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิฉัยว่า เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดเป็นคดีนี้แล้ว ต่อมาวันที่ 8 กันยายน 2558 โจทก์ยื่นฟ้องบริษัทเอกชนรายใหญ่กับพวก 9 คน ต่อศาลชั้นต้น เป็นคดีอาญาหมายเลขดำ ในความผิดฐานปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอมแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ ใช้หรืออ้างเอกสารอันเป็นเท็จ เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งจำเลยทั้งเจ็ดในคดีนี้ถูกฟ้องรวมอยู่ด้วย
โดยโจทก์บรรยายการกระทำความผิดของจำเลยทั้ง 9 สืบเนื่องมาจากการดำเนินการตามมติที่ประชุมของบริษัทเอกชนรายใหญ่ เรื่องยื่นขอรังวัดออกโฉนดรวม 8 แปลง จึงเป็นกรณีที่โจทก์ยื่นฟ้องในคดีดังกล่าวโดยอาศัยข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับคดีนี้ โดยมีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกันคือการให้จำเลยทั้งเจ็ดกับพวกต้องรับโทษทางอาญาแตกต่างกันเพียงรายละเอียดของหลักฐานที่ดินแต่ละแปลงที่จะนำไปยื่นขอออกโฉนดที่ดินเท่านั้น
เมื่อคู่ความรายเดียวกัน ถือเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน ซึ่งผู้กระทำผิดจะต้องถูกดำเนินคดีหรือถูกลงโทษเพียงครั้งเดียว
เมื่อศาลชั้นต้น มีคำวินิจฉัยในคดีอาญาหมายเลขดำว่า ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ชัดว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินหรือไม่
โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายโดยตรงที่จะมีอำนาจฟ้อง และพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2559 ตามสำเนาคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงอันเป็นการวินิจฉัยถึงเนื้อหาของความผิดแล้ว ถือว่าศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว
แม้ว่าโจทก์จะยื่นฟ้องคดีนี้ไว้ก่อนก็ตาม สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 , 267 เสียด้วย
คดีที่สอง
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2559 คู่กรณีบริษัทเอกชนรายใหญ่ เป็นโจทก์ฟ้อง เจ้าของบริษัทเอกชนรายใหญ่ และผู้เกี่ยวข้อง ตามคดีอาญาหมายเลขดำ คดีอาญาหมายเลขแดง ของศาลจังหวัด
โดยอ้างว่า เมื่อปี 2510 บิดาโจทก์ครอบครองทำประโยชน์โดยทำเหมืองแร่ ในที่ดินตาม ส.ค.1 เนื้อที่ 24 ไร่เศษ และเนื้อที่ 26 ไร่เศษ กับที่ดินมือเปล่ารวม 600 ไร่เศษ
ต่อมาปี 2545 บิดาโจทก์ถึงแก่ความตาย โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ต่อมา
จำเลยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ) ที่บริษัทเอกชนรายใหญ่ นำมาขอออกโฉนดเป็นโฉนดที่ดินไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่ดินที่โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ แต่จำเลยทั้งแปด ร่วมกันนำ น.ส.3 จากที่อื่นมาออกโฉนดทับที่ดินพิพาท ก่อนที่วันที่ 16 มีนาคม 2561
โจทก์ขอถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นอนุญาต
คดีที่สาม
เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 คู่กรณีบริษัทเอกชนรายใหญ่ เป็นโจทก์ฟ้องบริษัทเอกชนรายใหญ่ และผู้เกี่ยวข้อง เป็นคดีความอาญา ศาลฯ พิพากษา ยกฟ้อง
คู่กรณีบริษัทเอกชนรายใหญ่ยื่นอุทธรณ์ ก่อนที่จะขอถอนอุทธรณ์ ในเวลาต่อมา
@ ลุยฟ้องคดีศาลทุจริตเพิ่ม
ปี 2559 คู่กรณีบริษัทเอกชนรายใหญ่ เป็นโจทก์ฟ้องเจ้าของบริษัทเอกชนรายใหญ่ กับพวก ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางรวม 2 คดี
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันและไต่สวนมูลฟ้องแล้ว วินิจฉัยว่า ได้ความว่าที่ดินของโจทก์ตามฟ้องเดิมเป็นของบิดาโจทก์ใช้ประกอบการทำเหมืองแร่ เนื้อที่ 600 ไร่ มีหลักฐานเป็น ส.ค.1 รวม 2 แปลง เนื้อที่เพียง 46 ไร่
เมื่อบิดาโจทก์ถึงแก่ความตาย ที่ดินทั้งหกร้อยไร่เป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ แต่การรับมรดกดังกล่าว ไม่ได้ตั้งผู้จัดการมรดกของบิดาโจทก์ ทั้งการครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่รับมรดก โจทก์อ้างว่า ปลูกยางพาราในเนื้อที่ 400 ไร่ เนื้อที่ส่วนที่เหลือปลูกปาล์มน้ำมันและผลไม้อื่น ๆ แต่โจทก์ไม่เคยเสียภาษี บำรุงท้องที่ต่อทางราชการเลย
ประกอบกับโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลย ว่า โจทก์ฟ้องบริษัทเอกชนรายใหญ่ และพวก มีข้อโต้เถียงกันว่าที่ดินพิพาทตามฟ้องเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทเอกชนราชใหญ่ หรือเป็นสิทธิครอบครองของโจทก์ ตามคดีแพ่งหมายเลขดำ และคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัด ดังนี้ กรณียังมีการโต้เถียงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่ดินกันอยู่ระหว่างโจทก์กับบริษัทเอกชนรายใหญ่
ข้อเท็จจริงรับจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยดำเนินการออกโฉนดที่ดินทับที่ดินของโจทก์ ฟ้องโจทก์ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2560
คดีถึงที่สุด เพราะโจทก็ไม่ได้อุทธรณ์
ปี 2560 คู่กรณีบริษัทเอกชนรายใหญ่ เป็นโจทก์ ฟ้องบริษัทเอกชนรายใหญ่ กับพวก ต่อศาลอาญาคดีทุจริตภาค 8 เป็นคดีอาญาหมายเลขดำ
ศาลยังไม่ได้ไต่สวนมูลฟ้อง ต่อมาโจทก์ขอถอนฟ้อง
วันที่ 26 กรกฏฎาคม 2559 บริษัทเอกชนรายใหญ่ มีหนังสือร้องเรียน ผู้พิพากษาที่ถูกกล่าวหา ต่อประธานศาลฎีกา
@ ตกลงทำบันทึกข้อตกลงระงับข้อพิพาท
วันที่ 14 มีนาคม 2561 คู่กรณีบริษัทเอกชนรายใหญ่ และบริษัทเอกชนรายใหญ่ ได้ทำบันทึกข้อตกลงระงับข้อพิพาทระหว่างกัน
โดยบริษัทเอกชนรายใหญ่ ตกลงชำระเงินให้แก่ คู่กรณี จำนวน 200,000,000 บาท และจัดการให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทเอกชนในเครือแห่งหนึ่ง ซึ่งมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนด เนื้อที่ 71 ไร่ 2 งาน 24.1 ตารางวา โอนหุ้นทั้งหมดให้แก่ คู่กรณี เพื่อให้ คู่กรณี เข้าดำเนินกิจการในบริษัทดังกล่าวต่อไป
โดย คู่กรณี ตกลงถอนฟ้องคดีแพ่ง คดีอาญาหมายเลขดำ ศาลจังหวัด และคดีอาญาหมายเลขดำ ของศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 ตามบันทึกข้อตกลงระงับข้อพิพาท
ทั้งนี้ ในสำนวนการสอบสวน ยังระบุด้วยว่า เมื่อปี 2551 คู่กรณีบริษัทเอกชนรายใหญ่รายนี้ ได้ทำสัญญาขายสิทธิครอบครองที่ดินตาม ส.ค.1 และที่ดินมือเปล่าให้แก่ นาง ว. มารดาของผู้พิพากษาที่ถูกกล่าวหาเนื้อที่ รวมประมาณ 200 ไร่ ในราคา 3,000,000 บาท ตามสัญญาขายสิทธิครอบครอง ลงวันที่ 15 มกราคม 2551
ต่อมาเดือนมีนาคม 2561 นาง ว. ได้รับเงินจาก คู่กรณีบริษัทเอกชนรายใหญ่ จำนวน 65,000,000 บาท และได้รับส่วนแบ่งจากราคาที่ดิน 4 แปลง ที่ได้รับจาก บริษัทเอกชนรายใหญ่ ในอัตราร้อยละ 40 ของราคาที่ดินตามบันทึกข้อตกลง ลงวันที่ 26 มีนาคม 2561 ด้วย
*****************
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในรายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวน ที่แต่งตั้งโดยประธานศาลฎีกา ไม่ได้ปรากฏอยู่ในสำนวนการสอบสวนว่า แม่ของผู้พิพากษา เป็นโจทก์ฟ้องร้องคดีความกับบริษัทเอกชนที่ออกโฉนดทับที่ดิน ซึ่งมีการฟ้องร้องกันหลายคดีไว้แต่อย่างใด
สำหรับข้อมูลผลการสอบสวนคดีนี้ของคณะกรรมการสอบสวน ในแต่ละประเด็น รวมถึงคำชี้แจงในส่วนของผู้เกี่ยวข้อง และของผู้พิพากษาที่ถูกกล่าวในกรณีนี้
สำนักข่าวอิศรา จะนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบในตอนต่อ ๆ ไป
อ่านประกอบ :
นักธุรกิจใหญ่ร้องเรียน ก.ต. ผู้พิพากษาร่วม 'ก๊วนรุกที่’ แทรกแซงคดี เรียกค่าชดเชย 400 ล. (1)
ใช้อำนาจหน้าที่คบค้านักธุรกิจ! เปิดนส.ร้องปธ.ศาลฎีกา สอบผู้พิพากษาคดีเรียกค่าชดเชย 400 ล. (2)
ปธ.อ.ก.ต.ลาออกกลางวงประชุม! ปมชงตั้ง‘หน.ฎีกา’ถูกกล่าวหาพันคดีรุกที่เรียกชดเชย 400 ล. (3)
มีเงินโอนเข้าบัญชี 11 ล.-แม่ได้ด้วย! DSI ชง ป.ป.ช.สอบ ผู้พิพากษาคดีเรียกค่าชดเชย 400 ล. (4)
น้อมนำพระบรมราโชวาท ร.9! เจาะลับคำพูดสุดท้าย 'ปธ.อ.ก.ต.' ก่อนลาออกกลางวงประชุม (5)
ก.ต.ข้างมาก 9:6 ไม่เห็นชอบตั้ง‘ผู้พิพากษา’พันคดีรุกที่เรียกชดเชย 400 ล.เป็น‘หน.ฎีกา’ (6)
แขวน‘ผู้พิพากษา’พันคดีเรียกชดเชย 400 ล.ไม่เลื่อนชั้น พ.อุทธรณ์-ชงผลสอบวินัย ก.ต.ชุดใหญ่ (7)
ผู้พิพากษาได้ 137 ล้าน! เปิดเส้นทางเงิน-หุ้น 400ล้าน 'ก๊วนรุกที่’-หน้าห้อง รมต.รับ 20 ล. (8)
ลาออกแสดงความบริสุทธิ์! เปิดตัวหน้าห้อง รมช.มหาดไทย ผลสอบ 'ก๊วนรุกที่' ระบุรับ 20 ล. (9)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/