"... รวมผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่ผู้ถูกกล่าวหาได้รับประโยชน์ทั้งสิ้นเป็นเงิน 137,000,000 บาท ....ขณะที่สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลบุคคลที่ปรากฎรายชื่อในเส้นทางเงิน 200 ล้านบาท พบว่า นาย บ. (ผู้เกี่ยวข้องคนที่ 1) ที่ได้รับโอนเงินจำนวน 20,200,000 บาท มีตำแหน่งเป็นคณะทำงานของนักการเมืองชื่อดังที่ดำรงดำแหน่งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดปัจจุบันด้วย ..."
..................................
ประเด็นตรวจสอบกรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการร้องเรียนจากนักธุรกิจบริษัทเอกชนรายใหญ่แห่งหนึ่ง ที่เข้าไปลงทุนทำโครงสร้างอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ในพื้นที่จังหวัดแหล่งท่องเที่ยวภาคใต้จังหวัดหนึ่ง ว่า ถูกผู้พิพากษารายหนึ่ง เข้ามาแทรกแซงกระบวนการต่อสู้คดีข้อพิพากษาที่ดินจำนวน 46 แปลง ระหว่างบริษัทกับคู่กรณี ซึ่งมีคดีฟ้องร้องกันจำนวนหลายคดีทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง
จนกระทั่งบริษัทต้องยอมจ่ายเงินชดเชยจำนวน 400 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินสด 200 ล้านบาท และเป็นหุ้นจำนวน 200 ล้านบาท เพื่อไกล่เกลี่ยกับคู่กรณี ไม่ให้นำเรื่องนี้ไปเผยแพร่ต่อสาธารณะหลังจากบริษัทแพ้คดีความบางคดี เพราะกลัวว่าจะมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ทางธุรกิจ นักลงทุนชาวต่างชาติจะไม่เข้ามาร่วมลงทุนด้วย
โดยพฤติการณ์ของผู้พิพากษารายนี้ที่ถูกร้องเรียน มีทั้งการร่วมคณะกับคู่กรณีบุกรุกเข้ามาเก็บข้อมูลหลักฐานในที่ดินที่มีข้อพิพากษา มีการข่มขู่เจ้าพนักงานสอบสวน การล็อบบี้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีที่รู้จักกันให้มีการประทับรับฟ้องคดีอาญาของคู่กรณี โดยอ้างว่าโจทก์เป็นญาติ และก่อนวันนัดฟังคำพิพากษาได้มีการโทรศัพท์สอบถามผลคดีล่วงหน้า รวมไปถึงการมีส่วนร่วมรู้เห็น สั่งการ ให้คำแนะนำ ปรึกษา หรืออยู่เบื้องหลังการเจรจาทำบันทึกข้อตกลงเพื่อไกล่เกลี่ยคดีจนได้รับเงินชดเชยกว่า 400 ล้านบาท ด้วย
(อ่านประกอบ : นักธุรกิจใหญ่ร้องเรียน ก.ต. ผู้พิพากษาร่วม 'ก๊วนรุกที่’ แทรกแซงคดี เรียกค่าชดเชย 400 ล. (1), ใช้อำนาจหน้าที่คบค้านักธุรกิจ! เปิดนส.ร้องปธ.ศาลฎีกา สอบผู้พิพากษาคดีเรียกค่าชดเชย 400 ล. (2))
ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา ได้รับการเปิดเผยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเส้นทางเงินสดชดเชย จำนวน 200 ล้านบาท ในคดีนี้บางส่วนจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ทั้งในส่วนสำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดังนี้
หนึ่ง
ผู้พิพากษาที่เกี่ยวข้องในคดีนี้โดยตรงเป็นผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ภายหลังการร้องเรียนดังกล่าวในช่วงปี 2559 เมื่อทราบเรื่องแล้วประธานศาลฎีกาในขณะนั้น ได้มีคำสั่งย้ายตัวด่วนผู้พิพากษารายนี้ เข้ามาช่วยราชการที่ศาลอาญา ภายใน 24 ชั่วโมง
ก่อนที่จะมีการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเป็นทางการ เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2563 กรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัยร้ายแรง ตามมาตรา 69 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 โดยมีพฤติกรรมในการใช้อำนาจตุลาการที่ไม่เหมาะสมด้วยการเข้าไปในพื้นที่ของผู้อื่นและแสดงตัวว่าเป็นผู้พิพากษา มีการโทรศัพท์ขอให้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีมีคำสั่งว่าคดีมีมูล และมีส่วนร่วม รู้เห็น สั่งการ ให้คำแนะนำ ปรึกษา หรือร่วมกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวข้องกับการฟ้องคดีและการเจรจาทำบันทึกข้อตกลงไกล่เกลี่ยคดีด้วย
สอง
เกี่ยวกับคดีนี้ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบเป็นทางการในช่วงปี 2563 ปัจจุบันอยู่ในชั้นตรวจสอบ
โดยการรับเรื่องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ ป.ป.ช. นั้น ได้รับเรื่องมาจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งเดิมที่มีการไปแจ้งความเรื่องกรรโชกทรัพย์ แต่เมื่อสอบสวนแล้วไม่เข้าข่าย แต่เจอเรื่องการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีการไม่ให้ออกหมายจับ กับมีการสั่งให้กลับคำพิพากษา และเจอเส้นทางเงินสำคัญบางส่วนด้วย ดีเอสไอ เลยส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. สอบสวนต่อ
ขณะที่การสอบสวนเส้นทางการเงินคดีนี้ ของ ดีเอสไอ พบว่า ภายหลังจากที่บริษัทเอกชนรายใหญ่ได้จ่ายเงินชดเชยให้คู่กรณี จำนวน 400 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินสด 200 ล้านบาท และเป็นหุ้นจำนวน 200 ล้านบาท เพื่อไกล่เกลี่ยคดีแล้ว
ในส่วนของเงินสดจำนวน 200 ล้านบาท ถูกโอนเข้าบัญชีของผู้เกี่ยวข้องหลายคน ในจำนวนนี้ มีเงินจำนวน 11 ล้านบาท ถูกโอนเข้าไปในบัญชีของผู้พิพากษารายนี้ด้วย ส่วนแม่ของผู้พิพากษารายนี้ มีเงินเกือบ 2 ล้านบาทโอนเข้าไปด้วย
โดยเงินชดเชย 200 ล้านบาทดังกล่าว มีการถอนหมดบัญชีในวันเดียว และเป็นการถอนแบบโอนเข้าบัญชี 140 ล้านเศษ กระจายไปตามบุคคลต่าง ๆ และมีการถอนเป็นเงินสด 59 ล้าน
สาม
ข้อมูลการตรวจสอบเส้นทางการเงินของ ผู้พิพากษารายนี้ ที่พบว่า มีเงินชดเชยจำนวน 11 ล้านบาท โอนเข้าบัญชีตนเอง และคนใกล้ชิด ปรากฏอยู่ในรายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมการตรวจสอบชุดที่ประธานศาลฎีกา ได้ออกคำสั่งแต่งตั้งเป็นทางการในช่วงปี 2563 ด้วย
อย่างไรก็ดี ผลการสอบสวนเรื่องนี้ ถูกนำเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (อ.ก.ต.) เพื่อพิจารณาเรื่องไปแล้ว โดยในการพิจารณาเรื่องของประชุม อ.ก.ต. ปรากฏว่า มีการอภิปรายกันโดยอ้างว่าแม่ของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นรายนี้ ซื้อที่ดินในจังหวัดแห่งนั้น เมื่อ 10 ปีที่แล้ว จำนวน 200 กว่าไร่ ในราคา 3 ล้าน โดยไม่ฟังเหตุผลความจริง ขณะที่ผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยเห็นว่ามีความผิดวินัยร้ายแรง แต่เมื่อนำเรื่องเข้าที่ประชุม อนุฯ ก.ต. กลับเห็นว่าแค่ผิดวินัยไม่ร้ายแรง โดยมติ 12 ต่อ 9 เสียง และยังไม่มีการนำเรื่องเสนอเข้าที่ประชุม ก.ต.ชุดใหญ่แต่อย่างใด
ทั้งนี้ ในการสอบสวนของคณะกรรมการตรวจสอบยังพบความเชื่อมโยงไปถึง ผู้พิพากษาฎีกา รายหนึ่ง มีส่วนร่วมด้วย พร้อมสอบข้อเท็จจริงขยายผลไปถึง แต่ต่อมากรรมการสอบเสียงข้างมากบอกไม่พบเส้นทางการเงิน จึงชี้ว่าไม่มีมูลให้ยุติเรื่อง และเพิ่งยกมาพิจารณาในชั้นพิจารณาความเหมาะสมในการเลื่อนเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา (หน.ฎีกา)
ขณะที่ในการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา มีมติเสียงข้างมาก 9 ต่อ 6 เสียง ไม่เห็นชอบให้ผู้พิพากษารายนี้ขึ้นเป็น หน.ฎีกา
(อ่านประกอบ : ก.ต.ข้างมาก 9:6 ไม่เห็นชอบตั้ง‘ผู้พิพากษา’พันคดีรุกที่เรียกชดเชย 400 ล.เป็น‘หน.ฎีกา’)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลในรายงานผลการสอบสวนข้อร้องเรียนของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นของคณะกรรมการสอบสวน ที่แต่งตั้งโดยประธานศาลฎีกา เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2563 พบว่ามีการระบุเส้นทางการเงินสดชดเชย จำนวน 200 ล้านบาท ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบแบ่งเป็นส่วน ๆ ดังนี้
@ เส้นทางการเงินส่วนแรก
ภายหลังจากที่บริษัทเอกชนรายใหญ่ ยินยอมจ่ายเงินชดเชยจำนวน 200 ล้านบาท ให้กับคู่กรณีรายนี้ เป็นตั๋วแลกเงิน ลงวันที่ 13 มีนาคม 2561 สั่งจ่ายชื่อคู่กรณี โดยระบุ A/C PAYEE ONLY
คู่กรณีบริษัทเอกชนรายใหญ่รายนี้ ได้เปิดบัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2561 แล้วนำตั๋วแลกเงินเข้าบัญชี
วันเดียวกันได้ถอนโอนเงินทั้งหมดไปยังบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
และในวันเดียวกัน คู่กรณีรายนี้ ยังได้กระจายเงินจำนวน 200 ล้านบาท โดยถอนเงินสดจำนวน 59,080,000 บาท และถอนโดยการโอน 140,700,000 บาท รวมเป็นเงิน 199,780,000 บาท มีเงินคงเหลือในบัญชี 220,000 บาท
โดยคู่กรณีรายนี้ ได้โอนเงินไปเข้าบัญชี นาย บ. (ผู้เกี่ยวข้องคนที่ 1) ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 20,200,000 บาท
คู่กรณีรายนี้ ยังได้ถอนเป็นเงินสด 6 ครั้ง รวมเป็นเงิน 59,081,000 บาท และโอนเงิน 5,000,000 บาท ไปยังบัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ชื่อบัญชีนาย จ. (ทนายความคู่กรณี)
@ เส้นทางการเงินส่วนสอง
เมื่อตรวจสอบบัญชีของคู่กรณีรายนี้ ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่รับเงินจำนวน 50,000,000 บาท
พบว่า คู่กรณีรายนี้ ได้กระจายเงินไปยังบัญชีต่าง ๆ ได้แก่
1. โอนไปยังบัญชี นาย ก. (ผู้เกี่ยวข้องคนที่ 2) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 10,000,000 บาท
เมื่อได้รับเงินมาแล้ว นาย ก. ( ผู้เกี่ยวข้องคนที่ 2) ถอนเงินทั้งจำนวน โดยปิดบัญชีแล้วไปเปิดบัญชีใหม่ คือ บัญชีชื่อนาย ก. ( ผู้เกี่ยวข้องคนที่ 2) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
จากบัญชีนี้ นาย ก. ( ผู้เกี่ยวข้องคนที่ 2) ได้กระจายเงินต่อไปยังบัญชีของบุคคลต่าง ๆ ได้แก่
1.1 โอนไปยังบัญชีของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่ถูกกล่าวหา จำนวน 5 บัญชี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 11,313,781 บาท มีรายละเอียดดังนี้
บัญชีที่ 1 ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวนเงิน 300,000 บาท
บัญชีที่ 2 ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) รับโอนผ่านระบบเอทีเอ็ม ครั้งละ 50,000 บาท 62 ครั้ง ครั้งละ 45,000 บาท 1 ครั้ง ครั้งละ 30,000 บาท 1 ครั้ง รวม 64 ครั้ง เป็นเงิน 3,175,000 บาท
บัญชีที่ 3 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จำนวนเงิน 50,000 บาท
บัญชีที่ 4 ธนาคารออมสิน จำกัด จำนวนเงิน 50,000 บาท
บัญชีที่ 5 ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่ถูกกล่าวหา ได้รับเงินจากบัญชีนาย ก. ( ผู้เกี่ยวข้องคนที่ 2) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยได้รับชำระการจ่ายค่าหุ้นจำนวน 6 ครั้ง เป็นเงิน 7,738,781.02 บาท
1.2 โอนเงินไปยังบัญชีนาง ว. (มารดาของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่ถูกกล่าวหา) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 3 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,930,000 บาท โดยมีการถอนเงินออกจากบัญชีไป 1,800,000 บาท
2. โอนไปยังบัญชีนาย ฐ (ผู้เกี่ยวข้องคนที่ 3) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 10,000,000 บาท
เมื่อนาย ฐ. ( ผู้เกี่ยวข้องคนที่ 3) ได้รับเงินมาแล้วได้ถอนเงินทั้งจำนวนโดยปิดบัญชีแล้วนำเงินไปเปิดบัญชีใหม่ คือ บัญชีชื่อ นายฐ. ( ผู้เกี่ยวข้องคนที่ 3) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
จากบัญชีนี้ นาย ฐ. ( ผู้เกี่ยวข้องคนที่ 3) ได้กระจายเงินไปยังบัญชีของบุคคลต่าง ๆ ได้แก่
2.1 บัญชีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่ถูกกล่าวหา ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จำนวนเงิน 100,000 บาท
2.2 บัญชีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ที่ถูกกล่าวหา ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บัญชี รับเงินจากบัญชีนาย ฐ. ( ผู้เกี่ยวข้องคนที่ 3) ด้วยวิธีการรับโอนผ่านระบบเอทีเอ็ม ครั้งละ 50,000 บาท 4 ครั้ง เป็นเงิน 200,000 บาท
2.3 บัญชีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ที่ถูกกล่าวหา ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) รับเงินจากบัญชีนาย ฐ ( ผู้เกี่ยวข้องคนที่ 3) ด้วยวิธีการรับโอนผ่านระบบเอทีเอ็ม ครั้งละ 150,000 บาท 8 ครั้ง เป็นเงิน 1,200,000 บาท
@ เส้นทางการเงินส่วนสาม
จากการตรวจสอบการเดินทางไปต่างประเทศระหว่างวันที่ 11-14 เมษายน 2561 พบการเดินทางไปยังประเทศสิงค์โปร์ของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่ถูกกล่าวหา โดยไฟท์บิน TR605 และกลับด้วยไฟท์บิน TR0616
ส่วนนาย บ. (ผู้เกี่ยวข้องคนที่ 1) เดินทางไปประเทศสิงค์โปร์พร้อมกับครอบครัวของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่ถูกกล่าวหา โดยไฟท์บิน FD0376
อย่างไรก็ดี คู่กรณีรายนี้ และ นาย ฐ. ( ผู้เกี่ยวข้องคนที่ 3) ไม่ได้เดินทางไปด้วย แต่มีรายการกดเงินจากตู้เอทีเอ็มที่ประเทศสิงค์โปร์ จากบัตรเอทีเอ็มของ คู่กรณีรายนี้ และนาย ฐ. ระหว่างวันที่ 11-13 เมษายน 2561 จำนวนเงิน 367,669.92 บาท
@ เส้นทางการเงินส่วนสี่
ในสำนวนการสอบสวนคดีนี้ ยังระบุด้วยว่า จากการตรวจสอบพบว่า ภายหลังจากที่ คู่กรณีบริษัทเอกชนรายนี้ ได้รับเงินและผลประโยชน์แล้ว ได้แบ่งผลประโยชน์ให้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่ถูกกล่าวหา เป็นเงิน 65,000,000 บาท และจำนวนหุ้นในที่ดินร้อยละ 40 จากจำนวนหุ้น ที่ คู่กรณีของบริษัทเอกชนรายนี้ ได้รับมาจาก บริษัทเอกชนรายนี้ มีมูลค่าประมาณ 72,000,000 บาท มีชื่อ นาง ว. (มารดาของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่ถูกกล่าวหา) เป็นผู้ถือแทนผู้ถูกกล่าวหา
รวมผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่ผู้ถูกกล่าวหาได้รับประโยชน์ทั้งสิ้นเป็นเงิน 137,000,000 บาท
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลบุคคลที่ปรากฎรายชื่อในเส้นทางเงิน 200 ล้านบาท พบว่า นาย บ. (ผู้เกี่ยวข้องคนที่ 1) ที่ได้รับโอนเงินจำนวน 20,200,000 บาท
มีตำแหน่งเป็นคณะทำงานของนักการเมืองชื่อดังที่ดำรงดำแหน่งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดปัจจุบันด้วย
สำหรับข้อมูลเชิงลึกส่วนอื่น ๆ สำนักข่าวอิศรา จะติดตามมานำเสนอต่อไป
อ่านประกอบ :
นักธุรกิจใหญ่ร้องเรียน ก.ต. ผู้พิพากษาร่วม 'ก๊วนรุกที่’ แทรกแซงคดี เรียกค่าชดเชย 400 ล. (1)
ใช้อำนาจหน้าที่คบค้านักธุรกิจ! เปิดนส.ร้องปธ.ศาลฎีกา สอบผู้พิพากษาคดีเรียกค่าชดเชย 400 ล. (2)
ปธ.อ.ก.ต.ลาออกกลางวงประชุม! ปมชงตั้ง‘หน.ฎีกา’ถูกกล่าวหาพันคดีรุกที่เรียกชดเชย 400 ล. (3)
มีเงินโอนเข้าบัญชี 11 ล.-แม่ได้ด้วย! DSI ชง ป.ป.ช.สอบ ผู้พิพากษาคดีเรียกค่าชดเชย 400 ล. (4)
น้อมนำพระบรมราโชวาท ร.9! เจาะลับคำพูดสุดท้าย 'ปธ.อ.ก.ต.' ก่อนลาออกกลางวงประชุม (5)
ก.ต.ข้างมาก 9:6 ไม่เห็นชอบตั้ง‘ผู้พิพากษา’พันคดีรุกที่เรียกชดเชย 400 ล.เป็น‘หน.ฎีกา’ (6)
แขวน‘ผู้พิพากษา’พันคดีเรียกชดเชย 400 ล.ไม่เลื่อนชั้น พ.อุทธรณ์-ชงผลสอบวินัย ก.ต.ชุดใหญ่ (7)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/