10 ข่าวเด่นแห่งปี 2563 ‘อิศรา’ : ‘ปารีณา’ ถือครองที่ดิน ภ.บ.ท.5-รุกป่าสงวน - ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ โดน ป.ป.ช.ชี้มูลละเลยปฏิบัติหน้าที่ เรื่องถึงมืออัยการฯภาค 9 - ไม่ฟ้อง ‘ซิโน-ไทยฯ’ คดีสินบนข้ามชาติ – 31 พรรครอดปมกู้ยืมเงิน – ชี้มูล 2 อดีตอัยการภูเก็ตวิ่งเต้นเรียกเงิน – พักราชการ ‘บิ๊ก ป.ป.ช.’ เรียกเงินใต้โต๊ะเคลียร์คดี – ปิดฉากคดีหุ้นสื่อ 63 ส.ส.รอด ‘ธัญญ์วาริน’ โดนรายเดียว
.................................
ในรอบปี 2563 ที่ผ่านมา มีข่าวคราวเกี่ยวกับการทุจริต หรือการประพฤติมิชอบที่กล่าวหาบรรดานักการเมือง ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนหลายคดี สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รวบรวม 10 ข่าวเด่นในรอบปี 2563 มาให้สาธารณชนทราบความคืบหน้า ดังนี้
1.กรณีที่ดิน ภ.บ.ท.5 ของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ
ประเด็นนี้ถูกนำเสนอมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 แบ่งออกเป็น 2 กรณีได้แก่
หนึ่ง กรณี น.ส.ปารีณา แจ้งถือครองที่ดิน ภ.บ.ท.5 ในบัญชีทรัพย์สินกรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. เมื่อ 24 มี.ค. 2562 พบว่า แจ้งถือครองรวม 58 ฉบับ 1,700 ไร่ โดยจากการตรวจสอบพบว่าหลังเอกสารสิทธิ ภ.บ.ท.5 ของ น.ส.ปารีณา ก่อนหน้านี้มีอย่างน้อย 20 ฉบับ ถือครองโดยบริษัท วิศวกรรมการเกษตรรุ่งเรือง จำกัด เป็นผู้ชำระภาษีบำรุงท้องที่ (ภาษีดอกหญ้า) โดยบริษัทแห่งนี้เคยปรากฏชื่อ น.ส.ปารีณา ถือครองหุ้นและเป็นกรรมการอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง
ขณะที่นายทวี ไกรคุปต์ อดีตรัฐมนตรี และ ส.ส.ราชบุรี บิดา น.ส.ปารีณา ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ ‘ถามตรง ๆ กับจอมขวัญ’ ยืนยันว่า ที่ดิน ภ.บ.ท.5 เดิมเป็นของตัวเอง ก่อนโอนให้ น.ส.ปารีณา เมื่อปี 2553 รวม 600 ไร่เศษ อย่างไรก็ดีในบัญชีทรัพย์สินของ น.ส.ปารีณา ที่แจ้งกรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. เมื่อปี 2554 และพ้น ส.ส. เมื่อปี 2556 มิได้แจ้งถือครอง ภ.บ.ท.5 แต่อย่างใด
ส่วนบัญชีทรัพย์สิน น.ส.ปารีณา กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. เมื่อปี 2562 กลับแจ้งว่ามี ภ.บ.ท.5 รวม 1,700 ไร่ มากกว่าที่นายทวีโอนให้ถึง 1,100 ไร่ โดย น.ส.ปารีณา เคยให้สัมภาษณ์หลายครั้งอ้างว่า เป็นการกรอกข้อมูลผิด ข้อเท็จจริงมีเพียง 600 ไร่เศษ และทำหนังสือถึงประธานกรรมการ ป.ป.ช. ขอแก้ไขข้อมูลแล้ว
เรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเชิงลึกของสำนักงาน ป.ป.ช. (อ่านประกอบ : 3 ปม ภ.บ.ท.5 ‘ปารีณา’กี่ไร่กันแน่-ทำไมไม่แจ้งช่วง ส.ส.ปี 54-57-ไฉนราคาแค่ 2 แสน?)
สอง กรณีบุกรุกที่ดินป่าสงวน และที่ดินของรัฐ
กรณีนี้กรมป่าไม้ และสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เข้าตรวจสอบพื้นที่ ภ.บ.ท.5 ของ น.ส.ปารีณา พบสภาพเป็นฟาร์มเลี้ยงไก่ชื่อ ‘เขาสนฟาร์ม’ โดยพบว่ามีการบุกรุกป่าเบื้องต้น 46 ไร่ ต่อมามีการแจ้งข้อหาเพิ่มเติมพบว่ามีการบุกรุกที่ดินของรัฐอีก 665 ไร่ ทั้งที่ดิน ภ.บ.ท.5 และที่ดิน ส.ป.ก. ก่อนส่งสำนวนให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) อย่างไรก็ดี น.ส.ปารีณา และนายทวี ยืนยันความบริสุทธิ์ในการครอบครองที่ดินดังกล่าว และอยู่ระหว่างต่อสู้คดี
ความคืบหน้ากรณีนี้เมื่อต้นเดือน พ.ย. 2563 บก.ปทส. แจ้งข้อหาแก่ น.ส.ปารีณา 4 ข้อ กรณีการบุกรุกป่า และที่ดินของรัฐ รวม 711 ไร่ 2 งาน 93 ตารางวา นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบที่ดินของนายทวีกว่า 1 พันไร่เศษด้วย (อ่านประกอบ : บก.ปทส.สรุปสำนวนส่งอัยการฟ้อง‘ปารีณา’คดีรุกป่า 4 ข้อหา-สอบ‘ทวี’รุกที่ดินรัฐพันไร่)
ส่วนในชั้น ป.ป.ช. มีการร้องเรียนเรื่องมาตรฐานจริยธรรมของ น.ส.ปารีณา โดย ป.ป.ช. สรุปสำนวนเสร็จสิ้นแล้ว แม้ว่า น.ส.ปารีณา จะทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม แต่ ป.ป.ช. เห็นว่า เป็นคนละประเด็นกับกรณีกระทำผิดมาตรฐานจริยธรรม โดยคาดว่าในต้นปี 2564 จะส่งสำนวนเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. และมีมติอย่างหนึ่งอย่างใด (อ่านประกอบ : ‘ปารีณา’ขอขยายเวลาแจงคดียื่นทรัพย์สินเท็จ-ชงที่ประชุม ป.ป.ช.พิจารณาภายใน พ.ย.รู้ผล)
2.กรณี ป.ป.ช. ชี้มูลนายนิพนธ์ บุญญามณี ละเลยการปฏิบัติหน้าที่
ประเด็นนี้นายนิพนธ์ ถูกร้องเรียนเมื่อครั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา เมื่อปี 2556 ว่า ไม่ยอมเบิกจ่ายเงินให้บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด เป็นค่ารถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ 2 คัน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 50,850,000 บาท ทำสัญญาซื้อขายกันเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2556 โดยประเด็นนี้นายนิพนธ์ ชี้แจงหลายครั้งว่า เนื่องจากบริษัทเอกชนรายดังกล่าว และกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนั้นอาจไม่โปร่งใส อาจมีการฮั้วประมูล เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ อบจ.สงขลา จึงยังไม่เบิกจ่ายเงิน
อย่างไรก็ดีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มองว่า ประเด็นที่นายนิพนธ์แจง เป็นคนละกรณีกัน และเรื่องการฮั้วประมูลอยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช. เช่นกัน แต่พฤติการณ์ตามการไต่สวนของ ป.ป.ช. กล่าวหาว่า พฤติการณ์ของนายนิพนธ์มีลักษณะถ่วงเวลาไม่เบิกจ่ายเงินให้แก่บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด เพราะกรณีนี้ อบจ.สงขลา ทำเรื่องรับมอบและตรวจสอบรถดังกล่าวเมื่อเดือน ต.ค. 2556 อย่างไรก็ดีมีการร้องเรียนว่ากลุ่มเอกชนมีพฤติการณ์ฮั้วประมูลเมื่อ ธ.ค. 2556 แม้ว่านายนิพนธ์จะมีคำสั่งให้ อบจ.สงขลา ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีนี้ก็ตาม และมีการแจ้งความร้องทุกข์แก่ตำรวจ แต่ไม่ได้มีการร้องเรียนให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบ เช่น ป.ป.ช. ป.ป.ท. สตง. เป็นต้น จึงเห็นว่านายนิพนธ์ไม่ได้มีการทำตามสัญญาซื้อขาย คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติชี้มูลความผิดดังกล่าว
ปัจจุบันนายนิพนธ์ ดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย และสำนวนคดีนี้ถูกส่งไปยังสำนักงานอัยการปราบปรามการทุจริต ภาค 9 เพื่อดำเนินการฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 9 แล้ว (อ่านประกอบ : สนง.อัยการปราบทุจริตฯภาค 9 ตั้งคณะทำงานพิจารณาคดี‘นิพนธ์’-ขีดเส้นเสร็จใน 90 วัน)
3.กรณี ป.ป.ช. ไม่ฟ้องบริษัท ซิโน-ไทยฯ คดีสินบนโรงไฟฟ้าขนอม 20 ล้านบาท
ประเด็นนี้ถูกเปิดโปงเมื่อปี 2561 เมื่อสำนักงานสืบสวนพิเศษของอัยการกรุงโตเกียว สืบสวนบริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ จำกัด หรือ MHPS ให้สินบนกับเจ้าหน้าที่ทางการไทย ผ่านนายหน้ารายหนึ่ง ประมาณ 60 ล้านเยน (คิดเป็นเงินไทยราว 20 ล้านบาท) ในการขนส่งชิ้นส่วนสินค้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนอมทางเรือ
ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีนี้ ผ่านไปประมาณเกือบ 2 ปี กระทั่งเดือน พ.ย. 2562 คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดนาวาโทสาธิต ชินวรณ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขานครศรีธรรมราช กับเจ้าหน้าที่รัฐรวม 4 ราย และเอกชนผู้สนับสนุน 3 ราย ได้แก่ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซิโน-ไทยฯ และนายราเกส กาเลีย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการส่วนงานปฏิบัติการบริษัท ซิโน-ไทยฯ กรณีถูกกล่าวหาว่าร่วมกันเรียกรับเงินสินบนจำนวน 20 ล้านบาท จากบริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ จำกัด หรือ MHPS เพื่อแลกกับการอนุญาตให้ใช้ท่าเทียบเรือชั่วคราวบริเวณโรงไฟฟ้าขนอม จ.นครศรีธรรมราช เพื่อลำเลียงขนถ่ายชิ้นส่วนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าโดยมิชอบ อย่างไรก็ดีบริษัท ซิโน-ไทยฯ เคยชี้แจงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ยืนยันว่าไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ และยืนยันว่าสามารถชี้แจงแสดงหลักฐานโต้แย้งข้อกล่าวหานี้ได้
ต่อมา ป.ป.ช. ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อพิจารณา และมีการตั้งคณะทำงานร่วมพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ในสำนวนระหว่างฝ่ายอัยการ และฝ่าย ป.ป.ช. โดยท้ายที่สุดไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจากฝ่ายอัยการเห็นว่า พยานหลักฐานไม่เพียงพอในการฟ้องศาล
หลังจากนั้น ป.ป.ช. ดึงสำนวนกลับมาพิจารณาเอง และส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการพิจารณาคดีสินบนข้ามชาติ พิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ก่อนที่ส่งความเห็นมายังที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณา เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมหารือกันว่าจะสามารถฟ้องบริษัท ซิโน-ไทยฯ และเอกชนรวม 3 รายในคดีนี้ได้หรือไม่ ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 77 อย่างไรก็ดีมีกรรมการ ป.ป.ช. ‘บางราย’ ให้ความเห็นว่า คดีนี้ไม่สามารถฟ้องเอาผิดกับบริษัท ซิโน-ไทยฯ และเอกชนรวม 3 รายได้ เนื่องจากแจ้งข้อกล่าวหาไม่ตรงตั้งแต่ต้น นอกจากนี้ในชั้นการไต่สวนไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาเอกชนญี่ปุ่นที่เป็นตัวการสำคัญในคดีนี้ด้วย ท้ายที่สุดคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ไม่ฟ้องบริษัท ซิโน-ไทยฯ และเอกชนรวม 3 รายในคดีนี้ (อ่านประกอบ : กาง กม.-เบื้องหลัง! ป.ป.ช.ข้างมากไม่ฟ้อง‘ซิโน-ไทยฯ’คดีสินบน-ระวังซ้ำรอยกรณี‘บอส’?)
4.พรรคการเมือง 31 แห่งรอดปมกู้ยืมเงิน
ประเด็นนี้ช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศราขยายผลการตรวจสอบจากกรณีพรรคอนาคตใหม่ กู้ยืมเงินนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (ขณะนั้น) จำนวน 191 ล้านบาท (ปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิด และสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งนายธนาธร และกรรมการบริหารพรรคไปแล้ว)
โดยสำนักข่าวอิศราพบว่า มีพรรคการเมืองอีกอย่างน้อย 31 พรรคที่แจ้งในงบการเงินของพรรคประจำปี 2561 ว่า มีการกู้ยืมเงิน เงินกู้ยืมระยะสั้น เงินทดรองจ่ายจากหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค หรือสมาชิกพรรค ทั้งพรรคใหญ่ และพรรคเล็ก
ทั้งนี้ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณียุบพรรคอนาคตใหม่เรื่องกู้ยืมเงินนายธนาธร ตอนหนึ่งระบุว่า แหล่งรายได้ของพรรคการเมืองมาจากมาตรา 62 แห่ง พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ โดยเงินกู้แม้มิได้เป็นรายได้ แต่เป็นรายรับ เป็นเงินทางการเมือง
ต่อมามีการร้องเรียนประเด็นนี้ไปยัง กกต. ขอให้ตรวจสอบว่า 31 พรรคการเมืองดังกล่าว มีการกู้ยืมเงินมาใช้ในกิจการของพรรคการเมือง มีการกู้ยืมเงินมาใช้ในกิจการของพรรคการเมือง เป็นการกระทำหรือนิติกรรมที่ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 62 ประกอบมาตรา 72 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งมีโทษสูงสุดยุบพรรคการเมือง เช่นเดียวกับกรณีพรรคอนาคตใหม่หรือไม่
อย่างไรก็ดีมีรายงานข่าวแจ้งว่า พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ลงนามเห็นชอบตามที่สำนักงาน กกต.เสนอ ให้ยุติเรื่องดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า การกู้ยืมเงินของพรรคการเมือง 31 แห่งข้างต้น ไม่มีพรรคใดกู้ยืมเงินเกิน 10 ล้านบาท/คน/ปี ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้ในกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ จึงถือว่าการกู้ยืมเงินของ 31 พรรคดังกล่าวไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย (อ่านประกอบ : กกต.สั่งยุติเรื่อง 31 พรรคปมกู้ยืมเงิน ชี้ไม่เกิน 10 ล้าน/ปี ไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย)
5.กรณี ป.ป.ช.ชี้มูลอดีตอัยการภูเก็ต 2 ราย เรียกรับเงินนักธุรกิจแลกวิ่งเต้นคดีรุกที่สาธารณะ
ประเด็นนี้เกิดขึ้นช่วงกลางปี 2562 เมื่อครั้งนายเข็มชัย ชุติวงศ์ ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด (อสส.) ออกคำสั่งให้พนักงานอัยการช่วยราชการ ปฏิบัติราชการ และรักษาราชการ 11 ราย หลังจากนั้นปรากฏว่ามีบุคคลนำคลิปเสียงสนทนา ระหว่างอัยการภูเก็ต 2 ราย เจรจาต่อรองเรียกรับเงินจากนักธุรกิจเพื่อแลกเปลี่ยนกับการช่วยวิ่งเต้นให้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ไม่ทำความเห็นแย้งเห็นตามความเห็นของอัยการที่จะไม่สั่งฟ้องในคดีกระทำความผิดบุกรุกที่สาธารณะในอุทยานแห่งชาติสิรินาถจังหวัดภูเก็ต ในวงเงิน 10 ล้านบาท
โดยสำนักข่าวอิศราเป็นหนึ่งในสื่อที่เกาะติดกรณีนี้ และรายงานความคืบหน้ามาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการนำข้อมูลเกี่ยวกับคลิปเสียงดังกล่าวมาเผยแพร่ กระทั่งสำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนเรื่องนี้ และเมื่อปลายปี 2563 ที่ผ่านมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลอัยการภูเก็ตทั้ง 2 รายดังกล่าวแล้ว ท่ามกลางกระแสข่าวว่าคณะกรรมการข้าราชการอัยการ (ก.อ.) มีมติไล่ออกอัยการภูเก็ตทั้ง 2 รายด้วย (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.เผยมติทางการ! ชี้มูลอาญา-วินัยร้ายแรง 2 อัยการภูเก็ตคดีคลิปเสียงฉาวเรียกรับเงิน)
6.กรณีพนักงานไต่สวนระดับสูง ป.ป.ช.เรียกรับเงินวิ่งเต้นเคลียร์คดี
ประเด็นนี้สำนักข่าวอิศราได้รับการยืนยันข้อมูลจากสำนักงาน ป.ป.ช. ว่า มีพนักงานไต่สวนระดับสูงรายหนึ่ง อดีตหน้าห้องกรรมการ ป.ป.ช. บางราย ที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 1 ถูกกล่าวหาว่า เรียกรับเงินสินบนจากผู้ถูกกล่าวหาเพื่อช่วยเหลือเรื่องคดี โดยปรากฏพฤติการณ์ร่วมกับครูรายหนึ่งใน จ.ลพบุรี เรียกรับเงินจากผู้บริหารระดับสูงในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จ.ลพบุรี มีหลักฐานเป็นการโอนเงินเข้าบัญชี จำนวน 30,000 บาท
ต่อมามีการขยายผลพบว่า นอกเหนือจากในพื้นที่ จ.ลพบุรีแล้ว พนักงานไต่สวนระดับสูงรายนี้ มีพฤติการณ์เรียกรับเงินวิ่งเต้นเคลียร์คดีอีกหลายจังหวัดภาคกลาง ส่งผลให้คดีความเกิดความล่าช้าเป็นอย่างมาก
กรณีนี้ ป.ป.ช. แบ่งการไต่สวนออกเป็น 2 ประเด็น คือ 1.การเรียกรับสินบน อยู่ระหว่างดำเนินการไต่สวนเบื้องต้นทางอาญา โดยสำนักงานไต่สวนการทุจริตภาครัฐ 1 เป็นผู้ดำเนินการ 2.การนำข้อมูลทางคดีมาเปิดเผย ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มีการสอบสวนทางวินัย รวมถึงอาจมีความผิดทางอาญาด้วย
ความคืบหน้ากรณีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่พนักงานไต่สวนระดับสูงรายนี้ รวมถึงสั่งพักราชการไปแล้วด้วย (อ่านประกอบ : สอบวินัยร้ายแรง-พักราชการ! ‘บิ๊ก ป.ป.ช.’ปมเรียกรับเงินวิ่งเต้นเคลียร์คดีหลาย จว.)
7.กรณีสั่งเด้งเจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่ 2 โยงสอบภาษีบริษัทน้ำมันพันล้าน
ประเด็นนี้เกิดขึ้นหลังจากนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ลงนามคำสั่งที่ 2699/2563 ย้ายข้าราชการสังกัดกรมสรรพากร ระดับผู้อำนวยการ ผู้อำนวยการระดับสูง 7 ตำแหน่ง โดยในรายของ น.ส.เกษกาญจน์ หิรัญอร สรรพากรพื้นที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ กทม.2 ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เนื่องจากเพิ่งได้รับการแต่งตั้งจากนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากรให้มาดำรงตำแหน่งเพียงแค่ 2 เดือน กลับถูกโยกย้าย
เบื้องต้น แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า สาเหตุในการโยกย้ายดังกล่าวอาจเป็นเพราะ น.ส.เกษกาญจน์ เรียกตรวจสำนวนการจัดเก็บภาษีของบริษัทเอกชนรายหนึ่งที่ไม่มีความคืบหน้า และพัวพันกับข้าราชการระดับสูง
ต่อมาสำนักข่าวอิศราขยายผลตรวจสอบพบว่า บริษัทเอกชนดังกล่าวเป็นบริษัทค้าน้ำมัน จดทะเบียนเพียงแค่ 1 ปีเศษ ก่อนแจ้งเลิกกิจการ แจ้งงบการเงินรอบปี 2560 มีรายได้กว่า 1,000 ล้านบาท โดยบริษัทแห่งนี้อยู่ระหว่างถูกสรรพากรพื้นที่ กทม.2 สอบภาษีอากรด้วย
อย่างไรก็ดีนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมสำนักข่าวอิศรายืนยันว่า สาเหตุการสั่งย้าย น.ส.เกษกาญจน์ ดังกล่าว ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ส่วนกรณีการสอบภาษีอากรบริษัทเอกชนค้าน้ำมันรายนั้น อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูล
ขณะที่สำนักข่าวอิศราลงพื้นที่ตั้งของบริษัทแห่งดังกล่าว พบว่า เป็นบ้านพักที่บริษัทแห่งนี้มาเช่าอยู่ และพบหมายเรียกจากกรมสรรพากร ให้ไปพบพนักงานประเมินภาษีอย่างน้อย 2 ครั้ง นอกจากนี้สำนักข่าวอิศรายังลงพื้นที่ จ.นราธิวาส เพื่อตามหาผู้ก่อตั้งบริษัทแห่งนี้ พบว่า ที่อยู่ที่แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นที่ตั้งของบ้านที่เป็นลูกจ้างโรงแรมมาขอใช้ทะเบียนบ้านเท่านั้น (อ่านประกอบ : ปลัดคลัง ยันโยกย้ายสรรพากรพื้นที่ 2 ไม่เกี่ยวปมสอบภาษี บ.ขายน้ำมันพันล.ปริศนา)
8.กรณีเงินทอนหนังสือเรียนวิทยาลัยชุมชน จ.พิจิตร
ประเด็นนี้สำนักข่าวอิศราได้รับการร้องเรียนจากข้าราชการกลุ่มหนึ่ง ที่ทำหนังสือร้องเรียนไปยังนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม รวมถึงสำนักงาน ป.ป.ช.พิจิตร สำนักงาน ป.ป.ช.ภาค 6 ให้ตรวจสอบผู้บริหารวิทยาลัยชุมชน จ.ในภาคเหนือ ใช้อำนาจหน้าที่เรียกรับผลประโยชน์ (เงินทอน) โครงการหนังสือเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ จากเอกชน จำนวน 8 ราย ในอัตรา 10-55% เบื้องต้น นายเอนก ยืนยันว่า ถ้าหากเรื่องดังกล่าวส่งมาถึงก็พร้อมที่จะส่งเรื่องไปยังปลัดกระทรวงและให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการให้มีการสอบสวนต่อไป
สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบหลักฐานการโอนเงินจากเอกชนอย่างน้อย 1 รายไปเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย สาขา ทับคล้อ ของ นายไพฑูรย์ เจ้าของรถตัดอ้อยซึ่งถูกระบุว่าเป็นคนใกล้ชิดผู้บริหารวิทยาลัยชุมชนแห่งหนึ่ง และ ครูอีกรายใน จ.นครสวรรค์
ความคืบหน้าล่าสุดกรณีนี้ นายนำชัย กฤษณาสกุล รักษาการ ผอ.สถาบันวิทยาลัยชุมชน เปิดเผยว่า สำนักงาน ป.ป.ช. เรียกพยานหลักฐานกรณีดังกล่าวไปตรวจสอบทั้งหมดแล้ว นอกจากนี้นางสิริกร มณีรินทร์ นายกสภาสถาบันวิทยาลัยชุมชน ได้สั่งการให้มีการสอบสวนเชิงลึกเรื่องนี้แล้วเช่นกัน (อ่านประกอบ : คดีเงินทอนหนังสือพิจิตรล่าสุด! ป.ป.ช.เรียกหลักฐานสอบหมดแล้ว - ปมเลิกจ้างทำตามกระบวนการ)
9.กรณีทุจริตสหกรณ์รถไฟฯ 2.2 พันล้านบาท
ประเด็นนี้สำนักข่าวอิศราได้รับการร้องเรียนตั้งแต่ช่วงปี 2560 โดยพบว่ามีผู้ก่อตั้ง และสมาชิกอย่างน้อย 6 ราย ของสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ กู้เงินซื้อที่ดินทำโครงการอสังหาริมทรัพย์ผิดระเบียบ ต่อมาได้รับแจ้งจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ส่งหนังสือเรียกเงินคืนโดยมีข้อมูลระบุว่า สหกรณ์ฯไก้ปล่อยกู้ให้แก่คณะกรรมการ 6 ราย เพื่อซื้อที่ดิน วงเงินกว่า 2.2 พันล้านบาท โดยสำนักข่าวอิศราติดตามเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง และเปิดเผยเอกสารหลักฐานชิ้นสำคัญปรากฏชื่อข้าราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์อย่างน้อย 3 รายเข้าไปเกี่ยวข้องเรื่องการให้ข้อมูลทางการเงินของสหกรณ์รถไฟฯ
กระทั่งช่วงปี 2562 น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรัฐมนตรีกำกับดูแลกรมส่งเสริมสหกรณ์ สั่งการให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้ กระทั่งเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2563 ที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) แถลงข่าวเปิดเผยการสอบสวนคดีทุจริตสหกรณ์รถไฟฯ ภายใต้ยุทธการ ‘ด่วนนรกซอมบี้ Train to Bang Sue’ โดยปูพรมเข้ายึดทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด 26 จุดใน กทม.-ต่างจังหวัด พร้อมกับจับกุมผู้ต้องหา 9 รายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด
ความคืบหน้ากรณีนี้เมื่อเดือน ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) โดยคณะกรรมการธุรกรรม สั่งอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดไปแล้วอย่างน้อย 93 รายการ รวมวงเงิน 127.9 ล้านบาทเศษ (อ่านประกอบ : โชว์คำสั่ง ปปง.อายัดที่ดิน-บัญชีเงินฝากทุจริตสหกรณ์รถไฟฯ 93 รายการ 127.9 ล.)
10.กรณี ส.ส.รวม 64 รายถือครองหุ้นสื่อ
ประเด็นนี้สำนักข่าวอิศรานำเสนอมาตั้งแต่ภายหลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 เป็นต้นมา พร้อมกับกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ที่แจ้งถือครองหุ้นสื่อ (กรณีนายธนาธร ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีความผิด และสั่งให้พ้นตำแหน่ง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไปแล้ว) กระทั่ง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน นำข้อมูลไปใช้ในการยื่นเรื่องร้องเรียนแก่ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานะ ส.ส. 64 ราย แบ่งเป็น ส.ส. ฝ่ายค้าน 32 รายและ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 32 ราย
โดยเมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยกรณีดังกล่าว โดยมี ส.ส. 63 รายที่รอดพ้นบ่วงข้อครหามาได้ เนื่องจากถือครองหุ้นที่มิได้ทำกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน ยกเว้นรายเดียวคือ นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ถือครองหุ้น 2 บริษัทที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน จึงมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง และให้พ้นจากตำแหน่ง ส.ส. (อ่านประกอบ : 63 ส.ส.ฝ่าย รบ.-ค้านรอดคดีหุ้นสื่อ! 'ธัญญ์วาริน'โดนรายเดียว-พบพิรุธโอนย้อนหลัง)
ทั้งหมดคือ 10 ข่าวเด่นในช่วงปี 2563 ที่บางกรณี ‘ปิดฉาก’ ลงไปแล้ว และอีก ‘หลายเรื่อง’ เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น อยู่ระหว่างกระบวนการสอบสวนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่
ติดตามในปี 2564 กันต่อไป!
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/