"...กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ขอเรียนว่า รัฐมนตรีว่าการกระทร่วงมหาดไทยได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2562 ประกอบมาตรา 98 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 สั่งให้ นายนิพนธ์ บุญญามณี พ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ..."
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ มท 0804.3/1864 ถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา อ้างคำสั่ง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้ นายนิพนธ์ บุญญามณี พ้นจากตำแหน่งนายกอบจ.สงขลา เป็นทางการ
ในหนังสือระบุว่า ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้รายงานผลการสอบสวนและเสนอความเห็นให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยใช้ดุลพินิจสั่งให้นายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติว่า นายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีละเว้นไม่มอบอำนาจให้ผู้ขายเป็นตัวแทนในการจดทะเบียนรถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ ชนิด 10 ล้อ เครื่องยนต์ดีเซล จำนวน 2 คัน และไม่อนุมัติเบิกจ่ายเงินค่ารถทั้งสองคันให้แก่ผู้ขาย นั้น
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ขอเรียนว่า รัฐมนตรีว่าการกระทร่วงมหาดไทยได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2562 ประกอบมาตรา 98 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 สั่งให้ นายนิพนธ์ บุญญามณี พ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา
อันนำมาซึ่งความเสี่ยงของ นายนิพนธ์ ว่าการถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งนายกอบจ.สงขลา จากคดีทุจริตตามผลการชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าว จะเข้าข่ายเป็นผู้ไม่มีคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรี ตามมาตรา 160 ประกอบมาตรา 98 (8) ของรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องไม่เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ หรือไม่
ต่อไปนี้ เป็นคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 29/2564 เรื่อง ให้นายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา พ้นจากตําแหน่ง ในวาระการดํารงตําแหน่งตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2556 ถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2562 ฉบับเต็ม ที่ลงนามโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา
มีรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
ด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลารายงานผลการสอบสวนและเสนอความเห็นให้รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทยพิจารณาดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจกับนายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหาร ส่วนจังหวัดสงขลา ตามมาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และที่แก้ไข เพิ่มเติม ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
1. คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาไต่สวนเรื่องร้องเรียนกล่าวหานายนิพนธ์ บุญญามณี เมื่อครั้งดํารงตําแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ว่ากระทําความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทํา ความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีละเว้นไม่มอบอํานาจให้ผู้ขายเป็นตัวแทนในการจดทะเบียนรถซ่อมบํารุงทาง อเนกประสงค์ ชนิด 10 ล้อ เครื่องยนต์ดีเซล จํานวน 2 คัน และไม่อนุมัติเบิกจ่ายเงินค่ารถทั้งสองคันให้แก่ผู้ขาย ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาผลการไต่สวนแล้วได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ 103/2563 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563 ว่า การกระทําของนายนิพนธ์ บุญญามณี มีมูลความผิดอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และมีมูลความผิดฐานละเลยไม่ปฏิบัติการตามอํานาจหน้าที่หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอํานาจหน้าที่ หรือประพฤติตน ฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และที่แก้ไข เพิ่มเติม มาตรา 74 ให้ส่งรายงาน สํานวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน เพื่อดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจ กับนายนิพนธ์ บุญญามณี ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) และมาตรา 98 วรรคสี่ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
3.1 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคําสั่งที่ 186/2561 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2561 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
1.2 ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนรับฟังได้ว่า เมื่อบริษัทผู้ขายได้ส่งมอบรถทั้งสองคัน ต่อองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และคณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้ตรวจรับรถทั้งสองต้น เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2556 แล้วมีความเห็นว่ารถที่ส่งมอบมีปริมาณและคุณภาพถูกต้องครบถ้วน จึงได้ส่งมอบรถทั้งสองคัน ให้แก่เจ้าหน้าที่พัสดุ ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่พัสดุได้ลงบัญชีครุภัณฑ์รถทั้งสองคันแล้ว เจ้าหน้าที่พัสดุได้นําใบตรวจรับพัสดุ เสนอนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ซึ่งขณะนั้น ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาในฐานะ ผู้ปฏิบัติราชการแทนนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาได้อนุมัติตามเสนอ เจ้าหน้าที่พัสดุจึงมีบันทึกข้อความ ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2556 ถึงผู้ถูกกล่าวหา แจ้งข้อเท็จจริงกรณีบริษัทผู้ขายได้ส่งมอบรถทั้งสองคันว่า ตามสัญญาซื้อขายกําหนดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาชําระเงินให้แก่ผู้ขาย เมื่อผู้ขายได้ส่งมอบรถพร้อมโอนทะเบียนรถให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาแล้ว เจ้าหน้าที่พัสดุจึงเสนอความเห็นให้ผู้ถูกกล่าวหา ในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา มอบอํานาจให้บริษัทผู้ขายเป็นผู้จดทะเบียนรถทั้งสองคัน โดยได้เสนอเอกสารใบตรวจรับ ร่างหนังสือองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาถึงขนส่งจังหวัดสงขลา รวมถึง ร่างหนังสือมอบอํานาจให้บริษัทผู้ขายดําเนินการแทนดังกล่าว แต่ผู้ถูกกล่าวหามิได้ลงนามในร่างหนังสือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาและร่างหนังสือมอบอํานาจดังกล่าว และได้มีบันทึกสั่งการหลังใบตรวจรับว่า “ให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้มีการตรวจสอบระบบการเป่าลม การฉีดพ่นการโรยหินขนาดต่าง ๆ ที่ใช้ ในการซ่อมทาง การสเปรย์ยาง ระบบแขนบูมไฮดรอลิกและระบบไฮดรอลิกต่าง ๆ ที่ใช้ในการควบคุมสั่งการ การปะซ่อมหลุม โดยให้มีการทดลองเป็นเวลาพอสมควร แล้วรายงานผลให้ทราบ” งานพัสดุจึงได้มีหนังสือ ถึงประธานกรรมการตรวจรับพัสดุเพื่อแจ้งคําสั่งของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าว
ต่อมาบริษัทผู้ขายได้มีหนังสือ ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 ถึงองค์การบริหาร ส่วนจังหวัดสงขลา เพื่อให้ดําเนินการจดทะเบียนรถทั้งสองคัน องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาจึงมีหนังสือ แจ้งให้บริษัทผู้ขายทําการทดสอบระบบใหม่ตามที่ผู้ถูกกล่าวหาได้มีคําสั่ง โดยอ้างว่าเพื่อให้เครื่องจักรสามารถ ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและจะได้ดําเนินการจดทะเบียนรถกับกรมการขนส่งทางบกต่อไป โดยก่อนที่ ผู้ถูกกล่าวหาจะได้ลงนามในหนังสือดังกล่าวปรากฏว่า เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2556 องค์การบริหารส่วนจังหวัด สงขลาได้รับหนังสือ ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2556 ของกรรมการผู้จัดการบริษัทแห่งหนึ่ง ร้องเรียนว่า การจัดซื้อรถทั้งสองคันมีการกําหนดคุณสมบัติของรถที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการรายหนึ่งรายใด และมีการสมยอมการเสนอราคา ผู้ถูกกล่าวหาจึงได้สั่งการให้ฝ่ายนิติการทําการตรวจสอบ
คณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้นัดหมายให้บริษัทผู้ขายทําการทดสอบระบบรถทั้งสองคัน ในการปฏิบัติงานจริง ในวันที่ 7 มกราคม 2557 บริษัทผู้ขายจึงได้ส่งผู้แทนของบริษัทและทีมงานช่างเข้ามา ทดสอบระบบการใช้งานของรถยนต์ดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง ภายในวันเดียวกัน องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ได้รับหนังสือจังหวัดสงขลา ด่วนมาก ที่ 0023.4/263 ลงวันที่ 7 มกราคม 2557 แจ้งว่า บริษัทแห่งหนึ่ง ได้มีหนังสือถึงจังหวัดสงขลา ร้องเรียนว่าการจัดซื้อรถทั้งสองคันมีการกําหนดคุณลักษณะของรถเพื่อเอื้อประโยชน์ ให้บริษัทผู้ขาย และให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาชี้แจงข้อเท็จจริงดังกล่าว
ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2557 กองช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ได้ทดสอบ ระบบเสร็จสิ้นแล้วรายงานผลต่อนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาว่า อุปกรณ์ที่ติดตั้งมากับรถมีคุณสมบัติ ที่กําหนดไว้ในเอกสารแนบท้ายสัญญา สามารถปฏิบัติงานซ่อมแซมถนนที่เสียหายแบบต่าง ๆ ได้ ผู้ถูกกล่าวหา ลงนามรับทราบผลทดสอบในวันที่ 20 มกราคม 2557 องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาจึงได้มีหนังสือ ที่ สข 51007/400 ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2557 ถึงสํานักงานขนส่งจังหวัดสงขลา ขอจดทะเบียนรถทั้งสองคัน ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา โดยมอบอํานาจให้บริษัทผู้ชายดําเนินการแทน ตัวแทนของบริษัทผู้ขาย จึงได้ดําเนินการจดทะเบียนรถทั้งสองคันเป็นชื่อองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2557 และวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557 โดยเมื่อบริษัทผู้ขายดําเนินการจดทะเบียนเสร็จสิ้นแล้ว กองพัสดุและทรัพย์สิน องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ก็ได้ส่งมอบรถซ่อมบํารุงทั้งสองคันแก่กองช่าง พร้อมมอบหนังสือแสดง การจดทะเบียนรถ ป้ายวงกลม ป้ายทะเบียนรถทั้งสองคัน รวมถึงเอกสารการจัดซื้อเพื่อเบิกจ่ายเงินให้บริษัทผู้ขาย และได้ออกเลขครุภัณฑ์รถทั้งสองคันในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2557
กองช่างได้เสนอฎีกาขอเบิกเงินค่าจัดซื้อรถดังกล่าวต่อกองคลังตามฎีกาที่ 570 300 311 410300 00004 เลขที่คลังรับ 225 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2557 โดยมีเจ้าพนักงานการเงิน และบัญชี องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เป็นผู้ตรวจฎีกาและเสนอให้ผู้ถูกกล่าวหาให้ลงนามอนุมัติเบิกจ่าย ค่ารถทั้งสองคันในฎีกาดังกล่าวผ่านผู้บังคับบัญชาตามลําดับชั้น ในระหว่างนั้นปรากฏว่าจังหวัดสงขลาได้มีหนังสือ สอบถามความคืบหน้าการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มีการร้องเรียน และให้ชี้แจงกรณีการเบิกจ่ายเงินค่าจัดซื้อ รถทั้งสองคนแก่บริษัทผู้ขายล่าช้าด้วย หลังจากนั้นบริษัทผู้ขายได้สอบถามเรื่องการเบิกจ่ายเงินอีกครั้ง แต่ผู้ถูกกล่าวหาก็ยังไม่อนุมัติให้เบิกจ่ายโดยอ้างว่าให้รอผลการสอบสวนข้อเท็จจริงเสียก่อน
ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2557 บริษัทผู้ขายได้มีหนังสือถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัด สงขลา เพื่อร้องเรียนกรณีไม่ปฏิบัติตามสัญญาซื้อขาย (ไม่ชําระเงินค่ารถ) เจ้าหน้าที่พัสดุจึงได้นําเสนอหนังสือ ดังกล่าวต่อผู้ถูกกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหาจึงได้เกษียนว่า “กรณีนี้มีกรณีสืบเนื่องจากมีการร้องเรียนและได้มีการตั้ง กรรมการสอบข้อเท็จจริง” ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาได้มีคําสั่งองค์การบริหาร ส่วนจังหวัดสงขลา ที่ 443/2557 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2557 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีมี ผู้ร้องเรียนการกําหนดคุณสมบัติผู้เสนอราคาไม่โปร่งใส
บริษัทผู้ขายได้มีหนังสือ ลงวันที่ 13 มีนาคม 2557 ถึงจังหวัดสงขลาและสํานัก ตรวจสอบพิเศษภาค 15 เพื่อร้องเรียนว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลามิได้เบิกจ่ายค่ารถทั้งสองคัน ทั้งที่ได้โอนทะเบียนรถทั้งสองคันให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาแล้ว ทําให้ได้รับความเสียหาย จังหวัดสงขลาจึงได้มีหนังสือถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาให้รายงานในประเด็นดังกล่าว และสํานักงาน การตรวจเงินแผ่นดินได้มีหนังสือ ด่วนมาก ที่ ตผ 0055 สข/149 ลงวันที่ 28 มีนาคม 2557 ถึงองค์การ บริหารส่วนจังหวัดสงขลาแจ้งว่า สํานักงานตรวจสอบพิเศษ 15 ได้ตรวจสอบเบื้องต้นแล้วเห็นว่า การที่องค์การ บริหารส่วนจังหวัดสงขลายังไม่ดําเนินการเบิกจ่ายเงินให้แก่ผู้ขายเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 ข้อ 64 (4) และระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 ข้อ 64 และเห็นว่าการเบิกจ่ายเงินล่าช้าดังกล่าว หากไม่มีเหตุอันควรที่ยกขึ้น กล่าวอ้างกับผู้ขายได้ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง อาจถูกผู้ขายฟ้องเรียกค่าเสียหายจนเป็นเหตุ ให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ เพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจเกิดขึ้น จึงขอให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด สงขลาพิจารณากรณีดังกล่าวให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัดต่อไป
นอกจากนี้ จังหวัดสงขลาได้มีหนังสือ ที่ สข 0023.4/046 ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2557 ถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา แจ้งว่า ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหาร : ราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 ข้อ 64 (4) กําหนดอํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจรับพัสดุไว้ว่า “เมื่อตรวจความถูกต้องครบถ้วนแล้วให้รับพัสดุไว้ และถือว่าผู้ขายหรือผู้รับจ้างได้ส่งมอบพัสดุถูกต้องครบถ้วน แล้วตั้งแต่วันที่ผู้ขายหรือผู้รับจ้างนําพัสดุมาส่ง และส่งมอบให้แก่เจ้าหน้าที่พัสดุพร้อมกับทําใบตรวจรับ โดยลงชื่อไว้เป็นหลักฐานอย่างน้อยสองฉบับมอบให้แก่ผู้ขายหรือผู้รับจ้างหนึ่งฉบับและเจ้าหน้าที่พัสดุหนึ่งฉบับ เพื่อดําเนินการเบิกจ่ายเงินตามระเบียบว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น และรายงานให้หัวหน้าฝ่ายบริหารราชการส่วนท้องถิ่นทราบ” ซึ่งตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าคณะกรรมการ ตรวจรับพัสดุได้ถือปฏิบัติตามข้อ 64 ดังกล่าวแล้ว ฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาในฐานะผู้ซื้อจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญาเลขที่ 22/2556 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 ที่จะต้อง เบิกจ่ายเงินให้แก่ผู้ขาย ตามข้อ 47 และข้อ 73 แห่งระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 ต่อไป สําหรับ ประเด็นที่มีผู้ร้องเรียนว่าประกาศประกวดราคาซื้อรถซ่อมบํารุงทางอเนกประสงค์ทั้งสองคันไม่โปร่งใส ก็ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไปให้แล้วเสร็จ หากมีมูลตามข้อร้องเรียน ให้ดําเนินการทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัยต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องต่อไป
บริษัทผู้ขายได้ยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดําที่ 152/2557 เพื่อให้จ่ายเงินค่ารถทั้งสองคัน ในระหว่างการพิจารณาคดี เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาได้สรุปรายงาน การสอบสวนและเสนอผู้ถูกกล่าวหาว่ามีมูลให้เชื่อว่าการเข้าเสนอราคากระทําโดยมีเจตนาไม่สุจริต มีพฤติกรรม ในการสมยอมกันในการเสนอราคาต่อองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และทําให้ไม่เป็นธรรมในการแข่งขันราคา ผู้ถูกกล่าวหาเห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และต่อมาศาลปกครองสงขลา ได้มีคําพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 178/2560 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 ว่า บริษัทผู้ขายได้ส่ง มอบรถทั้งสองคันเป็นไปตามสัญญาแล้ว ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาชําระเงิน จํานวน 52,062,041 บาท ให้แก่บริษัทผู้ขายพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจํานวน 50,062,041 บาท
1.3 คณะอนุกรรมการไต่สวนพิจารณาแล้วเห็นว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาได้ตกลง ซื้อรถทั้งสองคันจากบริษัทผู้ขาย ตามสัญญาซื้อขาย เลขที่ 22/2556 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 ซึ่งคณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้ตรวจรับรถทั้งสองคันแล้ว เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2556 โดยมีความเห็นว่า รถทั้งสองคันมีปริมาณและคุณภาพถูกต้องครบถ้วน ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาปฏิบัติราชการแทน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาได้ลงนามรับทราบผลการตรวจรับรถทั้งสองคันแล้ว จึงมีผลว่านายกองค์การ บริหารส่วนจังหวัดสงขลาได้เห็นชอบกับการตรวจรถทั้งสองคันแล้ว กระบวนการตรวจรับพัสดุจึงเสร็จสิ้น ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 ข้อ 64 (4) ถือว่าบริษัทผู้ขายได้ส่งรถทั้งสองคันถูกต้องครบถ้วน ผู้ถูกกล่าวหาในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา จึงมีหน้าที่ดําเนินการให้บริษัทผู้ขายไปจดทะเบียนรถทั้งสองคันเป็นชื่อองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา การที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ลงนามในหนังสือถึงสํานักงานขนส่งจังหวัดสงขลา ทั้งยังสั่งการให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ได้มีการทดลองระบบเป่าลม การฉีดพ่น การโรยหินขนาดต่าง ๆ ที่ใช้ในการซ่อมทางเป็นประจํา การสเปรย์ยาง และระบบแขนบูมไฮดรอลิกที่ใช้ในการควบคุมสั่งการ การปะซ่อมหลุม โดยมีการทดสอบเป็นระยะเวลาสมควร แล้วรายงานผลให้ทราบ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในตําแหน่งนายกองค์การ บริหารส่วนจังหวัดสงขลา ผู้ถูกกล่าวหาย่อมทราบว่าไม่อาจสั่งการให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุตรวจสอบรถ อีกครั้ง การที่ผู้ถูกกล่าวหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ดําเนินการให้บริษัทผู้ขายจดทะเบียนรถทั้งสองคัน ให้เป็นชื่อองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาและสั่งการให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุตรวจสอบรถทั้งสองคันนั้น เป็นการสั่งการโดยไม่มีเหตุอันสมควร อันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อประวิงเวลาให้บริษัทผู้ขายได้รับความเสียหาย ไม่ได้รับเงินค่ารถทั้งสองคัน ผู้ถูกกล่าวหาย่อมมีมูลความผิด ทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมีพฤติการณ์กระทําการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอํานาจหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติ องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 มาตรา 79 นอกจากนี้ หลังจากที่ณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ได้ตรวจสอบรถทั้งสองคันอีกครั้งตามที่ผู้ถูกกล่าวหาสั่งการ ปรากฏว่าอุปกรณ์ที่ติดตั้งกับรถมีคุณสมบัติ
กำหนดไว้ในเอกสารแนบท้ายสัญญา สามารถปฏิบัติงานซ่อมแซมถนนที่เสียหายแบบต่างๆ ตัวแทนของบริษัทผู้ขาย
จึงได้ดําเนินการจดทะเบียนรถทั้งสองคันเป็นชื่อองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา โดยได้ออกเลขครุภัณฑ์รถทั้งสองคันไว้
และเจ้าหน้าที่ได้เสนอฎีกาขอเบิกเงินค่ารถทั้งสองคัน แต่ผู้ถูกกล่าวหาในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กลับไม่อนุมัติให้เบิกจ่าย โดยชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่าเนื่องจากมีการร้องเรียนและมีการกระทําความผิด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 กรณีดังกล่าว การที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่อนุมัติเบิกจ่ายเงินค่ารถทั้งสองคันแก่บริษัทผู้ขายมีลักษณะเป็นการประวิงเวลาให้บริษัทผู้ขาย ได้รับความเสียหาย ไม่ได้รับเงินค่ารถทั้งสองคัน โดยเป็นเจตนาต่อเนื่องจากที่ผู้ถูกกล่าวหาสั่งการให้คณะกรรมการ ตรวจรับพัสดุตรวจสอบรถทั้งสองคันอีกครั้งหนึ่งข้างต้น การกระทําในส่วนนี้ของผู้ถูกกล่าวหาจึงมีมูลความผิด เป็นความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความ เสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมีพฤติการณ์กระทําการฝ่าฝืนต่อความสงบ เรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอํานาจหน้าที่ ตาม พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 มาตรา 79 เช่นกัน
2. ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้พิจารณาตามรายงานและสํานวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีความเห็นว่า พฤติการณ์ของนายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา มีมูล ความผิดทางอาญา มาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้ เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และมีมูลความผิด ฐานละเลยไม่ปฏิบัติการตามอํานาจหน้าที่หรือปฏิบัติการ ไม่ชอบด้วยอํานาจหน้าที่ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามพระราชบัญญัติองค์การ บริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 79 ตามความเห็นคณะอนุกรรมการไต่สวนและมติ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในรายงานสํานวนการไต่สวน (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) คดีหมายเลขดํา ที่ 19-2-352/2560 คดีหมายเลขแดงที่ 564-2-50/2563 จึงรายงานความเห็นในกรณีดังกล่าวให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พิจารณาสั่งการตามอํานาจและหน้าที่ต่อไป
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วเห็นว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณา ไต่สวนเรื่องร้องเรียนกล่าวหา นายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ว่ากระทําความผิด ฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีละเว้นไม่มอบอํานาจให้ผู้ขาย เป็นตัวแทนในการจดทะเบียนรถซ่อมบํารุงทางอเนกประสงค์ ชนิด 10 ล้อ เครื่องยนต์ดีเซล จํานวน 2 คัน และไม่อนุมัติเบิกจ่ายเงินค่ารถทั้งสองคันให้แก่ผู้ขาย แล้วมีมติเห็นว่า การกระทําของนายนิพนธ์ บุญญามณี มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้น การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และมีมูลความผิดฐานละเลยไม่ปฏิบัติการ ตามอํานาจหน้าที่หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอํานาจหน้าที่ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อย ของประชาชน ตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 79 และผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทําของนายนิพนธ์ บุญญามณี ตามผลการไต่สวนและมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าว เป็นการละเลยไม่ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่หรือ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และที่แก้เพิ่มเดิม มาตรา 79 จึงได้เสนอความเห็นให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจกับนายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 เพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2562 ประกอบมาตรา 98 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 จึงให้นายนิพนธ์ บุญญามณี พ้นจากตําแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา อําเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ในวาระการดํารงตําแหน่ง เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2556 ถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2562 (นายนิพนธ์ บุญญามณี ดํารงตําแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2556 และครบวาระการดํารงตําแหน่งวันที่ 3 สิงหาคม 2560 แต่ได้อยู่ในตําแหน่ง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ตามข้อ 5 ของคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 1/2557 เรื่อง การได้มา ซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2557 จึงถือว่ายังคงดํารงตําแหน่ง ต่อไปตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2562 โดยพ้นจากตําแหน่ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เนื่องจากการลาออก เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2562)
อนึ่ง การโต้แย้งคําสั่งนี้ให้ทําเป็นคําฟ้องเป็นหนังสือยื่นต่อศาลปกครอง หรือส่งไปรษณีย์ลงทะเบียน ไปยังศาลปกครองที่มีเขตอํานาจ ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งหรือรับทราบคําสั่งตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2564
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทย ให้ข้อมูลยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า เกี่ยวกับคดีนี้ ทราบว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ส่งสำนวนการไต่สวนคดีพร้อมเอกสารหลักฐานประกอบ ให้อัยการสูงสุด ฟ้องร้องดำเนินคดีอาญา กับ นายนิพนธ์ บุญญามณี ตามขั้นตอนทางกฏหมายตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ซึ่งนายนิพนธ์ ยังมีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองในชั้นศาลได้อีก
"ส่วนกรณีที่ นายนิพนธ์ ถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งนายกอบจ.สงขลา จากคดีทุจริตตามผลการชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะเข้าข่ายเป็นผู้ไม่มีคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรี ตามมาตรา 160 ประกอบมาตรา 98 (8) ของรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องไม่เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ ซึ่งจะต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีหรือไม่ เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องไปพิจารณากันต่อไป " แหล่งข่าวระบุ
@ นายนิพนธ์ บุญญามณี
ผลจากนี้เป็นอย่างไร ต้องติดตามดูกันต่อไป
ขณะที่ นายนิพนธ์ เคยชี้แจงเกี่ยวกับคดีนี้ ยืนยันว่า เรื่องนี้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ อบจ.สงขลา พบว่า การจัดซื้อดังกล่าวเป็นการฮั้วประมูล มีผลเป็นโมฆะ และยืนยันว่าตนเองกระทำโดยสุจริต เพื่อประโยชน์สูงสุดของทางราชการ ไม่ได้มีเจตนาละเว้น หรือกลั่นแกล้งเรียกผลประโยชน์กับบุคคลใด โดยเงินจัดซื้อรถซ่อมบำรุงอเนกประสงค์จำนวนดังกล่าวยังเก็บรักษาอยู่ที่คลังของอบจ.สงขลา ไม่ได้มีเงินแม้แต่บาทเดียว ที่ทำไปเพราะต้องการรักษาประโยชน์ของแผ่นดินโดยแท้
อ่านประกอบ :
เปิดครบ! ปมซื้อรถอเนกประสงค์ 50 ล.กล่าวหา‘นิพนธ์’ อบจ.สงขลา-เอกชนร้องกันนัว?
โอนสำนวน อบจ.สงขลาร้องเอกชนฮั้วประมูลซื้อรถเอนกประสงค์ 50 ล.ให้ บก.ป.สอบแทน
ทวงถามผู้ว่าฯสงขลา อ้างประกาศ มท.ขีดเส้น 30 วันพิจารณาโทษทางวินัย‘นิพนธ์’
สนง.อัยการปราบทุจริตฯภาค 9 ตั้งคณะทำงานพิจารณาคดี‘นิพนธ์’-ขีดเส้นเสร็จใน 90 วัน
ป.ป.ช.ส่งสำนวน‘นิพนธ์’ถึงมืออัยการฯภาค 9 แล้ว หลังถูกชี้มูลคดีจัดซื้อรถอเนกประสงค์
พฤติการณ์ถ่วงเวลา! ป.ป.ช.แจงชี้มูล‘นิพนธ์’-เจ้าตัวสวนแถลงแบบนี้อาจทำ ขรก.สับสน
ไม่ได้ละเว้น! ‘นิพนธ์’โชว์หลักฐานจาก ตปท.แจงถูก ป.ป.ช.ชี้มูลไม่เบิกจ่ายเงินค่ารถเอกชน
ป.ป.ช.ชี้มูล‘นิพนธ์’ไม่เบิกจ่ายค่ารถอเนกประสงค์ 50 ล.ให้เอกชน-เจ้าตัวยันไม่ได้ทุจริต
รอคดีถึงที่สุดก่อน! ‘นิพนธ์’แจงปมเอกชนทวง อบจ.สงขลาจ่ายค่ารถเอนกประสงค์ 2 คัน 50 ล.
เปิดขุมทรัพย์ 3 บ.กลุ่มพลวิศว์คว้าจัดซื้อรถซ่อมถนน 6 อบจ. 219.8 ล้าน
บ้านหญิงสาวผู้ถือหุ้น 2 บ.ประกวดราคา'รถซ่อมถนน'อบจ.สงขลา 50.8ล. ซอยเดียวกัน
เจาะปมจัดซื้อรถซ่อมถนน อบจ. พิษณุโลก 22.4 ล. ก่อนโผล่ “ขอนแก่น” 28.5 ล้าน
ตามไปดูจัดซื้อรถซ่อมถนน อบจ.ฉะเชิงเทรา แค่ 22.4 ล้าน จากเครือพลวิศว์ฯ
ชำแหละสารพัดเงื่อนงำ!จัดซื้อรถซ่อมถนน อบจ.สงขลา 50.8 ล้าน
เปิดหลักฐานมัด!อบจ. ขอนแก่นอ้างอิง“ราคากลาง”ซื้อรถซ่อมถนนจาก 2 บ.กลุ่มเดียวกัน
อบจ.ขอนแก่นประกวดราคาซื้อรถซ่อมถนนคันละ 28.5 ล.- พบ 2 จว.แค่ 22.4 ล้าน
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage