พลิกปูมหลัง ‘รัฐมนตรีสายล่อฟ้า’ มีปัญหาโดนร้องเรียน-ป.ป.ช.ตั้งอนุฯไต่สวน ‘สุริยะ’ คดีสินบนโรลส์รอยซ์ ‘ธรรมนัส’ ปมโดนศาลออสเตรเลียพิพากษาคดียาเสพติด ‘มนัญญา ไทยเศรษฐ์’ โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียร้าง ‘วีรศักดิ์’ เคยถูกศาลตัดสินคดีรุกที่ ส.ป.ก. ‘นิพนธ์’ ปมอุดหนุนงบ ส.กีฬาฯ ‘อุตตม’ คดีกรุงไทย ส่อถูกฝ่ายค้านเขย่าในสภา?
เห็นโฉมหน้าคณะรัฐมนตรีใหม่กันไปแล้ว ภายหลังยืดเยื้อมายาวนาน โดยเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2562 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี รวม 36 ราย 39 ตำแหน่ง จากพรรคร่วมรัฐบาล 6 พรรค
จำแนกออกเป็นพรรคพลังประชารัฐ 18 ราย 18 ตำแหน่ง พรรคประชาธิปัตย์ 7 ราย 8 ตำแหน่ง พรรคภูมิใจไทย 7 ราย 8 ตำแหน่ง พรรคชาติไทยพัฒนา 2 ราย 2 ตำแหน่ง พรรครวมพลังประชาชาติไทย 1 ราย 1 ตำแหน่ง และพรรคชาติพัฒนา 1 ราย 1 ตำแหน่ง
ในบรรดารายชื่อทั้งหมด มีบางรายถูกร้องเรียนปัญหาความไม่ชอบมาพากลในอดีต บางรายถูกไต่สวนในชั้น ป.ป.ช. ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รวบรวมให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
1.นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม
นายสุริยะ แกนนำ ‘กลุ่มสามมิตร’ ในพรรคพลังประชารัฐ ตกเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาคดีการจ่ายเงินสินบนคดีโรลส์รอยซ์
กรณีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะ 9 ราย เป็นองค์คณะไต่สวน กล่าวหาบริษัท โรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อเอื้อประโยชน์บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในการจัดซื้อเครื่องยนต์ของบริษัท โรลส์-รอยซ์ ในช่วงที่ 3 เมื่อปี 2547-2548 โดยมีผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 26 ราย ได้แก่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี อดีต รมช.คมนาคม นายทนง พิทยะ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท การบินไทยฯ นายกนก อภิรดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท การบินไทยฯ พร้อมกับบอร์ดการบินไทยยกคณะในช่วงปี 2547-2548 รวม 15 ราย และคณะอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัท การบินไทยฯ อีก 9 ราย
เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2560 นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. (ขณะนั้น) กล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติตั้งองค์คณะไต่สวนกรณีกล่าวหานายสุริยะ นายวิเชษฐ์ นายทนง นายกนก รวมถึงผู้ถูกกล่าวหาที่เกี่ยวข้องรวม 26 ราย
เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในช่วงปี 2547-2548 ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 26 ราย เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องบินโบอิ้ง B777-200ER พร้อมเครื่องยนต์สำหรับติดตั้งเครื่องบิน และการจัดซื้อเครื่องยนต์สำรองสำหรับเครื่องบินแอร์บัส A340-500/600 จำนวน 6 ลำ เพิ่มเติมรวม 7 เครื่อง จากบริษัทโรลส์-รอยซ์ ซึ่งทั้งหมดมีหน้าที่ทำ และจัดการเกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่องบินและเครื่องยนต์ดังกล่าว ร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเพื่อให้บริษัทโรลส์-รอยซ์ ได้รับประโยชน์ในการทำสัญญาขายเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินให้แก่บริษัท การบินไทยฯ โดยนอกเหนือจากกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์คณะไต่สวนแล้ว ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกร่วมเป็นองค์คณะไต่สวนด้วย ได้แก่ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) อธิบดีอัยการต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เป็นต้น
ส่วนการไต่สวนกรณีการจ่ายสินบนนั้น นายสรรเสริญ กล่าวว่า เบื้องต้น ป.ป.ช. ได้ชื่อคนกลางเป็นเอกชน ที่ทำหน้าที่ประสานระหว่างบริษัท โรลส์-รอยซ์ และผู้ถูกกล่าวหาแล้ว แต่คงไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ว่า เชื่อมโยงกับใคร อย่างไร ขณะนี้มีคณะทำงานที่กำลังดูเรื่องกระแสทางการเงินว่า ถ้าเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือเชื่อมโยงกับใคร สามารถเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อไต่สวนเพิ่มเติมได้ เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนร่วม หรือช่วยเหลือ หรือสนับสนุนการกระทำความผิด (อ่านประกอบ : ‘สุริยะ-วิเชษฐ์-ทนง-กนก’โดน ป.ป.ช.สอบคดีสินบนโรลส์รอยซ์-‘บวรศักดิ์-วิโรจน์’ติดโผด้วย)
2.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์
ร.อ.ธรรมนัส หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘ผู้กองมนัส’ เป็นอดีตแกนนำพรรคไทยรักไทยภาคเหนือ ก่อนพลิกขั้วมาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ คอยเป็นมือประสานมุ้งการเมืองในพรรค ปัจจุบันเป็นแกนนำกลุ่ม ส.ส.พลังประชารัฐภาคเหนือ
‘ผู้กองมนัส’ เคยเผชิญขึ้นโรงขึ้นศาลกรณีถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับคดีฆาตกรรมหนุ่มนักเรียนนอก กับพวกรวม 3 ราย จนทำให้จบเส้นทางชีวิตราชการทหาร ต่อมาปี 2546 ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง หลังจากนั้นเขามุ่งหน้าเดินเส้นทางธุรกิจรักษาความปลอดภัย โดยร่วมกับ ‘เสธ.ไอซ์’ พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) หลังจากนั้นแตกไลน์ธุรกิจไปหลายอย่างทั้งอสังหาริมทรัพย์ รถเมล์ กระทั่งตลาด ท้ายสุดเข้ามาจับธุรกิจเป็นยี่ปั๊วขายสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยบริหาร หจก.ขวัญฤดี 1 ใน 5 เสือกองสลากฯ
ช่วงเช้าเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2562 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวว่า ร.อ.ธรรมนัส เคยถูกศาลออสเตรเลียพิพากษาจำคุก คดียาเสพติด ต่อมารัฐบาลไทยทำเรื่องขอโอนตัวในสถานะนักโทษยาเสพติดนั้น ไม่มีผลเรื่องคุณสมบัติของรัฐมนตรี โดยยกกรณีเคยมีอดีต ส.ส. รายหนึ่ง ต้องคำพิพากษาในต่างประเทศ กรณีขนยาเสพติดเข้าฮ่องกง
กรณีเคยถูกไล่ออกจากราชการแล้วได้รับกลับคืนในเวลาต่อมา จะมีผลต่อคุณสมบัติรัฐมนตรีด้วยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า แล้วแต่ว่าถูกไล่ออกจากราชการเพราะอะไร หากถูกไล่ออกเพราะทุจริตนั้นไม่ได้ แต่ถ้าไม่ใช่กรณีทุจริตไม่เป็นไร โดยเฉพาะเมื่อกลับเข้ารับราชการแล้ว ยิ่งต่อมาได้ความดีความชอบ ทำให้มีอะไรขึ้นไปอีก (อ้างอิงข้อมูลจาก ไทยโพสต์ออนไลน์)
3.น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ (โควตาของนายชาดา ไทยเศรษฐ์ พี่ชาย ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย)
น.ส.มนัญญา อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองอุทัยธานี มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย จ.อุทัยธานี เดิมเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2550 ขณะนั้นนางเดือนจิตรา แสงไกร (อดีตภรรยานายชาดา) เป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองอุทัยธานี ทำสัญญารับเหมาก่อสร้างโครงการระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย จ.อุทัยธานี กับกิจการร่วมค้า เอ เอส แซด วงเงิน 488.5 ล้านบาทเศษ มาจากงบอุดหนุน 413 ล้านบาทเศษ และเทศบาลเมืองอุทัยธานี 88.6 ล้านบาทเศษ ระยะเวลาสิ้นสุด 18 ต.ค. 2554 (ใช้เวลาก่อสร้าง 1,590 วัน) ไม่รวมค่าคุมงาน 13.4 ล้านบาทเศษ รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 501 ล้านบาท
ภายหลังทำสัญญาเกิดปัญหาผู้รับเหมาก่อสร้างไม่เป็นไปตามสัญญา มีการแก้ไขสัญญา 5 ครั้ง สมัยที่ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ เป็นนายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี ระหว่างปี 2551-2555 รวมมีการขยายเวลาการก่อสร้างเป็น 2,100 วัน กำหนดเวลาก่อสร้างสิ้นสุด 12 มี.ค. 2556 แต่ผู้รับเหมาดำเนินการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามกำหนด กระทั่งเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2556 เทศบาลเมืองอุทัยธานี ทำหนังสือถึงผู้รับเหมาบอกเลิกสัญญาจ้าง และส่งเรื่องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี เป็นผู้พิจารณาทิ้งงานเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2557
หลังจากนั้นเทศบาลเมืองอุทัยธานี พยายามดำเนินโครงการต่อ โดยมีแผนใช้เงินอีกอย่างน้อย 247 ล้านบาท แต่ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทักท้วง ไม่เห็นด้วยที่จะใช้งบประมาณเพิ่มเติมในการดำเนินโครงการทั้งที่โครงการเดิมยังมีปัญหาทิ้งร้างและมีการเบิกจ่ายงบประมาณไปเกือบ 300 ล้านบาท และมีรายงานข่าวว่า สตง. ส่งเรื่องต่อไปให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนต่อ (อ่านประกอบ : ว่าที่ รมต.หญิง?! ‘มนัญญา’ โครงการบ่อบำบัดร้าง จ.อุทัยฯ แก้ไขสัญญา 5 ครั้ง)
อย่างไรก็ดีเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2562 นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย พี่ชาย น.ส.มนัญญา ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการข่าวข้นคนเนชั่น ถึงโครงการดังกล่าวว่า กรณีปรากฎว่าข่าวโครงการบำบัดน้ำเสียมีการแก้ไขสัญญาถึง 5 ครั้งนั้น ถือว่าไม่ให้ความเป็นธรรมกับน้องสาวตน (น.ส.มนัญญา) เพราะการแก้ไขนั้น ตามสภาพพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงหลังจากถูกน้ำท่วม เป็นธรรมดา ซึ่งเราเป็นผู้ยกเลิกสัญญา ยึดเงินประกันมา 60-70 ล้านบาท ทั้งยังไปยื่นเรื่องเป็นเจ้าหนี้บริษัทที่ล้มละลายกับสำนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งมีการตรวจสอบจาก ป.ป.ช. และหลายหน่วยงาน ตลอดระยะเวลา 3-4 ปี จนชัดเจนหมดแล้ว อีกทั้งรัฐไม่ได้เสียหาย สิ่งที่สร้างไม่เท่ากับเงินที่ยึดมาทำไปตามระบบของราชการ” (อ่านประกอบ : รัฐไม่เสียหาย-ป.ป.ช.ตรวจหมดแล้ว! ‘ชาดา’ แจงปมน้องสาวแก้ไขสัญญาบ่อบำบัด จ.อุทัยฯ 5 ครั้ง)
4.นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์
นายวีรศักดิ์ รู้จักกันในชื่อ ‘กำนันป้อ’ นักธุรกิจมันสำปะหลัง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เคยถูกศาลพิพากษาตัดสินกรณีสร้างโรงงานบุกรุกที่ดิน ส.ป.ก. จำนวน 1,200 ไร่ และศาลตัดสินว่ามีความผิดจริง และให้ดำเนินการแก้ไข นอกจากนี้ยังถูกร้องให้ตรวจสอบกรณีอาจออกโฉนดที่ดินโรงงานโดยมิชอบ และอธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งให้เพิกถอนที่ดินแปลงที่ตั้งโรงงานดังกล่าว
อย่างไรก็ดีนายวีรศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ยืนยันต่อสื่อมวลชนว่า เรื่องที่ดิน ส.ป.ก. นั้น คดีความได้จบไปแล้ว และไม่ได้มีปัญหาอะไร ตนสามารถเคลียร์ตัวเองได้ทุกอย่าง และไม่ได้รู้สึกหนักใจกับข่าวที่ออกมาแบบนี้ เพราะไม่ได้คิดอะไร ว่าจะมีใครมาโจมตีแบบนั้นแบบนี้ อยากให้สื่อช่วยฟังข้อมูลที่ถูกต้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบ โดยสามารถไปสอบถามชาวบ้าน 85 หมู่บ้านในพื้นที่ได้ว่าตนเป็นคนอย่างไร (อ้างอิงข้อมูลจาก ไทยโพสต์ออนไลน์)
5.นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย
นายนิพนธ์ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ถูก สตง. ตรวจสอบกรณีดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลาว่า ระหว่างปี 2558-2559 มีการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนให้กับสมาคมกีฬาจังหวัดสงขลา (นายนิพนธ์ เป็นนายกสมาคมกีฬาจังหวัดเช่นกัน) จำนวนกว่า 22 ล้านบาทเศษ ต่อมาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) มีมติว่า การอุดหนุนเงินดังกล่าวเป็นไปโดยมิชอบ และมีคำสั่งให้เรียกเงินคืนทั้งหมด หลังจากนั้น อบจ.สงขลา ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ให้วินิจฉัยกรณีดังกล่าว โดยผู้ว่าฯ สงขลาทำหนังสือถึง สตง. เห็นพ้องด้วยกับข้อเสนอของ สตง. เกือบทั้งหมด (เว้นแค่เรื่องจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ มูลค่า 3.7 แสนบาทเศษ (กรณีนี้ยุติแล้ว)
ความคืบหน้าในปัจจุบัน สมาคมกีฬาจังหวัดสงขลา จ่ายเงินคืนแก่คลัง อบจ.สงขลาแล้ว เพียงแค่ 4 ล้านบาท ส่วนที่เหลือยังอยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง รวมถึงคำตอบข้อหารือจากกระทรวงมหาดไทย (อ่านประกอบ : ส.กีฬาฯคืนเงิน 4 ล.ให้ อบจ.สงขลาแล้ว หลัง สตง.พบไร้หลักฐานเบิกจ่าย-เหลืออีก 24 ล.)
ก่อนหน้านี้นายนิพนธ์ ยืนยันว่า การเบิกจ่ายเงินอุดหนุนของอบจ.สงขลา ไม่มีการจ่ายเงินไปให้กับทีมฟุตบอล สงขลา ยูไนเต็ด อย่างแน่นอน เนื่องจากทีมฟุตบอล เป็นนิติบุคคล ที่มีวัตถุประสงค์มุ่งแสวงหากำไร ตามระเบียบราชการเบิกจ่ายให้ไม่ได้อยู่แล้ว ตนทราบหลักเกณฑ์การปฏิบัติตามกฎหมายอยู่แล้ว
นายนิพนธ์ กล่าวด้วยว่า การอุดหนุนเงินให้กับสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดสงขลานั้น ตามกฎหมายมีการระบุถึงเรื่องการสนับสนุนส่งเสริมกีฬาอยู่ด้วย และเมื่อสมาคมกีฬาฯ ได้รับงบประมาณไปก็นำไปจัดกิจกรรมกีฬาประเภทต่างๆ เป็นทางการทำงานเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตัว (อ่านประกอบ : ฉบับเต็ม! ผลสอบ 'อบจ.สงขลา' อุดหนุนส.กีฬาฯ2ปี63ล.-'นิพนธ์'ยันไร้ผลปย.ทับซ้อน)
6.นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง
นายอุตตม หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ 1 ใน ‘รัฐมนตรี 4 กุมาร’ สายตรงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ตกเป็นเป้าจากสังคมถูกโจมตี กรณีเป็นหนึ่งในกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย ลงมติปล่อยกู้สินเชื่อแก่เครือกฤษดามหานครรวมหมื่นล้านบาท
แม้ว่าคดีนี้จะถึงที่สุดแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำเลยไปแล้วเกือบทั้งหมด (ยกเว้นจำเลยที่ 1 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่หลบหนี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการไต่สวนลับหลังจำเลย) และไม่มีชื่อของนายอุตตมทั้งในชั้นการไต่สวนของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ชั้นการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมถึงในชั้นคณะทำงานร่วมฝ่ายอัยการและ ป.ป.ช. กระทั่งไม่มีชื่อแม้แต่เป็นจำเลยในชั้นศาลฎีกาฯด้วย
สำหรับข้อเท็จจริงกรณีการปล่อยกู้สินเชื่อของเครือกฤษดามหานครนั้น ข้อเท็จจริงตามหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมัย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นผู้ว่า ธปท. ระบุว่า นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ และนายอุตตม สาวนายน กรรมการบริหาร ซึ่งเป็นกรรมการอิสระที่กระทรวงการคลังแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหารในคณะกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย ภายหลังจากทราบผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของธนาคารกรุงไทยว่า มีการให้สินเชื่อที่ผิดปกติ ได้มาพบเพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกและให้ถ้อยคำกับผู้ตรวจการธนาคารพาณิชย์ โดยมีสาระสำคัญคือ
หนึ่ง การอนุมัติสินเชื่อให้แก่บริษัท โกลเด้นฯ ของคณะกรรมการบริหารนั้น ประธานกรรมการ (ร.ท.สุชาย) ได้ขอให้พิจารณาไปด้วยความรวดเร็วก่อนมีการประชุม และมีการรวบรัดให้การพิจารณาของที่ประชุมยุติลงโดยเร็ว โดยอ้างถึงบุคคลภายนอกขอมา และเป็นสัญญาณว่า ต้องอนุมัติสินเชื่อรายนี้แน่นอน ทั้งที่กรรมการบริหารดังกล่าว (นายชัยณรงค์ และนายอุตตม) ไม่เห็นด้วย โดยตั้งข้อสังเกตถึงความเป็นไปได้ของโครงการซึ่งเป็นเพียงสมมติฐานเท่านั้น และไม่มีรายละเอียดชัดเจน ที่ดินที่ตั้งโครงการและหลักประกันมีการประเมินศักยภาพทางตลาดเท่านั้น โดยลูกหนี้เป็นผู้เลือกบริษัทประเมินราคาและวิธีประเมินราคา ในส่วนการ Refinance จากธนาคารกรุงเทพ มีส่วนที่ Hair Cut ยังไม่ชัดเจน ทั้งนี้กรรมการผู้จัดการที่เป็นกรรมการบริหารได้ทราบเรื่องนี้ดี และช่วยอธิบายแทนสายงานที่นำเสนอสินเชื่อด้วย การตรวจสอบยอดหนี้ Refinance สายงานสินเชื่อ กรรมการผู้จัดการ และผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกรุงไทยสามารถตรวจสอบได้โดยง่าย
สอง ในการขายหุ้นบุริมสิทธิของบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) ของธนาคารกรุงไทยนั้น กรรมการบริหารทราบเรื่องน้อยมาก แต่ทราบจากนายวิโรจน์ นวลแข กรรมการผู้จัดการในขณะนั้นว่า เป็นผู้เจรจากับบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) ให้นำบริษัทตัวแทน (Nominee) คือบริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด มาซื้อหุ้นคืนจากธนาคารกรุงไทย และคณะกรรมการบริหารเพียงแต่อนุมัติหลักการให้ไปเจรจาขายหุ้นในราคา 10 บาท/หุ้น แก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น แต่นายวิโรจน์ มิได้แจ้งรายละเอียดการเจรจาตกลงขายหุ้นกับบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) ให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารทราบแต่อย่างใด
ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ ธปท. ไม่ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษนายอุตตมแต่อย่างใด (อ่านประกอบ : เบื้องหลัง ธปท.ไม่เอาผิด! เปิดคำให้การลับ‘อุตตม’คดีกรุงไทย ‘สุชาย-วิโรจน์’คีย์แมน)
นอกเหนือจากรัฐมนตรีทั้ง 6 รายข้างต้นแล้ว ยังมีรัฐมนตรีอีกอย่างน้อย 2 ราย ถูกกล่าวหาในคดีการเช่าระบบคอมพิวเตอร์เพื่อใช้งานเกี่ยวกับทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชน วงเงินหลายพันล้านบาท ในกระทรวงแห่งหนึ่ง ส่วนรายที่สองถูกกล่าวหาในคดีการจัดจ้างรถซ่อมบำรุงถนน ที่มีข้อพิพาทกับเอกชน ซึ่งศาลปกครองมีคำพิพากษาให้เอกชนเป็นฝ่ายเอกชนชนะไปแล้ว
ทั้งนี้ ในขั้นตอนการไต่สวนทั้ง 2 คดีนั้น ป.ป.ช. รับเรื่องเข้าสู่กระบวนการไต่สวนมานานแล้ว และใกล้ที่จะมีการสรุปผลการไต่สวนเป็นทางการในเร็ว ๆ นี้ โดยคดีการจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ คณะอนุไต่สวนได้สรุปความเห็นเสนอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว และเห็นว่ามีนักการเมือง และข้าราชการระดับสูงร่วมกันกระทำความผิด ส่วนคดีการจัดจ้างรถซ่อมบำรุงถนน เหลือสอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้องอีก 1-2 ปาก ก็จะมีสามารถสรุปสำนวนการไต่สวนเสนอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาลงมติได้เช่นกัน
ส่วนเกี่ยวกับคดีการจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์นั้น มีข่าวว่าล่าสุด ผู้ถูกกล่าวหาบางราย เตรียมที่จะยื่นเรื่องขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยมีการประสานงานภายในไปยังผู้บริหารระดับสูงของ ป.ป.ช. รายหนึ่ง เพื่อขอให้ชะลอการพิจารณาผลสรุปการไต่สวนคดีไว้ก่อนแล้ว ซึ่งอาจทำให้การนำเสนอผลการไต่สวนคดีนี้ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องถูกเลื่อนออกไปได้ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ภายใน ป.ป.ช.ว่า การดำเนินการดังกล่าว จะเป็นการเอื้อประโยชน์ช่วยเหลือผู้ถูกกล่าวหาบางรายให้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีหรือไม่ เนื่องจากตามกฎหมาย ป.ป.ช. กำหนดไว้ชัดเจนว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับสำนวนการไต่สวนแล้ว จะต้องนำเรื่องเสนอต่อที่ประชุมไม่ช้ากว่าสามสิบวัน (อ่านประกอบ : ป.ป.ช. จ่อชี้มูล 2 ตัวเต็งรมต.! ‘บิ๊ก’ สั่งชะลอเรื่องอ้างเตรียมยื่นขอความเป็นธรรม)
นอกจากนี้ยังมี‘คนใกล้ชิด’ รัฐมนตรีบางราย ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีเคยเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงแห่งหนึ่ง จัดทำโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยใช้งบประมาณหลายร้อยล้านบาท คดีนี้ค้างคามาตั้งแต่ปี 2555 ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าจาก ป.ป.ช. แต่อย่างใด ?
นี่คือปูมหลังของรัฐมนตรีป้ายแดงบางรายในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 ที่ถูกร้องเรียนกล่าวหา-ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริง จนอาจถูกฝ่ายค้านจ้องเล่นงานอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาได้
ส่วนฝีไม้ลายมือการบริหารประเทศจะเป็นอย่างไร คงต้องจับตาดูกันต่อไป !
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/