ป.ป.ช. ลงพื้นที่ลุยสอบ 'สะพานลิงเดิน' ต.ลีเล็ด อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี แล้ว ด้าน นายก อบต. โดนหนังสือแจ้งให้เซ็นขออนุญาตก่อสร้างในพื้นที่ป่าย้อนหลัง ทั้งที่ ไม่รู้เรื่องอะไรด้วย - จี้เคลียร์ปัญหาดูแลต่อหรือทุบทิ้ง
............................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้ากรณีชาวบ้านในพื้นที่ตำบลลีเล็ด อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ร้องเรียนการก่อสร้างสะพานทางเดินไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่และอาจจะส่อไปในทางที่ทำให้ราชการเสียหายไม่มีประชาชนไปใช้คงมีแต่ลิงเดินจนชาวบ้านตั้งชื่อให้ว่า "สะพานลิงเดิน" และหลังจากเรื่องนี้ปรากฎเป็นข่าวต่อสาธารณะไปแล้ว มีเจ้าหน้าที่บางหน่วยงานเคลื่อนไหวข่มขู่ประชาชน ทำให้เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติพื้นที่อ่าวไทย-อันดามัน เข้ายื่นเรื่องต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) จังหวัดสุราษฎร์ธานี และ ป.ป.ช. ภาค 8 ให้เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้เป็นทางการนั้น
(อ่านข่าวประกอบ : สะพานคอนกรีต จ.สุราษฎร์ฯ ถูกทิ้งร้าง ไม่รู้หน่วยงานไหนสร้าง ทำลายป่าโกงกาง, ชาวบ้านโดนกลั่นแกล้ง! เครือข่ายอนุรักษ์ฯ ลุยยื่น ป.ป.ช.สอบสะพานลิงเดิน จ.สุราษฎร์ฯ)
ล่าสุด นายเลิศเชาว์ ยศเมฆ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ลีเล็ด อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ว่า เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. จำนวน 5-6 ราย ลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีนี้ ที่ อบต.ลีเล็ด แล้ว แต่เนื่องจากตนเองมีปัญหาสุขภาพอยู่ในช่วงลาพักรักษาตัว จึงประสานให้ไปพบกับปลัด อบต. ลีเล็ด และทราบว่าคณะฯ ทั้งหมดได้เดินทางไปดูพื้นที่สะพานลิงเดินตามที่ปรากฎเป็นข่าวด้วย
นายเลิศเชาว์ เปิดเผยต่อว่า "ขณะนี้ได้มีหนังสือมากจากสำนักบริหารทรัพยากรป่าไม้ ที่ 11 จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้ อบต.ขออนุญาตย้อนหลังการก่อสร้างต่างๆ ในพื้นที่ป่าที่ยังไม่ได้ขออนุญาตในการใช้พื้นที่ไปยังกรมป่าไม้ผ่านสำนักบริหารทรัพยากรป่าไม้ที่ 11 แต่ อบต.ไม่ได้ขอใช้สะพานลิงเดินดังกล่าว เนื่องจากที่ อบต.ลีเล็ดไม่มีฐานข้อมูลอะไรเลย ไม่มีแบบ ไม่มีโครงการรายละเอียดใดๆเลย จึงไม่ทราบว่าจะขออนุญาตได้อย่างไร จึงไม่ได้ขออนุญาตและตอบหนังสือไปยัง สำนักบริหารทรัพยากรป่าไม้ที่ 11 จังหวัดสุราษฎร์ธานีแล้ว" นายเลิศเชาว์ระบุ
แหล่งข่าวในพื้นที่ตำบลลีเล็ด เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า การก่อสร้างสะพานลิงเดิน เป็นที่ทราบกันทั้งหมู่บ้านทั้งตำบลว่า ชาวบ้านและ อบต. ไม่ได้มีส่วนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่แรก และชาวบ้านก็ไม่เอาโครงการนี้ตั้งแต่แรกเนื่องจากเห็นตรงกันว่าการก่อสร้างจะมีผลลบมากกว่าผลบวก เนื่องจากวิถีชีวิตชาวตำบลลีเล็ด คือ คนทะแล เกือบทุกบ้านจะต้องมีเรือ รายได้หลักของชาวลีเล็ด คือ การออกเรือหากินในลำคลองและทะเล การก่อสร้างสะพานริมคลองจึงเป็นกิจกรรมซ้ำซ้อนกับการเดินเรือของชาวบ้าน เพราะเรือจะต้องเล่นเลียบริมคลอง
"ในช่วงของการสร้างสะพานมีพิธีเปิดใหญ่โตมีผู้หลักผู้ใหญ่ของจังหวัดมาร่วมพิธี ขณะที่ชาวบ้านได้แต่มองตากัน ไม่มีใครกล้าพูดอะไร เนื่องจากกลัวอิทธิพลของคนในเครื่องแบบ หลังจากสร้างเสร็จก็ปล่อยทิ้งให้เห็นเป็นที่ประจักษ์อยู่จนทุกวันนี้ ในเมื่อส่วนราชการนำเงินงบประมาณมาดำเนินการก่อสร้างแล้ว เพื่อให้ราชการไม่เสียหายชาวบ้านได้โอกาส ส่วนราชการต้นทางของเงินงบประมาณก็ควรจะสนับสนุนเงินงบประมาณมาให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเพื่อจะได้จัดกิจกรรมต่างๆที่เป็นประโยชน์กับชาวบ้านและเพื่อมีรายได้ให้กับชาวตำบลลีเล็ด หรือไม่ก็ทุบทำลายทิ้งให้เป็นที่เกาะเกิดตัวอ่อนของทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งทะเล ไม่น่าจะปล่อยให้เป็นอนุสรณ์เหมือนที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้”
ส่วน นายธนู แนบเนียน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายและแผนบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า ได้รับทราบจากชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ อบต.ลีเล็ดว่า ป.ป.ช.ภาค 8 สนใจเรื่องนี้ และได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อมูลแล้ว แต่โดยส่วนตัวต้องการไปพบกับชาวบ้านลีเล็ดในโอกาสที่เหมาะสม เพราะพื้นที่ลีเล็ดเป็นพื้นที่ที่มีการดำเนินการในเรื่องการอนุรักษ์พื้นที่จนประสบความสำเร็จและมีชื่อในอดีต แต่ปัจจุบันกลับเงียบไปโดยไม่ทราบสาเหตู
“ผมต้องการลงพื้นที่ไปรับฟังความเห็นของชาวบ้านลีเล็ดเช่นกัน คาดว่าสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จางลงคงได้มีโอกาสได้เดินทางไปพบชาวบ้านเพื่อทำกิจกรรมด้านอนุรักษ์ต่อไป" นายธนูกล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/