เปิดปม ไม้พะยูง 11 ตู้คอนเทนเนอร์ 200 ล้าน โดนตรวจยึดตั้งแต่ปี 49 ตัวแทน สปป.ลาว เข้าร้องเรียนหลายหน่วยงานอ้างปัจจุบันยังไม่ได้คืน ทั้งที่ กต. มีคำสั่งแล้ว ด้านผู้บังคับการ ปทส.ยันดำเนินการไปนานแล้ว คืนให้ บ.พงสะหวัน เจ้าของที่แท้จริง
.....................
ไม้พะยูงจำนวนกว่า 11 ตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 1,664 ท่อน 155 ลูกบาศก์เมตร มูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท ที่อ้างว่าถูกนำเข้าจาก สปป.ลาว และถูกยึดไว้ที่สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าลาดกระบัง (ด่านลาดกระบัง) เมื่อปี พ.ศ.2549 เป็นประเด็นปัญหาเมื่อสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการร้องเรียนว่า อัยการสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่นำเข้าเมื่อปี 2553 จนถึงปัจจุบันไม้พะยูงดังกล่าวยังคงอยู่ที่ด่านศุลกากร โดยไม่มีการส่งคืนให้ สปป.ลาวแต่อย่างใด
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้รับการร้องเรียนจาก นายสมสัก แก้วผาลี ซึ่งอ้างว่าเป็นตัวแทนสาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาว (สปป.ลาว) ถึงข้อเท็จจริงเรื่องนี้
นายสมสัก แก้วผาลี ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมาเป็นไปของเรื่องนี้ว่า ย้อนไปเมื่อเดือน ส.ค. 2549 บริษัท ทีแอล เอ็นเตอร์ไพรส์ (1991) นำไม้พะยูง จำนวน 13 รายการ บรรทุกแพขนานยนต์ ข้ามแม่น้ำโขงบริเวณบ้านงาน้อย ต.มุกดาหาร อ.เมือง จ.มุกดาหาร ซึ่งเป็นไม้เครื่องเรือน มาจากแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว พร้อมทำเอกสารไม้ผ่านแดนที่ด่านศุลกากรมุกดาหาร จากนั้นมีการบรรจุไม้พะยูงที่ฝั่งไทย โดยอ้างว่าไม้ได้ถ่ายลำมาจากการขนส่งมาจาก สปป.ลาว พร้อมบรรทุกรถยนต์เดินทางมุ่งหน้ายังด่านศุลกากรลาดกระบัง เพื่อเตรียมส่งต่อไปยังประเทศจีน
แต่ระหว่างขบวนรถตู้คอนเทนเนอร์ขนไม้ทั้งหมด ผ่านมาถึงด่านหินกอง จ.สระบุรี เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารเห็นว่า น่าจะเป็นเอกสารที่ไม่ถูกต้อง จึงไม่ออกเอกสารผ่านด่านให้ พร้อมทั้งควบคุมไม้พะยูงทั้งหมดนำมาควบคุมไว้ที่ด่านลาดกระบัง ขณะที่กรมป่าไม้ทำเรื่องดำเนินคดีกับบริษัทขนส่งไม้ดังกล่าว แต่ต่อมาสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 7(พระโขนง) มีคำสั่งไม่ฟ้องบริษัท พี แอล เอ็นเตอร์ไพรส์ 1991 จำกัด และยังไม่ริบไม้ของกลาง โดยให้เหตุผลว่า จากพยานหลักฐานไม้ของกลางมีแหล่งกำเนิดจากสปป.ลาว ถูกนำผ่านแดนไทยเพื่อส่งต่อไปยังประเทศจีน ซึ่งไม่ใช่ไม้ในป่าท้องที่ทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักรไทย ตามที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกา กำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ.2530 ที่ให้เป็นไม้หวงห้ามตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484
อย่างไรก็ตาม หลังจากอัยการสั่งไม่ฟ้อง และไม่ขอริบไม้พะยูงของกลางทั้งหมด ปรากฎว่าในช่วงเดือน มิ.ย. 2556 ได้มีผู้ยื่นเอกสารอ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของไม้พะยูง 3 ราย คือ สถานเอกอัครราชทูตลาวประจำประเทศไทย ในฐานะผู้แทนรัฐบาลลาว นายสมสัก แก้ผาลี และนายอรัญญา อุบัติสิงห์ ผู้แทนบริษัท พงสะหวันค้าไม้ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ส่งออกไม้ของสปป.ลาว แต่ล่าสุดกระทรวงการต่างประเทศกลับเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีมติเตรียมจะคืนไม้ของกลางทั้งหมดให้กับรัฐบาล สปป.ลาว ตามที่ได้ทำหนังสือร้องขอมา โดยให้แจ้งทางฝ่ายลาวว่า ให้แต่งตั้งผู้ได้รับมอบหมายให้รับไม้คืน พร้อมนำข้อมูลหลักฐานบ่งชี้ความเป็นเจ้าของไม้ เพื่อจะได้ส่งไม้พะยูงของกลางทั้ง 11 ตู้คอนเทนเนอร์กลับคืนไปให้ต่อไป
โดยระบุเหตุผลการคืนไม้ของกลางทั้งหมดว่า “จากการพิจารณาของกระทรวงการต่างประเทศ โดยพิจารณาจากหลักฐานแล้วไม่มีฝ่ายใดมีหลักฐานที่เชื่อได้ว่าได้ไม้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อพิจารณาตามหลักฐานที่พนักงานอัยการสอบสวนแล้ว เป็นที่น่าเชื่อได้ว่า ไม้พะยูงของกลางดังกล่าวเป็นไม้ที่มาจากสปป.ลาว แต่การกระทำของผู้ต้องหาไม่ใช่การมีไม้หวงห้ามไว้ในครอบครองตามกฎหมายไทย แต่เป็นการนำไม้ผ่านแดนไทยมาจากสปป.ลาว เพื่อส่งต่อไปยังจีน โดยอาศัย Barcelona Convention ค.ศ.1921 มิใช่การนำเข้าไม้ ดังนั้นการได้มาของไม้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ก็มิใช่ประเด็นที่ฝ่ายไทยจะติดใจอีกต่อไป ในกรอบของกฎหมายไทย เนื่องจากคดีนี้ในไทยสิ้นสุดลงแล้ว ประกอบกับหากเมื่อพิจารณาในแง่ความสัมพันธระหว่างประเทศด้วยแล้ว จึงเห็นควรคืนไม้ของกลางให้แก่ สปป.ลาว ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่เป็นธรรมและเหมาะสมที่สุด ทั้งในแง่ตามหลักทางกฎหมายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”
นายสมสัก แก้วผาลี ซึ่งอ้างว่าเป็นตัวแทน สปป.ลาว
รายงานข่าวเดือน มิ.ย. 2556
(อ้างอิงข้อมูลข่าวส่วนนี้จาก https://www.tcijthai.com/news/2013/15/scoop/2678)
นายสมสัก กล่าวยืนยันว่า แม้ว่าจะมีการตัดสินจากกระทรวงการต่างประเทศแล้ว แต่จนถึงปัจจุบัน ทาง สปป.ลาว ก็ยังไม่ได้รับไม้คืนแต่อย่างใด จึงอยากจะเรียกร้องให้ทางสำนักข่าวอิศราช่วยติดตามความคืบหน้าเรื่องดังกล่าวให้ด้วย โดยนอกเหนือจากทางสำนักข่าวแล้ว ทางผู้ร้องเรียนยังได้มีการไปยื่นร้องเรียนที่หลายหน่วยงานรวมไปอาทิ ทางผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.)ให้ช่วยติดตาม ตรวจสอบเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
ไม้พะยูงซึ่งอยู่ที่ สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าลาดกระบัง
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้ติดต่อสอบถามไปยัง พล.ต.ต.พิทักษ์ อุทัยธรรม ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ผบก.ปทส.)ถึงข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ได้รับการยืนยันว่า ได้มีการดำเนินการคืนไม้ไปแล้ว
"ผมเป็นคนดำเนินการเรื่องนี้เลย โดยมีการดำเนินการมาเป็นสิบปีแล้ว และตอนนี้ก็ได้มีการดำเนินการคืนไม้ไปแล้ว"
เมื่อถามว่า คืนไม้ไปให้กับใคร พล.ต.ต.พิทักษ์ กล่าวว่า คืนให้กับบริษัทพงสะหวัน
เมื่อถามว่า แต่กระทรวงต่างประเทศระบุว่าให้คืนให้กับ สปป.ลาว พล.ต.ต.พิทักษ์กล่าวว่า "อันนั้นมันมีคนที่พยายามไปใช้เอกสารเก่ามา ทีนี้ตำรวจทำเรื่องสอบสวนเรื่องนี้มา 3 เดือน จนชัดเจนว่าเป็นใคร และก็ต้องมีการผ่าน กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.) ให้มีการพิจารณา คือคนที่เป็นฝ่ายเสียหายเขาเอาเอกสารที่เป็นประโยชน์กับเขาไปร้องเรียนตามหน่วยงานต่างๆเลยมีปัญหา คือเรื่องนี้เป็นเรื่องที่นานมาก และยุ่งเกี่ยวกับทั้งกรมศุลกากร ทั้งป่าไม้"
เมื่อถามว่า คนๆนั้นเขาอ้างว่าเอกสารเป็นของ สปป.ลาว แต่แท้จริงแล้วเป็นของบริษัทหรือไม่ พล.ต.ต.พิทักษ์กล่าวว่า "ไม่ใช่ คือเรายึดไม้จากบริษัท เราไม่เคยยึดไม้จากรัฐบาล แต่ว่าตอนที่เคยมีการประชุมทวิภาคีกันระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลลาว มันมีมติออกมาว่าให้คืน สปป.ลาว แต่หลังจากนั้นก็มีหนังสือออกมาอีกฉบับหนึ่งแจ้งว่าใครเป็นเจ้าของให้คืนทางนั้น เพราะฉะนั้นคนที่เขาเอาหนังสือฉบับแรกมามันไม่จริง มันมีฉบับ 2 แต่เขาไม่แจ้งคนอื่น และล่าสุดเมื่อเดือน ต.ค. 2563 ก็มีการไปสอบถามสถานทูต สปป.ลาวไปแล้ว เขาก็บอกว่าไม่เคยมอบหมายให้ใครมาดำเนินการเรื่องคืนไม้ ก็เลยจบ"
พล.ต.ต.พิทักษ์ กล่าวว่า "แต่ว่าคนที่อ้างว่าเป็นรัฐบาลลาวเขาพยายามติดต่อทั้งกรมศุลกากรและกรมป่าไม้ ก็เลยวุ่นวายไปหมด เลยยังไม่จบ"
เมื่อถามย้ำว่า ไม้สรุปเป็นของบริษัทพงสะหวัน พล.ต.ต.พิทักษ์กล่าวว่า "ใช่ เราไม่ได้ยึดไม้มาจากทางรัฐบาล เราต้องคืนไม้ตาม ป.วิอาญามาตรา 85 คือต้องคืนให้กับเจ้าของที่แท้จริง สุดท้ายแล้วข้อเท็จจริงต่างๆนั้นก็อยู่ที่เอกสาร"
"เพราะคดีนั้นศาลสั่งให้คืน พนักงานสอบสวนก็พิจารณา เพราะว่ามีคนยื่นมาให้คืนหลายคน ก็เลยมีการตั้งกรรมการสอบสวนมาพิจารณากันหลายรอบ ไม่ใช่อยู่ดีๆจะคืนให้ใครได้ง่ายๆ เพราะคืนให้ใครไปมันมีผลประโยชน์ที่โดนฟ้องแน่นอนครับ ดังนั้น เลยต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ และก็ต้องมีการดูกันที่เอกสาร" พล.ต.ต.พิทักษ์กล่าว
พล.ต.ต.พิทักษ์กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า เรื่องนี้นั้นอยู่ที่พนักงานสอบสวนพิจารณา แต่ทางกรมศุลกากรเขาก็อาจจะอ้างว่ายังไม่คืน หรือกรมป่าไม้ก็อาจจะอ้างว่า ณ เวลานี้ยังไม่คืน
พล.ต.ต.พิทักษ์ อุทัยธรรม ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.)
ขณะที่ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อสอบถามไปยังนายสมสัก ที่มาร้องเรียนเพิ่มเติม นายสมสักได้ยืนยันว่าตัวเองนั้นเป็นตัวแทนจากทาง สปป.ลาวอย่างแน่นอน และหลังจากนี้จะมีการให้ทางสถานเอกอัครรัฐทูต สปป.ลาว ให้ยืนยันข้อมูลนี้ว่าเป็นข้อเท็จจริงอีกทีหนึ่ง"
และในเวลาต่อมานายสมสักได้มีการส่งเอกสารยืนยันว่าเป็นตัวแทนจาก สปป.ลาวจริง โดยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ดำเนินการขอคืนไม้พะยูงจากทางการไทย และขอยืนยันว่าเอกสารนี้เป็นของจริงเพราะมีตราประทับถูกต้อง (ดูเอกสารประกอบ)
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage