ส.ว.คำนูณอภิปรายโหวต ‘พิธา’ ติดใจปมแก้ 112 ชี้อาจขัดมาตรา 6 รธน. ลดระดับฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะจากคุ้มครองเด็ดขาด เป็นคุ้มครองอย่างมีเงื่อนไข หวั่นเปิดช่องสาดโคลน หมิ่นประมาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ซึ่งมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม
เมื่อเวลาประมาณ 12.10 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อภิปรายว่า ประเด็นที่ติดใจและเชื่อว่าสมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรติดใจจำนวนไม่น้อยคือ นโยบายการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีแนวนโยบายมาจากพรรคก้าวไกล ที่ใช้รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งและเป็นนโยบายที่มีฐานมาจากร่างพระราชบัญญัติที่เคยเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี 2564
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ที่ 8 พรรคร่วมรัฐบาลลงนามใน MOU ร่วมกัน ซึ่งมีตอนขึ้นต้นว่า “ทุกพรรคเห็นร่วมกันว่า ภารกิจของรัฐบาลทุกพรรคที่จะกระทำนั้น ต้องไม่กระทบรูปแบบของรัฐ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งมีการเน้นและสรุปว่า จะต้องไม่กระทบต่อการดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์”
และในแนวทางการทำงานที่ระบุไว้ 5 ข้อกล่าวชัดเจนว่า ทุกพรรคสามารถผลักดันนโยบายของตัวเองผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคตัวเองได้ นอกเหนือจากที่ระบุไว้ในกรอบที่กำหนดไว้ แต่ในข้อ5 ระบุว่า จะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับหลักการเบื้องต้นด้วย คือต้องไม่กระทบต่อการดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์
วันนั้น นายพิธาตอบชัดเจนว่า พรรคก้าวไกลจะผลักดันการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อไป เป็นความย้อนแย้งทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง หัวหน้าพรรคทั้ง 7 พรรคต้องช่วยตอบด้วยว่า ตีความประเด็นนี้ตรงกับตนหรือไม่ จึงเป็นสิ่งที่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง
“ท่านประธานน่าจะจำได้ว่าร่างแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เมื่อปี 2564 ไม่ได้รับการบรรจุเข้าระเบียบวาระ เพราะเพราะท่านรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ในตอนนั้นวินิจฉัยตามความเห็นทางกฎหมายของสำนักการประชุมสำนักงานเลขาสภาผู้แทนราษฎรว่า ร่างที่เสนอมานั้นอาจจะขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ซึ่งทางก้าวไกลทำหนังสือตอบโต้ไม่เห็นด้วย แต่ท่านรองประธานรัฐสภาคนที่ 1 ก็คือนายสุชาติ ตันเจริญ ได้วินิจฉัยซ้ำว่า ร่างนั้นจึงไม่ได้บรรจุเข้าระเบียบวาระจนสิ้นสมัยการประชุม” นายคำนูณกล่าว
ส.ว.คำนูณกล่าวต่อว่า มาตรา 6 ได้บัญญัติไว้ว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะฟ้องร้องในทางใดๆไม่ได้ ก็หมายถึงการคุ้มครองเด็ดขาด ในฐานะที่พระมหากษัตริย์มิอาจแยกออกจากรัฐ ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข บทคุ้มครองพระองค์จึงวางรากฐานไว้ว่า การละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ก็คือการละเมิดต่อรัฐ ละเมิดต่อความมั่นคงของรัฐ และเป็นสิ่งที่รัฐในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขยอมไม่ได้ดังนั้น จึงต้องมีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 บัญญัติไว้ ดังที่ทราบกันดีตั้งแต่มีประมวลกฎหมายอาญามาตราี้ ตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2499
กว่า 90 ปีรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้แบบนี้ และ 67 ปีที่มีกฎหมายอาญามาตรา 112 บัญญัติไว้แบบนี้ แต่สิ่งที่จะแก้ไขนั้น จะกระทบคือจะเป็นการลดระดับการคุ้มครองฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ขององค์พระมหากษัตริย์จากคุ้มครองเด็ดขาดลงมาเป็นคุ้มครองอย่างมีเงื่อนไข
@ย้ายออกจากความมั่นคง เสมือนยกเลิก 112
ดังนั้นจึงขอสรุปว่าคีย์เวิร์ดหรือคำสำคัญของการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามแนวทางพรรคก้าวไกลมี 6 คำคือ ย้ายหมวด ลดโทษ ยกเว้นความผิด ยกเว้นโทษ ให้เป็นคดีที่ยอมความได้ และจำกัดผู้ร้องทุกข์ ซึ่งการย้ายหมวดเป็นการกลัดกระดุมผิดคือการย้ายออกจากหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งเท่ากับท่านกำลังจะยกเลิกมาตรา 112 เลย เพราะเป็นการสร้างหมวดใหม่เฉพาะเรื่องขององค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งจะอยู่ในมาตรา 135/5 - 135/9 จะมีผลใหญ่หลวง จากความผิดในความมั่นคงของรัฐกลายมาเป็นความผิดในระนาบบุคคลธรรมดา และนำหลักการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดามาใช้กับพระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่ใช่หลักของรัฐธรรมนูญตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2475 เป็นต้นมา
เมื่อนำออกมาก็เขียนในนโยบายไว้ว่า บัญญัติไว้ชัดเจนในกฎหมายเพื่อคุ้มครองกรณีวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตหรือการพูดความจริงที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับเหตุยกเว้นความผิดและเหตุยกเว้นโทษสำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา เท่ากับเป็นการเอาพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับความมั่นคงของรัฐ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับระบอบการปกครองของประเทศนี้ลงมาเปรียบเทียบกับบุคคลธรรมดา แล้วยังระบุด้วยว่าหากเป็นการกระทำความผิดโดยสุจริตด้วยเหตุ 3 ประการจะถือว่าไม่มีความผิดประกอบด้วย 1 เพื่อรักษาไวซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีระมหากษัตริย์ประมุข 2 เพื่อธำรงไว้รัฐธรรมนูญ 3 เพื่อประโยชน์สาธารณะ ทั้ง 3 ข้อความหมายกว้างเป็นมหาสมุทรแปซิฟิก
เท่ากับว่า ต่อไปการหมิ่นประมาท การดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และการแดสงความอาฆาตมาดร้ายไม่เป็นความผิด แถมยังมีข้อยกเว้นโทษว่า หากพิสูจน์ว่าเรื่องที่ทำไปนั้นเป็นความจริงถือว่าไม่ต้องรับโทษ นอกจากนั้น การกำหนดให้เป็นคดีที่ยอมความได้การจำกัดผู้ร้องทุกข์ก็เป็นประเด็นที่เป็นปัญหาที่มีความละเอียดอ่อนที่คนไทยส่วนใหญ่ในรุ่นของตน รุ่นอายุมากกว่าหรือรุ่นที่ต่ำกว่า ไม่เคยพบ ไม่เคยเห็นหลักการเช่นนี้มาก่อน
@กระทบโทษหมิ่นประมาท
ดังนั้น ข้อเสนอในการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลจึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่การกระทบสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะและผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ขององค์พระมหากษัตริย์เท่านั้น ก้อนต่อมาที่ใหญ่พอๆกันก็คือ โทษที่ปรับลงมาต่ำมาก ทั้งการจำคุก ไม่เกิน 1 ปีและโทษปรับไม่เกิน 300,000 บาท พระราชินีและะรัชทายาท ปรับไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งอาจจะต้องมีความจำเป็นในการปรับลดโทษบุคคลในระดับสังคมต่ำลงไป ทั้งประมุขของต่างประเทศ หรือผู้แทนของรัฐต่างประเทศ และที่สำคัญเจ้าพนักงานที่กระทำการตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายใครหมิ่นประมาทมีแค่โทษปรับ ศาลหรือผู้พิพากษาซึ่งกำลังพิพากษาคดี ถูกดูหมิ่น ถูกหมิ่นประมาทปรับไม่เกิน 20,000 บาท และเมื่อลงมาถึงบุคคลธรรมดาจะเหลือแค่โทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
@หวั่นแห่สาดโคลนออนไลน์
สิ่งที่จะตามมาก็คือ การประณามหยามเหยียด การใส่ร้ายการวิพากษ์วิจารณ์โดยไม่เป็นธรรม ก็จะเกิดขึ้นอย่างเสียผู้เสียคน ซึ่งตนก็เคยเจอมาแล้ว ครอบครัวก็เคยเจอ เพียงเพราะตนอภิปรายในที่ประชุมแห่งนี้ก็ถูกสื่อมวลชนนำไปลงและมีคนนำไปเปรียบเทียบและประณาม สังคมใหม่ที่ท่านจะสร้างขึ้นคืออะไรคิดดีแล้วหรือ ตนไม่อาจจะเห็นด้วยกับภาพรวมของแนวทางการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลได้
@ค้านแก้ 112
สุดท้าย นายคำนูณระบุว่า นายพิธาเคยบอกว่าเป็นคนที่รุกได้ถอยเป็นดังนั้นจึงขอเรียนว่าการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 สามารถเว้นไปก่อนได้หรือไม่ถอยได้หรือไม่ ซึ่งนายพิธายืนยันว่า ไม่ถอย ตนเข้าใจและเคารพว่า ท่านและพรรคของท่านเชื่อในแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบนี้ แต่ก็ขอให้ท่านเคารพและเชื่อมั่นในความคิด ในความเชื่อ ในอุดมการณ์ของตนและสมาชิกวุฒิสภาจำนวนหนึ่งด้วยว่าเราก็มีความคิดมีความเชื่อในอุดมการณ์ของเรา ซึ่งไม่ได้เห็นว่ามาตรา 112 เป็นกฎหมายมาตราหนึ่ง แต่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมและทางจริยธรรมที่สืบทอดกันมายาวนานของสังคมไทยที่แสดงให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนการจะรักษามรดกทางวัฒนธรรมนี้ไว้บนสังคมที่ก้าวไปข้างหน้าควรจะทำไว้
ดังนั้น จึงขอเรียนว่า ตนมิอาจยอมรับได้และจะไม่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล
อ่านประกอบ