ส่องสถานการณ์สื่อจีน เซ็นเซอร์ตัวเองให้ได้เผยแพร่ข้อมูล-ปิดประตูข่าวสืบสวน?
“…เกือบทั้งหมดรัฐบาลจะเป็นคนแถลงข่าวต่อสื่อเอง เพราะข้อจำกัดการทำข่าวของเราอย่างที่ผมเล่าให้ฟังข้างต้น อย่างไรก็ดีเวลาเกิดข่าวฉาวทุจริตขึ้น รัฐบาลมักบอกว่า ไม่เกี่ยวข้องกับภาพรวม แต่บอกกับประชาชนว่า โครงสร้างของพรรคคอมมิวนิสต์ โครงสร้างของระบบยังดีอยู่ แต่เราแค่มี ‘ปลาเน่า’ ไม่กี่ตัวในเข่ง ดังนั้นไม่เกี่ยวกับโครงสร้าง ไม่เกี่ยวกับระบบ แต่มันเป็นแค่คนไม่ดีบางกลุ่มเท่านั้น เราต้องกำจัดออกไป โครงสร้าง หรือระบบจะได้ขับเคลื่อนต่อไปได้…”
สถานการณ์ทางการเมืองโลกกำลังร้อนระอุ ภายหลังนโยบายเด็ดขาดของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในด้านมาตรการคว่ำบาตรหลายประเทศที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น ‘เผด็จการ’ โดยเฉพาะมาตรการด้านภาษี และทางการค้ากับ ‘มังกรแดง’ จีนแผ่นดินใหญ่ ที่เริ่มแผ่ขยายอิทธิพลมากขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กลายเป็นหนึ่งในหัวบทสนทนาในช่วงเวลา 21 วันที่ผมพำนักในสหรัฐอเมริกา ตามคำเชิญของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ผ่านสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานกับเจ้าหน้าที่รัฐ นักข่าว นักกฎหมาย และผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองในสหรัฐฯ พร้อมกับนักข่าวอีก 3 ราย และล่ามอีก 3 ราย ดังที่เคยเล่าไปแล้ว
ตอนอยู่ที่เมืองอาบูเคอร์กี้ รัฐนิว เม็กซิโก ผมมีโอกาสไปที่ภาควิชานิเทศศาสตร์ และวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิว เม็กซิโก (Communication & Journalism The University of New Mexico) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานด้านสื่อในไทยกับบรรดาอาจารย์ และอดีตนักข่าว
ที่น่าสนใจคือมีอดีตนักศึกษาภาควิชาวารสารศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศจีน ที่ย้ายถิ่นฐานมาเรียนต่อปริญญาโท และปริญญาเอกที่สหรัฐฯ ร่วมในวงสนทนาด้วย
หลังจบการหารือออกรสออกชาติด้านการเมืองไทย และสหรัฐฯ จุดอ่อนจุดแข็งของโดนัลด์ ทรัมป์ และเรื่องจิปาถะอื่น ๆ แล้ว ผมยกมือถามอดีตนักศึกษาภาควิชาวารสารศาสตร์จากจีน ที่ปัจจุบันมีดีกรีถึง ‘ด็อกเตอร์’ ว่า ช่วงที่เรียนด้านวารสารศาสตร์ในจีน และภาพรวมของสื่อประเทศจีนเป็นอย่างไรบ้าง หากเทียบกับสถานการณ์ในอดีตที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน มีท่าทีแข็งกร้าวกว่านี้ รวมถึงเมื่อเทียบกับสื่อสหรัฐฯ กระบวนการทำงานข่าวแตกต่างกันอย่างไร
“เอาเข้าจริงกระบวนการทำงานของเรา (สื่อ) ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ค่อนข้างใกล้เคียงกัน” เขาตอบ
ก่อนอธิบายว่า แต่ข้อแตกต่างคือประเทศจีนจะมีข้อจำกัดด้านวัตถุดิบในการทำงานข่าว และต้องเซ็นเซอร์ตัวเองเพื่อไม่ให้ผิดต่อนโยบายของรัฐบาล หรือบางประเด็นไม่สามารถรายงานได้ เพราะรัฐบาลจีนจะอ้างว่า เป็นการแทรกแซงการปรองดองของสังคม
“แต่ที่สหรัฐฯ ค่อนข้างมีเสรีภาพมากกว่า นักข่าวพูดได้มากกว่า สไตล์การรายงานข่าวดีกว่า มีเงินทุนสนับสนุนการทำงานทั้งหมด แต่ที่จีน ไม่ว่าใครจะเป็นเจ้าของ รัฐบาลจะเข้าไปควบคุม” เขาเล่า
ผมลองหยั่งเชิงถามไปอีกว่า ในเมื่อเป็นอย่างนี้ แสดงว่าประเทศจีนไม่มีกระบวนการทำข่าวเชิงสืบสวนใช่หรือไม่ ไม่ใช่แค่ตรวจสอบรัฐบาล แต่หมายถึงข่าวสืบสวนตรวจสอบเรื่องราวอื่น ๆ ในสังคม เป็นต้น
เขาตอบว่า ไม่กี่วันก่อน มีประเด็นอื้อฉาวเกิดขึ้นในจีน บริษัทยายักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งในจีน ผลิตวัคซีนไม่ดี แต่กลับนำไปขายในตลาดเป็นจำนวนมาก ทำให้มีประชาชนหลายแสนคนได้รับผลกระทบ ส่งผลให้รัฐบาลเข้ามาจัดการอย่างเข้มข้น แต่ที่น่าสนใจคือ สื่อจีนกลับไม่ได้รายงานข่าวนี้มากนัก เพราะรัฐบาลพยายามจำกัดกระบวนการทำข่าวของสื่อ เพราะสื่อหลายแห่งอยู่ภายใต้การกำหนดประเด็นข่าวของรัฐบาล
“รัฐบาลจีนใช้งบประมาณเยอะมากในการรักษาความปรองดองในสังคม อีกความหมายหนึ่งคือไม่ต้องการให้มีประชาชนลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ ของรัฐ ประเทศเรามีประชากรมาก รัฐบาลจึงกลัวมากหากการรายงานข่าว แล้วทำให้มีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้น นั่นคือสิ่งที่แย่มากที่เกิดในประเทศของเรา”
ผมเล่าให้เขาฟังว่า ก่อนหน้านี้เคยอ่านเจอในหนังสือสารคดีเล่มหนึ่ง (ผมจำชื่อเรื่องไม่ได้) ทำนองว่า นักข่าวจีนไม่ยอมทำข่าวที่โจมตีรัฐบาล ไม่ใช่เพราะถูกควบคุม แต่เป็นเพราะความคิดของนักข่าวเองที่เชื่อว่า รัฐบาลจีนทำอะไรก็ไม่ผิด ปัจจุบันความคิดของนักข่าวเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ และยังเป็นอยู่หรือเปล่า
เขาส่ายหน้า ยืนยันว่า เท่าที่ทราบข้อมูลมา นักข่าวจีนไม่ได้เชื่อว่ารัฐบาลจะทำถูกต้องไปเสียทั้งหมด พวกเขาอยากทำข่าวที่เกี่ยวกับรัฐบาล แต่ถูกรัฐบาลกดดัน แต่ไม่สามารถพูดได้ ถูกรัฐบาลปิดปาก ถ้าเราเป็นนักข่าวในจีน เราเสนอประเด็นให้กับกองบรรณาธิการ หรือบรรณาธิการบริหารทราบ แต่บรรณาธิการบริหารถูกกดดันโดยรัฐบาลอีกทอดหนึ่ง ทำให้ไม่สามารถทำข่าวได้
“ข่าวเราในจีนกว่าจะตีพิมพ์ หรือเผยแพร่สาธารณะได้ เราจะถูกรีวิวหลายรอบมาก ถ้าข่าวเรามีการวิเคราะห์ทางการเมืองเฉียดเกี่ยวกับรัฐบาล ก็ไม่รอด งานไม่ได้เผยแพร่ ดังนั้นเราไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมดกับนโยบายรัฐบาลจีน แต่มันเป็นวิธีการที่เราต้องทำ เลือกเซ็นเซอร์ตัวเอง เพื่อให้งานเราได้เผยแพร่”
ผมถามว่า ปัจจุบันประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ที่ฉากหน้าให้ความสำคัญกับนโยบายการปราบปรามทุจริตในจีน อยากรู้ว่า ปัญหาทุจริตในจีนที่เกิดขึ้น สื่อเป็นคนขุดคุ้ยเปิดประเด็นเอง หรือว่ารัฐบาลเป็นคนตรวจสอบไปก่อน แล้วค่อยแถลงให้สื่อทราบ
เขาบอกว่า เกือบทั้งหมดรัฐบาลจะเป็นคนแถลงข่าวต่อสื่อเอง เพราะข้อจำกัดการทำข่าวของเราอย่างที่ผมเล่าให้ฟังข้างต้น อย่างไรก็ดีเวลาเกิดข่าวฉาวทุจริตขึ้น รัฐบาลมักบอกว่า ไม่เกี่ยวข้องกับภาพรวม แต่บอกกับประชาชนว่า โครงสร้างของพรรคคอมมิวนิสต์ โครงสร้างของระบบยังดีอยู่ แต่เราแค่มี ‘ปลาเน่า’ ไม่กี่ตัวในเข่ง ดังนั้นไม่เกี่ยวกับโครงสร้าง ไม่เกี่ยวกับระบบ แต่มันเป็นแค่คนไม่ดีบางกลุ่มเท่านั้น เราต้องกำจัดออกไป โครงสร้าง หรือระบบจะได้ขับเคลื่อนต่อไปได้
ท้ายที่สุดผมถามเขาว่า ในฐานะที่เขาเคยเรียนวารสารศาสตร์จากจีน การเรียนการสอนด้านวารสารศาสตร์ทั่วโลก แม้แต่ในไทยเอง แก่นของวิชานี้คือ ต้องการให้ตั้งคำถามกับสังคม และการตรวจสอบการทำงานของผู้มีอำนาจ ในเมื่อประเทศจีนเองมีการกดดัน และเซ็นเซอร์สื่อ แล้วการเรียนการสอนวิชานี้ในจีน สอนให้นักศึกษาตั้งคำถามหรือไม่
เขาหัวเราะ ก่อนตอบว่า สอนให้ตั้งคำถามเหมือนกัน แต่ไม่ได้สอนให้ตั้งคำถามกับรัฐบาล หรือผู้มีอำนาจแบบที่คุณเคยเรียน มหาวิทยาลัยไม่ได้เน้นว่าให้ตรวจสอบภาครัฐ แต่ให้คิดว่า เราจะเตรียมพร้อมด้านการรายงานข่าวอย่างไร หรือบางคำถามไหนถามได้ บางคำถามไหนถามไม่ได้
พี่ล่ามสะกิดไหล่ผมเป็นนัยว่า หมดเวลาถามแล้ว ผมกล่าวขอบคุณเขาที่ให้ความรู้ และประสบการณ์การทำข่าวในจีน ประเทศที่ฉากหน้าเจริญก้าวหน้า แต่เบื้องหลังลึกลับดำมืด แม้จะออกจากม่านเหล็กยอมรับทุนภายนอกเข้าไปลงทุนนับตั้งแต่ช่วงยุค 1990 เป็นต้นมาก็ตาม แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่รัฐบาลยังคงจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน รวมถึงสื่อด้วย
อ่านประกอบ :
จุดตายคดีรัสเซียแทรกแซงเลือกตั้ง-เหตุผล Trump จี้ รมว.ยุติธรรมให้เลิกสอบสวน?
ใครว่าวิทยุชุมชนตายแล้ว? ตามไปดู WMNF FM แห่งแทมป้ากับเคล็ดวิชาแลกหมัดสู้สื่อใหม่
ตะลุย นสพ.ท้องถิ่น Tulsa World หลัง Buffett ซื้อกิจการ-ข่าวสืบสวนจำเป็นอยู่ไหม?
ทำความรู้จัก Frontier สื่อท้องถิ่นออนไลน์รัฐโอกลาโฮม่า ผู้กล้าชูธงตีข่าว‘สืบสวน’
เสี่ยงคุกหนัก!ข้อมูลลับ vs ผล ปย.สาธารณะ ความท้าทายสื่อสหรัฐฯ-จุดตายข่าวสืบสวน?
ความเป็นกลางมีจริงหรือ? อ่านวิธีคิด RCP สื่อสหรัฐฯผู้อ้างว่าไม่เลือกข้างการเมือง
หลังฉากข่าว‘ทรัมป์’จ่ายเงินปิดปาก‘กิ๊ก’ เส้นแบ่งความเป็นส่วนตัว vs ปย.สาธารณะ?
ไม่ต้องเน้นแพลตฟอร์ม! เหตุผลทำไมอาจารย์ ม.นิวยอร์คบอกงานข่าว Content สำคัญสุด?
ทำความเข้าใจการเมืองสหรัฐฯ จ้าง‘ล็อบบี้ยิสต์’ทำไม-ใครได้ประโยชน์ที่แท้จริง?
ทำความรู้จัก‘ธนาคารอาหาร’ในสหรัฐฯ ช่องทางพีอาร์-ลดหย่อนภาษี‘เจ้าสัวมะกัน’?
จับเข่าคุยนักข่าว‘รุ่นเดอะ’ถึงบทบาทสื่อสหรัฐฯยุคออนไลน์-ข่าวสืบสวนจะตายจริงหรือ?
ตามไปดูพิพิธภัณฑ์ 9/11 บทบาทสื่อในเหตุการณ์-รู้ไหมนักข่าวสายไหนรายงานกลุ่มแรก?
อนาคตเสรีภาพสื่อไทยในสายตา CPJ องค์กรปกป้องสิทธินักข่าว-ความท้าทาย'โลกหมุนขวา'
เปิดภาพชุด นสพ.สหรัฐฯ-ทั่วโลกพร้อมใจตีข่าวช่วย‘ทีมหมูป่า’
ทำความรู้จักกลุ่มระดมทุนหาเสียงสหรัฐฯ-รู้ยัง‘ทรัมป์’ไม่ยื่นแบบภาษีให้สังคมตรวจสอบ?
เมื่อคนอเมริกันถามแต่เรื่อง'ถ้ำหลวง' ไขคำตอบทำไมข่าวนี้โด่งดังข้ามโลก?
ชำแหละขบวนการ‘ล็อบบี้ยิสต์’ เมื่อสื่อเต็มใจตกเป็นเครื่องมือกลุ่มทุน-การเมือง?
เลาะ‘ดี.ซี.’เล่าฉากหลัง 4สถานที่ประวัติศาสตร์-ตามไปดู รร.ต้นกำเนิดล็อบบี้ยิสต์
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://cms.qz.com