อนาคตเสรีภาพสื่อไทยในสายตา CPJ องค์กรปกป้องสิทธินักข่าว-ความท้าทาย'โลกหมุนขวา'
“…ประเทศไทยมีลักษณะ ‘เฉพาะตัว’ และมีกฎหมายบางอย่างที่จำกัดการทำงานของสื่อ ทำให้การทำงานค่อนข้างยากลำบาก ขณะเดียวกันตอนนี้เป็นรัฐบาลทหาร ทำให้เพิ่มขีดจำกัดในการรายงานข่าวมากยิ่งขึ้นไปอีก อย่างไรก็ดีมีความคาดหวังว่าสถานการณ์เสรีภาพสื่อในไทยอาจจะดีขึ้นได้ในอนาคต…”
หลังนั่งอยู่บนรถประมาณ 4 ชั่วโมงเศษจากวอชิงตัน ดี.ซ. ผมก็มาถึงนิวยอร์ค มหานครแห่งแฟชั่น และเศรษฐกิจระดับโลก
ลืมบอกไปก่อนหน้านี้ว่า ผมมาสหรัฐอเมริกาในฐานะผู้สื่อข่าวแห่งสำนักข่าวอิศรา จากทุนของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ผ่านสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย โดยมีนักข่าวอีก 3 ราย และล่าม 2 ราย ร่วมทริปไปกันผม เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนภายในประเทศกับบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐ นักวิชาการ และนักข่าวของสหรัฐฯ
ตอนที่แล้ว ผมเขียนเกี่ยวกับประเด็นเศร้าสลด กรณีนักข่าวจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น Capital Gazatte แห่งเมืองแอนนาโพลิส รัฐแมรี่แลนด์ ถูกชายวัย 28 ปีบุกเข้าไปสำนักงานและยิงนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งนี้เสียชีวิตถึง 5 ราย เนื่องจากสื่อแห่งนี้รายงานข่าวเชิงลบกับชายคนดังกล่าว (อ่านประกอบ : ตะลุยพิพิธภัณฑ์ ‘Newseum’ เทียบเสรีภาพสื่อสหรัฐฯ-ไทย ทำไมต่างกันราวฟ้ากับเหว?)
ส่งผลให้หลายคนตั้งคำถามถึงความปลอดภัยในการปฏิบัติหน้าที่ของนักข่าว ไม่ใช่แค่ในประเทศสหรัฐฯเท่านั้น แต่หมายถึงนักข่าวที่กำลังทำงานอย่างขะมักเขม้นเพื่อรายงานข้อเท็จจริง และเปิดโปงพฤติการณ์ไม่ชอบมาพากลของรัฐบาล หรือผู้มีอิทธิพล แม้แต่ในสงครามทั่วโลกว่า ตกลงแล้ววิชาชีพนี้ตั้งอยู่บนฐานความเสี่ยงขนาดนี้เลยหรือ ?
เชื่อหรือไม่ นับตั้งแต่ปี 1992 จนถึงปี 2017 มีนักข่าวเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ไปแล้วอย่างน้อย 1,310 ราย และอาจมีมากกว่านั้น ขณะเดียวกันหากนับเฉพาะปี 2017 มีนักข่าวที่ถูกจำคุกจากการรายงานข่าวไปแล้วอย่างน้อย 262 ราย !
ตัวเลขสถิติเหล่านี้มาจากองค์กรปกป้องสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนโลก หรือ Committee to Protect Journalist (CPJ) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งเมื่อปี 1981 โดยได้รับเงินทุนส่วนใหญ่ในรูปแบบบริจาค เพื่อขับเคลื่อนการทำงาน ปกป้องเสรีภาพสื่อทั่วโลก จากการคุกคามของอิทธิพลทางการเมือง หรือถูกผู้ก่อการร้ายจับตัว
ปัจจุบัน CPJ มีสำนักงานใหญ่ที่นิวยอร์ค สหรัฐฯ แต่มีฐานทีมงานที่ส่วนมากเป็นนักข่าวฝังตัวอยู่ในประเทศที่สื่อถูกจำกัดเสรีภาพกระจายอยู่ทั่วโลก ภารกิจหลักคือการทำวิจัยเพื่อให้ฐานข้อมูลการทำข่าวในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกแก่นักข่าว ให้ข้อมูลเรื่องความปลอดภัยในการทำข่าว รวมถึงจัดทำฐานข้อมูลสถิติการละเมิด-คุกคามเสรีภาพสื่อในประเทศต่าง ๆ ด้วย
สำหรับข้อมูลสถิติที่น่าสนใจจากองค์กรแห่งนี้คือ ระหว่างปี 1992-2017 มีนักข่าวถูกคุมขังในเรือนจำรวมแล้วหลายพันราย แต่ตัวเลขมาพุ่งสูงปรี๊ดเอาตอนช่วงปี 2015-2017 ที่พบว่า นักข่าวถูกคุมขังในเรือนจำเฉลี่ยปีละ 200-250 ราย มากกว่าปีก่อนหน้านี้ที่มีประมาณ 100-140 รายเท่านั้น โดยนักข่าวทั้งหมดที่ถูกคุมขัง เกิดขึ้นเพราะตีแผ่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเมืองภายในประเทศนั้น ๆ ทั้งหมด
การทำงานเบื้องต้นขององค์กร CPJ หากพบว่ามีนักข่าวถูกคุกคามเสรีภาพในการรายงานข่าว-ข้อเท็จจริง เบื้องต้นจะเริ่มกดดันโดยการทำหนังสือผ่านรัฐบาลประเทศนั้น ๆ หากพบว่า ยังไม่สนใจ อาจเพิ่มความกดดันไปที่ประเทศทางการค้าของประเทศดังกล่าว ยกตัวอย่าง ประเทศ A คุกคามสื่อโดยการจับนักข่าวขังคุก แต่ประเทศ A ต้องค้าขายสินค้ากับประเทศ B องค์กร CPJ อาจกดดันไปยังประเทศ B ไม่ให้ซื้อสินค้าจากประเทศ A เป็นต้น
อย่างไรก็ดีการทำงานที่ผ่านมา อาจไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร สามารถช่วยได้ประมาณครึ่งหนึ่งของนักข่าวที่ถูกคุมขังทั้งหมด เนื่องจากไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงปัญหาการเมืองภายในประเทศเหล่านั้นได้
ปัญหาที่ท้าทายการทำงานของ CPJ คือ เมื่อเกิดการคุกคามสื่อขึ้นในประเทศนั้น หรือนักข่าวเสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ หรือจากการรายงานข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับรู้ จะพบว่า ผู้นำ หรือผู้มีอิทธิพลที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของนักข่าว มักจะไม่ได้รับโทษทัณฑ์อะไร สิ่งนี้คือประเด็นสำคัญที่ CPJ กำลังขับเคลื่อน
คราวนี้มาดูสถานการณ์สื่อไทยในสายตา CPJ กันบ้าง ข้อมูลสถิติบนเว็บไซต์ CPJ ระบุว่า ข้อมูลตั้งแต่ปี 1992-2017 พบว่า มีนักข่าวเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่อย่างน้อย 10 ราย จากการรายงานข่าวด้านการเมือง ได้แก่ ปี 1998 1 ราย ปี 2001 2 ราย ปี 2008 3 ราย ปี 2010 2 ราย ปี 2011 1 ราย และปี 2012 1 ราย ขณะเดียวกันเคยเกิดเหตุการณ์คุมขังนักข่าวจากการรายงานข่าวเป็นจำนวนมาก
หนึ่งในนั้นคือนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสาร Voice of Thaksin ที่เผยแพร่บทความสุ่มเสี่ยงในไทย (ปัจจุบันนายสมยศพ้นโทษออกมาภายนอกแล้ว) และนายประวิตร โรจนพฤกษ์ อดีตผู้สื่อข่าวบางกอกโพสต์ ปัจจุบันทำงานอยู่ข่าวสดอิงลิช ที่ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกไปปรับทัศนคติในค่ายทหาร 2 ครั้งด้วย
ผมตั้งคำถามว่า นายสมยศ ปัจจุบันไม่ได้รับการรับรองจากองค์กรที่กำกับดูแลสื่อในไทยว่าเป็น ‘สื่อ’ ขณะที่ต่างชาติรับรองให้เขาเป็น ‘สื่อ’ มองมุมนี้อย่างไร เจ้าหน้าที่ CPJ ยิ้ม และตอบสั้น ๆ กระชับได้ใจความว่า ปัจจุบันไม่สามารถนิยามได้แค่ว่า สื่อจะต้องมีสังกัดหรือองค์กร หรือมีป้ายติดบัตรห้อยคอ หรือจบแค่ภาควิชาวารสารศาสตร์ แต่ขณะนี้ทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ เพียงแค่การรายงานข้อเท็จจริงผ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือโซเชียลเน็ตเวิร์คต่าง ๆ ดังนั้นสิ่งที่ CPJ มองไม่ใช่แค่เรื่องบุคคล แต่มองประเด็นที่เขารายงานสิ่งที่เกิดขึ้นว่า เป็นข้อเท็จจริงหรือไม่
เจ้าหน้าที่ส่วนกลาง และฝ่ายเอเชียของ CPJ ได้วิเคราะห์สถานการณ์สื่อในประเทศไทยด้วยว่า ประเทศไทยมีลักษณะ ‘เฉพาะตัว’ และมีกฎหมายบางอย่างที่จำกัดการทำงานของสื่อ ทำให้การทำงานค่อนข้างยากลำบาก ขณะเดียวกันตอนนี้เป็นรัฐบาลทหาร ทำให้เพิ่มขีดจำกัดในการรายงานข่าวมากยิ่งขึ้นไปอีก อย่างไรก็ดีมีความคาดหวังว่าสถานการณ์เสรีภาพสื่อในไทยอาจจะดีขึ้นได้ในอนาคต
เบื้องต้นผมสอบถามผู้เชี่ยวชาญในสหรัฐฯ ด้านการวิเคราะห์เสรีภาพสื่อว่า แนวโน้มที่ทำให้ตัวเลขการคุมขังนักข่าวเพิ่มขึ้นช่วง 2-3 ปีหลังสุด เป็นเพราะสถานการณ์โลก ‘หมุนไปทางขวา’ หรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ อธิบายว่า คงไม่สามารถตอบได้ว่าเป็นเพราะสถานการณ์ ‘โลกหมุนขวา’ หรือไม่ เพียงแต่มันเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ดีหากจะให้วิเคราะห์ต้องลงลึกในรายละเอียดของสถานการณ์การเมืองแต่ละประเทศว่า เกิดจากสาเหตุปัจจัยอะไรด้วย
“ยกตัวอย่างในสหรัฐฯ รัฐบาลก่อน ๆ เวลาไปหารือกับรัฐบาลประเทศอื่น ในวงประชุมจะมีการพูดถึงปัญหาเสรีภาพสื่อของประเทศเหล่านั้นด้วย แต่ปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว ไม่มีการหารือเรื่องเสรีภาพสื่อบนโต๊ะเจรจาอีกต่อไป”
ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ วิเคราะห์อีกว่า ขณะนี้ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังถูกอิทธิพลจีนครอบงำ แน่นอนว่าจีนเป็นประเทศที่ไม่เคารพหลักสิทธิมนุษยชนอันดับต้น ๆ ของโลก ดังนั้นทำให้เวลาหารือเรื่องระหว่างประเทศ ผู้นำรัฐบาลจะไม่มีการหยิบยกปัญหาเสรีภาพสื่อมาคุยกันอีก ถือเป็นการชี้นำแนวทางของจีนให้กับประเทศในแถบนี้รับทราบ ทำให้เป็นเทรนด์ใหม่ของประเทศแถบนี้ก็เป็นไปได้
อย่างไรก็ดีผู้เชี่ยวชาญรายนี้เชื่อว่า “พวกเราต้องมีความหวังว่า อนาคตเสรีภาพสื่อในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะดีขึ้น”
ผมฟังแล้วได้แต่อมยิ้ม หวังว่าจะเป็นเช่นนั้น แม้มันจะยากพอ ๆ กับการทำให้ประเทศไทยมีประชาธิปไตยแบบสากลเหมือนชาติที่ศิวิไลซ์แล้วก็ตามที ?
อ่านประกอบ :
เปิดภาพชุด นสพ.สหรัฐฯ-ทั่วโลกพร้อมใจตีข่าวช่วย‘ทีมหมูป่า’
ทำความรู้จักกลุ่มระดมทุนหาเสียงสหรัฐฯ-รู้ยัง‘ทรัมป์’ไม่ยื่นแบบภาษีให้สังคมตรวจสอบ?
เมื่อคนอเมริกันถามแต่เรื่อง'ถ้ำหลวง' ไขคำตอบทำไมข่าวนี้โด่งดังข้ามโลก?
ชำแหละขบวนการ‘ล็อบบี้ยิสต์’ เมื่อสื่อเต็มใจตกเป็นเครื่องมือกลุ่มทุน-การเมือง?
เลาะ‘ดี.ซี.’เล่าฉากหลัง 4สถานที่ประวัติศาสตร์-ตามไปดู รร.ต้นกำเนิดล็อบบี้ยิสต์