ความเป็นกลางมีจริงหรือ? อ่านวิธีคิด RCP สื่อสหรัฐฯผู้อ้างว่าไม่เลือกข้างการเมือง
“ผมเชื่อว่า การนำเสนอข้อมูลในรูปแบบของเรา มันเป็นศิลปะ มันไม่ใช่วิทยาศาสตร์ อย่างเวลาผมเขียนบทความ หรือคอลัมน์ลงในเว็บไซต์สำนักข่าวเรา ผมจะนำเสนอในแง่มุมเชิงเสียดสี จิกกัด และตลกขบขัน เพื่อกระตุ้นต่อมความคิดของประชาชน แต่สร้างความสมดุลในเนื้อหา เพราะถึงท้ายที่สุดประชาชนบางส่วนก็ยังไม่เชื่อเราอยู่ดีว่าเราเป็นกลาง แต่เราเชื่อว่าเราเป็นกลางแล้ว ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ถูกด่า นั่นคือข้อเท็จจริงตอนนี้”
(Joe บก.บริหาร RCP (คนซ้ายสุด), Tom ผู้บริหาร RCP (คนที่ 3 จากขวา))
ในตอนที่ผ่านมา ผมเกริ่นไปแล้วว่า คราวนี้จะเขียนเรื่องสำนักข่าวออนไลน์แห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ที่อ้างตัวว่า ‘เป็นกลาง’ ท้าทายกระแสสื่อในสหรัฐฯที่เลือกขั้ว-แบ่งข้างอย่างชัดเจน ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนพรรคเดโมแครต อีกฝ่ายสนับสนุนพรรครีพับลิแกน
ก่อนจะเข้าเรื่อง ย้อนกลับไปที่สถานการณ์สื่อในไทยสักนิด สื่อมวลชนบ้านเรา แม้จะอ้างตัวว่า ‘เป็นกลาง’ กันทุกสำนัก แต่เอาเข้าจริงหากสังเกตสักหน่อย จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า มีการเลือกขั้ว-แบ่งข้างไม่ต่างกับสหรัฐฯมากนัก เพียงแต่ที่สหรัฐฯสื่อออกมาโปรโมต-ทำแคมเปญให้นักการเมืองได้ โดยเปิดเผยต่อสาธารณะ แต่สื่อไทยที่เลือกข้างไปแล้วกลับเลือก ‘ซุกตัว’ อยู่ใต้ข้ออ้างจริยธรรมสื่อที่ต้องเป็นกลาง แต่ข้อมูลข่าวสาร รวมถึงบทความที่นำเสนอ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า เลือกข้างไปแล้ว
ผมขอขยายความคำว่า ‘สื่อเลือกข้าง’ ในที่นี้อีกนิด ไม่ใช่หมายความว่า สำนักข่าวหนึ่ง จะนำเสนอข้อมูล หรือบทความจากบุคคลที่สนับสนุนการเมืองแต่ละขั้วให้สมดุลกัน เช่น สำนักข่าว ก. ทำข่าวเกี่ยวกับพรรค A และพรรค B รวมถึงนำเสนอบทความสนับสนุน-วิพากษ์วิจารณ์พรรค A และพรรค B เท่า ๆ กัน แล้วอ้างตัวว่า ‘เป็นกลาง’
แต่ ‘สื่อเลือกข้าง’ หมายความว่า สื่อไม่ยอมทำหน้าที่ตรวจสอบเชิงลึก หรือตรวจสอบการคอร์รัปชั่นจากฝ่ายที่ตัวเองเลือกข้างไปแล้ว ยกตัวอย่าง สื่อที่อ้างว่าเป็นกลาง แต่แท้จริงแล้วสนับสนุนพรรค A ย่อมไม่ทำข่าวตรวจสอบเรื่องราวฉาวโฉ่ หรือการคอร์รัปชั่นของพรรค A เป็นต้น
เอาล่ะ เข้าเรื่องกันดีกว่า ช่วงที่ผมอยู่วอชิงตัน ดี.ซี. มีโอกาสไปพูดคุยกับคุณ Tom Bevan ผู้บริหารสำนักข่าว Real Clear Politics หรือ RCP ผู้อ้างตัวว่า ‘เป็นกลาง’ ท่ามกลางความท้าทายของสื่อเลือกข้างในสหรัฐฯ
Tom เล่าให้ผมฟังก่อนว่า ก่อนหน้านี้เคยทำงานในฐานะนักข่าว และเลื่อนเป็นระดับบรรณาธิการให้กับสำนักข่าวหลายแห่งในสหรัฐฯ อย่างไรก็ดีเขารู้สึกเบื่อการทำข่าวที่เน้นการโจมตีทางการเมือง โดยไม่อาศัยข้อเท็จจริงเพื่อตรวจสอบให้ครบทุกฝ่าย เลยลาออกมาก่อตั้งสำนักข่าวออนไลน์ RCP ที่มุ่งเน้นการทำข่าวการเมืองทุกขั้วทุกฝ่ายอย่างเป็นกลาง ตรวจสอบให้หมด เพราะเชื่อว่าไม่ว่าฝ่ายไหนย่อมต้องถูกตรวจสอบได้ และเปิดประตูสู่สื่อทางเลือกใหม่ให้ประชาชนสหรัฐฯ
“ในสหรัฐฯ มีสื่อที่เป็นกลางอยู่ประมาณ 1 ใน 3 ของสื่อทั้งหมด เช่น PBS (สถานีโทรทัศน์สาธารณะในสหรัฐฯ บริหารงานโดยเป็นอิสระจากรัฐบาล คล้าย ๆ กับ Thai PBS ในไทย) หรือ NPR (สถานีวิทยุสาธารณะในสหรัฐฯ บริหารงานโดยเป็นอิสระจากรัฐบาล) เป็นต้น และประชาชนอเมริกันกว่า 43% ที่ไม่ฝักใฝ่พรรคใดพรรคหนึ่ง ผมจึงต้องการก่อตั้งสำนักข่าวมาเพื่อเป็นทางเลือกให้คนกลุ่มนี้”
ผมบอกเขาไปตรง ๆ ว่า ผมไม่ค่อยเชื่อเรื่องความเป็นกลางเท่าไหร่ และคิดว่ามันเป็นนามธรรมที่ไม่มีอยู่จริง การทำอะไรบางอย่างย่อมมีจุดประสงค์ซ่อนอยู่เสมอ เพียงแต่ว่าจะสร้างสมดุลกับข้อเท็จจริงได้อย่างไรให้คนอ่านไม่รู้สึกว่าเอนเอียง
เขาอธิบายว่า ผมอาจจะเห็นต่างจากคุณ และเชื่อว่าความเป็นกลางยังมีอยู่ โดยเฉพาะการเสนอข้อเท็จจริงที่ต้องปราศจากความเห็น การให้ข้อมูลครบถ้วน เปิดกว้างการแสดงความเห็นจากทุกฝ่าย และผสมผสานความเห็นทั้งหมดเข้าด้วยกันเพื่อให้คนอ่านตัดสินใจ
“การเมืองทุกแง่มุมมันต่างกัน สิ่งที่ผมได้เห็นมาจากหลายมุมโลก มันไม่ใช่แค่เรื่องความเห็น แต่มันเป็นเรื่องความชอบ เราจะทำอย่างไรให้ประชาชนอ่านข้อเท็จจริง มากกว่าความชอบ”
ผมถามว่า การทำสำนักข่าวที่อ้างตัวว่าเป็นกลาง และท้าทายสื่อหลักในสหรัฐฯที่เลือกข้างชัดเจนมันยากลำบากขนาดไหน และมีกลุ่มคนอ่านไม่เชื่อบ้างหรือไม่
Tom ยิ้ม และตอบว่า แน่นอนมันต้องมีคนไม่เชื่อตลอดเวลา ซึ่งเราไม่ได้สนใจมากนัก เพราะเราชื่อว่าทีมงานของเรา และสำนักข่าวเราเป็นกลางจริง ๆ อย่างไรก็ดีคนส่วนใหญ่ในสหรัฐฯมีปัญหากับคนที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เนื่องจากมองว่าไม่มีความชัดเจน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากเปรียบได้ดั่ง ‘เข็นครกขึ้นภูเขา’
“คนส่วนใหญ่เห็นว่า ไม่ควรมีพื้นที่สำหรับตรงกลาง ยกตัวอย่าง ฝ่ายหนึ่งต้องการสนับสนุน Donald Trump (ปธน.สหรัฐฯ) อีกฝ่ายต้องการโค่นล้ม Trump คนต้องการให้เราชัดเจน แต่เราเชื่อว่า มันต้องมีสมดุลจากทั้งสองฝ่ายให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ เราไม่ต้องการตกอยู่ในวังวนแห่งความขัดแย้ง เราต้องการออกมา”
ผมถามอีกว่า ในเมื่อคุณอ้างว่าเป็นกลาง แล้วแน่ใจหรือไม่ว่าข้อมูลที่ได้มาของคุณมันถูกต้อง หรือเป็นกลางจริง ๆ
เขายักไหล่ เอนกายพิงพนักเก้าอี้ แล้วเริ่มเล่าว่า เรื่องข้อมูลหรือข้อเท็จจริงมันมีหลายแง่มุมมาก ผมยกตัวอย่างการเมืองในสหรัฐฯที่มี 2 พรรคใหญ่ คือ พรรคเดโมแครต เป็นพรรคเสรีนิยม นักการเมืองส่วนใหญ่เป็นพวกชอบแสวงหาตัวตนในสื่อ หรือบางรายเป็นพวกสังคมนิยม ส่วนพรรครีพับลิแกน เป็นพวกอนุรักษ์นิยม ส่วนมากเป็นเครือข่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่กดดันให้รัฐบาลสร้างความรับผิดชอบทางการเงิน มันจึงยากมากที่จะสร้างสมดุล หรือผสมผสานเนื้อหาข้อมูลให้ลงตัวในทุก ๆ วัน ต้องใช้สติ และผู้เชี่ยวชาญหลายรายมาวิเคราะห์ หรือวิพากษ์วิจารณ์
“ผมเชื่อว่า การนำเสนอข้อมูลในรูปแบบของเรา มันเป็นศิลปะ มันไม่ใช่วิทยาศาสตร์ อย่างเวลาผมเขียนบทความ หรือคอลัมน์ลงในเว็บไซต์สำนักข่าวเรา ผมจะนำเสนอในแง่มุมเชิงเสียดสี จิกกัด และตลกขบขัน เพื่อกระตุ้นต่อมความคิดของประชาชน แต่สร้างความสมดุลในเนื้อหา เพราะถึงท้ายที่สุดประชาชนบางส่วนก็ยังไม่เชื่อเราอยู่ดีว่าเราเป็นกลาง แต่เราเชื่อว่าเราเป็นกลางแล้ว ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ถูกด่า นั่นคือข้อเท็จจริงตอนนี้”
“แต่ผมเชื่อว่าต่อไปสำนักข่าวแบบเรา จะเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะท่ามกลางกระแสการเมืองของสหรัฐฯที่ร้อนระอุ และสื่อถูก Trump วิพากษ์วิจารณ์ว่าทำแต่ ‘ข่าวปลอม’ ทำให้ประชาชนบางส่วนที่สนับสนุน Trump ไม่เชื่อสื่ออีกต่อไป ตรงนี้คือความท้าทายของเรา”
เขาเชื่อว่า ถึงที่สุดทุกสิ่งทุกอย่างต้องมาอยู่ตรงกลาง
“เรื่องมันค่อนข้างซับซ้อน คุณมีหลักการ ซ้ายจัด หรือขวาจัดในทางการเมือง ความคิดเห็นของคุณอาจเป็นสังคมนิยม อาจดีกว่าทุนนิยมอะไรทำนองนี้ แต่ถ้าจะตั้งหลักให้ตรง ต้องเสียสละเวลาเพื่อสร้างความสมดุลให้กับข้อเท็จจริง ข้อเสียของการมีสื่อแบบเลือกข้าง จะทำให้คนบางกลุ่มเริ่มเสพติดสื่อที่เขาชื่นชอบ กลายเป็นคุยกันแต่ในกลุ่มพวกเขา ไม่เปิดกว้างรับข้อเท็จจริงอื่น ๆ และจะทำให้เกิดการทำลายล้าง การแสดงความคิดเห็นจะเริ่มเลวร้ายลงในอนาคต”
ด้วยเวลาค่อนข้างจำกัด ทำให้ผมถาม-ตอบกับเขาได้เพียงเท่านี้ อย่างไรก็ดีอาจทำให้หลายคนพอจะมองรูปแบบวิธีคิดของ Tom Bevan ได้บ้างว่า เขาคิดอย่างไรกับการรายงานข่าว-นำเสนอข้อเท็จจริงที่อ้างว่า ‘เป็นกลาง’ ซึ่งน่าสนใจ และอาจนำมาปรับใช้ภายในประเทศไทยได้บ้าง
ในตอนหน้า ผมจะนำเสนอสำนักข่าวออนไลน์ที่ทำข่าว ‘สืบสวนสอบสวน’ ในรูปแบบท้องถิ่น ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับท้องถิ่นอย่างฉับพลัน เขามีวิธีการทำงานอย่างไร แตกต่างกับนักข่าวท้องถิ่นในไทยมากน้อยแค่ไหน โปรดติดตาม
อ่านประกอบ :
หลังฉากข่าว‘ทรัมป์’จ่ายเงินปิดปาก‘กิ๊ก’ เส้นแบ่งความเป็นส่วนตัว vs ปย.สาธารณะ?
ไม่ต้องเน้นแพลตฟอร์ม! เหตุผลทำไมอาจารย์ ม.นิวยอร์คบอกงานข่าว Content สำคัญสุด?
ทำความเข้าใจการเมืองสหรัฐฯ จ้าง‘ล็อบบี้ยิสต์’ทำไม-ใครได้ประโยชน์ที่แท้จริง?
ทำความรู้จัก‘ธนาคารอาหาร’ในสหรัฐฯ ช่องทางพีอาร์-ลดหย่อนภาษี‘เจ้าสัวมะกัน’?
จับเข่าคุยนักข่าว‘รุ่นเดอะ’ถึงบทบาทสื่อสหรัฐฯยุคออนไลน์-ข่าวสืบสวนจะตายจริงหรือ?
ตามไปดูพิพิธภัณฑ์ 9/11 บทบาทสื่อในเหตุการณ์-รู้ไหมนักข่าวสายไหนรายงานกลุ่มแรก?
อนาคตเสรีภาพสื่อไทยในสายตา CPJ องค์กรปกป้องสิทธินักข่าว-ความท้าทาย'โลกหมุนขวา'
เปิดภาพชุด นสพ.สหรัฐฯ-ทั่วโลกพร้อมใจตีข่าวช่วย‘ทีมหมูป่า’
ทำความรู้จักกลุ่มระดมทุนหาเสียงสหรัฐฯ-รู้ยัง‘ทรัมป์’ไม่ยื่นแบบภาษีให้สังคมตรวจสอบ?
เมื่อคนอเมริกันถามแต่เรื่อง'ถ้ำหลวง' ไขคำตอบทำไมข่าวนี้โด่งดังข้ามโลก?
ชำแหละขบวนการ‘ล็อบบี้ยิสต์’ เมื่อสื่อเต็มใจตกเป็นเครื่องมือกลุ่มทุน-การเมือง?
เลาะ‘ดี.ซี.’เล่าฉากหลัง 4สถานที่ประวัติศาสตร์-ตามไปดู รร.ต้นกำเนิดล็อบบี้ยิสต์