ทำความรู้จักกลุ่มระดมทุนหาเสียงสหรัฐฯ-รู้ยัง‘ทรัมป์’ไม่ยื่นแบบภาษีให้สังคมตรวจสอบ?
“…เงื่อนปมสำคัญคือ กฎหมายสหรัฐฯ ไม่ได้บัญญัติว่า นักการเมืองจะต้องยื่นแบบแสดงภาษีให้แก่ภาครัฐ หรือเปิดเผยให้ประชาชนรับรู้ด้วย นั่นหมายความว่า นายทรัมป์ที่ปัจจุบันยื่นบัญชีทรัพย์สิน และรายได้ต่าง ๆ แก่สำนักงานจริยธรรมแห่งสหรัฐฯ และ FEC ไปแล้ว จะยื่น หรือไม่ยื่นแบบแสดงภาษีประกอบให้ภาครัฐรับรู้ด้วยก็ได้…”
ในประเทศสหรัฐอเมริกา ข่าวสำคัญที่สื่อกำลังจับจ้องไปที่ประธานาธิบดี ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ไม่ใช่แค่กรณีถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันในการให้รัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งเมื่อปี 2016 หรือแม้แต่กรณีล่าสุดอย่างการแต่งตั้งบุคคลเข้าไปเป็นผู้พิพากษาศาลสูง ที่มีการกล่าวหาบุคคลรายนี้ว่า มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม และมีความใกล้ชิดกับฝ่ายลิพับลิแกน (พรรคสังกัดของนายทรัมป์ และมีแนวคิดอนุรักษ์นิยม หรือขวา) เท่านั้น
แต่โฟกัสของสื่อในสหรัฐอเมริกาขณะนี้ ยังมองไปถึงการเลือกตั้งทั่วไปกลางเทอม หรือการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ตามรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกากำหนดวาระการเลือกตั้งใน 2 ปี เข้าไปทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติในคองเกรส (United State Congress) ซึ่งตอนนี้พรรคลิพับลิแกนกำลังคุมเก้าอี้เสียงส่วนใหญ่ในสภาสูง (วุฒิสมาชิก) และสภาล่าง (สภาผู้แทนราษฎร) โดยจะมีการเลือกตั้งกลางเทอมในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
เมื่อพูดถึงการเลือกตั้ง ในสหรัฐอเมริกา แน่นอนว่าหนีไม่พ้นองค์กรรัฐที่เรียกว่า Federal Election Commission หรือ FEC หรือเรียกง่าย ๆ ว่าคือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แห่งสหรัฐอเมริกา โดย FEC มีโครงสร้างหลักเป็นกรรมการ 6 ราย โดยมาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดี และต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาล่าง กำหนดเกณฑ์ชัดเจนว่า ห้ามมี ส.ส. ที่มาจากพรรคเดียวกันเกิน 3 ราย เพื่อให้เกิดความหลากหลาย ปัจจุบันกรรมการเหลือเพียง 4 ราย เป็นคนจากพรรคลิพับลิแกน 2 ราย พรรคเดโมแครต (พรรคเสรีนิยม) 1 ราย และพรรคอิสระ 1 ราย ส่วนอีก 2 รายที่เหลือพ้นวาระไปแล้ว และอยู่ระหว่างการสรรหาจากประธานาธิบดี
ส่วนอำนาจหน้าที่คือ ตรวจสอบแหล่งทุนในการจัดทำแคมเปญหาเสียงของผู้สมัครที่เป็นระดับ Candidate (ผู้สมัครที่ผ่านการเห็นชอบจากการทำไพรมารีโหวตในพรรค) และตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของพรรคการเมือง และผู้สมัคร Candidate ในการหาเสียงเลือกตั้ง แต่ไม่มีอำนาจในการจัดการเลือกตั้ง หรือนับคะแนนเสียง แตกต่างกับ กกต. ของประเทศไทย ที่ทำหน้าที่เบ็ดเสร็จครอบคลุมทั้งหมด และไม่เหมือนกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ของไทยที่ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน
การยื่นบัญชีทรัพย์สิน และรายได้จากการระดมทุนแคมเปญเพื่อหาเสียงในสหรัฐฯแยกได้ 2 องค์กรหลัก ๆ ได้แก่ FEC ที่นักการเมืองระดับ Candidate จะต้องยื่นทรัพย์สิน และรายได้จากการระดมทุนเพื่อทำแคมเปญหาเสียง ส่วนการยื่นบัญชีทรัพย์สินโดยละเอียด และรายได้ส่วนตัว นักการเมืองเหล่านี้ต้องยื่นแก่สำนักงานการตรวจสอบจริยธรรมแห่งสหรัฐฯ
สำหรับกฎหมายของ FEC ระบุว่า ประชาชนทั่วไปสามารถบริจาคเงินให้แก่นักการเมืองระดับ Candidate ได้ไม่เกินรายละ 2,700 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนเอกชน บริษัท ห้างร้าน หรือแม้แต่สหภาพต่าง ๆ ห้ามเด็ดขาด หลังจากนั้นนักการเมืองระดับ Candidate จึงนำเอกสารหลักฐานตรงนี้มาให้ FEC ตรวจสอบ หากพบว่า มีการรายงานข้อมูลไม่ถูกต้อง หรือมีการรับเงินเกินจากที่กำหนดไว้ จะมีบทลงโทษแตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่คือการเสียค่าปรับหลักหมื่น-แสนเหรียญสหรัฐฯ หากพบว่ามีการกระทำในเชิงอาชญากรรมทางการเงิน หรือคดีอาญา จะส่งเรื่องให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการสอบสวนต่อไป
แต่เงื่อนปมในการบริจาคเช่นนี้ แน่นอนว่าย่อมมี ‘โพรงใหญ่’ ให้บรรดานักการเมือง ‘หัวใส’ ดำเนินการใช้ ‘นอมินี’ ในการจัดทำแคมเปญเลือกตั้งแทน โดยไม่ต้องรับเงินบริจาคโดยตรงด้วย ?
ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา และคลุกคลีในแวดวงการจัดทำแคมเปญเลือกตั้งหลายราย อธิบายให้ผมฟังว่า ขณะนี้ปัญหาสำคัญที่สหรัฐอเมริกากำลังเผชิญคือ ปรากฏการณ์ ‘Superpact’ หรือกลุ่มคนที่รวมตัวกันเพื่อผลักดันนโยบาย หรือสนับสนุนนักการเมืองที่ออกนโยบายบางอย่างที่ตอบโจทย์แก่พวกเขา เช่น กลุ่มคนที่ผลักดันกฎหมายให้เปิดเสรีพกพาอาวุธปืน จะรวมกลุ่มกันระดมเงินทุนบริจาค ก่อนจะไปจ้างบริษัทโฆษณาเพื่อเผยแพร่แนวคิดดังกล่าว บางครั้งอาจมีการอ้างชื่อนักการเมืองที่สนับสนุนนโยบายตามแบบกลุ่มตนเองด้วย
“กลุ่มระดมทุนแบบ Superpact แบบนี้ เงินทุนเขาหนามาก และมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ผลการเลือกตั้งให้ออกมาหน้าใดหน้าหนึ่ง โดยเฉพาะในรัฐ ‘สวิงโหวต’ (รัฐที่คาดเดาได้ยากว่าประชาชนจะเลือกพรรคการเมืองใด)”
อย่างไรก็ดีการทำ Superpact หรือการรวมกลุ่มระดมทุนเช่นที่ว่านี้ แทบไม่ปรากฏหลักฐาน หรือร่องรอยอะไรให้ FEC ตรวจสอบได้เลยว่า มีกลุ่มนักการเมือง หรือกลุ่มทุนพรรคการเมืองหนุนหลังอยู่ เพราะตามรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐฯทุกคนมีเสรีภาพในการระดมทุนเพื่อทำกิจกรรมทางการเมือง
“มันอาจจะมี หรือไม่มีก็ได้ แต่มันเป็นอะไรที่พิสูจน์ยาก หากกลุ่มระดมทุนรูปแบบ Superpact บอกว่า เขาระดมทุนเพื่อทำแคมเปญหาเสียงทางการเมือง เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ทางการเมืองกลุ่มตัวเอง ไม่เกี่ยวกับนักการเมือง หรือพรรค ก็ไม่สามารถเอาผิดอะไรเขาได้”
อย่างไรก็ดีประเด็นนี้ แม้จะไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ว่า กลุ่ม Superpact เป็น ‘นอมินี’ ให้นักการเมืองหรือไม่ แต่หากเจอสื่อขุดคุ้ย หรือตรวจสอบพบภายหลังว่า เงินที่พวกเขาระดมทุนให้กลุ่ม Superpact ไป ถูกนักการเมืองนำไปใช้ส่วนตัว เช่น ซื้อของใช้แพง ๆ รถยนต์หรู เป็นต้น อาจทำให้อนาคตทางการเมืองจบสิ้นลงได้เลย ?
“ประชาชนอเมริกันจะโกรธมาก หากรู้ว่าเงินที่เขาบริจาคช่วยเหลือเรื่องทุนแก่นักการเมือง หรือพรรคที่เขาชื่นชอบ ท้ายสุดถูกนำไปใช้ส่วนตัว ถึงแม้ว่ากฎหมายจะกำหนดโทษไม่แรง เสียแค่ค่าปรับไม่กี่หมื่นเหรียญสหรัฐฯ แต่ผลหลังจากนั้นคือ ทำให้นักการเมืองรายนี้จะถูก ‘แบน’ ประชาชนจะไม่เลือกมาเป็นผู้แทนอีกต่อไป นั่นต่างหากคือราคาที่ต้องจ่าย และกรณีแบบนี้เคยเกิดขึ้นแล้ว สื่อขุดคุ้ยนักการเมืองรายหนึ่ง นำเงินระดมทุนไปซื้อพรมแดงสุดหรูไว้ที่บ้าน FEC เข้าไปตรวจสอบและลงโทษสั่งปรับเงิน ท้ายสุดนักการเมืองรายนี้ไม่ได้รับเลือกตั้ง เป็นต้น”
ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ เล่าให้ฟังอีกว่า ปัจจุบันนอกเหนือจากปัญหากลุ่ม Superpact แล้ว ขณะนี้ยังเผชิญปัญหา Scampact หรือกลุ่มหลอกลวงให้ประชาชนมาร่วมระดมทุน โดยอ้างว่าเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองด้วย เบื้องต้นมีประชาชนจำนวนไม่น้อยถูกหลอกลวง โดยกลุ่ม Scampact มักจะเข้าถึงกลุ่มคนแก่-อดีตทหารผ่านศึก โดยสุ่มโทรศัพท์ไปที่บ้านของคนกลุ่มนี้ทำนองว่า กลุ่มเราจะระดมทุนเพื่อทำแคมเปญผลักดันเรื่องนโยบายผลประโยชน์ให้คนกลุ่มนี้หลงเชื่อ และโอนเงินมาให้เป็นจำนวนไม่น้อย
“ขณะนี้เรื่อง Scampact กำลังคุกคามชีวิตคนอเมริกัน ไม่น้อยไปกว่าประเด็น Superpact และมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวขึ้นไปอีก อย่างไรก็ดีเชื่อว่าภาครัฐกำลังหาทางแก้ไขปัญหาอยู่”
หลายคนคงพอเห็นภาพแล้วว่า องค์กรอย่าง FEC ทำหน้าที่อย่างไร มีความสำคัญอย่างไรกับการเลือกตั้งในสหรัฐฯ และคล้ายคลึงกับ กกต. บ้านเรามากน้อยแค่ไหน
อย่างไรก็ดีผมมีประเด็นที่น่าสนใจมาฝาก เชื่อกันหรือไม่ว่า ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ยังไม่ได้ยื่นแบบแสดงภาษีให้ภาครัฐ หรือประชาชนรับรู้ ?
ตามที่ผมอธิบายไว้ด้านบนแล้วว่า ตามกฎหมายสหรัฐฯ นักการเมืองระดับ Candidate (แน่นอน ครอบคลุมถึงนายทรัมป์ที่เป็นถึงประธานาธิบดีด้วย) จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินโดยละเอียดแก่สำนักงานจริยธรรมแห่งสหรัฐฯ ส่วนการยื่นทรัพย์สิน และรายได้จากการระดมทุนเพื่อจัดทำแคมเปญหาเสียงนั้นต้องยื่นแก่ FEC
เงื่อนปมสำคัญคือ กฎหมายสหรัฐฯ ไม่ได้บัญญัติว่า นักการเมืองจะต้องยื่นแบบแสดงภาษีให้แก่ภาครัฐ หรือเปิดเผยให้ประชาชนรับรู้ด้วย นั่นหมายความว่า นายทรัมป์ที่ปัจจุบันยื่นบัญชีทรัพย์สิน และรายได้ต่าง ๆ แก่สำนักงานจริยธรรมแห่งสหรัฐฯ และ FEC ไปแล้ว จะยื่น หรือไม่ยื่นแบบแสดงภาษีประกอบให้ภาครัฐรับรู้ด้วยก็ได้
ทว่า เพราะเป็น ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ นั่นเอง ที่ทำให้ประชาชนทุกคนสนใจ และเริ่มเรียกร้องให้ยื่น และเปิดเผยแบบแสดงภาษีให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ เนื่องจากประธานาธิบดีคนก่อนหน้านี้หลายราย ต่างก็แสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการยื่นแบบแสดงภาษีกันทั้งนั้น
ทั้งหมดคือกระบวนการเกี่ยวกับการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ที่อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะมีการเลือกตั้ง ‘กลางเทอม’ หรือเลือก ส.ส. ที่พรรคการเมืองใหญ่เริ่มขยับตัวกันบ้างแล้ว
สวนทางกับการเลือกตั้งในประเทศไทย ที่แม้รัฐบาลจะยืนยันว่า อาจเกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.พ.-พ.ค. 2019 ก็ตาม แต่ก็เป็นการเลื่อนมาอีกครั้งต่อกี่ครั้งแล้วก็ไม่รู้ ทำให้ประชาชนเริ่ม ‘หมดศรัทธา’ ในคำพูดของตัว ‘ท่านผู้นำ’ แล้ว ไม่มากก็น้อย
ระหว่างไทย กับสหรัฐอเมริกา ประเทศไหนจะมีการเลือกตั้งก่อนกัน คงเดาได้ไม่ยาก ?
อ่านประกอบ :
เมื่อคนอเมริกันถามแต่เรื่อง'ถ้ำหลวง' ไขคำตอบทำไมข่าวนี้โด่งดังข้ามโลก?
ชำแหละขบวนการ‘ล็อบบี้ยิสต์’ เมื่อสื่อเต็มใจตกเป็นเครื่องมือกลุ่มทุน-การเมือง?
เลาะ‘ดี.ซี.’เล่าฉากหลัง 4สถานที่ประวัติศาสตร์-ตามไปดู รร.ต้นกำเนิดล็อบบี้ยิสต์
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายโดนัลด์ ทรัมป์ จาก static.politico.com