ไม่ต้องเน้นแพลตฟอร์ม! เหตุผลทำไมอาจารย์ ม.นิวยอร์คบอกงานข่าว Content สำคัญสุด?
“…Content คือแก่นของการทำข่าวทั้งหมด เพราะว่าเทคโนโลยีมีการพัฒนาใหม่ ดังนั้นจึงต้องเรียนรู้กันตลอดเวลา แต่ Content เป็นสิ่งที่จะไม่เปลี่ยนแปลง มันคือรากฐานของการวิเคราะห์ข้อมูล และการจับประเด็น เพื่อนำไปสู่การรายงานข่าวขั้นสูง หรือการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องก้าวล้ำนำเทคโนโลยี เพราะมันเป็นไปไม่ได้ แต่อยู่ที่ว่าเมื่อเราจับจุด Content ได้แล้ว จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ควบคู่ไปด้วยกันได้อย่างไร…”
ปัจจุบันสื่อกำลังได้รับการจับตาจากประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ ‘ถ้ำหลวง’ การรายงานข่าวของสื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีบางแห่งทำไม่เหมาะสม บางแห่งทำได้ดีตามหลักจรรยาวิชาชีพ เป็นต้น เกิดเป็นแรงสั่นสะเทือนย้อนไปยังวงการสื่อว่า ตกลงแล้วตัวเขาเองยังคงมีบทบาทขนาดไหนในการรายงานข้อเท็จจริง และชี้นำประชาชนไปสู่แสงสว่าง
หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ในยุคที่ ‘สื่อใหม่’ เข้ามามีบทบาทต่อผู้คน และพลิกโฉมทุกองคาพยพในสังคม ‘สื่อเก่า’ ปรับตัวมากน้อยแค่ไหนเพื่อให้เท่าทัน เริ่มสังเกตได้ว่า องค์กรสื่อขนาดยักษ์ใหญ่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะองค์กรประเภทหนังสือพิมพ์ที่เริ่มรับนักข่าวหน้าใหม่เข้ามา โดยเพิ่มคุณสมบัติหลายอย่างนอกเหนือจากการทำข่าว เช่น ต้องถ่ายภาพ ถ่ายวีดีโอ ตัดต่อได้ และที่สำคัญต้องโพสต์ข้อความ หรือทำงานผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คได้ด้วย
ปัจจุบันองค์กรสื่อเหล่านี้ เผชิญวิกฤติปัญหาด้านการเงิน จนนำไปสู่การละเลย-เพิกเฉย ไม่ว่าโดยตั้งใจหรือไม่ ในการรับนักข่าวใหม่เข้ามา ไม่คำนึงถึงทักษะด้านรายงานข่าวอีกต่อไป แต่เน้นว่า นักข่าวแต่ละรายต้องทำงานได้ทุก ‘แพลตฟอร์ม’ เช่น เขียนข่าว ถ่ายภาพ-วีดีโอ ตัดต่อคลิป ได้ทั้งหมด เป็นต้น
เมื่อย้อนกลับไปถึงรากฐานการศึกษาภาควิชาวารสารศาสตร์ ภาควิชาสำคัญที่ปั้นนักนักข่าวป้อนเข้าสู่ตลาดสื่อภายในรั้วมหาวิทยาลัย หลายแห่งนับตั้งแต่เริ่มมี ‘สื่อใหม่’ เข้ามา เริ่มปรับหลักสูตรมาทางออนไลน์มากขึ้น และเริ่มละเลยการเรียนการสอนแบบเน้น ‘การจุดประเด็น-ตั้งคำถาม’ แก่นักศึกษา แต่เน้นสอนให้ทำได้หลายแพลตฟอร์มมากกว่า
ช่วงอยู่ที่นิวยอร์ค ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับคุณ Carrie Brown อาจารย์ภาควิชาวารสารศาสตร์แห่ง Graduate School of Journalism – City University of New York ผู้มีประสบการณ์สอนนักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรี และปริญญาโทมาหลายสิบปี รวมถึงค้นคว้าบทวิจัย-ตำราต่าง ๆ เกี่ยวกับหลักวารสารศาสตร์ นอกจากนี้ยังเคยเป็น Commentator ผ่านสถานีโทรทัศน์ชื่อดังในสหรัฐฯหลายแห่ง
หลังจากเธอเล่ากระบวนการสอนวิชาวารสารศาสตร์ ที่มุ่งเน้นให้เด็กตั้งคำถาม วิเคราะห์ข้อมูล และลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือบางครั้งทำโพลล์ขึ้นมารายงานสถานการณ์ หรือบางเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นแล้วนั้น ประเด็นที่น่าสนใจคือ เธอแทบไม่เอ่ยถึงเลยว่า นักข่าวจำเป็นต้องทำได้หลายแพลตฟอร์ม แค่มุ่งเน้นการวิเคราะห์ประเด็นให้แตกฉานก่อน จึงค่อยขยายไปสู่เรื่องอื่น ๆ ทีหลัง
ผมเล่าสถานการณ์ในไทยให้เธอฟังว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยหลายแห่งในไทยที่สอนภาควิชาวารสารศาสตร์ มุ่งเน้นการสอนให้เด็กทำหลายแพลตฟอร์ม มากกว่าสอนให้เด็กตั้งประเด็น-ตั้งคำถาม หรือพูดง่าย ๆ ว่า ไม่ใส่ใจ ‘Content’ ที่เรียกว่าเป็นแก่นของวิชานี้ ทำให้นักศึกษาจบใหม่ออกมา ค่อนข้างไม่ค่อยมีคุณภาพ บางรายเขียนข่าวไม่เป็น จับประเด็นไม่ได้ ใช้เป็นแต่อุปกรณ์เท่านั้น ก่อนถามเธอว่า ในสหรัฐฯมีสถานการณ์แบบนี้ไหม
เธอเล่าว่า เจอเหมือนกัน ขณะนี้เป็นความท้าทายของหลายมหาวิทยาลัย และเรากำลังแก้ไขปัญหานี้กันอยู่ เพราะบางแห่งต้องการให้นักศึกษามีหลายทักษะ มีความยืดหยุ่นในวิธีการทำงานข่าว แต่มันเป็นไปไม่ได้สำหรับมนุษย์ที่จะยอดเยี่ยมทุกอย่าง ความเชี่ยวชาญของเด็กแตกต่างกัน และต้องอาศัยเวลาในการพัฒนาแต่ละทักษะ อย่างไรก็ดีแก่นของภาควิชานี้คือ ‘Content is king’ เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้
ผมถามอีกว่า เมื่อเจอความท้าทายแบบนี้ มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯปรับตัวยังไงให้สอนแบบแพลตฟอร์ม ควบคู่ไปกับ คอนเทนต์ หรือว่าเน้นหนักอย่างใดอย่างหนึ่ง
“Content สำคัญที่สุด” เธอยืนยัน
ก่อนอธิบายว่า Content คือแก่นของการทำข่าวทั้งหมด เพราะว่าเทคโนโลยีมีการพัฒนาใหม่ ดังนั้นจึงต้องเรียนรู้กันตลอดเวลา แต่ Content เป็นสิ่งที่จะไม่เปลี่ยนแปลง มันคือรากฐานของการวิเคราะห์ข้อมูล และการจับประเด็น เพื่อนำไปสู่การรายงานข่าวขั้นสูง หรือการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องก้าวล้ำนำเทคโนโลยี เพราะมันเป็นไปไม่ได้ แต่อยู่ที่ว่าเมื่อเราจับจุด Content ได้แล้ว จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ควบคู่ไปด้วยกันได้อย่างไร
ผมยกตัวอย่างสถานการณ์ในไทยอีกว่า ปัจจุบันสถานการณ์สื่อในไทยค่อนข้างวิกฤติ นอกเหนือจากปัญหาการเมืองแล้ว คือปัญหาด้านการเงิน ทำให้หลายองค์กรต้องลดค่าใช้จ่ายลง มีการให้พนักงานเก่าเออรี่รีไทร์ และเปิดรับนักข่าวใหม่เข้ามา โดยกำหนดคุณสมบัติให้ทำได้หลายอย่างข้างต้น ดังนั้นมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องปรับตัวเรื่องการสอนให้รองรับตลาดแรงงานสื่อดังกล่าวด้วย ในสหรัฐฯเป็นอย่างนั้นหรือไม่
เธอบอกว่า ใช่ สถานการณ์ในสหรัฐฯตอนนี้ก็เป็นแบบนี้เช่นกัน แต่เรากำลังแก้ไขปัญหาอยู่ เพราะเราเชื่อว่า ท้ายที่สุดมันจะกลับมาสู่การจัดการ Content มากกว่าการทำหลายแพลตฟอร์ม เพราะช่วงที่ยุคสื่อใหม่เข้ามาตอนแรก องค์กรสื่อหลายแห่งเริ่มปรับตัวในลักษณะนี้เช่นกัน แต่ผ่านมาหลายปีเขารู้แล้วว่ามันไม่เวิร์ค ไม่เข้าท่า จึงเริ่มหวนกลับไปสู่แก่นของการทำข่าวคือ ‘Content is king’ อีกครั้ง
“หลังจากผ่านการบูมของโซเชียลเน็ตเวิร์คมาหลายปี ในที่สุดสื่อในสหรัฐฯก็คิดได้แล้วว่า ทุกอย่างต้องกลับมาสู่ Content เพราะคนอเมริกาเริ่มตั้งคำถามการทำงานของสื่อว่าไม่แหลมคมเหมือนเคย ทำแต่ข่าวฉาบฉวย ทำให้หลายมหาวิทยาลัยเริ่มปรับตัวเข้าสู่จุดเดิมคือ การมุ่งเน้นสอนเรื่อง Content แต่ไม่ทิ้งเรื่องเทคโนโลยี แต่อาจให้ความสำคัญน้อยลง”
ผมถามกลับไปว่า นอกเหนือจากมหาวิทยาลัยแล้ว ปัจจัยอีกอย่างคือ ผู้อ่าน หรือผู้เสพข้อมูลข่าวสารด้วยใช่หรือไม่ ?
เธออธิบายว่า คนอเมริกันค่อนข้างมีวิจารณญาณพอสมควรในการแยกแยะข้อมูลข่าวสารว่า เรื่องไหนเป็นประเด็นสำคัญ หรือเรื่องไหนทำมาฉาบฉวยเรียกยอดไลค์ ยอดแชร์ หรือเน้นเม็ดเงินโฆษณา แม้ว่าปัจจุบันคนอเมริกันจำนวนมากจะชื่นชอบข่าวดราม่า แต่เขาก็เสพข่าวหนักอื่น ๆ เช่น ข่าวการเมือง เศรษฐกิจ ไปพร้อม ๆ กันด้วย
แน่นอนถึงบรรทัดนี้หมายความว่า หมดเวลา ผมต้องจบบทสนทนากับเธอเพียงเท่านี้ แม้จะยังมีหลายเรื่องให้ถามอีกมาก ผมกล่าวขอบคุณสำหรับประสบการณ์ และคำตอบที่ค่อนข้างแหลมคมเกี่ยวกับการเรียนการสอนสื่อมวลชนในมหาวิทยาลัย
ตอนหน้า พบกับสำนักข่าวที่อ้างตัวว่า ‘เป็นกลาง’ ที่สุดในสหรัฐฯ ทำข่าวการเมือง-สืบสวนสอบสวนทุกฝ่าย ไม่ไว้หน้าเดโมแครต-รีพับลิแกนทั้งสิ้น วิธีคิดของเขาน่าสนใจมาก โปรดติดตาม
อ่านประกอบ :
ทำความเข้าใจการเมืองสหรัฐฯ จ้าง‘ล็อบบี้ยิสต์’ทำไม-ใครได้ประโยชน์ที่แท้จริง?
ทำความรู้จัก‘ธนาคารอาหาร’ในสหรัฐฯ ช่องทางพีอาร์-ลดหย่อนภาษี‘เจ้าสัวมะกัน’?
จับเข่าคุยนักข่าว‘รุ่นเดอะ’ถึงบทบาทสื่อสหรัฐฯยุคออนไลน์-ข่าวสืบสวนจะตายจริงหรือ?
ตามไปดูพิพิธภัณฑ์ 9/11 บทบาทสื่อในเหตุการณ์-รู้ไหมนักข่าวสายไหนรายงานกลุ่มแรก?
อนาคตเสรีภาพสื่อไทยในสายตา CPJ องค์กรปกป้องสิทธินักข่าว-ความท้าทาย'โลกหมุนขวา'
เปิดภาพชุด นสพ.สหรัฐฯ-ทั่วโลกพร้อมใจตีข่าวช่วย‘ทีมหมูป่า’
ทำความรู้จักกลุ่มระดมทุนหาเสียงสหรัฐฯ-รู้ยัง‘ทรัมป์’ไม่ยื่นแบบภาษีให้สังคมตรวจสอบ?
เมื่อคนอเมริกันถามแต่เรื่อง'ถ้ำหลวง' ไขคำตอบทำไมข่าวนี้โด่งดังข้ามโลก?
ชำแหละขบวนการ‘ล็อบบี้ยิสต์’ เมื่อสื่อเต็มใจตกเป็นเครื่องมือกลุ่มทุน-การเมือง?
เลาะ‘ดี.ซี.’เล่าฉากหลัง 4สถานที่ประวัติศาสตร์-ตามไปดู รร.ต้นกำเนิดล็อบบี้ยิสต์