เปิดภาพชุด นสพ.สหรัฐฯ-ทั่วโลกพร้อมใจตีข่าวช่วย‘ทีมหมูป่า’
เปิดภาพชุด นสพ.สหรัฐฯ-ต่างประเทศ ตีข่าวปฏิบัติการช่วยเหลือ ‘ทีมหมูป่า’ ปรากฏการณ์ ‘ดราม่า’ อเมริกันชนนิยมมาก
ปรากฏการณ์สื่อทั่วโลกตีแผ่มหากาพย์ช่วยเหลือ ‘ทีมหมูป่า’ เด็ก-โค้ชรวม 13 ราย ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง จ.เชียงราย กลายเป็นหนึ่งข่าวสำคัญที่เขย่าวงการอยู่ในขณะนี้ แม้ว่าปัจจุบันทีมหมูป่าทั้งหมดจะถูกช่วยเหลือออกมาได้อย่างปลอดภัยแล้วก็ตาม
ประเด็นข่าวนี้ ศาสตราจารย์ด้านสื่อสารมวลชนจากมหาวิทยาลัยชื่อดังในสหรัฐอเมริกา เคยวิเคราะห์ให้ผมฟังแล้วว่า ข้อเท็จจริงคือ เหตุการณ์นี้เปรียบเสมือน ‘ละคร’ มันดราม่ามากกว่าเรื่องราวทั่วไป เหมือนเรื่องราวการผจญภัย และไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต จุดสิ้นสุดเรื่องนี้จะอยู่ตรงไหน และนั่นคือสิ่งที่คนอเมริกันชอบมาก มันถูกใจชาวอเมริกัน (อ่านประกอบ : เมื่อคนอเมริกันถามแต่เรื่อง'ถ้ำหลวง' ไขคำตอบทำไมข่าวนี้โด่งดังข้ามโลก?)
และนับตั้งแต่ผมมีโอกาสได้สูดกลิ่นเมืองวอชิงตัน ดี.ซี. ปัจจุบันเข้าวันที่ 4 แล้ว ประเด็นเหล่านี้ยังคงถูกถามถึงจากบรรดาคนอเมริกันที่ผมได้พบปะพูดคุยด้วยเสมอ ๆ
เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2018 ที่ผ่านมา (วันที่ในสหรัฐอเมริกา ถ้าในไทยคงล่วงเข้าช่วงเช้าวันที่ 12 ก.ค. 2018) ผมได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์เรื่องสิทธิและเสรีภาพสื่อ หรือ Newseum ในเมืองวอชิงตัน ดี.ซี. ตั้งอยู่บนถนนอินดีเพนเดนซ์ (ถนนอิสรภาพ) ตัวตึกสูงตระหง่านตระการตา ขนาบข้างด้วยสภาคองเกรส และศูนย์ราชการสำคัญ ๆ ของสหรัฐอเมริกา
‘ซาร่า’ ไกด์สาวประจำ Newseum ที่พาผมทัวร์ เล่าติดตลกให้ฟังว่า เวลาเกิดเหตุการณ์ประท้วงในสหรัฐฯ ผู้คนมักชุมนุมกันที่ถนนเส้นนี้ และดาดฟ้าของสถานที่แห่งนี้คือหนึ่งใน ‘แลนด์มาร์ค’ ของสื่อมวลชนที่ชอบมาตั้งกล้องเพื่อถ่ายภาพแบบ ‘Bird eye view’ หรือการถ่ายมุมสูงนั่นเอง
ความน่าสนใจของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ นอกจากก่อตั้งขึ้นเพื่อเล่าประวัติศาสตร์การก่อกำเนิดของเสรีภาพสื่อ ตามรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ มาตรา 1 ที่บัญญัติสาระสำคัญไว้ คือ เสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการชุมนุม เสรีภาพของสื่อ และเสรีภาพในการใช้ชีวิตแล้วนั้น สิ่งที่ทำให้ผมประทับใจคือ การติดหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์เกือบทั่วทุกมุมโลกโชว์ให้ประชาชนรับทราบทั้งด้านนอก และด้านในตัวตึกด้วย
“เจ้าหน้าที่ของเราจะเข้ามาทำงานตั้งแต่ประมาณตีห้าเศษ เพื่อรวบรวมหนังสือพิมพ์จากทั่วโลกประมาณ 2,000 ฉบับ คัดแยกเหลือหนังสือพิมพ์ในสหรัฐฯประมาณ 30 ฉบับ และทั่วโลกประมาณ 50 ฉบับ โดยเน้นข่าวพาดหัวที่น่าสนใจ นำมาติดให้ประชาชนอ่าน” ไกด์ ‘ซาร่า’ อธิบาย
ขณะยืนไล่อ่านหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์เหล่านี้ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ในสหรัฐฯ นอกเหนือจากประเด็นนายโดนัลด์ ทรัมป์ ถูกวิจารณ์ กรณีแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสหรัฐฯ ที่มีหัวคิดอนุรักษ์นิยม และมีสายสัมพันธ์ที่ดีทางการเมืองกับนายจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช (คนลูก) และพรรครีพับลิแกนแล้ว
ผมยังเจอหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ และหนังสือพิมพ์ในสหรัฐฯหลายฉบับนำข่าวเหตุการณ์ช่วยเหลือทีมหมูป่าออกจากถ้ำในประเทศไทยมาขึ้นเป็น ‘พาดหัว’ หน้าหนึ่ง และมีภาพประกอบสวยงามชวนอ่านด้วย อย่างไรก็ดีมีหนังสือพิมพ์เยอะมากที่ตีข่าวเรื่องนี้ ผมจึงถ่ายภาพมาให้ดูได้แค่บางส่วนเท่านั้น (ดูภาพประกอบได้ท้ายรายงาน)
นับเป็นอีกเรื่องที่โล่งใจ และหวังว่าในอนาคตคงไม่เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงเช่นนี้ขึ้นอีก ?
อ่านประกอบ :
ทำความรู้จักกลุ่มระดมทุนหาเสียงสหรัฐฯ-รู้ยัง‘ทรัมป์’ไม่ยื่นแบบภาษีให้สังคมตรวจสอบ?
เมื่อคนอเมริกันถามแต่เรื่อง'ถ้ำหลวง' ไขคำตอบทำไมข่าวนี้โด่งดังข้ามโลก?
ชำแหละขบวนการ‘ล็อบบี้ยิสต์’ เมื่อสื่อเต็มใจตกเป็นเครื่องมือกลุ่มทุน-การเมือง?
เลาะ‘ดี.ซี.’เล่าฉากหลัง 4สถานที่ประวัติศาสตร์-ตามไปดู รร.ต้นกำเนิดล็อบบี้ยิสต์