หลังฉากข่าว‘ทรัมป์’จ่ายเงินปิดปาก‘กิ๊ก’ เส้นแบ่งความเป็นส่วนตัว vs ปย.สาธารณะ?
“ก่อนหนังสือพิมพ์เขาฉบับเช้าจะตีพิมพ์ เขารีบเขียนคำสารภาพผิดว่า เขาดื่มไวน์ 3 แก้ว และถูกตำรวจจับ พร้อมยอมรับโทษสูงสุด เนื่องจากเป็นบุคคลสาธารณะ และกังวลว่าอาจถูกนักข่าว นักการเมือง หรือใครก็ตามหาผลประโยชน์จากคดีของเขา เขาส่งคำสารภาพผิดนี้ให้เจ้าของหนังสือพิมพ์ตีพิมพ์ แม้ถูกทักท้วง เขาไม่สนใจ รุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ตีพิมพ์คำสารภาพผิดเขา นี่คือหนึ่งในวิธีรักษาจรรยาบรรณ หรือจริยธรรมวิชาชีพที่ผมชื่นชมมาก และผมคิดว่านักการเมืองควรต้องมีสิ่งเหล่านี้”
ผมอยู่สหรัฐอเมริกาครบ 2 สัปดาห์แล้ว หลังได้โควตาจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ผ่านสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย เชิญมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานข่าวของประเทศไทยกับเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง นักข่าว นักวิชาการด้านสื่อในสหรัฐฯ พร้อมกับนักข่าวอีก 3 ราย และล่าม 2 ราย ดังที่เล่าไปแล้ว
ปัจจุบันผมอยู่ในเมืองเทมป้า รัฐฟลอริด้า ทางตะวันออกเฉียงใต้ติดกับอ่าวเม็กซิโก หลังจากไปผจญภัยในวอชิงตัน ดี.ซี. และมหานครนิวยอร์คมานานนับสัปดาห์ และในเมืองเทมป้านี้เอง ที่ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับนักข่าวอาวุโส ผู้เคยทำข่าวได้สารพัดรางวัล จนไม่อาจสาธยายในที่นี้ได้หมด โดยเฉพาะการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนในสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดีมีประเด็นที่น่าสนใจจากการเมืองสหรัฐฯอยู่ นั่นคือ กรณี Donald Trump ประธานาธิบดีสุดอื้อฉาวแห่งสหรัฐฯ นอกเหนือจากโดนสื่อขุดคุ้ยเรื่องการให้เงินกับรัสเซียเพื่อแทรกแซงการเลือกตั้งเมื่อปี 2016 จนให้ตัวเองได้เก้าอี้ รวมถึงการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม และชอบพรรครีพับลิแกน (พรรคสังกัด Donald Trump) เป็นการส่วนตัวแล้ว
ยังมีประเด็นที่ Donald Trump โดนสื่อขุดคุ้ยว่า มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับอดีตดาราภาพยนตร์ 18+ ในสหรัฐฯ โดยจ่ายเงินปิดปากไม่ให้แฉผ่านสื่อเมื่อประมาณ 15 ปีก่อน กระทั่งเรื่องเพิ่งแดงในช่วงหลังได้รับเลือกนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีอีกด้วย
ข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์ และสื่อทุกแห่งของสหรัฐฯในวันที่ 20 ก.ค. 2018 (ที่เมืองไทยคงล่วงเข้าสู่เช้าวันที่ 21 ก.ค. 2018) คือ กรณีนิติกรส่วนตัวของประธานาธิบดี (อดีตทนายความส่วนตัวของ Donald Trump) นำเทปลับบทสนทนาการจ่ายเงินให้กับอดีตดาราภาพยนตร์ 18+ เมื่อ 15 ปีก่อนมาแฉ และให้เทปลับดังกล่าวแก่เจ้าหน้าที่สืบสวนคดีพิเศษ หรือ FBI เพื่อสอบสวนเส้นทางการเงินแล้ว
ไม่ว่าอนาคตทางเมืองของ Donald Trump จะเป็นอย่างไร
แต่คำถามสำคัญที่ผุดขึ้นในหัวของผมคือ เส้นแบ่งระหว่างความเป็นส่วนตัว และผลประโยชน์สาธารณะ ของนักการเมืองระดับชาติอยู่ตรงไหน ?
เพราะต้องไม่ลืมว่า ที่ประเทศไทยเท่าที่ผมนึกออกมีอย่างน้อย 1-2 กรณีที่เส้นแบ่งนี้ถูกตั้งคำถาม เช่น เมื่อช่วงปี 2012 อดีตนายกรัฐมนตรีไทยรายหนึ่ง ถูกสื่อขุดคุ้ยว่ามีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับนักธุรกิจชื่อดัง โดยเดินทางไปพักที่โรงแรมชื่อดังพร้อมกัน หรือย้อนกลับไปไกลกว่านั้นคืออดีตนายกรัฐมนตรี พรรคเก่าแก่ของไทย มีลูกนอกสมรส และบ่ายเบี่ยงที่จะตอบประเด็นนี้กับสื่อตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
ทำไมสื่อหลายแห่ง โดยเฉพาะสื่อที่นิยมพรรคเดโมแครต (พรรคเสรีนิยม คู่แข่งพรรครีพับลิแกน ส่วนประเด็นสื่อที่นี่เลือกข้างทางการเมืองได้อย่างเสรี ผมจะนำมาเสนออีกครั้งในตอนถัด ๆ ไป) ต่างนำประเด็นจ่ายเงินปิดปากดาราภาพยนตร์ 18+ มาพาดหัวข่าวกันคึกโครมได้ โดยไม่เคอะเขิน หรือแคร์ความเป็นส่วนตัว Donald Trump เลย ?
“เมื่อคุณมาเป็นประธานาธิบดี ประชาชนเขาเลือกคุณเพราะว่าบุคลิก หรือลักษณะนิสัย ไม่ใช่ที่นโยบาย หรือแนวคิดทางการเมืองของคุณเป็นหลัก ประชาชนจะดูว่าคนที่จะมาเป็นประธานาธิบดีของพวกเขานั้น มีการตัดสินใจอย่างไรบ้าง”
เป็นคำยืนยันจากนักข่าวผู้คร่ำหวอดในแวดวงการเมือง และทำข่าวสืบสวนสอบสวนอย่างเข้มข้น คว้าสารพัดรางวัลมาหลายถ้วยจนเต็มตู้โชว์ไปหมดอย่าง Alan Tompkins ที่ปัจจุบันผันตัวไปเป็น ‘ครู’ สอนเทคนิคชั้นสูงแก่นักข่าวมืออาชีพในสถาบัน Nelson Poynter แห่งรัฐฟลอริด้า ให้คำตอบ
เขาขยายความว่า ย้อนกลับไปสมัยก่อนเกิดเหตุการณ์ 9/11 (เหตุการณ์ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2001 จนพลิกโฉมหน้าสหรัฐฯมาถึงปัจจุบัน) ประชาชนเลือก George W. Bush Jr. (บุชคนลูก) นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขาเลือกเพราะเชื่อว่า จะเปลี่ยนแปลงนโยบายสุขภาพประชาชนให้ดีขึ้น แต่เขาดำรงตำแหน่งได้แค่ 7 เดือน ก็เกิดเหตุการณ์ 9/11 ทำให้สหรัฐฯเบนเข็มไปสู่สงครามกับผู้ก่อการร้าย และเลิกสนใจเรื่องผลประโยชน์ประชาชนไปเลย
ต่อมาเมื่อปี 2008 ประชาชนเลือก Barrack Obama นั่งเก้าอี้เป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกแห่งสหรัฐฯ ประชาชนที่เบื่อหน่ายกับพรรครีพับลิแกน ต่างเชื่อว่าผู้นำในพรรคเดโมแครตจะแก้ปัญหาระบบประกันสุขภาพได้ (แต่นโยบายโอมาบาแคร์ถูกวิพากษ์วิจารณ์เสียกระจุย (ฮา) – ผู้เขียน) อย่างไรก็ดี Obama นำพาประเทศไปสู่จุดต่ำสุดทางเศรษฐกิจ ย่ำแย่ที่สุดในรอบ 60 ปี
กระทั่งปี 2016 ที่ผ่านมา ประชาชนจำนวนมากเล็งเห็นที่ผลประโยชน์ของตัวเองที่ทำงานหนัก แต่กลับถูกรัฐบาลนำไปจุนเจือ หรือ ‘โอ๋’ ผู้อพยพมากเกินควร ทำให้ผู้นำจากพรรครีพับลิแกนกลับมาได้รับชัยชนะอีกครั้ง Donald Trump ประกาศกร้าวอย่างยิ่งใหญ่ว่า ‘Make America Great Again’ ท่ามกลางความหวังของประชาชนที่ยังเชื่อว่า ระบบประกันสุขภาพของตัวเองจะได้รับการเปลี่ยนแปลง (ส่วนโอบามาแคร์ถูกตั้งคำถามเรื่องสิทธิของประชาชน)
“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนเลือกประธานาธิบดี เขาจะดูจากบุคลิก ลักษณะนิสัยเป็นหลัก ไม่ใช่เรื่องผู้นำทางธุรกิจ ผู้นำทางการเมือง หรือผู้ทำให้การเงินสมดุล”
เขาอธิบายสั้น ๆ ได้ใจความว่า สาเหตุที่สื่อจำเป็นต้องตีข่าว และวิพากษ์วิจารณ์ Trump เรื่องนี้ เพราะว่า ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เขาเป็นคนที่โจมตีอดีตประธานาธิบดี Bill Clinton (สามี Hillary Clinton อดีต รมว.ต่างประเทศ ยุค Obama) ว่า เป็นพวกเจ้าชู้ หลายใจ มีผู้หญิงเยอะ
“แล้วดูสิ่งที่เขาทำสิ ผมจะบอกให้ว่า ช่วงที่เขาวิจารณ์ Bill Clinton ตอนนั้นเขายังมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับกิ๊กคนนี้อยู่เลย แล้วคนอย่างนี้เหรอจะมาเป็นประธานาธิบดีปกครองพวกเรา”
“สิ่งที่ผมอยากจะพูดคือ แน่นอนนักข่าวต้องเคารพสิทธิความเป็นส่วนตัว แต่มันต้องมีบางช่วงเวลาที่เราต้องชั่งน้ำหนักดูว่า ความเป็นส่วนตัวนั้น เกี่ยวพันและรักษาผลประโยชน์ของประชาชนหรือไม่”
Alan ยกตัวอย่างเรื่องจริงว่า มีอดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ชื่อดังแห่งหนึ่งในเมืองฟลอริด้า ผู้ได้รับความเชื่อถือจากสังคม และเขียนเรื่องราวได้แหลมคมมาโดยตลอด อยู่มาวันหนึ่ง เขาไปงานปาร์ตี้ ดื่มไวน์ 3 แก้ว จนถูกตำรวจจับวัดแอลกอฮอล์ ท้ายสุดแอลกอฮอล์ในเลือดเขาเกินกว่ากฎหมายกำหนด เขายอมเสียค่าปรับ และยอมรับผิดว่า แม้จะดื่มไวน์แค่ 3 แก้ว แต่แอลกอฮอล์ก็เกิน
“ก่อนหนังสือพิมพ์เขาฉบับเช้าจะตีพิมพ์ เขารีบเขียนคำสารภาพผิดว่า เขาดื่มไวน์ 3 แก้ว และถูกตำรวจจับ พร้อมยอมรับโทษสูงสุด เนื่องจากเป็นบุคคลสาธารณะ และกังวลว่าอาจถูกนักข่าว นักการเมือง หรือใครก็ตามหาผลประโยชน์จากคดีของเขา เขาส่งคำสารภาพผิดนี้ให้เจ้าของหนังสือพิมพ์ตีพิมพ์ แม้ถูกทักท้วง เขาไม่สนใจ รุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ตีพิมพ์คำสารภาพผิดเขา นี่คือหนึ่งในวิธีรักษาจรรยาบรรณ หรือจริยธรรมวิชาชีพที่ผมชื่นชมมาก และผมคิดว่านักการเมืองควรต้องมีสิ่งเหล่านี้” เขายืนยัน
เป็นอีกคำอธิบายที่ค่อนข้างน่าสนใจสำหรับเส้นแบ่งความเป็นส่วนตัว และผลประโยชน์สาธารณะ ในทัศนะของนักข่าวมากประสบการณ์ อย่างไรก็ดีข้อจำกัดสำคัญคือ ระบบการเมืองของไทย และสหรัฐฯแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้ยังมีเรื่องระบบคิด และจิตสำนึกพลเมืองก็ต่างกันลิบลับอีกด้วย
ลืมไปเลย ผมบอกในตอนที่แล้วว่า ตอนนี้จะเขียนเกี่ยวกับสำนักข่าวที่อ้างตัวว่า ‘เป็นกลาง’ ในสหรัฐฯ ท่ามกลางวิกฤติความขัดแย้งของการเมือง 2 ขั้ว แต่กลับมาเขียนเรื่องนี้เสียก่อน (เพราะเห็นว่าเป็นข่าวร้อน และที่ไทยหากใครสนใจสถานการณ์ข่าวต่างประเทศคงได้อ่านเรื่องทนายแฉเรื่องนี้แล้ว)
เอาเป็นว่า คราวหน้า (จริง ๆ) ผมจะนำเสนอเรื่องสำนักข่าวที่ (อ้าง) เป็นกลางให้อ่านกัน โปรดติดตาม
อ่านประกอบ :
ไม่ต้องเน้นแพลตฟอร์ม! เหตุผลทำไมอาจารย์ ม.นิวยอร์คบอกงานข่าว Content สำคัญสุด?
ทำความเข้าใจการเมืองสหรัฐฯ จ้าง‘ล็อบบี้ยิสต์’ทำไม-ใครได้ประโยชน์ที่แท้จริง?
ทำความรู้จัก‘ธนาคารอาหาร’ในสหรัฐฯ ช่องทางพีอาร์-ลดหย่อนภาษี‘เจ้าสัวมะกัน’?
จับเข่าคุยนักข่าว‘รุ่นเดอะ’ถึงบทบาทสื่อสหรัฐฯยุคออนไลน์-ข่าวสืบสวนจะตายจริงหรือ?
ตามไปดูพิพิธภัณฑ์ 9/11 บทบาทสื่อในเหตุการณ์-รู้ไหมนักข่าวสายไหนรายงานกลุ่มแรก?
อนาคตเสรีภาพสื่อไทยในสายตา CPJ องค์กรปกป้องสิทธินักข่าว-ความท้าทาย'โลกหมุนขวา'
เปิดภาพชุด นสพ.สหรัฐฯ-ทั่วโลกพร้อมใจตีข่าวช่วย‘ทีมหมูป่า’
ทำความรู้จักกลุ่มระดมทุนหาเสียงสหรัฐฯ-รู้ยัง‘ทรัมป์’ไม่ยื่นแบบภาษีให้สังคมตรวจสอบ?
เมื่อคนอเมริกันถามแต่เรื่อง'ถ้ำหลวง' ไขคำตอบทำไมข่าวนี้โด่งดังข้ามโลก?
ชำแหละขบวนการ‘ล็อบบี้ยิสต์’ เมื่อสื่อเต็มใจตกเป็นเครื่องมือกลุ่มทุน-การเมือง?
เลาะ‘ดี.ซี.’เล่าฉากหลัง 4สถานที่ประวัติศาสตร์-ตามไปดู รร.ต้นกำเนิดล็อบบี้ยิสต์
หมายเหตุ : ภาพประกอบ Donal Trump จาก cdn.theatlantic.com