- Home
- Isranews
- เวทีทัศน์
- ตะลุย นสพ.ท้องถิ่น Tulsa World หลัง Buffett ซื้อกิจการ-ข่าวสืบสวนจำเป็นอยู่ไหม?
ตะลุย นสพ.ท้องถิ่น Tulsa World หลัง Buffett ซื้อกิจการ-ข่าวสืบสวนจำเป็นอยู่ไหม?
“…แม้แพลตฟอร์มเปลี่ยน แต่ความชัดเจน และข้อเท็จจริงไม่มีวันเปลี่ยน สื่อท้องถิ่นยังคงแข่งขันกันอย่างดุเดือด รัฐนี้มีเรื่องราวหลากหลายให้สืบค้น และถ้าเรารู้ว่าประชาชนสนใจเรื่องไหนเป็นพิเศษ เราจะเข้ามาทำข่าวทันที ที่สำคัญปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยให้เราทำข่าวได้ง่ายขึ้น เช่น โซเชียลเน็ตเวิร์ค หรือฐานข้อมูลรัฐแบบออนไลน์ เป็นต้น…”
(ซ้าย : Randy นักข่าวอาวุโส,ขวา : Jason บก.ข่าวออนไลน์ Tulsa World)
ช่วงท้ายของตอนที่แล้ว ผมเกริ่นยั่วน้ำลายท่านผู้อ่านว่า ตอนนี้จะเขียนถึงสำนักข่าวท้องถิ่นยักษ์ใหญ่แห่งรัฐโอกลาโฮม่า ที่ทำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นยาวนานกว่า 100 ปี ชื่อว่า ‘Tulsa World’ เป็นหนึ่งในสองหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่ยังคงสร้างกำไร และมีผู้อ่านนิยมมาก
กล่าวสำหรับ Tulsa World ตีพิมพ์ฉบับแรกเมื่อปี 1905 หรือ 103 ปีที่แล้ว เบื้องต้นเป็นธุรกิจครอบครัว โดยมุ่งเน้นการทำข่าวในท้องถิ่นเมือง Tulsa แห่งรัฐโอกลาโฮม่า ต่อมาได้ขยายครอบคลุมข่าวทั่วทั้งรัฐ เน้นด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการทำข่าวเชิงสืบสวนเป็นหลัก
ปัจจุบันกิจการ Tulsa World มีนักข่าวทั้งหมด 75 ราย ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์วันละ 55,000 ฉบับ มีหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์อีก 4 ฉบับ มี Magazine รายเดือน และรายปี ในมืออีกรวม 6 ฉบับ และเมื่อปี 1996 เริ่มต้นทำเว็บไซต์ ปัจจุบันมีผู้อ่านออนไลน์ประมาณ 14 ล้านราย/เดือน
(Jason ชี้ให้ดู นสพ.Tulsa World ฉบับปฐมฤกษ์ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1905)
อย่างไรก็ดีประเด็นที่น่าสนใจคือ เมื่อปี 2013 กิจการ Tulsa World ถูกอภิมหาเศรษฐีระดับโลก Warren Buffett เข้ามาเทคโอเวอร์เป็นเจ้าของ (ปัจจุบัน Warren Buffett มีกิจการสื่อ และสิ่งพิมพ์ในสหรัฐฯอย่างน้อย 35 แห่ง)
คำถามสำคัญคือ จากจุดเริ่มต้นของหนังสือพิมพ์ที่เป็นปากเป็นเสียงให้กับคนในท้องถิ่น แต่กลับถูกอภิมหาเศรษฐีนายทุนยักษ์ใหญ่มาเทคโอเวอร์จะส่งผลต่อการทำงานอย่างไร จุดยืนจะเปลี่ยนไปหรือไม่ ?
“การทำงานในกองบรรณาธิการข่าว และสื่อสิ่งพิมพ์อื่น ๆ ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม Warren Buffett เชื่อว่า ห้องข่าวควรอยู่ในการควบคุมของคนในท้องถิ่น และการเข้ามาของเขาทำให้ Tulsa World ลดต้นทุนไปเยอะในการผลิต เนื่องจากเขาเป็นเจ้าของธุรกิจหลายแห่ง ทำให้เข้ามาช่วยเหลือเราในด้านต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี”
เป็นคำยืนยันของคุณ Jason บรรณาธิการข่าวออนไลน์ของ Tulsa World หนึ่งในสองบุคลากรชั้นนำที่เข้ามาพูดคุยกับเรา (อีกรายหนึ่งคือ Randy Krehbiel นักข่าวอาวุโสประจำ Tulsa World)
Jason ยกตัวอย่างว่า จากเดิมบริษัทเรามีเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ประมาณ 500 เครื่อง ซึ่งอาจไม่เพียงพอกับบุคลากร เพราะไม่ใช่มีแต่นักข่าว สมัยเจ้าของเดิมเขาไม่ค่อยสนใจเรื่องการทำกำไรทางธุรกิจเท่าไหร่ แต่เมื่อ Warren Buffett มา เขายกเครื่องใหม่หมดเลย โดยการสั่งคอมพิวเตอร์เข้ามาถึง 50,000 เครื่อง เป็นต้น
“ภายหลังการมาของ Warren Buffett หนังสือพิมพ์ไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องต้นทุน หรือกำไร ทำให้มุ่งเน้นเรื่องการทำข่าวได้อย่างเต็มที่”
อย่างไรก็ดี Jason หลุดมาประโยคหนึ่งบอกว่า การทำข่าวของ Tulsa World มุ่งเน้นการทำประเด็นสำคัญในท้องถิ่น แต่บางครั้งถ้าเป็นข่าวระดับชาติ หรือข่าวที่มี Warren Buffett เกี่ยวข้อง เขาก็จะนำมาใส่ในหน้าหนังสือพิมพ์ด้วย เพราะถือว่าเป็นเจ้านายของเขา
ผมเลยซักว่า ตกลงการเข้ามาของ Warren Buffett ทำให้การทำงานข่าวเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน เพราะ Warren Buffett เป็นอภิมหาเศรษฐี มีธุรกิจในเครือข่ายมากมาย หากวันหนึ่งธุรกิจ Buffett ใน Tulsa มีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น Tulsa World พร้อมจะตีข่าวหรือไม่
Jason นิ่งไปสักครู่ กล่าวสั้น ๆ ว่า “เขา (Warren Buffett) จะไม่เข้ามายุ่มย่ามในเรื่องการทำข่าวของเรา เขาจะเข้ามาที่บริษัทนาน ๆ ครั้งเพื่อมาจัดการด้านการบริหารงาน เขาไม่แทรกแซงการทำงาน ไม่เคยขอดูข่าวแต่ละวัน”
ก่อนอธิบายเพิ่มเติมว่า Warran Buffett เป็นเจ้าของธุรกิจสื่ออีกอย่างน้อย 35 แห่ง ทั้งสื่อระดับชาติที่สนับสนุน Democrat และ Republican และสื่อท้องถิ่นต่าง ๆ ดังนั้นเขาไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจการตีพิมพ์ข่าวของเรา หรือพยายามทำให้ Tulsa World สนับสนุนพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แม้เขาจะเข้ามาเป็น CEO ก็ตาม เขาจะไม่มายุ่มย่ามเรื่องนี้
(บรรยากาศในออฟฟิศของ Tulsa World)
ต่อมาผมถามว่า ปัจจุบันโลกหมุนไปสู่ยุคออนไลน์กันหมดแล้ว หนังสือพิมพ์ Tulsa World เผชิญความท้าทายนี้หรือไม่ และเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
Jason เล่าว่า แน่นอนในยุคนี้เราทำข่าวกันสนุกมาก เพราะมีหลายช่องทางให้เลือกสรร เราปรับนักข่าวว่า จะต้องส่งข่าวให้รวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ หลายเรื่องเรานำมาออนไลน์ก่อนเป็นเรื่องสั้น ๆ ก่อนจะไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ เมื่อก่อนเราแยกส่วนนักข่าวเหมือนกันคือ มีนักข่าวออนไลน์ กับนักข่าวหนังสือพิมพ์ แต่ทดลองแล้วเราว่ามันไม่ได้เรื่อง (หัวเราะ) จึงปรับให้นักข่าวทุกคนทำทั้งออนไลน์ และหนังสือพิมพ์ เราเชื่อว่านักข่าวต้องสามารถทำได้หมด
“จากเดิม Dead Line คือก่อนปิดเล่มหนังสือพิมพ์ ปัจจุบัน Dead Line คือตอนนี้เลย หมายความว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ใดขึ้น Dead Line คุณ (นักข่าว) ก็เกิดขึ้นแล้ว”
แล้วกำไรในการทำหนังสือพิมพ์ยังมีอยู่ไหน มาจากไหน ?
เขาระบุว่า กำไรส่วนใหญ่มาจากการตีพิมพ์โฆษณาทั้งในหนังสือพิมพ์ และเว็บไซต์ สัดส่วนใกล้เคียงกัน แต่สัดส่วนผู้อ่านหนังสือพิมพ์ หรือออนไลน์เรายังไม่ไปถึงจุดที่จะทำกำไรได้ เราพยายามหาวิธีการไปให้ถึงจุดนั้นอยู่ แต่ไม่ว่าการทำข่าวอะไรก็ไม่ได้กำไรมากเท่าตีพิมพ์โฆษณา
“มันไม่ใช่เนื้อหาข่าว หรือการมีทรัพยากรต่าง ๆ ในการประกอบธุรกิจ อย่างไรก็ดีสิ่งที่ต้องยอมรับคือ ถ้าไม่มีเนื้อหาข่าวที่ดี หนังสือพิมพ์ก็ขายไม่ได้”
ปัจจุบันมีสื่อออนไลน์หลายแห่งเกิดขึ้น กังวลเรื่องยอดขายอยู่หรือไม่ ?
Jason ตอบว่า มันเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ แต่ต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่า ปัจจุบันประชาชนอเมริกาจำนวนมากคือกลุ่มคน Baby Boomer (กลุ่มคนที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงปี 1950-1960) และคนกลุ่มนี้ยังนิยมเสพสื่อแบบเก่าอยู่ ไม่นิยมอ่านออนไลน์ ดังนั้นเราจึงได้กลุ่มนี้เป็นเป้าหมาย แม้ปัจจุบันสื่อสิ่งพิมพ์ลดลง ออนไลน์มากขึ้น แต่วัฒนธรรมการดื่มกาแฟ แกล้มอ่านหนังสือพิมพ์ช่วงเช้า ยังคงได้รับความนิยมอยู่มากในหมู่อเมริกันชน
(หน้าหนึ่ง นสพ. Tulsa World ตีพิมพ์ข่าว Elvis Presly ราชันย์ Rock n' roll เสียชีวิต)
ผมถามว่า ปัจจุบันข่าวสืบสวนสอบสวนยังมีคนอ่านอยู่หรือไม่
Jason ตอบว่า ยังมีคนอ่านอยู่ และค่อนข้างได้รับความนิยมเลยทีเดียว เพราะในรัฐโอกลาโฮม่าเกลียดการคอร์รัปชั่นมาก มีหลายข่าวสืบสวนทุจริตที่เราเป็นคนเปิด แล้วสื่อระดับชาติมาตามต่อ แม้จะมีสื่อใหม่เข้ามา แต่เราก็ยังให้ความสำคัญกับข่าวสืบสวนเป็นอันดับแรก
Randy นักข่าวอาวุโสที่มีผลงานด้านการเจาะลึกการเมือง และข่าวสืบสวนมาอย่างยาวนาน อธิบายเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันเรามุ่งเน้นการทำงานข่าวสืบสวน 2 แบบ คือ แบบ Long Term หรือระยะยาวที่คอยเก็บข้อมูลจนแน่ชัดแล้วเปิดโปง อีกแบบคือ Short Term คือเจอแล้วตีข่าวได้เลย สำหรับ Project Investigative News มีทีมข่าวประมาณ 5 ราย คอยดูแล
Randy เล่าอีกว่า การสืบสวนของเราส่วนใหญ่อาศัย Database (ฐานข้อมูล) จากภาครัฐ โดยรัฐโอกลาโฮม่า เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดให้ประชาชนตรวจสอบได้ อย่างไรก็ดีมีบางข้อมูลที่ต้องอาศัยเทคนิคเฉพาะตัวในการสืบหามา ผมยกตัวอย่างที่เคยทำ คือกรณีเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในรัฐโอกลาโฮม่า เราพบว่า เบื้องหลังเกิดจากการที่บริษัทน้ำมันปั๊มน้ำเกลือลงในดินเพื่อเปิดโพรงขุดเจาะน้ำมัน ทำให้เป็นต้นเหตุของแผ่นดินไหวหลายครั้ง เป็นต้น
อ้อ ผมลืมเล่าให้ฟังว่ารัฐโอกลาโฮม่า คือเดิมคือรัฐสำคัญในการผลิตน้ำมัน มีบรรษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ และหลายประเทศทั่วโลกยื่นขอสัมปทานผลิตน้ำมัน แต่ปัจจุบันแหล่งผลิตน้ำมันเหล่านั้นเหลือน้อยลงเต็มที จึงเหลือแต่บรรษัทน้ำมันใหญ่ ๆ ที่ยังคงเดินหน้าผลิต แต่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างเข้มงวดจากภาครัฐ
กลับเข้าเรื่องกันต่อ ผมถามเขาเพิ่มเติมว่า การมาของสื่อใหม่ ทำให้จุดยืนในการทำข่าวเปลี่ยนแปลงไหม แล้วมีจุดแข็งอย่างไรในการแข่งขันกับสื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เพราะในประเทศไทยสื่อหลายสำนักต่างไม่แข่งขันกันเหมือนเดิมแล้ว แต่มักมีนักข่าวไม่กี่คนสืบค้นข้อมูลหรือรายงานข่าว ก่อนกระจายข่าวส่งให้สื่ออื่น ๆ ไปตีพิมพ์ต่อ
Jason เล่าว่า แน่นอน แม้แพลตฟอร์มเปลี่ยน แต่ความชัดเจน และข้อเท็จจริงไม่มีวันเปลี่ยน สื่อท้องถิ่นยังคงแข่งขันกันอย่างดุเดือด รัฐนี้มีเรื่องราวหลากหลายให้สืบค้น และถ้าเรารู้ว่าประชาชนสนใจเรื่องไหนเป็นพิเศษ เราจะเข้ามาทำข่าวทันที ที่สำคัญปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยให้เราทำข่าวได้ง่ายขึ้น เช่น โซเชียลเน็ตเวิร์ค หรือฐานข้อมูลรัฐแบบออนไลน์ เป็นต้น
ส่วนจุดแข็งของหนังสือพิมพ์ Tulsa World ไม่ใช่เรื่องการทำข่าวสืบสวน หรือการข่าวเชิงลึก แต่เป็นเรื่องบุคลากรภายในสำนักข่าว Jason ชี้มาทาง Randy แล้วบอกว่า “เพราะสำนักข่าวอื่นไม่มีนักข่าวอย่าง Randy ทำให้หนังสือพิมพ์เรายังคงได้รับความนิยม และมียอดผู้อ่านเป็นอันดับต้น” พร้อมหัวเราะ
Jason อธิบายว่า Randy คือหนึ่งในนักข่าวอาวุโส ที่มีประสบการณ์ทำข่าวในระดับชาติ และทำข่าวสืบสวนสอบสวนมีผลงานมากมาย เคยได้รับหลายรางวัล และเขาอยู่กับเรามาหลายสิบปี ประชาชนเชื่อถือเขาอย่างมาก ทำให้หนังสือพิมพ์เราได้รับความนิยมอยู่ (Randy ฉีกยิ้มกว้าง ก่อนโบกมือทำนองว่า ชมกันเกินไป)
ล่ามของเราสะกิดผมว่า หมดเวลาแล้ว พวกเราลุกขึ้นจับมือขอบคุณ Jason และ Randy ที่บอกเล่าข้อมูลต่าง ๆ ของสื่อในรัฐโอกลาโฮม่า ก่อนจะถ่ายรูปร่วมกัน และเดินไปดูแท่นพิมพ์ผลิตหนังสือพิมพ์ มูลค่ากว่า 80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่ได้มาภายหลัง Warren Buffett เทคโอเวอร์ Jason เล่าด้วยว่า แท่นพิมพ์นี้ไม่ได้ผลิตแค่ Tulsa World เท่านั้น แต่ยังผลิตให้กับหนังสือพิมพ์ระดับชาติหลายแห่ง เช่น The Wall Street Journal หรือ The New York Times ด้วย และนั่นคือส่วนหนึ่งของกำไรที่ได้มาให้กับบริษัทของเรา
(แท่นพิมพ์มูลค่า 80 ล้านเหรียญสหรัฐฯของ Tulsa World)
ในตอนหน้า ผมจะเขียนถึงสื่อโทรทัศน์ท้องถิ่นในเมือง Tulsa หนึ่งในเครือข่ายของ Scripp บริษัทสื่อท้องถิ่นยักษ์ใหญ่ที่มีสื่อในมือกว่า 35 แห่งทั่วสหรัฐฯ และเป็นคอยดีลกับสำนักข่าวระดับชาติ เช่น Fox CNN NBC เพื่อมาลงช่องท้องถิ่น โปรดติดตาม
อ่านประกอบ :
ทำความรู้จัก Frontier สื่อท้องถิ่นออนไลน์รัฐโอกลาโฮม่า ผู้กล้าชูธงตีข่าว‘สืบสวน’
เสี่ยงคุกหนัก!ข้อมูลลับ vs ผล ปย.สาธารณะ ความท้าทายสื่อสหรัฐฯ-จุดตายข่าวสืบสวน?
ความเป็นกลางมีจริงหรือ? อ่านวิธีคิด RCP สื่อสหรัฐฯผู้อ้างว่าไม่เลือกข้างการเมือง
หลังฉากข่าว‘ทรัมป์’จ่ายเงินปิดปาก‘กิ๊ก’ เส้นแบ่งความเป็นส่วนตัว vs ปย.สาธารณะ?
ไม่ต้องเน้นแพลตฟอร์ม! เหตุผลทำไมอาจารย์ ม.นิวยอร์คบอกงานข่าว Content สำคัญสุด?
ทำความเข้าใจการเมืองสหรัฐฯ จ้าง‘ล็อบบี้ยิสต์’ทำไม-ใครได้ประโยชน์ที่แท้จริง?
ทำความรู้จัก‘ธนาคารอาหาร’ในสหรัฐฯ ช่องทางพีอาร์-ลดหย่อนภาษี‘เจ้าสัวมะกัน’?
จับเข่าคุยนักข่าว‘รุ่นเดอะ’ถึงบทบาทสื่อสหรัฐฯยุคออนไลน์-ข่าวสืบสวนจะตายจริงหรือ?
ตามไปดูพิพิธภัณฑ์ 9/11 บทบาทสื่อในเหตุการณ์-รู้ไหมนักข่าวสายไหนรายงานกลุ่มแรก?
อนาคตเสรีภาพสื่อไทยในสายตา CPJ องค์กรปกป้องสิทธินักข่าว-ความท้าทาย'โลกหมุนขวา'
เปิดภาพชุด นสพ.สหรัฐฯ-ทั่วโลกพร้อมใจตีข่าวช่วย‘ทีมหมูป่า’
ทำความรู้จักกลุ่มระดมทุนหาเสียงสหรัฐฯ-รู้ยัง‘ทรัมป์’ไม่ยื่นแบบภาษีให้สังคมตรวจสอบ?
เมื่อคนอเมริกันถามแต่เรื่อง'ถ้ำหลวง' ไขคำตอบทำไมข่าวนี้โด่งดังข้ามโลก?
ชำแหละขบวนการ‘ล็อบบี้ยิสต์’ เมื่อสื่อเต็มใจตกเป็นเครื่องมือกลุ่มทุน-การเมือง?
เลาะ‘ดี.ซี.’เล่าฉากหลัง 4สถานที่ประวัติศาสตร์-ตามไปดู รร.ต้นกำเนิดล็อบบี้ยิสต์