ใครว่าวิทยุชุมชนตายแล้ว? ตามไปดู WMNF FM แห่งแทมป้ากับเคล็ดวิชาแลกหมัดสู้สื่อใหม่
“สถานีวิทยุชุมชนในเมืองเรา (แทมป้า) มีทั้งหมดประมาณ 53 คลื่น แต่มีเพียง 5 คลื่นเท่านั้นที่มีรายงานข่าว ที่เหลือคือคลื่นดนตรี และกีฬาเป็นหลัก นั่นคือประเด็นที่ว่าทำไมประชาชนยังนิยมฟังเราอยู่ เพราะชุมชนขาดแคลนวิทยุที่รายงานข่าวท้องถิ่น ที่ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวพวกเขามากที่สุด”
(คุณ Rob Lorei Co-Founder & Radio Host และบรรณาธิการข่าวประจำ WMNF FM 88.5)
“So you can throw me to the wolves, Tomorrow I will come back, Leader of the whole pack …”
บางท่อนจากเพลง Throne ของวงร็อคสัญชาติอังกฤษชื่อดังขวัญใจนักฟังหูหนัก Bring Me The Horizon ดังขึ้นจากวิทยุบนรถที่ผมนั่งเพื่อจะไปประชุมงานในเมืองแทมป้า รัฐฟลอริด้า ปลุกผมให้ตื่นจากภวังค์ และทำให้ผมทบทวนความทรงจำว่า ในช่วงเวลาราว 2 สัปดาห์ (ขณะนั้น) รถทุกคันที่ผมขึ้นในหลายเมืองที่ผ่านมา คนขับมักนิยมเปิดเพลงจากสถานีวิทยุกันอยู่ และมีหลายคลื่นมาก แตกต่างกับไทยที่ปัจจุบันการฟังเพลงผ่านวิทยุเหลือน้อยลงเต็มที เพราะนิยมฟังผ่านระบบ ‘สตรีมมิ่ง’ หรือผ่านระบบอินเทอร์เน็ต หรืออย่างน้อยที่สุดคือการเปิดเพลงผ่านการเชื่อมต่อโทรศัพท์ เป็นต้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่าท่ามกลางความร้อนแรงของ ‘สื่อใหม่’ ในช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น เว็บไซต์สำนักข่าวที่ผุดมาดั่งดอกเห็ด หรือแม้แต่การเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตราแกรม ส่งผลให้ ‘สื่อเก่า’ เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ และวิทยุ กำลังจะตายลงอย่างช้า ๆ
โดยเฉพาะ ‘สื่อวิทยุ’ ที่ปัจจุบันได้รับความนิยมน้อยลงจากเดิมอย่างมาก เนื่องจากการมาของสื่อใหม่ และแพลตฟอร์มแบบ ‘สตรีมมิ่ง’ ทางอินเทอร์เน็ตต่าง ๆ เช่น Joox Spotify หรือ Podcast เป็นต้น โดยเฉพาะในไทยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มีสื่อวิทยุหลายแห่งต้องปิดตัวลง หรือลดจำนวนบุคลากรเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันต้องดิ้นรนปรับเปลี่ยนแฟลตฟอร์มใหม่ในรูปแบบอินเทอร์เน็ต แต่ก็ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก เนื่องจากการเข้าถึงค่อนข้างยุ่งยาก และไม่สะดวกสบายเหมือนแพลตฟอร์ม ‘สตรีมมิ่ง’
แต่ในสหรัฐฯมันกลับไม่เป็นแบบนั้น ?
“การมาถึงของสื่อใหม่ ในยุคที่ทุกคนเข้าถึงข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต เรากลัวมากเหมือนกันว่าสื่อวิทยุชุมชนอย่างเรา จะสู้พวกสื่อใหม่ได้อย่างไร”
เป็นคำยืนยันของคุณ Rob Lorei Co-Founder & Radio Host และบรรณาธิการข่าวประจำ WMNF FM 88.5 สถานีวิทยุชุมชนที่ใหญ่ที่สุดในรัฐฟลอริด้า
(หนึ่งในห้องจัดรายการวิทยุ WMNF FM 88.5 จากทั้งหมด 2 ห้อง)
กล่าวสำหรับข้อมูลของ WMNF FM 88.5 ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1979 หรือราว 39 ปีที่แล้วที่เมืองแทมป้า รัฐฟลอริด้า โดยช่วงก่อตั้งเป็นสถานีวิทยุเพื่อรายงานข่าวสารท้องถิ่นให้ประชาชนรับทราบ รวมถึงประสานงานร่วมกับสื่อวิทยุสาธารณะอย่าง NPR (สื่อวิทยุสาธารณะในสหรัฐฯ) เพื่อนำเสนอข่าวสารระดับชาติมาเผยแพร่ มีจุดแข็งในด้านการรายงานข่าวเชิงลึก รวมถึงรายการเพลงที่เปิดได้ไพเราะ และถูกหูชาวฟลอริด้าอย่างมาก โดยเฉพาะเพลง Jazz ที่ได้รับความนิยมสูงในรัฐนี้ ปัจจุบันปรับเปลี่ยนแฟลตฟอร์มมาสู่รูปแบบออนไลน์ด้วย มีเครือข่ายสถานีวิทยุรวม 5 คลื่นความถี่ และเคยขึ้นสู่จุดสูงสุดเป็นหนึ่งในสถานีวิทยุที่ได้รับความนิยมสูงสุดในสหรัฐฯมาแล้ว ปัจจุบันมีบุคลากรประจำ 7 ราย เป็นนักข่าว 2 ราย ที่เหลือเป็นโปรดิวเซอร์ และนักจัดรายการวิทยุ มีอีก 35 รายเป็นอาสาสมัครเข้ามาจัดรายการวิทยุ ถ่ายทอด 6 ชั่วโมง/วัน
(ห้องเก็บแผ่นเสียง Vinyl-ซีดีเพลง เพื่อเปิดในช่วงต่าง ๆ)
ประเด็นที่น่าสนใจคือ คำตอบของเขาคล้าย ๆ กับนักหนังสือพิมพ์ หรือผู้บริหารสื่อสิ่งพิมพ์ค่ายอื่น ๆ ที่ผมพูดคุยมา นั่นคือเขายืนยันว่า แม้จะกลัวการมาของสื่อใหม่ และมีการปรับแพลตฟอร์มไปอยู่ในรูปแบบออนไลน์ และ Podcast แล้วก็ตาม แต่ประชากรกลุ่มใหญ่ของสหรัฐฯที่เสพสื่อคือกลุ่ม Baby Boomer (กลุ่มคนที่เกิดหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงปี 1950-1960) ที่ยังนิยมอ่านหนังสือพิมพ์ หรือฟังวิทยุ แกล้มการจิบกาแฟตอนเช้าอยู่เป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ดีเขาบอกว่า ภายหลังการมาของสื่อใหม่ ได้เปิดรับนักข่าว และนักจัดรายการวิทยุ Gen Y (คนที่เกิดช่วงปี 1990) และ Gen Z (คนที่เกิดช่วงปี 2000) มาร่วมงานเป็นจำนวนไม่น้อย เพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนผ่านของสื่อใหม่
“ผมเป็นคนรุ่นเก่า ใช้เทคโนโลยีไม่ค่อยเก่ง” เขากล่าวพลางหัวเราะ ก่อนอธิบายว่า “แต่เชื่อว่าหลังจากเพิ่มแพลตฟอร์มออนไลน์ และการรับบุคลากรคนรุ่นใหม่เพิ่ม ทำให้ Facebook เราค่อนข้างแข็งแกร่ง มีคนติดตามจำนวนมาก รวมถึง Twitter และ Instragram ด้วย”
(7 คำพูดหยาบคายที่ห้ามพูดในสื่อวิทยุ แม้ไม่ได้บัญญัติเป็นกฎหมาย แต่เป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมา)
ผมถามว่า จุดแข็งที่ทำให้สถานีวิทยุแห่งนี้ยืนหยัดท้าทายสื่อกระแสหลักมาได้ถึง 39 ปีคืออะไร ?
“คงเป็นเพราะคลื่นสัญญาณเราแข็งแรงกว่าชาวบ้านเขา ทำให้คนฟังเยอะ” Rob ตอบพลางหัวเราะ ก่อนอธิบายจริง ๆ จัง ๆ ว่า นอกเหนือจากคลื่นสัญญาแข็งแรง ที่มีความแรงถึง 70,000 วัตต์ เสาส่งสัญญาณสูงถึง 10,000 ฟุต ใหญ่ที่สุดในเมืองนี้ (เทมป้า) รัศมีคลื่น 33 ไมล์ ยังมีโปรแกรมอื่น ๆ ที่เป็นที่นิยม โดยเฉพาะรายการเพลง เช่น การจัดลิสต์เพลงช่วงปี 1960 Rock ‘n roll รายการเพลง Jazz เพลง Blues หรือรายการ Talk show ต่าง ๆ รวมถึงข่าวสารที่เสนอเรื่องราวท้องถิ่นอย่างเข้มข้น ทำให้ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีผู้ฟังประมาณ 4.4 ล้านคน/เดือน ส่วนเม็ดเงินโฆษณาก็ยังไหลเข้ามาเรื่อย ๆ แม้อาจจะน้อยจากเดิมบ้างเพราะการมาของสื่อใหม่ แต่ส่วนใหญ่ธุรกิจในชุมชนยังสนับสนุนเราอยู่ ทำให้ไม่เดือดร้อนเรื่องรายได้
(แผนผังรายการวิทยุประจำวันของ WMNF FM 88.5)
สำหรับการรายงานข่าวของสถานีวิทยุแห่งนี้ มีนักข่าว 2 ราย ผลัดกันออกไปหาข่าว และรายงาน 3 ช่วง ช่วงเช้า บ่าย และเย็น โดยเป็นข่าวเด่นประจำวันทั้งหมด แต่ละช่วงมีเวลารายงานประมาณ 5 นาที นอกจากนี้ยังประสานงานรับข่าวจากสำนักข่าวระดับชาติเพื่อรายงานข่าวระดับประเทศทุกต้นชั่วโมง ช่วงละ 5 นาทีอีกด้วย
“สถานีวิทยุชุมชนในเมืองเรา (แทมป้า) มีทั้งหมดประมาณ 53 คลื่น แต่มีเพียง 5 คลื่นเท่านั้นที่มีรายงานข่าว ที่เหลือคือคลื่นดนตรี และกีฬาเป็นหลัก นั่นคือประเด็นที่ว่าทำไมประชาชนยังนิยมฟังเราอยู่ เพราะชุมชนขาดแคลนวิทยุที่รายงานข่าวท้องถิ่น ที่ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวพวกเขามากที่สุด”
ส่วนทำไมอีก 48 คลื่นถึงไม่มีรายงานข่าว Rob ไม่ทราบสาเหตุเช่นกัน แต่เชื่อว่า น่าจะเป็นเรื่องของจุดยืน หรือเป้าหมายของสถานีวิทยุแต่ละแห่งเป็นหลัก
ทั้งหมดคือความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสื่อที่เก่าที่สุดเป็นอันดับสองอย่าง ‘สื่อวิทยุ’ (ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์เก่าแก่ที่สุด) ที่ใครจะเชื่อว่า ยังคงได้รับความนิยมในสหรัฐฯอย่างมาก และยืนหยัดสู้กับกระแส ‘สื่อใหม่’ ได้อย่างเต็มภาคภูมิ แม้จะไม่ ‘โด่งดัง’ เท่าอดีต แต่ยังเชื่อถือได้ใน ‘ความเก๋า’
สื่อวิทยุในไทยน่าเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ?
อ่านประกอบ :
ตะลุย นสพ.ท้องถิ่น Tulsa World หลัง Buffett ซื้อกิจการ-ข่าวสืบสวนจำเป็นอยู่ไหม?
ทำความรู้จัก Frontier สื่อท้องถิ่นออนไลน์รัฐโอกลาโฮม่า ผู้กล้าชูธงตีข่าว‘สืบสวน’
เสี่ยงคุกหนัก!ข้อมูลลับ vs ผล ปย.สาธารณะ ความท้าทายสื่อสหรัฐฯ-จุดตายข่าวสืบสวน?
ความเป็นกลางมีจริงหรือ? อ่านวิธีคิด RCP สื่อสหรัฐฯผู้อ้างว่าไม่เลือกข้างการเมือง
หลังฉากข่าว‘ทรัมป์’จ่ายเงินปิดปาก‘กิ๊ก’ เส้นแบ่งความเป็นส่วนตัว vs ปย.สาธารณะ?
ไม่ต้องเน้นแพลตฟอร์ม! เหตุผลทำไมอาจารย์ ม.นิวยอร์คบอกงานข่าว Content สำคัญสุด?
ทำความเข้าใจการเมืองสหรัฐฯ จ้าง‘ล็อบบี้ยิสต์’ทำไม-ใครได้ประโยชน์ที่แท้จริง?
ทำความรู้จัก‘ธนาคารอาหาร’ในสหรัฐฯ ช่องทางพีอาร์-ลดหย่อนภาษี‘เจ้าสัวมะกัน’?
จับเข่าคุยนักข่าว‘รุ่นเดอะ’ถึงบทบาทสื่อสหรัฐฯยุคออนไลน์-ข่าวสืบสวนจะตายจริงหรือ?
ตามไปดูพิพิธภัณฑ์ 9/11 บทบาทสื่อในเหตุการณ์-รู้ไหมนักข่าวสายไหนรายงานกลุ่มแรก?
อนาคตเสรีภาพสื่อไทยในสายตา CPJ องค์กรปกป้องสิทธินักข่าว-ความท้าทาย'โลกหมุนขวา'
เปิดภาพชุด นสพ.สหรัฐฯ-ทั่วโลกพร้อมใจตีข่าวช่วย‘ทีมหมูป่า’
ทำความรู้จักกลุ่มระดมทุนหาเสียงสหรัฐฯ-รู้ยัง‘ทรัมป์’ไม่ยื่นแบบภาษีให้สังคมตรวจสอบ?
เมื่อคนอเมริกันถามแต่เรื่อง'ถ้ำหลวง' ไขคำตอบทำไมข่าวนี้โด่งดังข้ามโลก?
ชำแหละขบวนการ‘ล็อบบี้ยิสต์’ เมื่อสื่อเต็มใจตกเป็นเครื่องมือกลุ่มทุน-การเมือง?
เลาะ‘ดี.ซี.’เล่าฉากหลัง 4สถานที่ประวัติศาสตร์-ตามไปดู รร.ต้นกำเนิดล็อบบี้ยิสต์