เสี่ยงคุกหนัก!ข้อมูลลับ vs ผล ปย.สาธารณะ ความท้าทายสื่อสหรัฐฯ-จุดตายข่าวสืบสวน?
“…นักข่าวในประเทศสหรัฐฯ เกือบทั้งหมดไม่ต้องติดคุกหากรายงานข่าว เพราะรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯบัญญัติเรื่องเสรีภาพไว้ชัดเจน อย่างไรก็ดีหากนักข่าวตีข่าวเท็จ หรือรายงานผิดพลาด อาจถูกฟ้องปิดกิจการ หรือเรียกเงินชดใช้จนล้มละลายได้ นั่นคือเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประเทศนี้ อย่างไรก็ดียังมีบางข้อมูลที่ภาครัฐ หรือรัฐบาลไม่อาจให้เข้าถึงได้ เนื่องจากเป็นข้อมูลลับด้านความมั่นคง แม้บางอย่างจะเป็นความมั่นคงที่ประชาชนควรรู้ก็ตาม…”
ผมอยู่ในสหรัฐอเมริกาครบครึ่งเดือน หรือ 15 วันแล้ว หลังจากได้รับการคำเชิญจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ผ่านสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯในไทย เชิญมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานข่าวสืบสวนสอบสวน ร่วมกับนักข่าวอีก 3 ราย และล่าม 2 ราย
ปัจจุบันผมอยู่ในเมืองแทมป้า รัฐฟลอริด้า หนึ่งในเมืองประวัติศาสตร์สำคัญเมืองหนึ่งในสหรัฐฯ เพราะเป็นเมืองที่รับผู้อพยพจากประเทศในแถบทวีปอเมริกาใต้ โดยเฉพาะคิวบา และโคลอมเบีย เข้าสู่ประเทศเยอะมาก ดังนั้นวัฒนธรรมสไตล์อเมริกาใต้จึงมีอยู่ทั่วไปภายในเมืองนี้ โดยเฉพาะกาแฟพื้นเมือง และซิการ์รสชาติดี มีขายอยู่เกลื่อนไปหมด
หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าเมืองแห่งนี้ มีสื่อท้องถิ่นจำนวนมาก มีวิทยุชุมชนที่มีผู้ฟังติดอันดับต้น ๆ ของประเทศสหรัฐฯ รวมถึงมีนักข่าวสืบสวนที่เก่งอันดับต้น ๆ ของประเทศมารวมตัวกันอยู่มากมาย เช่น คุณ Alan Tompkins นักข่าวสืบสวนฝีมือหาตัวจับยาก ทำข่าวเชิงสืบสวนมาหลายสิบปี ปัจจุบันผันตัวมาเป็น ‘ครูข่าว’ สอนเทคนิคการทำข่าวชั้นสูงให้กับนักข่าวมืออาชีพที่ Poynter สถาบันพัฒนาสื่อมืออาชีพแห่งรัฐฟลอริด้า และยังมีนักข่าวสืบสวนที่ผมไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้อีกเป็นจำนวนไม่น้อย (อ่านประกอบ : หลังฉากข่าว‘ทรัมป์’จ่ายเงินปิดปาก‘กิ๊ก’ เส้นแบ่งความเป็นส่วนตัว vs ปย.สาธารณะ?)
กระบวนการสำคัญในการทำข่าวเชิงสืบสวนของสื่อสหรัฐฯ นอกเหนือจากการขุดคุ้ยข้อมูลข้อเท็จจริง การยืนยันข้อมูล และการประเมินผลกระทบ-ความเสี่ยงต่าง ๆ แล้ว ยังต้องผ่านมือ ‘ทนายความ’ หรือ ‘นิติกร’ ประจำต้นสังกัด เพื่อพิจารณาว่า หากนำเสนอข่าวชิ้นนั้นไป อาจเสี่ยงผิดกฎหมายหรือไม่ และจะต้องมีใครรับผิดชอบบ้าง ?
เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2018 (เวลาไทยคงประมาณช่วงเกือบเช้าวันที่ 23 ก.ค. 2018) ผมมีโอกาสพูดคุยกับคุณ Alison Steele ทนายความชื่อดังรายหนึ่งในรัฐฟลอริด้า ผู้ว่าความให้กับนักข่าวเชิงสืบสวนจำนวนมาก รวมถึงเป็นคน ‘สกรีน’ งานต่าง ๆ ว่า หากตีพิมพ์ หรือนำเสนอต่อสาธารณะแล้ว จะได้รับผลกระทบในเชิงกฎหมายอะไรบ้าง
เบื้องต้น Alison เล่าว่า นักข่าวเชิงสืบสวนในสหรัฐฯส่วนใหญ่ที่ทำหน้าที่ ‘Watch Dog’ หรือ ‘หมาเฝ้าบ้าน’ จะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ประเทศชาติ ในการตรวจสอบการคอร์รัปชั่นของรัฐบาล ภาครัฐ ปัจจุบันมีการหารือกันว่า การตีความคำว่า ‘Watch Dog’ ควรอยู่ที่จุดไหน เนื่องจากก่อนหน้านี้ในรัฐบาลแห่งชาติ (Federal Government) ที่ผ่านมา ๆ ไม่เคยเกิดเหตุการณ์ที่สื่อถูกกดดันด้านการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเช่นรัฐบาล Donald Trump มาก่อน
ก่อนจะเล่าต่อ เธอถามพวกเรากลับว่า สื่อไทยทำหน้าที่เรียกว่า ‘Watch Dog’ ด้วยหรือไม่ ผมบอกว่า “ใช่ สื่อทำหน้าที่เฝ้าระวัง และตรวจสอบการกระทำ และการบริหารของรัฐบาล ที่ไทยเรียกนักข่าวประเภทนี้ว่า ‘หมาเฝ้าบ้าน’ อย่างไรก็ดีด้วยสถานการณ์ทางการเมืองของไทยขณะนี้ อาจทำให้การรายงานข่าว หรือการเข้าถึงข้อมูลยากกว่ารัฐบาลปกติพอสมควร”
เธอพยักหน้าเข้าใจ และบอกว่า ในฐานะทนายความนักข่าว ที่ผ่านประสบการณ์ และรับฟังนักข่าวจากหลายประเทศทั่วโลก เธอเชื่อ และเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า นักข่าวจากประเทศที่ไม่มีประชาธิปไตย ต้องเผชิญกับอะไรบ้างในแต่ละวัน
Alison เล่าอีกว่า นักข่าวที่ทำหน้าที่ ‘Watch Dog’ ในประเทศนี้ ปัจจุบันกำลังเผชิญความท้าทายจากรัฐบาล Trump เช่นกัน แม้บางข่าวจะอาศัยข้อมูลสาธารณะที่ค่อนข้างเปิดกว้าง อย่างไรก็ดีข้อมูลบางอย่างต้องอาศัยกฎหมายข้อมูลข่าวสารเพื่อขอ โดยข้อมูลที่จะได้ต้องไม่อยู่ภายใต้กฎหมายความมั่นคง หรือเป็นเรื่องส่วนตัวที่เกี่ยวกับทางการแพทย์ ข้อมูลส่วนนี้จะได้มายากกว่าข้อมูลระดับ County หรือระดับท้องถิ่น โดยกฎหมายฉบับนี้เมื่อยื่นไปแล้ว จะใช้ทนายที่มีความเชี่ยวชาญในการอาศัยช่องกฎหมายเพื่อนำออกมา อย่างเร็วที่สุดคือ 1-2 วัน อย่างช้าที่สุดคือประมาณ 3-4 สัปดาห์ หรือข้อมูลที่มีความลับบางอย่างอาจใช้เวลานานนับปี แล้วแต่ระดับข้อมูลนั้น ๆ
เธอถามพวกเราว่า ในไทยมีวิธีการอย่างไร หรือมีกฎหมายตัวไหนในการช่วยเรื่องขอข้อมูลข่าวสารบ้าง ผมบอกเธอว่า ไทยมี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 อย่างไรก็ดีระบบของไทยอาจต่างกับของสหรัฐฯ โดยที่ไทยหากใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯขอจากหน่วยงานรัฐ หากหน่วยงานรัฐปฏิเสธ แน่นอนว่าเกือบทั้งหมดปฏิเสธ จะต้องอุทธรณ์ไปที่สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสารฯวินิจฉัยว่า ข้อมูลดังกล่าวจะให้แก่สื่อได้หรือไม่ บางเรื่องอาจใช้เวลายาวนานหลายเดือน หรือหลายปี
ผมยกตัวอย่างการขอข้อมูลเรื่องการก่อสร้าง และงบประมาณการบริหารอุทยานราชภักดิ์ว่า เคยข้อมูลไปตั้งแต่ช่วงปี 2015แต่เพิ่งได้ข้อมูลมาเมื่อต้นปี 2018 หรือใช้เวลาเกือบ 3 ปีในการได้มาซึ่งข้อมูล เธอทำหน้าตกใจมาก และถามย้ำว่า “3 ปีใช่ไหม ฉันฟังไม่ผิดใช่ไหม” ผมตอบว่า “ใช่” เธอแปลกใจมากจริง ๆ เพราะที่สหรัฐฯไม่เป็นเช่นนี้
เธอเล่าอีกว่า นักข่าวในประเทศสหรัฐฯ เกือบทั้งหมดไม่ต้องติดคุกหากรายงานข่าว เพราะรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯบัญญัติเรื่องเสรีภาพไว้ชัดเจน อย่างไรก็ดีหากนักข่าวตีข่าวเท็จ หรือรายงานผิดพลาด อาจถูกฟ้องปิดกิจการ หรือเรียกเงินชดใช้จนล้มละลายได้ นั่นคือเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประเทศนี้ อย่างไรก็ดียังมีบางข้อมูลที่ภาครัฐ หรือรัฐบาลไม่อาจให้เข้าถึงได้ เนื่องจากเป็นข้อมูลลับด้านความมั่นคง แม้บางอย่างจะเป็นความมั่นคงที่ประชาชนควรรู้ก็ตาม
“ยกตัวอย่าง เหมือนเอกสารเพนตากอนเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม ตามภาพยนตร์เรื่อง The Post (ภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับการตีพิมพ์เอกสารลับเพนตากอนเรื่องสงครามเวียดนามของ The Washington Post และ The New York Times) ทุกคนเคยดูใช่ไหม (ผมพยักหน้า) นั่นแหละ รัฐบาลสหรัฐฯ ให้เสรีภาพสื่อในการตีพิมพ์ แต่ผู้ให้ข้อมูลถือว่าผิด เพราะถือว่าทรยศชาติ ขณะเดียวกัน สื่อก็อาจถูกรัฐบาลฟ้องได้ว่า ละเมิดความมั่นคงของรัฐ และถูกตราหน้าว่าทรยศชาติเช่นกัน”
เธอขยายความว่า รัฐบาลทั้งระดับชาติ และท้องถิ่น ไม่มีสิทธิห้ามสื่อตีพิมพ์ แม้บางครั้งอาจรู้ว่าสื่อจะตีพิมพ์ข้อมูลสำคัญล่วงหน้าก็ตาม แต่รัฐบาลจะตามมาเช็คบิลทีหลัง เหมือนเรื่อง The Post ที่สื่อตีพิมพ์รายงานเพนตากอนไปแล้ว ค่อยไปฟ้องต่อศาล เป็นต้น ดังนั้นการจำกัดเสรีภาพของสื่อเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก
ในวงสนทนามีการถามว่า นักข่าวสหรัฐฯที่ว่ากันว่ามีเสรีภาพมากที่สุด แต่มันย้อนแยงว่ามีนักข่าวบางรายถูกฟ้องดำเนินคดีในชั้นศาลหลายราย โดนเล่นงานด้วยข้อหาอะไร
เธอตอบว่า เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในรัฐบาล หรือท้องถิ่น เข้าถึงข้อมูลลับ และคนนั้นให้ข้อมูลลับแก่สื่อ ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงมาก และจะทำให้ปัญหาตามมาเยอะ และหากนักข่าวตีข่าวดังกล่าว อาจถูกฟ้องต่อศาลว่า ข้อมูลดังกล่าวถือเป็นความลับของชาติ แม้บางอย่างเป็นข้อมูลที่เป็นสาธารณะประโยชน์ก็ตาม แต่แรงกดดันของรัฐบาลก็อาจทำให้นักข่าวติดคุกได้
“แม้รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ บอกว่า รัฐบาลไม่สามารถขอดูข่าวก่อนตีพิมพ์ได้ แต่รัฐบาลจะใช้วิธีการฟ้องร้องหลังจากตีพิมพ์ข่าวเหล่านั้นแทน เหมือนเรื่อง The Post ที่ฉันยกตัวอย่างให้ฟัง”
ผมถามว่า แล้วท้ายสุดการแก้ปัญหานี้จะมีจุดร่วมกันอย่างไร ระหว่างรัฐบาล สื่อ และภาคอื่น ๆ ทีเกี่ยวข้อง เธอยักไหล่ บอกว่า มันไม่มีการร่วมทำงานกันระหว่างรัฐบาลกับสื่ออย่างเป็นทางการ อยู่ที่สื่อแต่ละแห่งจะประเมินสถานการณ์ว่าจะทำอย่างไร สิ่งที่ประชาชนควรรู้คืออะไร คุ้มค่ากับความเสี่ยงหรือไม่เท่านั้นเอง
“แต่ส่วนใหญ่สื่อมักตีพิมพ์ข้อเท็จจริง เพราะเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนควรรับรู้” เธอทิ้งท้าย
เข็มนาฬิกาหมุนมาครบชั่วโมงอีกจนได้ ผมจำเป็นต้องจบบทสนทนาไว้เท่านี้ เพราะต้องไปประชุมงานที่เมืองอื่นต่อ ผมกล่าวขอบคุณเธอเกี่ยวกับข้อมูล และประสบการณ์ทำงานดี ๆ ที่มอบให้เรา
ในตอนหน้า รออ่านเกี่ยวกับสำนักข่าวสืบสวน ‘ท้องถิ่น’ ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงแบบ ‘ฉับพลัน’ มีวิธีคิดที่น่าสนใจมาก ๆ โปรดติดตาม
อ่านประกอบ :
ความเป็นกลางมีจริงหรือ? อ่านวิธีคิด RCP สื่อสหรัฐฯผู้อ้างว่าไม่เลือกข้างการเมือง
หลังฉากข่าว‘ทรัมป์’จ่ายเงินปิดปาก‘กิ๊ก’ เส้นแบ่งความเป็นส่วนตัว vs ปย.สาธารณะ?
ไม่ต้องเน้นแพลตฟอร์ม! เหตุผลทำไมอาจารย์ ม.นิวยอร์คบอกงานข่าว Content สำคัญสุด?
ทำความเข้าใจการเมืองสหรัฐฯ จ้าง‘ล็อบบี้ยิสต์’ทำไม-ใครได้ประโยชน์ที่แท้จริง?
ทำความรู้จัก‘ธนาคารอาหาร’ในสหรัฐฯ ช่องทางพีอาร์-ลดหย่อนภาษี‘เจ้าสัวมะกัน’?
จับเข่าคุยนักข่าว‘รุ่นเดอะ’ถึงบทบาทสื่อสหรัฐฯยุคออนไลน์-ข่าวสืบสวนจะตายจริงหรือ?
ตามไปดูพิพิธภัณฑ์ 9/11 บทบาทสื่อในเหตุการณ์-รู้ไหมนักข่าวสายไหนรายงานกลุ่มแรก?
อนาคตเสรีภาพสื่อไทยในสายตา CPJ องค์กรปกป้องสิทธินักข่าว-ความท้าทาย'โลกหมุนขวา'
เปิดภาพชุด นสพ.สหรัฐฯ-ทั่วโลกพร้อมใจตีข่าวช่วย‘ทีมหมูป่า’
ทำความรู้จักกลุ่มระดมทุนหาเสียงสหรัฐฯ-รู้ยัง‘ทรัมป์’ไม่ยื่นแบบภาษีให้สังคมตรวจสอบ?
เมื่อคนอเมริกันถามแต่เรื่อง'ถ้ำหลวง' ไขคำตอบทำไมข่าวนี้โด่งดังข้ามโลก?
ชำแหละขบวนการ‘ล็อบบี้ยิสต์’ เมื่อสื่อเต็มใจตกเป็นเครื่องมือกลุ่มทุน-การเมือง?
เลาะ‘ดี.ซี.’เล่าฉากหลัง 4สถานที่ประวัติศาสตร์-ตามไปดู รร.ต้นกำเนิดล็อบบี้ยิสต์