จับเข่าคุยนักข่าว‘รุ่นเดอะ’ถึงบทบาทสื่อสหรัฐฯยุคออนไลน์-ข่าวสืบสวนจะตายจริงหรือ?
“ข่าวเชิงสืบสวนเป็นความสำเร็จที่สำคัญ เป็นข่าวที่ถ่วงดุลอำนาจของรัฐบาล และประชาชน โดยไม่ต้องใช้ปืนขู่ มันมีหลักฐานมากมายที่พิสูจน์ออกมาเป็นรูปธรรมแล้ว”
(คนที่ 2 จากขวา Bill Alpert นักข่าวอาวุโสข่าวสืบสวนสอบสวน Barron's Magazine)
ผมอยู่นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เป็นวันที่ 4 จากกำหนดการเดิมต้องบินไปเมืองทัลซ่า รัฐโอกลาโฮม่า เมื่อวานนี้ (15 ก.ค. 2018) แต่เกิดเหตุขัดข้องเรื่องสภาพอากาศทำให้ต้องติดแหง็กอยู่ในมหานครแห่งแฟชั่นอีก 1 วัน แต่ถือเป็นเรื่องดี ทำให้ผมมีเวลาเรียบเรียงรายงานชิ้นนี้ หลังจากผัดผ่อนตัวเองมาหลายครั้ง เนื่องจากความเหนื่อยล้า
อย่างที่ผมเคยเล่าให้ฟังไปแล้วว่า ผมมาสหรัฐฯพร้อมกับเพื่อนร่วมวิชาชีพสื่ออีก 3 ราย และล่าม 2 ราย เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานข่าวสืบสวนสอบสวนในไทย กับนักข่าว-นักวิชาการ-เจ้าหน้าที่รัฐของสหรัฐฯ และที่ผ่านมาผมยังไม่ได้เขียนถึงกระบวนการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบของนักข่าวในสหรัฐฯ ท่ามกลางพลวัตสื่อที่เปลี่ยนแปลงจากหมึกหนังสือพิมพ์ไปโลดแล่นบนโลกออนไลน์เลยว่า เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
ช่วงแรก ๆ ที่อยู่นิวยอร์ค ผมมีโอกาสไปสำนักข่าว The Wall Street Journal สื่อภายใต้บริษัท Dow Jones & Company นสพ.ชื่อดังด้านเศรษฐกิจการเงิน-การลงทุนระดับโลก มียอดตีพิมพ์หลายล้านเล่มทั่วสหรัฐฯ และได้รับความน่าเชื่อถือจากนักลงทุนจำนวนมาก ขณะเดียวกันนิตยสารข่าวรายสัปดาห์ของ นสพ.เล่มนี้คือ Barron’s Magazine นิตยสารที่เจาะลึกด้านการเงิน-การลงทุนของบรรษัทต่าง ๆ
ประเด็นที่น่าสนใจคือนิตยสาร Barron’s Magazine มีการรายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนด้วย แต่คิดเป็นแค่ 5% ของเล่มเท่านั้น
ทำไมถึงมีแค่นี้ หรือว่าการทำข่าวสืบสวนสอบสวนในสหรัฐฯกำลังจะตาย ?
“ปัญหาสื่อในสหรัฐฯ คล้ายคลึงกับประเทศของคุณ (ประเทศไทย) นั่นคือ เม็ดเงินโฆษณากำลังไหลออกไปสู่สื่อออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ ขณะเดียวกันการทำข่าวสืบสวนใช้เม็ดเงินลงทุนค่อนข้างเยอะ ใช้ทรัพยากรสำนักข่าวจำนวนมากเพื่อแกะรอย จึงทำให้การรายงานข่าวประเภทนี้ในสหรัฐฯเริ่มน้อยลงทุกที”
Bill Alpert นักข่าวสืบสวนสอบสวน ‘รุ่นเดอะ’ ผู้ทำข่าวเชิงสืบสวนด้านเศรษฐกิจ-การเงินการลงทุนมาหลายสิบปี จากนิตยสาร Barron’s ให้คำตอบ
ผมถามว่า ก่อนหน้านี้นิตยสาร หรือ นสพ.แห่งนี้ ให้ความสำคัญกับการทำข่าวสืบสวนมากน้อยแค่ไหน เพราะข่าวสืบสวนโดยเฉพาะประเด็นการเงินการลงทุน ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจค่อนข้างมาก แต่ปัจจุบันเหลือแค่ 5% เท่านั้น
Bill อธิบายว่า “ครับ กระบวนการทำข่าวสืบสวนใช้นักข่าวค่อนข้างเยอะ ใช้เงินลงทุนเยอะ และค่าจ้างนักข่าวผู้เชี่ยวชาญต้องจ่ายฐานเงินเดือนสูง รวมถึงผ่านการตรวจทานจากนิติกรของบริษัท แต่นิตยสาร Barron’s ปัจจุบันมีนักข่าวแค่ไม่กี่สิบราย และแยกตัวออกจาก นสพ. The Wall Street Journal อย่างชัดเจน ขณะที่การรายงานข่าวปกติ หรือข่าวกระแสหลัก สร้างเงินโฆษณาให้กับองค์กรมากกว่า ความกดดันในการทำข่าวสวนทางกัน”
“คนอเมริกันส่วนใหญ่ ยังคงชอบติดตามประเด็นดราม่าที่กลายเป็นกระแสหลักในสหรัฐฯ น้อยคนที่จะอ่านข่าวเชิงสืบสวน ขณะเดียวกันแม้จะรายงานข่าวเชิงสืบสวน แต่ก็มี % น้อยที่จะการันตีว่าข่าวนั้นได้ลงหน้าหนึ่ง หรือได้ลง นสพ.จริง ๆ เพราะต้องเป็นข่าวใหญ่ที่ส่งผลกระทบระดับชาติมากกว่า”
“ถ้าให้เปรียบเทียบ ก็เหมือนความแตกต่างระหว่าง ข่าวกระแสหลัก คือ Hollywood ส่วนข่าวเชิงสืบสวนเป็นได้แค่ Talkshow เท่านั้น” เขากล่าวติดตลก
ผมถามว่า กระบวนการทำข่าวสืบสวนในสหรัฐฯ ภายหลังการเกิดขึ้นของสื่อออนไลน์ สำนักข่าวต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง แตกต่างจากเดิมไหม เขาเล่าให้ฟังว่า นักข่าวที่ทำข่าวเชิงสืบสวน ไม่สามารถจดจ่อกับการขุดคุ้ย หรือเก็บข้อมูลอย่างเดียวได้อีกต่อไปแล้ว แต่ต้องขยายกรอบการทำงาน เพราะว่าโฆษณาของเราจะดูจากยอดคลิกเป็นหลัก จำเป็นต้องทำข่าวประเภทอื่น ๆ สลับกันไปด้วย
“ผมยกตัวอย่างการทำงานของผมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผมเก็บข้อมูลเรื่องข่าวสืบสวนเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งไปเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันผมก็มาทำข่าวเชิงสืบสวนชิ้นเล็ก ๆ เช่น การรายงานข่าวกระบวนการฟอกเงินของผู้มีอิทธิพลผ่านธนาคารในต่างประเทศ ทยอยสลับลงบ้าง นี่คือความสุขของผม และผมเชื่อว่ามันเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการทำข่าวเชิงสืบสวน และการทำข่าวทั่วไปให้สมดุลกันในยุคนี้”
“ถ้าถามว่าผมอยากทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน 100% เลยไหม ก็คงอยาก แต่เพราะกระบวนการทำอย่างที่ผมเล่าให้ฟังไปแล้ว ดังนั้นการทำงานตอนนี้ สนุกกับเรื่องเล็ก ๆ ไม่ซับซ้อน มันสามารถไปด้วยกันได้”
แล้วนโยบายข่าวสืบสวนในสหรัฐฯเป็นอย่างไร แตกต่างจากเดิมหรือไม่ ?
Bill อธิบายได้น่าสนใจว่า เรื่องนี้สามารถมองได้ 2 ด้าน ได้แก่ ด้านผู้บริโภค เขาอยากอ่านข่าวแบบไหน และอีกด้านคือ รัฐบาลให้ความร่วมมือในการสืบสวนเรื่องราวที่พวกเราเปิดโปงมากแค่ไหน และอย่างที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันบทบาทสื่อในสหรัฐฯกำลังถูกท้าทายจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ออกมาโฆษณาชวนเชื่อว่า สื่อในสหรัฐฯล้วนลงข่าวปลอม (Fake News) เพื่อป้ายสีเขา และคณะทำงาน เพื่อบิดเบือนประเด็นที่เขากำลังถูกสอบสวนเรื่องร่วมมือกับรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯเมื่อปี 2016 ส่วนผู้บริโภคอย่างที่ผมเคยบอกว่า เขาอยากอ่านข่าวที่ซับซ้อนหรือไม่ ก็คงไม่เช่นเดียวกัน
“อย่างในประเทศของคุณ (ประเทศไทย) สื่อก็มีปัญหากับรัฐบาลในการตีพิมพ์ข่าว รายงาน หรือแสดงความคิดเห็น ในส่วนนี้พวกเรากังวลว่า ประชาชนอาจไม่ได้รับทราบข่าวสารที่ครบถ้วน หรือรอบด้าน”
เขาเล่าอีกว่า ส่วนผู้บริโภคจะซื้อหนังสือพิมพ์ที่รายงานข่าวสืบสวนหรือไม่นั้น ต้องเข้าใจก่อนว่ากลุ่มผู้อ่านข่าวประเภทสืบสวน มีเฉพาะกลุ่ม และค่อนข้างแคบ แยกตัวออกจากกลุ่มทั่วไปที่อ่านข่าวดราม่า หรือข่าวที่เกี่ยวข้องกับประธานาธิบดี เป็นต้น
ผมเล่าสถานการณ์การทำข่าวเชิงสืบสวนในประเทศไทยให้เขาฟังว่า ปัจจุบันนักข่าวประเภทนี้ลดลงทุกวัน เหลือน้อยมากเต็มที จนแทบจะพูดได้ว่านักข่าวที่ทำข่าวเชิงสืบสวน ‘จริง ๆ’ เกือบไม่มี จึงถามเขาว่า สถานการณ์การทำข่าวเชิงสืบสวนในสหรัฐฯ คล้ายคลึงกับประเทศไทยหรือไม่
“เหมือนกัน”
เขาตอบ ก่อนอธิบายว่า ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ หรือเว็บไซต์ แทบไม่มีสื่อเจ้าไหนทำข่าวเชิงสืบสวน เพราะข่าวประเภทนี้ไม่ใช่วิธีที่จะนำรายได้มาสู่องค์กร กลับกันมันคือข่าวที่เสียค่าใช้จ่ายจำนวนไม่น้อย ขณะเดียวกันนักข่าวในปัจจุบันต้องการทำข่าวประเภท Hollywood คือข่าวที่ผู้คนทั่วไปสนใจ ยิ่งตอนนี้ข่าวในเชิงลบ ข่าวดราม่า หรือข่าวหดหู่ ประชาชนอเมริกันให้ความสนใจ แน่นอนว่าเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของการทำข่าวเชิงสืบสวนอย่างมากที่จะยืนหยัด
ผมถามว่า ตกลงข่าวเชิงสืบสวนยังคงมีความจำเป็นอยู่ไหม ไม่ใช่แค่ในสหรัฐฯ แต่หมายถึงทั้งโลก
Bill บอกว่า คิดว่ายังสำคัญอยู่ เพราะข่าวประเภทนี้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมได้จริง ๆ ผมยกตัวอย่าง ‘คดีวอเตอร์เกต’ (คดีที่อดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ถูกกล่าวหาว่า จารกรรมข้อมูลของพรรคเดโมแครต (คู่แข่งทางการเมือง) เพื่อช่วยให้ตัวเองได้รับเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกสมัย มาจากการเปิดโปงของบ็อบ วู้ดเวิร์ด และคาร์ล เบิร์นสติล 2 นักข่าวมือฉมังแห่ง นสพ. The Washington Post ข่าวชิ้นนี้ได้รางวัลพูลิตเซอร์ด้วย) ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสหรัฐฯ
“ข่าวเชิงสืบสวนเป็นความสำเร็จที่สำคัญ เป็นข่าวที่ถ่วงดุลอำนาจของรัฐบาล และประชาชน โดยไม่ต้องใช้ปืนขู่ มันมีหลักฐานมากมายที่พิสูจน์ออกมาเป็นรูปธรรมแล้ว”
จบบทสนทนาเพียงเท่านี้ เนื่องจาก ‘หมดเวลา’ อีกแล้ว Bill ขอตัวเพื่อไปเคลียร์งานที่คั่งค้างอยู่ ผมบอกขอบคุณในความรู้และประสบการณ์ที่เขาถ่ายทอดให้ฟัง โดยเฉพาะการทำงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนในสหรัฐฯที่สามารถนำมาปรับใช้ภายในประเทศไทยได้
ตอนต่อไป ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับอาจารย์ที่สอนภาควิชาวารสารศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค ถ้าอยากรู้ว่าบทบาทมหาวิทยาลัยที่สอนนักข่าวในสหรัฐฯ เทียบกับมหาวิทยาลัยในไทย เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร โปรดติดตาม
อ่านประกอบ :
ตามไปดูพิพิธภัณฑ์ 9/11 บทบาทสื่อในเหตุการณ์-รู้ไหมนักข่าวสายไหนรายงานกลุ่มแรก?
อนาคตเสรีภาพสื่อไทยในสายตา CPJ องค์กรปกป้องสิทธินักข่าว-ความท้าทาย'โลกหมุนขวา'
เปิดภาพชุด นสพ.สหรัฐฯ-ทั่วโลกพร้อมใจตีข่าวช่วย‘ทีมหมูป่า’
ทำความรู้จักกลุ่มระดมทุนหาเสียงสหรัฐฯ-รู้ยัง‘ทรัมป์’ไม่ยื่นแบบภาษีให้สังคมตรวจสอบ?
เมื่อคนอเมริกันถามแต่เรื่อง'ถ้ำหลวง' ไขคำตอบทำไมข่าวนี้โด่งดังข้ามโลก?
ชำแหละขบวนการ‘ล็อบบี้ยิสต์’ เมื่อสื่อเต็มใจตกเป็นเครื่องมือกลุ่มทุน-การเมือง?
เลาะ‘ดี.ซี.’เล่าฉากหลัง 4สถานที่ประวัติศาสตร์-ตามไปดู รร.ต้นกำเนิดล็อบบี้ยิสต์