ปัจจุบันสถิติคดี เป็นที่น่าพอใจแล้ว แต่เรื่องคุณภาพของงานที่ทำ การพิจารณาคดี การตัดสินคดีรอบคอบและเป็นธรรมหรือไม่ ต้องเคร่งครัดเรื่องการนั่งพิจารณาให้ครบองค์คณะ เท่ากับได้ฟังพยานหลักฐานตั้งแต่ต้นจนจบ ศาลชั้นต้น อยู่ในสถานะที่พัฒนาขึ้น ส่วนศาลสูง หากทำให้รอบคอบขึ้น ให้เขาแพ้ชนะด้วยคุณภาพของคดีจริงๆ จะดีหรือไม่
วันที่ 7 พ.ย. เวลา 9.30 น. นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา แถลงนโยบายประธานศาลฎีกาและกำหนดแนวทางการบริหารศาลยุติธรรม ณ โรงแรมวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย กรุงเทพ ถ.ราชดําริ โดยมีผู้บริหารระดับสูงในศาลยุติธรรมทุกชั้นศาล จำนวน 112 ท่าน เข้าร่วมการประชุม (อ่านประกอบ:เน้นปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี 'ไสลเกษ วัฒนพันธุ์' ย้ำชัดนโยบายหลักศาลฎีกา )
ประธานศาลฎีกา กล่าวถึงนโยบายหรือพันธกิจของศาลยุติธรรมทุกยุคทุกสมัยไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนักในสาระสำคัญ สิ่งที่ต้องคำนึงจะอำนวยความยุติธรรม ระงับข้อขัดแย้งให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างไรให้สะดวกรวดเร็ว ได้รับความเป็นธรรม แต่สิ่งที่แตกต่างกันในแต่ละปี คือการมุ่งเน้นแก้ปัญหาในแต่ละด้าน ความต้องการเร่งด่วนของประชาชน
"ปีนี้เป็นแรกที่การได้มาซึ่งนโยบายของศาลยุติธรรม 1 ปี มีการรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนข้าราชการ บุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม และประชาชน เมื่อวันที่ 1-5 ต.ค.จำนวน 567 ราย สิ่งนี้เองจึงมีการสำรวจความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อนำมากลั่นกรองเป็นนโยบายที่จะเสริมสร้างประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน" นายไสลเกษ กล่าว และว่า แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้น แต่มีความหมายมาก สะท้อนอะไรบางอย่าง โดยก่อนจะลงจากตำแหน่งจะทำคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อสำรวจความคิดเห็นและเตรียมสร้างนโยบายและยุทธศาสตร์ในปีถัดไป
ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี
นายไสลเกษ กล่าวถึงนโยบายต่อจากนี้จะส่งเสริมการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดีให้มากขึ้น หลายคนอาจถามปัจจุบันเราปล่อยน้อย ขังเยอะจริงหรือไม่ ซึ่งสถิติไม่ได้ปล่อยน้อยเลย ปี 2561 มีคำร้องขอประกันตัว 2.1 แสนคดี ศาลให้ปล่อยชั่วคราว 1.9 แสนคดี หรือ 92% และส่วนปี 2560 มีคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว 2.2 แสนคดี ศาลปล่อย 2.1 แสนคดี หรือ 93% ที่เหลือ 7% คือขัง
"สิ่งที่สังคมบอกว่าศาลไม่ค่อยปล่อยตัวชั่วคราวจริงหรือไม่ มีการอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 29 บอกว่า ตราบใดที่คำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด ให้ถือว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งบทบัญญัติมาตรานี้มาจากที่ไหน โดยผู้บริสุทธิ์ มีทั้งขาวสะอาด ขาวหม่น ขาวเทา เทาใกล้ดำ วัดอย่างไร มาตรา 29 มองว่า ค้านกับความเป็นจริง"
ประธานศาลฎีกา กล่าวว่า รัฐธรรรมนูญใหญ่กว่าพระราชบัญญัติ แม้ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ตัดสิน ก็ต้องถือว่า จำเลยยังบริสุทธิ์อยู่ เอาแบบนั้นก็ได้ เราก็มีวิธีการดุลพินิจปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ และกำหนดมาตรการต่างๆ ในการปล่อยตัวชั่วคราวได้
"เราจะปล่อย 7-8% ตรงนี้ให้มากขึ้น ปล่อยอย่างไร เราจะยึดประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นหลัก จำเลยจะหลบหนี ไปยุ่งกับพยานหลักฐาน คุกคามผู้เสียหาย สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนหรือไม่ บุคคลที่เรียกร้องให้ปล่อยตัวชั่วคราวก็กลัวเรื่องความปลอดภัยเช่นกัน ดังนั้น การปรับทัศนคติพิจารณาสามารถปล่อยกลุ่มคนเรานี้ที่ขังเขาไว้มากขึ้นได้หรือไม่ หากไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัย กำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวให้เข้มข้นขึ้น เช่น การรายงานตัว ติดกำไรข้อเท้าติดตามตัว ห้ามเข้าเขตที่กำหนดไว้ คุมความประพฤติ"
นายไสลเกษ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีพระราชบัญญัติการติดตามควบคุมจำเลยที่หลบหนีคดี มีสินบนนำจับ ผู้แจ้งเบาะแส ตรงนี้ช่วยทำให้มาตรการติดตามผู้หลบหนีเข้มข้นมากขึ้น ขณะนี้ทุกสนามบินใช้ระบบไบโอแมทริกซ์ (biometrics) อาชญากรที่หนีหมายจับมาถูกจับที่เมืองไทยจำนวนมาก หากเป็นเช่นนี้ ต่อไปไม่ต้องกลัวการหลบหนี เพราะมีเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งต้องติดตาม ฉะนั้น ขอให้มั่นใจ การปล่อยตัวชั่วคราวโอกาสหลบหนีจะยากขึ้น หรือแม้แต่คดีทุจริต อายุความจะสะดุดหยุดลง เมื่อหลบหนี แปลว่า ต้องหนีตลอดชีวิต คนหนีต้องคิดหนัก คุุ้มหรือไม่จะหลบหนี
"นโยบายให้คำนึงถึงเหยื่อและความสงบสุขของสังคม การปล่อยตัวชั่วคราวจะออกรายละเอียดเป็นข้อเสนอแนะต่อไป"
ปฏิบัติให้เหมาะสมผู้ต้องหา จำเลย เหยื่อ
ประธานศาลฎีกา กล่าวถึงการกำหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมต่อผู้ต้องหา จำเลย เหยื่ออาชญากรรม ผู้เสียหาย ตลอดจนกลุ่มผู้เปราะบางในสังคมทุกขั้นตอนของกระบวนการทางศาล
นายไสลเกษ กล่าวว่า เป็นไปได้หรือไม่ จะแยกการควบคุมออกจากกัน โทษเบาปฏิบัติให้เหมือนคนธรรมดา เพราะที่ผ่านมาการออกแบบอาคารสถานที่ของศาล ไม่ได้คิดถึงจุดนี้ เราต้องนำบุคคลเหล่านี้ไปขังรวมกัน
"ศาลฎีกาใหม่ มีคดีอาญานักการเมือง ปรากฎว่า มีเพศหญิงถูกควบคุม มีห้องควบคุมห้องเดียว มีห้องน้ำห้องเดียว ขนาดศาลลำดับต้นของประเทศ ยังไม่ปฏิบัติกับผู้ต้องขังโดยคำนึงถึงเพศได้ สังคมข้างนอกจะมองอย่างไร
สิ่งหนึ่งที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ดูแลผู้ต้องขังหญิงให้มีมนุษยธรรม จนสหประชาชนยอมรับ เรียกว่า “ข้อกำหนดกรุงเทพ” (Bangkok Rules) ใช้ทั่วโลก แล้วศาลฏีกาไม่สนองตรงนี้หรือ จึงให้เลขาฯ ศาลฎีกา เร่งดำเนินการเรื่องนี้ ศาลทั่วประเทศสามารถทำได้แยกประเภทผู้ต้องขัง ควบคุมเท่าที่จำเป็น ปฏิบัติเขาเหมือนคนปกติ เหมือนแขกมาเยี่ยมบ้าน และหากในที่สุดต้องเข้าห้องขัง ก็ปฏิบัติแบบเชิญเขาเข้าห้องขัง ผมให้นโยบายไปต่อจากนี้การออกแบบศาลต้องคำนึงถึง ห้องที่จะแยกผู้ต้องขัง พยาน เพศ วัย และคนพิการ"
วอนศาลใช้แบบประเมินความเสี่ยง
ทั้งนี้ นายไสลเกษ กล่าวถึงการเพิ่มบทบาทเชิงรุกของศาลในการให้ข้อมูลแก่ประชาชนเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินคดีในศาลและให้ประชาชนได้รับรู้ถึงสิทธิตามกฎหมายว่า อัตราราคาประกันสมควรขึ้นเว็บไซต์ บนบอร์ด หน้าศาลให้ประชาชนรู้ หลายแห่งได้ทำแล้ว คือ เวลายื่นคำร้องขอประกัน จะพิจารณาคำร้องควบคู่หลักทรัพย์ บางแห่งก้าวหน้าไม่พิจารณาหลักทรัพย์ก่อน แต่พิจารณายื่นคำร้องโดยดูความเสี่ยงก่อน ตีราคาทีหลัง ซึ่งเป็นการบรรเทา และลดภาระให้กับประชาชนได้อีกทางหนึ่ง และอยากเชิญชวนให้ศาลใช้แบบประเมินความเสี่ยง ประกอบการปล่อยตัวชั่วคราว ใช้เวลาเพียง 15 นาที เป็นเครื่องมือทำให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงมาก บางคดีปล่อยได้โดยไม่มีหลักประกันด้วยซ้ำไป
"จากตัวเลขทดลองใช้แบบประเมินความเสี่ยง 13 ศาล พบว่า 2 พันกว่าราย พบว่า หลบหนีน้อยมากแค่ 200 กว่าราย ถือเป็นเรื่องปกติ"
นโยบายการยกระดับมาตรฐานการพิจารณาพิพากษาคดี เพื่อให้ความยุติธรรมเป็นที่ประจักษ์,พัฒนาระบบการประชุมปรึกษาคดีขององค์คณะให้เข้มแข็งในทุกชั้นศาล เพื่อยกระดับคุณภาพของคำพิพากษาบนพื้นฐานความเป็นอิสระโดยปราศจากการแทรกแซง,กำหนดกรอบระยะเวลาที่เหมาะสมในการพิจารณาพิพากษาคดีและการจัดพิมพ์คำพิพากษา หรือคำสั่งเพื่อให้ความยุติธรรมได้ปรากฎในเวลาอันควร และสร้างแบบประเมินที่เป็นมาตรฐานสากลให้ศาลใช้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ ในพันธกิจของศาล และการสร้างบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ
นายไสลเกษ กล่าวว่า ปัจจุบันสถิติคดี เป็นที่น่าพอใจแล้ว แต่เรื่องคุณภาพของงานที่ทำ การพิจารณาคดี การตัดสินคดีรอบคอบและเป็นธรรมหรือไม่ ต้องเคร่งครัดเรื่องการนั่งพิจารณาให้ครบองค์คณะ เท่ากับได้ฟังพยานหลักฐานตั้งแต่ต้นจนจบ ศาลชั้นต้น อยู่ในสถานะที่พัฒนาขึ้น ส่วนศาลสูง หากทำให้รอบคอบขึ้น "ให้เขาแพ้ชนะด้วยคุณภาพของคดีจริงๆ จะดีหรือไม่ คดีมีคุณภาพผมว่า ประชาชนยอมจ่ายภาษีให้เราทำงานจุดนี้ ความรวดเร็ว โดยปราศจากความละเอียดรอบคอบ คือความอยุติธรรม ต้องเร็วระดับที่รอบคอบและมีคุณภาพ เราหันกลับมาวางระบบปรึกษาคดี ประชุมคดีกันอย่างจริงจัง ซึ่งเชื่อมั่นว่า สิ่งนี้ทำให้ศาลของเรายืนอยู่ในความมั่นคงและเชื่อมั่นสถาบันของเรามากขึ้น"
ไม่ควรยึดมั่นระบบอาวุโสแข็งเกินไป
ประธานศาลฏีกา ระบุถึงนโยบายที่จะนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการอำนวยความยุติธรรมการพิจารณาพิพากษาคดีและการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยคำนึงถึงช่องทางอื่นที่สะดวก ประหยัด สำหรับประชาชนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี และสร้างความเข้มแข็งของระบบการบริหารงานบุคคล ด้วยการสร้างสมดุลระหว่างจริยธรรมระบบอาวุโส และความรู้ความสามารถ
"เราเคยให้ความสำคัญกับความรู้ความสามารถในการขึ้นเป็นผู้บริหาร และกลับมาคำนึงถึงความอาวุโส ประเด็นนี้ ผมคิดว่า เราอาจต้องทบทวนหรือไม่ การประเมินบุคคลอาวุโสควบคู่ความรู้ความสามารถ จริยธรรมเป็นตัวตัดสินสุดท้าย ซึ่งทำให้เราสามารถได้คนที่เหมาะสมทำงานตามหน้าที่ น่าจะได้คนที่อยากเป็นผู้บริหาร ทำงานเชิงบริหารได้ ซึ่งไม่ควรยึดมั่นระบบอาวุโสแข็งเกินไป"
ทั้งนี้ ประธานศาลฏีกา เน้นย้ำ ศาลต้องพัฒนาให้มีความอดทนอดกลั้น มีสติ ไม่ใช่อยากจะทำอะไรก็ทำ ไม่พึงใช้ความรุนแรง แก้ปัญหาโดยการใช้สันติวิธี ต่อไปนี้ทุก 5 ปีต้องตรวจสภาพร่างกายและจิตใจ เพื่อสำรวจตัวเอง
สุดท้าย นโยบายสนับสนุนบทบาทของศาลในการบังคับใช้กฎหมายที่ส่งเสริมรักษาสิ่งแวดล้อมและที่ไม่ก่อภาระหรือเป็นผลร้ายต่อประชาชนและสังคม สนับสนุนบทบาทของศาลในการส่งเสริมรักษาสิ่งแวดล้อม สนับสนุนบทบาทยของศาลในการประเมิน และยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็น หรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต หรือการประกอบอาชีพเพื่อไม่ให้ก่อภาระหรือเป็นผลร้ายต่อประชาชนและสังคม
" ผมขอร้องให้สำนักงานศาลยุติธรรมประกาศให้สังคมรู้ว่า ต่อไปนี้ทุกโครงการการก่อสร้างของศาล จะคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย ทีโออาร์ฉบับแรกสัญญาก่อสร้างที่ที่อื่นไม่มี การว่าจ้างฉบับต่อไปต้องมีการรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะเรามีบทเรียนแล้วที่เชียงใหม่ ส่วนพื้นที่ปากช่อง 250 ไร่ อนาคตจะสร้างสถาบันฝึกอบรมแห่งที่ 2 และใช้พื้นที่นี้ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ปลูกป่าด้วย"
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/