"...การใช้อำนาจของประธานรัฐสภาเพียงคนเดียวจึงอาจขาดความเป็นกลาง เนื่องจากประธานรัฐสภาสังกัดพรรคการเมือง และในอนาคตอาจมีเรื่องถูกกล่าวหาที่จะเข้าสู่การพิจารณาขององค์กรอิสระ อีกทั้งเป็นการง่ายที่คู่กรณีจะเข้าพบเพื่อเจรจาเรื่องที่มีการกล่าวหากับประธานรัฐสภาที่มีอำนาจเพียงคนเดียว การใช้ดุลพินิจของประธานรัฐสภาไม่เสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกา จึงเป็นเรื่องที่ควรจะได้รับการตรวจสอบด้วยเช่นกัน..."
ภาพที่ประธานรัฐสภาเปิดห้องรับแขกที่บ้านพักส่วนตัวในเวลาพลบค่ำก่อนจะเข้าสู่ยามวิกาลของเย็นวันหนึ่งปลายปี 2567 ให้คู่กรณีที่ตนกำลังจะใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญเพื่อมีดุลพินิจให้คุณให้โทษได้เข้าพบ
ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลการเข้าพบด้วยเรื่องใดก็ตาม ประธานรัฐสภาย่อมจะต้องรู้ว่าการเข้าพบของคู่กรณีจะต้องมีการร้องขอในเรื่องที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของตน ซึ่งหากประธานรัฐสภาจะดำรงความเป็นกลางอย่างแท้จริง เมื่อเห็นคู่กรณีเข้ามาภายในบ้านพักโดยไม่ได้นัดหมายล่วงหน้าไม่ว่าใครจะนำมา ก็สามารถที่จะปฏิเสธไม่พูดคุยด้วยโดยไม่เป็นการเสียมารยาท
แต่กลับได้ให้การต้อนรับด้วยดีโดยจัดหาของว่างให้รับประทานและให้เวลาพูดคุยเช่นเดียวกับแขกที่มาเยี่ยมเยียนตามปกติ
แม้จะอ้างว่าเป็นการต้อนรับตามมารยาท แต่ก็ได้แสดงถึงการยอมรับต่อการที่อาจจะมีการร้องขอของคู่กรณีในเรื่องที่ตนกำลังพิจารณา เนื่องจากเมื่อมีการสนทนากันเนื้อหาส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของประธานรัฐสภา ในลักษณะที่คู่กรณีแสดงความเป็นห่วงในเรื่องที่ถูกกล่าวหา หากยังไม่มีผลพิจารณาออกมาในทางที่เป็นคุณต่อคู่กรณี จะทำให้กระทบต่อการคัดเลือกเพื่อเข้าดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น ซึ่งประธานรัฐสภาก็ไม่ได้ปฏิเสธที่จะพูดคุยเรื่องนี้ และยังได้เปิดเผยว่าการพิจารณาได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน
คู่กรณีที่เข้าพบถูกกล่าวหาในเรื่องที่มีความร้ายแรงถึงขั้นอาจต้องหลุดจากตำแหน่งเดิมหรือไม่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใหม่ที่สูงขึ้น ซึ่งคู่กรณีฝ่ายที่กล่าวหาได้ส่งข้อกล่าวหาเข้าไปอยู่ในมือของประธานรัฐสภามาแล้วตั้งแต่กลางปี 2567 โดยในช่วงเวลาที่คู่กรณีเข้าพบประธานรัฐสภาเรื่องนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาอย่างเป็นทางการเพื่อที่จะเสนอเรื่องต่อไปยังประธานศาลฎีกา และขณะเดียวกันก็เป็นช่วงเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาจะได้รับการเสนอชื่อเพื่อคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการขององค์กรอิสระแห่งหนึ่ง โดยประธานรัฐสภามีหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญในการใช้ดุลพินิจว่าจะดำเนินการเรื่องที่กล่าวหาต่อไปหรือยุติเรื่อง
การสนทนาที่ปรากฏเป็นคลิปวิดีโอมีเนื้อหาส่วนหนึ่งเกี่ยวกับการพูดในทำนองว่าพอจะมีช่องทางที่อาจนำมาใช้เพื่อยุติเรื่องได้ ซึ่งไม่ใช่วิธีการถอนเรื่องที่จะทำให้กระทบต่อความรู้สึกของประชาชนกว่า 2 หมื่นคนที่คู่กรณีฝ่ายกล่าวหาได้รวบรวมรายชื่อมา
โดยในเวลาต่อมาประธานรัฐสภาก็ได้ยุติเรื่องที่ถูกร้องขอ ด้วยการตีความว่ารัฐธรรมนูญให้อำนาจประธานรัฐสภาที่จะใช้ดุลพินิจไม่เสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกาเพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระเพื่อไต่สวนหาข้อเท็จจริงได้ หากเห็นว่าไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำตามที่ถูกกล่าวหา ทั้งที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าเพียงมีหลักฐานตามสมควรที่จะเป็นเหตุอันควรสงสัยเท่านั้น แม้เหตุอันควรสงสัยนั้นต่อมาอาจจะไม่เป็นไปตามที่สงสัยก็ตาม ประธานรัฐสภาก็จะต้องเสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกา เพราะประธานรัฐสภามิใช่เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดว่าผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1) แต่เป็นอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะผู้ไต่สวนอิสระ
การใช้ดุลพินิจของประธานรัฐสภาตัดอำนาจของคณะผู้ไต่สวนอิสระเช่นนี้ จึงเท่ากับว่าเรื่องที่มีการกล่าวหาดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไร้สาระขาดซึ่งหลักฐานต่าง ๆ อย่างสิ้นเชิง และไม่มีเหตุอันควรสงสัยใด ๆ แม้แต่น้อยนิดที่จะต้องมีการไต่สวนต่อไปโดยคณะผู้ไต่สวนที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งยากที่จะเป็นเช่นนั้น จึงทำให้มีข้อสงสัยว่าการพิจารณาอาจไม่มีความเป็นกลางและเป็นประโยชน์เกินสมควรแก่ผู้ถูกกล่าวหาที่เข้าพบในยามวิกาลครั้งนั้น หรือไม่ และอาจเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนอีกกว่า 2 หมื่นคนที่เป็นผู้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 236 และยังเป็นการตัดอำนาจคณะผู้ไต่สวนอิสระซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ที่จะถูกแต่งตั้งขึ้นโดยประธานศาลฎีกา ที่จะทำการไต่สวนหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ เพื่อที่จะทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระปราศจากซึ่งพฤติการณ์อันเป็นข้อสงสัย และปฏิบัติหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง
การใช้อำนาจของประธานรัฐสภาเพียงคนเดียวจึงอาจขาดความเป็นกลาง เนื่องจากประธานรัฐสภาสังกัดพรรคการเมือง และในอนาคตอาจมีเรื่องถูกกล่าวหาที่จะเข้าสู่การพิจารณาขององค์กรอิสระ อีกทั้งเป็นการง่ายที่คู่กรณีจะเข้าพบเพื่อเจรจาเรื่องที่มีการกล่าวหากับประธานรัฐสภาที่มีอำนาจเพียงคนเดียว การใช้ดุลพินิจของประธานรัฐสภาไม่เสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกา จึงเป็นเรื่องที่ควรจะได้รับการตรวจสอบด้วยเช่นกัน
การใช้ดุลพินิจยุติเรื่องของประธานรัฐสภาทำให้เกิดข้อสงสัยอย่างน้อย 2 ประการคือ
ประการที่ 1 เป็นการยุติเรื่องเนื่องจากไม่มีเหตุอันควรสงสัยจริง ๆ แม้แต่น้อยนิด หรือไม่ เพราะก่อนยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภาคู่กรณีฝ่ายที่กล่าวหาและประชาชนอีกกว่า 2 หมื่นคน ได้ใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อรวบรวมหลักฐาน ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า แม้มีเพียงหลักฐานตามสมควรไม่ถึงขนาดต้องชี้ชัดก็สามารถกล่าวหา เพื่อที่จะนำไปสู่การตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระโดยประธานศาลฎีกาได้แล้ว การใช้ดุลพินิจของประธานรัฐสภาให้ยุติเรื่องนี้โดยตีความว่ารัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ จึงอาจเป็นการด้อยค่าความคิดเห็นหรือละเมิดสิทธิของประชาชนถึงกว่า 2 หมื่นคน โดยใช้ความเห็นของตนเองโดยลำพังเพียงคนเดียว แม้จะมีคณะทำงานให้ความเห็นด้วยก็ตาม แต่ก็เป็นคณะทำงานภายใต้บังคับบัญชาของประธานรัฐสภา ไม่ใช่รูปแบบคณะกรรมการที่ประกอบด้วยบุคคลต่าง ๆ ที่อยู่ต่างหน่วยงาน
ข้อสงสัยประการที่ 2 เป็นการยุติเรื่องเนื่องจากการเข้าพบเป็นการส่วนตัวของคู่กรณี หรือไม่ เนื่องมาจากการเข้าพบของคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่าย ซึ่งมิใช่กรณีที่ประธานรัฐสภาเชิญฝ่ายที่กล่าวหามายืนยันข้อกล่าวหาหรืออธิบายข้อกล่าวหาเพิ่มเติม หรือเชิญฝ่ายที่ถูกกล่าวหามาสอบถามหรือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาในสถานที่ทำงานในเวลาทำงานปกติ โดยมีคณะทำงานหรือบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คู่กรณีร่วมรับฟังอยู่ด้วย เพื่อที่จะทำให้การใช้ดุลพินิจของประธานรัฐสภามีความละเอียดรอบคอบมากขึ้น แต่เมื่อเป็นการพบปะกันเป็นการส่วนตัวระหว่างคู่กรณีกับประธานรัฐสภาเพื่อพูดคุยกันในเรื่องที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา ในสถานที่รโหฐานซึ่งเป็นบ้านพักของประธานรัฐสภาที่เป็นผู้มีอำนาจใช้ดุลพินิจ จึงเป็นเรื่องที่มีสภาพร้ายแรงที่จะทำให้การวินิจฉัยของประธานรัฐสภาไม่เป็นกลาง และขัดต่อหลักนิติธรรม อันจะกระทบต่อสิทธิของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยหรือไม่ จะถือว่าผลการวินิจฉัยของประธานรัฐสภาใช้บังคับได้หรือไม่
สามัญสำนึกของวิญญูชนพึงเห็นได้ว่าการพบปะกันของคู่กรณีกับประธานรัฐสภา และการใช้ดุลพินิจยุติเรื่องของประธานรัฐสภา เป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์กัน เนื่องจากประธานรัฐสภา อาจเห็นว่าในอนาคตตนหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในพรรคการเมืองที่ตนสังกัด อาจจะต้องพึ่งพาประธานองค์กรอิสระที่ถูกกล่าวหา จึงควรจะสร้างบุญคุณเอาไว้ล่วงหน้าเพื่อที่จะทวงคืนในภายหลังตามระบบอุปถัมภ์ที่นิยมใช้กันในสังคมไทย ประธานรัฐสภาจึงให้ผู้ถูกกล่าวหาที่กำลังจะดำรงตำแหน่งประธานขององค์กรอิสระได้เข้าพบและพูดถึงทางออกเพื่อให้พ้นจากข้อกล่าวหา และไม่เป็นข้อติดขัดในการที่จะได้รับการโหวตให้ดำรงตำแหน่งสูงสุดในองค์กรอิสระนั้น โดยเห็นได้จากคลิปวิดีโอที่ประธานรัฐสภาอวยพรผู้ถูกกล่าวหาให้ได้เป็นประธานองค์กรอิสระ และผู้ถูกกล่าวหาก็ได้พนมมือไหว้ขอบคุณ ซึ่งหมายถึงขณะนั้นประธานรัฐสภาน่าจะได้ตัดสินใจแล้วหรือไม่ว่า จะใช้ดุลพินิจยุติเรื่องตามความต้องการของผู้ถูกกล่าวหาที่เข้าพบ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจมีผู้กล่าวหาประธานรัฐสภาว่า ไม่ได้วางตัวเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 119 วรรคสอง และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ข้อ 5 ต้องยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย ข้อ 8 ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ข้อ 13 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม เป็นอิสระ เป็นกลาง และปราศจากอคติ โดยคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ข้อ 14 รักษาไว้ซึ่งความลับในการประชุม การพิจารณาวินิจฉัย ข้อ 16 ไม่ให้คำปรึกษาแก่บุคคลภายนอก หรือแสดงความคิดเห็นต่อสื่อสาธารณะหรือสาธารณชนในเรื่องที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา ข้อ 17 ไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง และข้อ 19 ไม่คบหาสมาคมกับคู่กรณี ขณะเดียวกันก็อาจมีผู้กล่าวหาประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในทำนองเดียวกัน
โดยเป็นอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีมีการกล่าวหาว่าประธานรัฐสภาซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กระทำความผิดฐานจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ที่จะส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และหากพบว่าประธานรัฐสภาซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีอำนาจเสนอเรื่องโดยตรงต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิทางการเมือง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 และ พรบ.ป.ป.ช.มาตรา 28
ส่วนการกล่าวหากรรมการ ป.ป.ช.ก็ทำได้โดย สส.หรือ สว.จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อกล่าวหากรรมการ ป.ป.ช.ต่อประธานรัฐสภา ในข้อหาร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เพื่อให้ประธานรัฐสภาเสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกาเพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระทำการไต่สวนหาข้อเท็จจริง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 236
เหตุการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันก็หาใช่ว่าประธานรัฐสภา หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของพรรคการเมืองที่ประธานรัฐสภาสังกัด จะไม่มีเรื่องที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของ คณะกรรมการ ป.ป.ช.เสียทีเดียว เท่าที่รับรู้กันคือ เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่สังกัดพรรคการเมืองเดียวกันกับประธานรัฐสภา ที่มีการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งอาจเอื้อประโยชน์ต่อบุคคลสำคัญเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และบังคับใช้กฎหมายโดยก้าวล่วงอำนาจศาล หรือแม้แต่ประธานรัฐสภาเองก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับเอาคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่ไม่มีการชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบายซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ บรรจุเข้าวาระการประชุมของรัฐสภาถึง 2 ครั้ง ทั้งในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน และรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ซึ่งมีผู้กล่าวหาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งแต่ต้นปี 2567 โดยเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ได้เรียกผู้กล่าวหาไปให้ข้อมูลเพิ่มเติมและได้แสวงหาข้อเท็จจริงต่าง ๆ รวมทั้งขอคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาตั้งแต่เมื่อกลางปี 2567 ซึ่งการกล่าวหาส่วนหนึ่งเชื่อมโยงไปถึงประธานรัฐสภาซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยขณะที่ประธานรัฐสภาพิจารณาเพื่อบรรจุเรื่องเข้าวาระการประชุม
หากเห็นว่าเอกสารประกอบการประชุมคือเล่มคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี มีเนื้อหาที่บกพร่องไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ก็มีอำนาจที่จะไม่รับบรรจุเข้าวาระการประชุม โดยแจ้งให้คณะรัฐมนตรีจัดทำคำแถลงนโยบายที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่แล้วจึงบรรจุเข้าวาระการประชุม เมื่อไม่ได้ทักท้วงใด ๆ และรับเอาคำแถลงนโยบายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญบรรจุเข้าวาระการประชุมและดำเนินการประชุมจนเสร็จสิ้น
จึงเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จากการไม่ยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย และไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งเป็นอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่จะเสนอเรื่องไปยังศาลฎีกา
แต่เมื่อประธานรัฐสภา กับประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการพูดคุยดังภาพ ที่ปรากฏให้ประชาชนได้เห็นกันทั่วประเทศเช่นนี้แล้ว
เรื่องราวที่เกิดขึ้นจึงไม่มีวันเดินทางไปถึงศาลฎีกาหรือประธานศาลฎีกา
สุดท้ายแล้ว ใครจะตรวจสอบกับสองตำแหน่งนี้ได้ ??