"...ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันจาก ผู้ร้องเรียนกรณีนี้ ต่อมาใช้ชื่อ กลุ่มคณะนิติชน-เชิดชูธรรม ว่า ในการเข้าให้ถ้อยคำประกอบการพิจารณาข้อร้องเรียนในเรื่องนี้ ต่อ กกต. ดังกล่าว ได้มีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมและขอเพิ่มประเด็นวินิจฉัย ต่อประธานกรรมการการเลือกตั้งด้วยอีกหลายประเด็น ซึ่งมีกรณีการเจรจาพรรคร่วมรัฐบาลตั้งรัฐบาลที่บ้านจันทร์ส่องหล้า และกรณีได้รับการส่งตัวไปพักที่ห้องพิเศษ ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจด้วย..."
ประเด็นการยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยุบพรรคเพื่อไทย เช่นเดียวกับที่ กกต. เคยยื่นเรื่องให้ยุบพรรคก้าวไกล จากกรณี นายทักษิณ ชินวัตร ครอบงำพรรคเพื่อไทย นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กกต.ได้เชิญผู้ร้องเรียนกรณีนี้ ต่อมาใช้ชื่อ กลุ่มคณะนิติชน-เชิดชูธรรม เข้ามาให้ถ้อยคำประกอบการพิจารณาข้อร้องเรียนในเรื่องนี้เป็นทางการแล้ว
โดยข้อร้องเรียนกรณีนี้ ที่ปรากฏต่อสาธารณชนไปแล้ว คือ
1. การอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องพิจารณาที่ 17/2567 กรณีนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ฟังข้อเท็จจริงตอนหนึ่งว่า “ข้อที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 (นายเศรษฐา ทวีสิน) มีพฤติการณ์อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) โดยกล่าวหาว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 (นายเศรษฐา) เข้าพบ “บุคคล” ซึ่งผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต ชื่นบาน) เป็นหัวหน้าทนายความประจำตัว จึงเป็นมูลเหตุจูงใจทำให้ผู้ถูกร้องที่ 1 (นายเศรษฐา) ต้องการเอื้อประโยชน์ให้แก่ “บุคคล” ดังกล่าว และหลังจากผู้ถูกร้องที่ 1 (นายเศรษฐา) เข้าพบ “บุคคล” ดังกล่าวแล้ว ผู้ถูกร้องที่ 1 (นายเศรษฐา) นำความกราบบังคมทูลเพื่อเสนอแต่งตั้งผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต) เป็นรัฐมนตรี ทั้งที่เคยถอนชื่อ หรือขอให้ผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต) ถอนชื่อจากบัญชีเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรี ในการเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 เป็นพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 (นายเศรษฐา) ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง รวมทั้งรู้เห็นยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต) หรือ “ผู้อื่น” ใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 1 (นายเศรษฐา) เพื่อให้ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีโดยมิชอบ.....”
ข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นฐานแห่งข้อเท็จจริงที่สำคัญทำให้เห็นถึงการยินยอมของนายเศรษฐา ทวีสิน ให้ผู้อื่น (นายทักษิณ ชินวัตร) ใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของตนเพื่อกระทำการโดยมิชอบ และทำให้เห็นว่านายทักษิณ ชินวัตร มีเจตนาชี้นำผ่านนายเศรษฐา ทวีสิน ไปยังพรรคเพื่อไทย เนื่องจากการเสนอบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย นายเศรษฐา ทวีสิน ไม่มีอำนาจดำเนินการได้โดยลำพัง แต่จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของพรรคเพื่อไทยในการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยจะต้องรับรู้หรือเห็นชอบในการเสนอบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในโควต้าของพรรคเพื่อไทย ซึ่งนายทักษิณ ชินวัตร ก็รู้ถึงขั้นตอนนี้เนื่องจากเคยเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองมาก่อน ดังนั้น การที่นายทักษิณ ชินวัตร ชี้นำนายเศรษฐา ทวีสิน จึงมีเจตนาชี้นำผ่านนายเศรษฐา ทวีสิน ไปยังคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญฟังข้อเท็จจริงว่านายเศรษฐา ทวีสิน เสนอแต่งตั้งรัฐมนตรีเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับนายทักษิณ ชินวัตร จึงเป็นการที่นายเศรษฐา ทวีสิน ยินยอมดำเนินการตามที่นายทักษิณ ชินวัตร ต้องการเพื่อประโยชน์ของนายทักษิณ ชินวัตร หรือยินยอมตามการชี้นำของนายทักษิณ ชินวัตร แม้จะเคยเห็นว่าไม่ถูกต้อง โดยนำเอาความต้องการของนายทักษิณ ชินวัตร ไปดำเนินการให้พรรคเพื่อไทยเห็นชอบตามข้อบังคับของพรรคเพื่อไทยเพื่อให้บรรลุผลตามความต้องการของนายทักษิณ ชินวัตร และคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยควรรู้ว่าการเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรีคนดังกล่าวมาจากการชี้นำของนายทักษิณ ชินวัตร เนื่องจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคือ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นบุตรสาวนายทักษิณ ชินวัตร
2. กรณีปรากฏเป็นข่าวในสื่อมวลชนต่าง ๆ อย่างแพร่หลายว่า เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย (ในขณะนั้น) ได้เข้าพบนายทักษิณ ชินวัตร เพื่อรดน้ำขอพรเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า บ้านพักของนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นายเศรษฐา ทวีสิน จะต้องตัดสินใจปรับคณะรัฐมนตรี หลังจากนั้นนายเศรษฐา ทวีสิน ได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อเสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี วันที่ 27 เมษายน 2567
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงกลางระหว่างช่วงเวลาที่นายเศรษฐา ทวีสิน เข้าพบนายทักษิณ ชินวัตร กับช่วงเวลาก่อนที่นายเศรษฐา ทวีสิน กราบบังคมทูลเสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน จะต้องแจ้งไปยังคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยเพื่อให้ดำเนินการตามข้อบังคับของพรรคเพื่อไทยในเรื่องการคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเสียก่อนที่จะนำความกราบบังคมทูล แม้ว่านายเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะนายกรัฐมนตรี จะมีอำนาจในการเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรี ก็ตาม แต่ด้วยเหตุที่นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเสนอชื่อหรือเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ดังนั้น การคัดเลือกบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่เป็นโควต้าของพรรคเพื่อไทย นายเศรษฐา ทวีสิน จะต้องดำเนินการตามข้อบังคับพรรคเพื่อไทย โดยจะต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์และความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย
ดังนั้น การกระทำดังกล่าวของพรรคเพื่อไทย เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามมิให้พรรคการเมืองกระทำ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 28 จะเป็นเหตุให้คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) และการกระทำของนายทักษิณ ชินวัตร เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตาม มาตรา 29 ที่ มีโทษปรับและจำคุก ตามมาตรา 108 (อ่านรายละเอียดทั้งหมดในข่าวด้านล่าง)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันจาก ผู้ร้องเรียนกรณีนี้ ต่อมาใช้ชื่อ กลุ่มคณะนิติชน-เชิดชูธรรม ว่า ในการเข้าให้ถ้อยคำประกอบการพิจารณาข้อร้องเรียนในเรื่องนี้ ต่อ กกต. ดังกล่าว ได้มีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมและขอเพิ่มประเด็นวินิจฉัย ต่อประธานกรรมการการเลือกตั้งด้วยอีกหลายประเด็น ซึ่งมีกรณีการเจรจาพรรคร่วมรัฐบาลตั้งรัฐบาลที่บ้านจันทร์ส่องหล้า และกรณีได้รับการส่งตัวไปพักที่ห้องพิเศษ ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจด้วย มีรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
********
ตามที่ ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องตามหนังสือที่อ้างถึงว่า นายทักษิณ ชินวัตร ชี้นำกิจกรรมของพรรคเพื่อไทย ทำให้พรรคเพื่อไทยหรือสมาชิกขาดความอิสระ เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ใดกระทำ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 28 และมาตรา 29 และรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 ซึ่งนายทะเบียนพรรคการเมืองได้รับคำร้องไว้ดำเนินการแล้ว และมีหนังสือลงวันที่ 22 ตุลาคม 2567 เชิญผู้ร้องไปให้ถ้อยคำเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและแสดงพยานหลักฐาน ในวันที่ 28 ตุลาคม 2567 ณ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นั้น
ผู้ร้องขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมและขอเพิ่มประเด็นวินิจฉัยจากคำร้องเดิม กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อาจครอบงำพรรคการเมืองอื่นอีกหนึ่งพรรค นอกจากพรรคเพื่อไทย ดังนี้
1. คำว่า “บุคคล” ที่ระบุอยู่ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หมายถึง นายทักษิณ ชินวัตร โดยคำร้องของผู้ร้องได้ระบุถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องพิจารณาที่ 17/2567 ระหว่าง ประธานวุฒิสภา ผู้ร้อง กับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 และนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 2 เรื่อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องทั้งสองสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ซึ่งตอนหนึ่งของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า “ ข้อที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) โดยกล่าวหาว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 เข้าพบ “บุคคล” ซึ่งผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นหัวหน้าทนายความประจำตัว จึงเป็นมูลเหตุจูงใจทำให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ต้องการเอื้อประโยชน์ให้แก่ “บุคคล” ดังกล่าว และหลังจากผู้ถูกร้องที่ 1 เข้าพบ “บุคคล” ดังกล่าวแล้ว ผู้ถูกร้องที่ 1 นำความกราบบังคมทูลเพื่อเสนอแต่งตั้งผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรี ทั้งที่เคยถอนชื่อ หรือขอให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ถอนชื่อจากบัญชีเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรี ในการเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 เป็นพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง รวมทั้งรู้เห็นยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 2 หรือ “ผู้อื่น” ใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 1 เพื่อให้ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีโดยมิชอบ.....”
ผู้ร้องขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัย ซึ่งทำให้คำวินิจฉัยมีผลทันทีเมื่อได้อ่าน ในวันที่ 14 สิงหาคม 2567 โดยฟังข้อเท็จจริงว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยเข้าพบ “บุคคล” และต้องการเอื้อประโยชน์ให้แก่ “บุคคล” ดังกล่าว แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมิได้ระบุชื่อ “บุคคล” ไว้ในคำวินิจฉัย แต่ก็สามารถทราบได้ว่า “บุคคล” ดังกล่าว หมายถึง นายทักษิณ ชินวัตร เนื่องจาก
(1) ศาลรัฐธรรมนูญได้ระบุไว้ในเอกสารคำวินิจฉัยเรื่องนี้ ในส่วนที่เป็นคำร้องของสมาชิกวุฒิสภา 40 คน ที่ยื่นต่อประธานวุฒิสภาเพื่อส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ว่าบุคคลที่นายเศรษฐา ทวีสิน ไปพบก่อนเสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี คือนายทักษิณ ชินวัตร
(2) “บุคคล” ซึ่งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นหัวหน้าทนายความประจำตัว เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า นายพิชิต ชื่นบาน เป็นหัวหน้าทนายความประจำตัวนายทักษิณ ชินวัตร
(3) ผู้ร้องได้ระบุในคำร้องและแสดงภาพข่าวจากสื่อมวลชนของเหตุการณ์เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2567 ว่า “นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย (ในขณะนั้น) เข้าพบนายทักษิณ ชินวัตร เพื่อรดน้ำขอพรเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า สถานที่พักอาศัยของนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นช่วงที่นายเศรษฐา ทวีสิน จะต้องตัดสินใจปรับคณะรัฐมนตรี” ซึ่งสอดคล้องกับที่ศาลรัฐธรรมนูญฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อนายเศรษฐา ทวีสิน ได้เข้าพบ “บุคคล” แล้ว ได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อเสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ดังนั้น “บุคคล” ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยจึงหมายถึง นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ร้องขอนำส่งไฟล์วิดีโอที่มีการถ่ายทอดสดการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องพิจารณาที่ 17/1567 ที่อ่านเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ตามสื่อบันทึกข้อมูล (แฟลชไดร์ฟ) และเอกสารคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องพิจารณาที่ 17/2567 (เฉพาะหน้าที่เกี่ยวข้อง) ที่ส่งมาพร้อมหนังสือฉบับนี้
2. ขอเพิ่มประเด็นวินิจฉัยเรื่องการครอบงำพรรคการเมืองอีก 3 กรณี จากคำร้องที่มีประเด็นหลักคือ กรณีนายทักษิณ ชินวัตร ชี้นำพรรคเพื่อไทยโดยผ่านนายเศรษฐา ทวีสิน เพื่อให้เสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ที่ครบองค์ประกอบการฝ่าฝืนข้อห้ามตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 28 และมาตรา 29 แล้ว จากข้อเท็จจริงในคำร้องเดียวกันยังปรากฏว่ามีการกระทำอีก 3 กรณี ที่เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตาม มาตรา 28 และมาตรา 29 เช่นกัน จึงขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยเพิ่มเติม ได้แก่
(1) การกระทำที่เป็นการพบกันของแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเดิมที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ในตอนเย็นวันที่นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผู้ร้องได้ระบุในคำร้องว่า เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 หลังจากศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยที่ทำให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และทำให้รัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วย ในช่วงเย็นวันเดียวกันรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย และรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ร่วมรัฐบาลจำนวนหนึ่ง ได้เดินทางไปที่บ้านจันทร์ส่องหล้า สถานที่พักอาศัยของนายทักษิณ ชินวัตร ในขณะที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย อยู่ที่ต่างประเทศ จากสถานการณ์ทางการเมืองที่จะต้องมีการตั้งรัฐบาลใหม่และจะต้องเสนอบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองพรรคหนึ่งพรรคใดที่ร่วมรัฐบาลเดิม จึงเป็นเหตุให้เชื่อได้ว่าการเดินทางมายังบ้านจันทร์ส่องหล้าของบุคคลในพรรคการเมืองต่าง ๆ ในครั้งนี้ เป็นการที่พรรคเพื่อไทยในฐานะเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เรียกแกนนำของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ร่วมรัฐบาลเดิม มาปรึกษาหารือในเรื่องการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่มีความสำคัญสูงสุดของทุกพรรคการเมือง ซึ่งควรจะกระทำโดยหัวหน้าพรรคการเมือง ณ ที่ทำการของพรรคการเมือง แต่นายทักษิณ ชินวัตร ได้ทำหน้าที่แทนนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ณ บ้านที่ตนเองพักอาศัย และหลังจากนั้นได้ปรากฏรายชื่อบุคคลที่จะได้รับการเสนอแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในสื่อมวลชนต่าง ๆ
(2) การกระทำที่เกิดขึ้นในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 ของพรรคเพื่อไทย ผู้ร้องได้ระบุในคำร้องว่า เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 พรรคเพื่อไทยจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะกรรมการบริหารพรรค และองค์ประชุมจะต้องประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรคจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเข้าร่วมประชุม นายทักษิณ ชินวัตร ในลักษณะให้โอวาทแก่สมาชิกพรรคเพื่อไทย เช่น เนื้อหาตอนหนึ่งเป็นภาพเคลื่อนไหวของนายทักษิณ ชินวัตร กล่าวชี้นำคณะกรรมการบริหาร, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกของพรรคเพื่อไทย ถึงแนวทางการดำเนินงานของพรรคเพื่อไทย ไม่ให้เป็นพรรคการเมืองแนวอนุรักษ์นิยมใหม่ และอีกตอนหนึ่งชี้นำในเรื่องการทำงานในสภา และการปฏิบัติตนของสมาชิกพรรคเพื่อไทย ซึ่งทำให้สมาชิกขาดความอิสระจากการชี้นำของนายทักษิณ ชินวัตร
(3) การกระทำของนายทักษิณ ชินวัตร ที่อาจควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ พรรคประชาชาติ กรณีได้รับการส่งตัวไปพักที่ห้องพิเศษ ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ขณะที่มีสถานะเป็นผู้ต้องขัง ตามคำร้องของผู้ร้องระบุว่า เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ได้เดินทางไปเยี่ยมนายทักษิณ ชินวัตร ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า หลังจากนายทักษิณฯ ออกจากโรงพยาบาลตำรวจ กลับไปบ้านพัก เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 และตามคำร้องของผู้ร้องอีกฉบับลงวันที่ 5 กันยายน 2567 เรื่องขอให้พิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมสิ้นสุดลงหรือไม่ ซึ่งมีข้อเท็จจริงว่านายทักษิณ ชินวัตร ที่มีสถานะเป็นผู้ต้องขังตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก การจะส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจจะต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงเรื่องการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 อย่างถูกต้องและรัดกุม แต่ได้มีการตรวจสอบจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และมีรายงานว่า เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27 และยังอาจเป็นการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลตำรวจ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทักษิณ ชินวัตร
ประเด็นนี้จะนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองเช่นเดียวกัน โดยเป็นกรณีที่แสดงให้เห็นว่านายทักษิณ ชินวัตร ควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ พรรคประชาชาติ และพรรคประชาชาติได้ยินยอมต่อการกระทำนั้น โดยขณะที่นายทักษิณ ชินวัตร มีสถานะเป็นผู้ต้องขังซึ่งจะต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ แต่ได้รับสิทธิพิเศษมากกว่าผู้ต้องขังรายอื่น อาจมาจากนายทักษิณ ชินวัตร ได้ใช้อำนาจที่มีเหนือพรรคเพื่อไทยที่เป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ให้พรรคเพื่อไทยไปควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ พรรคประชาชาติอีกทอดหนึ่ง เพื่อให้กระทำการที่เอื้อประโยชน์ให้กับตนเอง โดยทำให้นายทวี สอดส่อง ซึ่งเป็นสมาชิกและหัวหน้าพรรคประชาชาติขาดความอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของพรรคประชาชาติ ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จำต้องปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนายทักษิณ ชินวัตร เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และมีความรุนแรงถึงขั้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้สรุปผลการตรวจสอบแล้วว่าเป็นความผิดสำเร็จในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว และยังอาจเป็นความผิดทางอาญาอีกด้วย
โดยนายทวี สอดส่อง เป็นรัฐมนตรีในกระทรวงที่กำกับดูแลงานด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ย่อมรู้ดีว่าเรื่องที่ได้กระทำไปไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยอาจทำให้ได้รับโทษสถานหนักและกระทบต่อตำแหน่งหน้าที่ของตน ซึ่งไม่ว่านายทวี สอดส่อง หรือบุคคลใดย่อมจะไม่สมัครใจหรือยินยอมกระทำความผิดเช่นนี้ หากไม่ใช่มาจากเหตุผล 2 ประการคือ การถูกควบคุมบังคับให้จำต้องกระทำ หรือ การถูกครอบงำด้วยแรงจูงใจพิเศษให้กระทำ การที่นายทวี สอดส่อง ได้ฝืนใจกระทำไปทั้งที่รู้ว่าอาจจะเกิดโทษอย่างรุนแรงขึ้นกับตนเองและพรรคการเมืองที่ตนเองเป็นหัวหน้าพรรค จึงย่อมมาจากเหตุผลประการใดประการหนึ่งหรือทั้งสองประการดังกล่าว โดยวิญญูชนย่อมเห็นได้ว่านายทวี สอดส่อง กระทำไปเพราะถูกควบคุมบังคับ หรือถูกครอบงำด้วยแรงจูงใจพิเศษ ที่มาจากผู้ได้ประโยชน์จากการกระทำนั้น และจะต้องเป็นผู้ที่มีอำนาจต่อรองเหนือนายทวี สอดส่อง อย่างมาก ซึ่งบุคคลที่ได้รับประโยชน์และมีอำนาจเหนือนายทวี สอดส่อง ในเหตุการณ์นี้คือ นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากความสะดวกสบายมากกว่าผู้ต้องขังรายอื่น จากการที่กรมราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับดูแลของนายทวี สอดส่อง ส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร ออกจากเรือนจำไปพักอยู่ที่ห้องพิเศษ ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ตลอดระยะเวลา 181 วัน โดยไม่ต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว การที่นายทักษิณ ชินวัตร สามารถควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ นายทวี สอดส่อง เช่นนี้ได้ มาจากนายทักษิณ ชินวัตร มีอำนาจเหนือพรรคเพื่อไทยมาก่อน ซึ่งพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลจึงทำให้มีอำนาจเหนือพรรคประชาชาติที่เป็นพรรคการเมืองขนาดเล็ก โดยนายทวี สอดส่อง ซึ่งต้องการให้พรรคประชาชาติเข้าร่วมรัฐบาล เพื่อให้ตนได้รับตำแหน่งรัฐมนตรี จึงได้ยินยอมรับการครอบงำด้วยการฝืนใจปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของพรรคเพื่อไทย ที่มีนายทักษิณ ชินวัตร ครอบงำอยู่อีกทอดหนึ่ง
ข้อบังคับพรรคประชาชาติ พ.ศ.2561 ได้กำหนดไว้ทั้งในส่วนที่เป็นคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองว่า รัฐต้องมีหน้าที่อำนวยความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม และในส่วนที่เป็นนโยบายพื้นฐานของพรรคว่า จะอำนวยการให้การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐ เป็นไปด้วยความยุติธรรม เสมอภาค สามารถปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตลอดจน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรมเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม รวมทั้งกำหนดไว้ในมาตรฐานทางจริยธรรมของพรรคว่า ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเองหรือผู้อื่นหรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ดังนั้น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือรัฐมนตรีของพรรคประชาชาติ จึงต้องมีการกระทำหรือดำเนินกิจกรรมให้เป็นไปตามข้อบังคับของพรรคอย่างอิสระ การที่หัวหน้าพรรคประชาชาติในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่มีลักษณะแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบแก่ผู้อื่น ซึ่งมาจากการยินยอมรับการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำของบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกพรรค ทำให้ขาดความอิสระที่จะปฏิบัติตามข้อบังคับของพรรค จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อห้ามของพรรคการเมือง
ผู้ร้องเห็นว่าการกระทำทั้งสามกรณีที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ครบองค์ประกอบการฝ่าฝืนข้อห้ามตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 28 และมาตรา 29 ที่จะเป็นเหตุให้เสนอศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคเพื่อไทย และพิจารณาการกระทำของนายทักษิณ ชินวัตร จึงขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยการกระทำทั้งสามกรณีนี้ด้วย
@ ทักษิณ ชินวัตร
สรุปเรื่องที่ผู้ร้องขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัย โดยแต่ละเรื่องหรือแต่ละการกระทำครบองค์ประกอบที่เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 28 และมาตรา 29 ที่จะเป็นเหตุให้คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมือง ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) และพิจารณาการกระทำของนายทักษิณ ชินวัตร ได้แก่
(1) กรณีนายทักษิณ ชินวัตร ชี้นำพรรคเพื่อไทย โดยผ่านนายเศรษฐา ทวีสิน เพื่อให้เสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี โดยพรรคเพื่อไทยยินยอมและทำให้พรรคเพื่อไทยขาดความอิสระ
(2) กรณีนายทักษิณ ชินวัตร ชี้นำคณะกรรมการบริหาร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกของพรรคเพื่อไทย ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 ของพรรคเพื่อไทย โดยพรรคเพื่อไทยยินยอมและทำให้สมาชิกและพรรคเพื่อไทยขาดความอิสระ
(3) กรณีนายทักษิณ ชินวัตร กระทำการในลักษณะใช้อำนาจตัดสินใจแทนพรรคเพื่อไทยในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาล ในขณะที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทยอยู่ต่างประเทศ ด้วยการนัดหมายมาพบกันของบุคคลระดับแกนนำในพรรคร่วมรัฐบาลเดิม เพื่อรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ที่บ้านพักนายทักษิณ ชินวัตร ในตอนเย็นวันที่รู้ว่ารัฐบาลเดิมจะต้องพ้นหน้าที่ โดยพรรคเพื่อไทยยินยอมและทำให้พรรคเพื่อไทยขาดความอิสระ
(4) กรณีนายทักษิณ ชินวัตร ควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ พรรคประชาชาติ ที่มีนายทวี สอดส่อง เป็นหัวหน้าพรรค โดยผ่านพรรคเพื่อไทยที่อยู่ในอำนาจครอบงำของนายทักษิณ ชินวัตร มาก่อน โดยพรรคประชาชาติยินยอม และทำให้พรรคประชาชาติขาดความอิสระที่จะดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และข้อบังคับของพรรค
นอกจากนี้ คำร้องของผู้ร้องที่ใช้ข้อเท็จจริงจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องเดียวกันกับคำร้องนี้ มีอีก 2 คำร้องคือ กรณีขอให้คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และกรณีขอให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามคำร้องลงวันที่ 29 สิงหาคม 2567
จึงเรียนมาเพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมและเพิ่มประเด็นวินิจฉัย
(สงวนชื่อ-นามสกุล)
ผู้ร้อง
********
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อมูลเพิ่มเติมและการขอเพิ่มประเด็นวินิจฉัย ของ กลุ่มคณะนิติชน-เชิดชูธรรม ที่ยื่นต่อประธาน กกต. เพื่อใช้ประกอบการตรวจสอบคำร้องการยุบพรรคเพื่อไทย จากกรณี นายทักษิณ ชินวัตร ครอบงำพรรคเพื่อไทย ที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชนอยู่ในขณะนี้
ท่าที กกต. ในการตรวจสอบเรื่องนี้ นับจากนี้เป็นอย่างไร น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง
อ่านประกอบ :
- 'ทักษิณ' ใช้ 'เศรษฐา' ครอบงำ คกก.บริหารพรรค! อ้างคำวินิจฉัยศาลรธน.ร้อง กกต.ยุบ 'เพื่อไทย'
- ฉบับเต็ม! หนังสือร้อง กกต.ยุบ เพื่อไทย อ้างคำวินิจฉัยศาลรธน. 'ทักษิณ' ครอบงำคกก.บริหารพรรค
- จัดอีก 2 ปม! ผู้ร้องเรียนคนเดิมยื่น กกต.วินิจฉัยความเป็นนายก'แพทองธาร'-ฟันคกก.บห.เพื่อไทย
- ฉบับเต็ม! 2 คำร้องใหม่ ยื่น กกต.วินิจฉัยความเป็นนายก 'แพทองธาร' - ฟัน คกก.บห.เพื่อไทย
- เหตุที่ชั้น14 จะนำไปสู่ห้องพิจารณาศาล รธน.? แพทองธาร (พึง) ระวังตั้ง รมต.กระทรวงสำคัญ
- คำร้องที่ 4! คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ยื่นกกต.ขอศาล รธน.สั่ง 'แพทองธาร-ทวี' พ้นตำแหน่ง
- แถลงนโยบายขัด รธน.! คณะนิติชนฯยื่นคำร้องที่ 5 'ครม.แพทองธาร' ผิดเงื่อนไขเข้าบริหาร ปท.
- คำร้องที่ 6! คณะนิติชนฯยื่นกกต.ส่งศาลรธน. 'แพทองธาร-อนุทิน-ชูศักดิ์' เพิกเฉยกรณีอัลไพน์