"...กล่าวเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น ซึ่งย่อมทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยตลอดและเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะมาจากการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ หรือมาจากการที่ต้องดูแลบุคคลสำคัญที่มีผลต่อการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของตน โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 164 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ในเรื่องหน้าที่ของรัฐมนตรีว่า ในการบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา และยังต้องปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ เปิดเผย และมีความรอบคอบและระมัดระวังในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ..."
เหตุการณ์ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566 และต่อเนื่องมาอีก 181 วัน เป็นที่พูดถึงกันของประชาชนทั้งประเทศอย่างไม่รู้จบ และจะต้องพูดกันไปอีกนาน หากไม่มีการเปิดเผยข้อเท็จจริงออกมาอย่างชัดเจนโดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง
จนในที่สุดเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 ก็ได้มีการแถลงออกมาอย่างชัดเจนขององค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน คือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีหน้าที่สำคัญคือ ตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกกรณีโดยไม่ล่าช้า รวมทั้งเสนอแนะมาตรการในการป้องกันแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้แถลงผลการตรวจสอบเรื่องที่มีการร้องเรียนว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น โดยผลการตรวจสอบชี้ว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลตำรวจ เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม โดยมีประเด็นสำคัญที่ประชาชนเคยสงสัยได้รับการเปิดเผยออกมาในครั้งนี้ ดังนี้
คณะกรรมการสิทธิฯ เห็นว่า นายทักษิณเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 ด้วยอาการวิกฤตในช่วงแรก (จากการชี้แจงของแพทย์ของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์) แต่หลังจากนั้นปรากฏว่า นายทักษิณยังพักที่ห้องพิเศษของชั้น 14 มาโดยตลอด ซึ่งหากนายทักษิณป่วยจนอยู่ในระดับวิกฤติตามที่มีการชี้แจงจริง ก็ควรต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดและพักในห้องสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่นายทักษิณกลับพักในห้องพิเศษซึ่งตามปกติควรมีไว้สำหรับผู้ป่วยที่พ้นจากภาวะวิกฤติและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้างแล้ว การที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและโรงพยาบาลตำรวจ กำหนดให้นายทักษิณพักรักษาตัวที่ห้องพิเศษของโรงพยาบาลตำรวจอย่างต่อเนื่อง โดยเรือนจำฯไม่ได้โต้แย้งจนกระทั่งนายทักษิณออกจากโรงพยาบาล เป็นการดำเนินการทำให้นายทักษิณได้รับประโยชน์นอกเหนือกว่าสิทธิที่ควรได้รับ ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักความเสมอภาคและเป็นการเลือกปฏิบัติ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งเป็นวันที่นายทักษิณสามารถออกจากการควบคุมของเรือนจำ นายทักษิณสามารถเดินทางกลับบ้านพักส่วนตัวได้ทันทีโดยไม่พบว่าต้องเข้าไปรับการรักษาในสถานพยาบาลแห่งอื่นอีก รวมทั้งสามารถเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ และปฏิบัติภารกิจได้โดยไม่ปรากฏว่ามีอาการเจ็บป่วยรุนแรง อันผิดปกติวิสัยของผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤติจนถึงขั้นอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและต่อเนื่อง ซึ่งใช้เป็นเหตุผลในการพักรักษาตัวกับโรงพยาบาลตำรวจมาโดยตลอด การกระทำของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและโรงพยาบาลตำรวจ เป็นการเลือกปฏิบัติแก่ผู้ต้องขังด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องสถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม โดยในรายงานการตรวจสอบ ระบุด้วยว่า การรักษาตัวของผู้ต้องขังนอกเรือนจำ หากเกิน 60 วัน และ 120 วัน ให้ผู้บัญชาการเรือนจำขอความเห็นชอบจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และรายงานปลัดกระทรวงยุติธรรมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพื่อทราบ
คณะกรรมการสิทธิฯ มีความเห็นว่า เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลตำรวจ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าข่ายกระทำการเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคล อันอาจเป็นการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
ผลการตรวจสอบจากองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีหน้าที่โดยตรง จึงเป็นฐานแห่งข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่การพิจารณาการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานและบุคคลในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ในทุกระดับชั้น รวมถึงการบังคับตามคำพิพากษาของศาลถือว่าได้ดำเนินการไปแล้ว หรือไม่
รัฐธรรมนูญ มาตรา 27 บัญญัติว่า การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลไม่ว่าด้วยความแตกต่างในเรื่องใด ๆ จะกระทำมิได้ ตามที่คณะกรรมการสิทธิฯ ได้ใช้เป็นหลักในการตรวจสอบเรื่องนี้ ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ที่ว่า รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม....ซึ่งหากการปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรา 3 นี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 5 บัญญัติให้การกระทำเป็นอันใช้บังคับมิได้
ดังนั้น นายทักษิณซึ่งมีโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด แต่นายทักษิณได้ถูกนำตัวไปอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจตลอดระยะเวลาสุทธิที่ต้องโทษจำคุก การถูกควบคุมตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจมีข้อยุติตามผลการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญแล้วว่า เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ที่จะกระทำไม่ได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 และถือเป็นการกระทำอันใช้บังคับมิได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 จึงจะถือว่าได้มีการจำคุกนายทักษิณตามคำพิพากษาแล้วหรือไม่ และจะต้องดำเนินการให้มีการจำคุกกันใหม่เพื่อให้ครบถ้วนถูกต้องตามคำพิพากษาอีกหรือไม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องนำเรื่องนี้ไปพิจารณาและดำเนินการต่อไปให้เป็นไปตามกฎหมาย
กล่าวเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น ซึ่งย่อมทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยตลอดและเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะมาจากการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ หรือมาจากการที่ต้องดูแลบุคคลสำคัญที่มีผลต่อการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของตน โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 164 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ในเรื่องหน้าที่ของรัฐมนตรีว่า ในการบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา และยังต้องปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ เปิดเผย และมีความรอบคอบและระมัดระวังในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ
อีกทั้งต้องปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ซึ่งกำหนดมาตรฐานไว้ทั้งในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต การรู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ และการให้ข้อมูลข่าวสารตามข้อเท็จจริงแก่ประชาชนหรือสื่อมวลโดยถูกต้องครบถ้วนและไม่บิดเบือน
แต่จากผลการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิฯ ตามที่นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ได้แถลงต่อสื่อมวลชน มีความเกี่ยวข้องถึงผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะมีหน้าที่ทั้งโดยตรงตามกฎกระทรวง และมีหน้าที่ในการกำกับดูแลหน่วยงานในสังกัด การที่คณะกรรมการสิทธิฯ มีผลการตรวจสอบออกมาว่า เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และผู้ที่เกี่ยวข้อง นอกจากละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคล อันอาจเป็นการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ดังนั้น บุคคลที่เกี่ยวข้องในตำแหน่งรัฐมนตรี จึงมีข้อสงสัยในเรื่องการเป็นผู้มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ และในเรื่องการมีพฤติกรรมที่อาจเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของความเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5) อันอาจทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) หรือไม่ และการแต่งตั้งรัฐมนตรีที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ย่อมทำให้นายกรัฐมนตรีที่เสนอแต่งตั้งเป็นผู้ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ที่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงไปด้วย ตามแนวการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ซึ่งกำลังจะต้องตัดสินใจนำรายชื่อรัฐมนตรีกราบบังคมทูลเพื่อเสนอแต่งตั้งในอีกไม่กี่วันนี้
จึงต้องทำการสอดส่องอย่างทวีคูณถึงคุณสมบัติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ถ้าไม่เช่นนั้นอาจทำให้บุคคลนิรนามต้องทำหน้าที่แทน!