ชัชชาติ ประชุมคณะผู้บริหารกทม. เร่งศึกษาหาทางเพิ่มรายได้ กทม. หลายช่องทาง ทั้งภาษีป้าย ภาษียาสูบ ค่าธรรมเนียมบำรุง กทม. ภาษีมลพิษ ค่าบำบัดน้ำเสีย แผนจัดเก็บค่าจอดรถ และขึ้นราคาค่าจัดเก็บขยะ ส่วนปัญหาทุจริตแจ้งมาแล้ว 19 เรื่อง เตรียมเสนอ ครม.หลังเลือกตั้งย้ายท่าเรือคลองเตย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 6/2566 เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 66 มีเรื่องที่เน้นย้ำคือการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน โดยกำชับให้สื่อสารไปถึงบุคลากรและเจ้าหน้าที่ทุกคนของกทม.ว่าเราเอาจริงในเรื่องของความโปร่งใส ดังนั้น ถ้ามีเรื่องพวกนี้รายงานเข้ามาเราก็จะดำเนินการอย่างเด็ดขาด
@แจ้งเบาะแสทุจริตมาแล้ว 19 ประเด็น
“เชื่อว่าบุคลากรและเจ้าหน้าที่กทม. ส่วนใหญ่เป็นคนดี เรามุ่งมั่นที่จะนำคนทุจริตซึ่งเป็นส่วนน้อยออกไป และให้คนที่ตั้งใจทำงานเข้ามา ที่ผ่านมาเห็นการปรับปรุงที่ดีขึ้น ทุกคนทำงานอย่างตั้งใจ ไม่เหน็ดเหนื่อย ทั้งนี้ ฝ่ายบริหารต้องเอาจริงเอาจังและให้ความเป็นธรรมกับทุกคน” นายชัชชาติกล่าว
ด้านนายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกทม. กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2564 - 2566 มีรายงานเข้ามาประมาณ 390 เรื่อง ส่วนตั้งแต่เปิดศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร (ศปท.กทม.) และศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านทุจริตของกรุงเทพมหานคร (ศตท.กทม.) ระหว่างวันที่ 2 - 27 กุมภาพันธ์ 2566 มีแจ้งเข้ามาทาง Traffy Fondue 11 เรื่อง ผ่านทางผู้บริหารกทม. 8 เรื่อง รวมทั้งหมด 19 เรื่อง โดยดำเนินการแล้วเสร็จ 2 เรื่อง ส่งต่อหน่วยงานดำเนินการ 4 เรื่อง ส่งให้คณะทำงานดำเนินการ 12 เรื่อง และส่งเรื่องให้สำนักงาน ป.ป.ช. 1 เรื่อง ซึ่งเรื่องที่มีผลกระทบในภาพรวมจะดำเนินการส่ง ป.ป.ช.
นายชัชชาติ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่จะดำเนินการต่อไปคือสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจว่าหากต้องการแจ้งเหตุจะสามารถแจ้งได้ที่ไหน เพราะพลังที่สำคัญที่สุดคือให้ประชาชนมีส่วนร่วม มอบอำนาจ (Empower) ให้ประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการในการทำให้กรุงเทพฯ โปร่งใสขึ้น ดังเช่นที่เราได้ทำระบบ Traffy Fondue ซึ่งปัจจุบันมีคนแจ้งเข้ามาประมาณ 240,000 เรื่อง แก้ไปแล้วประมาณ 170,000 เรื่อง ก็เป็นตัวอย่างที่ดีในการให้อำนาจประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
@เล็งเก็บภาษีอีกหลายชนิด เพิ่มรายได้ กทม.
นายชัชชาติ กล่าวว่า สำหรับเรื่องรายได้ของกทม. หากดูตัวเลขแล้ว รายได้หลักของกทม.คือภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จากข้อมูลพื้นฐานตอนนี้เก็บได้ประมาณ 96% ซึ่งแบ่งออกเป็นที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และคอนโดมิเนียม ก็ได้เร่งรัดเรื่องการจัดเก็บ ทั้งนี้ อาจมีปัญหาในเรื่องการลดภาษี 15% ตามที่รัฐบาลกำหนด ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้เล็กน้อย แต่ทางกทม.ก็ประมาณการว่าต้องเก็บได้ไม่น้อยกว่าปีที่แล้ว และได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อหาช่องทางในการเพิ่มรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ได้ไปเบียดเบียนคนที่ลำบาก แต่ให้การเก็บภาษีเป็นไปอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
อีกเรื่องหนึ่งที่มีผลต่อรายได้ของกทม.ที่จะต้องพยายามเร่งรัดจัดเก็บคือเรื่องภาษีป้าย (ภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์) ที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) นำส่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 13,000 ล้านบาทต่อปี ปีที่แล้วจะเห็นว่าตัวเลขภาษีป้ายลดลงจากเดิมบ้าง เพราะฉะนั้นจะมีการทำ MOU ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก ถ้ามีคนที่ไม่จ่ายภาษีเราจะช่วยออกจดหมายทวงถามให้ โดยตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กทม.ไม่มีอำนาจเป็นผู้จัดเก็บเอง แต่จะทำหน้าที่ช่วยทวงถามให้มากขึ้น
นอกจากนี้จะมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ที่จะให้เราสามารถมีอำนาจในการเก็บภาษีเพิ่มทั้งในแง่ของภาษีบำรุงกทม.สำหรับยาสูบ ค่าธรรมเนียมบำรุงกทม.จากผู้พักในโรงแรม ตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม และภาษีบำรุงกทม.สำหรับน้ำมันฯ โดยเรามีการจัดเก็บภาษีน้ำมันอยู่แล้วแต่ในอัตราที่ต่ำอยู่ อาจจะมีการปรับให้สอดคล้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ ซึ่งก็ได้ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ แต่คงเป็นขั้นตอนที่ไม่เร็ว เพราะต้องส่งให้กระทรวงมหาดไทยแล้วเข้ารัฐบาล คงต้องรอในรัฐบาลชุดหน้า รวมถึงให้พิจารณาภาษีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งกทม.ยังไม่เคยทำมาก่อน
แต่ในเมื่อมีแนวคิดจะแก้ พ.ร.บ. แล้ว ก็คิดว่าจะแก้ไปทีเดียวเลยได้หรือไม่ โดยเป็นไปตามหลักการ Polluter Pays Principle (PPP) คือผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย ซึ่งหลายประเทศได้มีการจัดเก็บแล้ว เช่น คนไหนที่ทำกิจกรรมซึ่งทำความเสียหายกับสิ่งแวดล้อม เราจะเก็บภาษีเพิ่ม เหมือนที่ลอนดอนมี Low Emission Zone คือโซนที่ไม่อยากให้เกิดฝุ่น PM2.5 หากมีรถที่ได้ไม่ได้มาตรฐานมาวิ่งจะต้องมีการเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมเพิ่ม เป็นต้น ซึ่งภาษีสิ่งแวดล้อมนี้คาดว่าจะช่วยลดต้นตอมลพิษได้ และยังเป็นการเพิ่มรายได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม การจะแก้ พ.ร.บ.เรื่องนี้ จะต้องอ้างอิงจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ มาประกอบ ในส่วนของค่าธรรมเนียมอื่น ๆ เช่น ค่าธรรมเนียมเก็บขยะ ค่าธรรมเนียมน้ำเสีย อยู่ในช่วงการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
@มิ.ย. นี้ เริ่มเก็บค่าขยะอัตราใหม่ และหารือแนวทางเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย
ส่วนค่าธรรมเนียมเก็บขยะและบำบัดน้ำเสียนั้น ค่าเก็บขยะไม่ต้องแก้ข้อบัญญัติใหม่ มีระยะเวลาดำเนินการอยู่ คาดว่าน่าจะเริ่มเดือน มิ.ย. นี้ ปัจจุบันเก็บค่าขยะได้ประมาณ 500 - 600 ล้านบาท แต่ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 8,000 ล้านบาท ซึ่งอาจไม่คุ้ม แต่การเก็บค่าขยะเป็นการจูงใจให้สร้างขยะน้อยลง มีการแยกขยะก่อนทิ้งมากขึ้น ยากที่จะเก็บค่าขยะให้คุ้มทุนกับค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม ค่าธรรมเนียมเก็บขยะไม่ได้สร้างความลำบาก แต่เพื่อให้มีความเหมาะสมและมีความยุติธรรมมากขึ้น ใครสร้างขยะเยอะก็จ่ายเยอะกว่า ต้องดูในรายละเอียดที่คณะกรรมการพิจารณาอีกครั้ง
ส่วนการบำบัดน้ำเสียต้องดูความพร้อมของระบบ ไม่ง่าย ต้องหารือกับการประปานครหลวง เนื่องจากต้องดูจากการใช้น้ำดีตามมิเตอร์ ต้องดูว่าจะพ่วงกับค่าน้ำประปาหรือไม่ ซึ่งต้องคุยรายละเอียดกับการประปานครหลวงเพิ่มเติม
@ศึกษาแผนเก็บค่าจอดรถ
อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือเรื่องค่าจอดรถ ปัจจุบันกทม.ออกประกาศให้เก็บค่าจอดรถยนต์บนถนน 66 สายทั่วกรุงเทพฯ แต่ไม่ได้ทำอย่างจริงจัง ทั้งนี้ การจัดเก็บค่าจอดรถปัจจุบันใช้คนเดินเก็บ ซึ่งอาจไม่มีประสิทธิภาพ การใช้คนเดินเก็บค่าจอดรถที่ได้อาจจะไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายสำหรับคนเดินเก็บด้วย เป็นแนวคิดว่าอาจปรับนำเทคโนโลยีมาช่วยให้การเก็บค่าจอดรถให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเหมือนเมืองอื่นๆ ไม่ได้ให้เป็นภาระใคร เพียงแต่มองว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความหมุนเวียนทางเศรษฐกิจด้วย เพราะเวลาให้จอดฟรีหรือจอดนานบนที่สาธารณะที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกันคือความไม่คุ้มค่า รถไม่เกิดการหมุนเวียน อาจให้จอดฟรี 1 ชั่วโมง เพื่อที่จะได้มีการหมุนเวียนรถมาจอด ช่วยให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจและตอบโจทย์มากยิ่งขึ้น ก็ต้องดูว่าจะมีจุดไหนที่สามารถทำเป็นที่จอดรถเพิ่มเติมได้ ได้ให้คณะกรรมการพิจารณารายได้ไปดูว่าจะสามารถดำเนินการอะไรได้บ้าง ซึ่งอยู่ในอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528
@เล็งเสนอ รบ.ใหม่ ย้ายท่าเรือคลองเตย
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า กทม.ได้สั่งการให้ทางทีมงานไปสรุปโครงการต่าง ๆ ว่ามีประเด็นอะไรบ้าง มาจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย หากรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาแล้วเห็นตรงกัน จะได้สามารถลุยไปด้วยกันแบบไร้รอยต่อ เช่น การนำพื้นที่ใต้ทางด่วนหรือพื้นที่ของรัฐ มาทำเป็น Hawker Center สำหรับหาบเร่-แผงลอยที่ไม่มีที่ขาย หรือการย้ายท่าเรือคลองเตยออกจากกรุงเทพฯ ซึ่งมีการขนถ่ายสินค้าปีละกว่า 1 ล้านตู้คอนเทนเนอร์ หากย้ายออกไปได้ น่าจะลดผลกระทบด้านการจราจร ถนนพังเสียหาย ตลอดจนมลพิษที่เกิดขึ้นได้ รวมทั้งทำให้การบริหารจัดการน้ำท่วมในอนาคตก็น่าจะดีขึ้นด้วย