ฝ่ายค้านออกแถลงการณ์ หลังศาลรธน วินิจฉัย 'บิ๊กตู่' อยู่ต่อถึงปี 68 จี้ลาออกจากตำแหน่ง อย่าใช้ประโยชน์จากคำวินิจฉัยฟอกขาว-เล็งเปิดอภิปรายทั่วไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565 หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ด้วยมติ 6:3 ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงสามารถดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปได้เนื่องจากว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าให้นับเวลาของพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีตามระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้คือวันที่ 6 เม.ย. 2560
ความเคลื่อนไหวของทางพรรคร่วมฝ่ายค้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านมีแถลงการณ์ถึงกรณีนี้
โดยน้อมรับคำวินิจฉัยดังกล่าว แต่พรรคร่วมฝ่ายค้านมองว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวอาจมีความคลาดเคลื่อนทางกฎหมาย ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และมีปัญหาความชอบตามรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผล ดังนี้
1. การพิจารณาถึง เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ นอกจากหาความหมายตามถ้อยคำในลายลักษณ์อักษรแล้ว ต้องพิจารณาจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญด้วย โดยต้องพิจารณาในช่วงจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า ได้มีการพิจารณาสาระสำคัญ และเหตุผลของแต่ละมาตราอย่างไร
ในชั้นร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ ที่ห้ามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี ไม่ได้บัญญัติข้อยกเว้นใดๆไว้ และมีความเห็นของกรธ.ระบุเป็นหลักฐานที่ขัดเจนว่าต้องนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่อยู่ก่อนหารประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วย ประกอบมาตรา264 ให้นับความเป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่อง จึงควรนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯในวันที่ 24 ส.ค. 2557
2. คำวินิจฉัยที่ให้เริ่มนับวันที่ 6 เม.ย. 2560 ซึ่งจะทำใผ้ พล.อ.ประยุทธ์ สามารถดำรงตำแหน่งได้ถึงปี 2568 นั้น เป็นการตีความที่ขัดหรือแย้งก้บรัฐธรรมนูญและประชาชนทั่วไปเข้าใจเป็นอย่างดีแล้ว อีกทั้งจะทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนานถึง 10 ปี ซึ่งเกิน 8 ปีและเกิน 2 วาระ
อันเป็นการผิดไปจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2560 และฉบับก่อนหน้าที่ต้องการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีที่ไม่ควรดำรงตำแหน่งเกิน 2 วาระ อีกทั้งยังขัดกับข้อเท็จจริงว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับโปรดเกล้าเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2557
ซึ่งการตีความในลักษณะนี้มีผลแปลกประหลาดคือ การไม่นำระยะเวลาก่อนวันที่ 6 เม.ย. 2560 มานับรวม ทั้งๆที่มีประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีในฉบับเดียวกัน
อนึ่ง แม้การเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2557 จะไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามเงื่อนไขในมาตรา 158 วรรคสองของรัฐธรรมนูญปี 2560 แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ได้ระบุให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่เสมือนเป็นสภาผู้แทนราษฎร และสนช.ให้ความเห็นชอบ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงถือว่า เป็นนายกรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ มาตรา 264
3. การตีความให้พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในตำแหน่งเกิน 8 ปีเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจประชาธิปไตย ทำลายรากฐานระบอบประชาธิปไตย เปิดโอกาสให้ผูกขาดการใช้อำนาจ
4. การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาขัดต่อรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นการทำลายคุณค่าการเป็นกฎหมายของรัฐธรรมนูญ แม้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประโยชน์ แต่จะทำให้เป็นการทำลายบรรทัดฐานทางกฎหมาย และอำนาจ นำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งที่ใหญ่หลวง นำมาสู่การไม่ยอมรับในผลการวินิจฉัย
5. พรรคร่วมฝ่ายค้าน เห็นว่าควรปฏิรูปการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ให้เกิดการตรวจสอบอำนาจที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้มีการอาศัยคำวินิจฉัยที่ผูกพันทุกองค์กรไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม และไม่คิดถึงบรรทัดฐานทางกฎหมายที่ถูกต้อง
และเห็นว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวคงไม่ใช่การฟอกขาวให้ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ภาพจำของประชาชนที่มีต่อพล.อ.ประยุทธ์ คือ เป็นผู้ที่พยายามสืบทอดอำนาจทุกทาง, ผิดสัญญาทำรัฐประหารแล้วจะอยู่ไม่นาน, ผิดสัญญาด้านการปฏิรูปประเทศ
การอ้างคำวินิจฉัยดังกล่าวจึงมีแต่ความว่างเปล่า พล.อ.ประยุทธ์ ควรใช้โอกาสนี้ลาออกจากตำแหน่ง และประชาชนต้องให้บทเรียนกับองคาพยพของพล.อ.ประยุทธ์ในการลือกตั้งครั้งต่อไป
@เล็งเปิดอภิปรายทั่วไป
ผู้สื่อข่าวสอบถามว่า หลังจากนี้ฝ่ายค้านจะดำเนอนการอย่างไรต่อไป นพ.ชลน่านตอบว่า ก็จะตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินต่อไปในช่วงระยะเวลาที่เหลืออยู่ โดยจะเปิดสมัยประชุมในวันที่ 1 พ.ย. 2565 - 28 ก.พ. 2566
โดยการตรวจสอบการทำหน้าที่ของรัฐบาลจะเป็นบทบาทของคณะกรรมาธิการไปก่อน ส่วนการให้ข้อท้วงติง ก็มีวาระประจำอยู่แล้ว จะนำประเด็นต่างๆเสนอไปยังรัฐบาลตามเห็นควร
สำคัญที่สุด กำหนดวาระในการขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เป็นการสอบถามข้อเท็จจริงกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยจะดำเนินการในช่วงเปิดสมัยการประชุมสภาต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาต่อไป
"สถานการณ์ตอนนี้เหมือนพายุโนรูเข้าประเทศไทย แต่เป็นพายุ No Rule ซึ่งจะเป็นสิ่งที่เราห่วงและกังวลมาก เท่าที่ฟังเสียงประชาชน เขามีข้อวินิจฉัยส่วนตัวกันหมดแล้ว ก็ขอให้ฝ่ายบริหารโดยเฉพาะพล.อ.ประยุทธ์ รับฟังข้อเรียกร้องของประชาชน" นพ.ชลน่านระบุ
อ่านประกอบ :