4 รองผู้ว่า เปิดเวทีรายงานความคืบหน้า ‘ชัชชาติ 99 วัน’ จัดเต็มทั้งด้านสาธารณสุข-น้ำท่วม-หาบเร่-จราจร-ขยะ-การศึกษา-กิจกรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 9 ก.ย. 2565 รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ทั้ง 4 ราย ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวิดา กมลเวชช, รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล, นายจักกพันธุ์ ผิวงาม และนายศานนท์ หวังสร้างบุญ ร่วมกันแถลงผลการดำเนินงาน 99 วันของการเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่ากทม.ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ทวิดา: ลุยงานสาธารณสุข ผุดดิจิทัลช่วย
เริ่มต้นที่ศ.ดร.ทวิดา เป็นผู้แถลงข่าวคนแรก แยกผลงานเป็น 3 ด้าน ประกอบด้วย
1.ปลอดภัยดี: 99 วันที่ผ่านมาได้เตรียมข้อมูลสำหรับจัดทำฐานแผนที่ความเสี่ยง (Bangkok Risk Map) โดยลงข้อมูลประปาหัวแดงตามชุมชนต่างๆที่มีความหนาแน่นสูง ทำข้อมูลบัญชีทรัพยากรทั้งหมดที่สำนักบรรเทาและป้องกันสาธารณภัย รวมทั้งเครือข่ายอาสาสมัคร รวมถึงปรับปรุงจัดทำอุปรกรณ์ที่เกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
2.สุขภาพดี: ทำคลินิกวันเสาร์บริการยารักษาโควิดแบบเจอ-จ่าย-จบ และบริการให้วัคซีนกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง รวมถึงจัดตั้งคลินิก Long Covid-19 ทั้ง 9 แห่งทั่วกรุงเทพฯ และศูนย์บริการบัตรคนพิการเบ็ดเสร็จได้เลย ไม่ต้องออกจากโรงพยาบาลไปไหน รวมถึงการเปิดคลินิกหลากหลายทางเพศทั้ง 6 แห่งทั่วกทม.
และได้เปิด Sandbox สุขภาพ ลดรอยต่อศูนย์บริการสาธารณสุข ร้านขายยา และคลินิกอบอุ่นตามชุมชน เชื่อมเข้าโรงพยาบาลทุติยภูมิและตติยภูมิ โดยนำร่องในนาม ‘ดุสิต โมเดล’ ครอบคลุมเขตดุสิต พระนคร บางซื่อ และบางพลัด ‘ราชพิพัฒน์ โมเดล’ ครอบคลุมเขตตลิ่งชัน บางแค หนองแขม ภาษีเจริญ และทวีวัฒนา กำลังประเมินผลเพื่อปรับปรุง และมีเป้าหมายให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางแพทย์ได้ที่บ้าน
3.บริหารจัดการดี: เสริมความแข็งแกร่งโครงการ Bangkok Smart Service ด้วยการสำรวจความต้องการเพิ่มเติมในการใช้บริการออนไลน์, กำหนดหลักเกณฑ์รับผู้ัพิการเข้ารับราชการ จะดำเนินการในช่วง ต.ค. - พ.ย. 2565, ผลักดันข้อบัญญัติสวัสดิการครูและพนักงานเก็บขยะ และประกาศจุดยืนไม่เลือกปฏิบัติทางเพศ
ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ
ส่วน 99 วันถัดไป ด้านปลอดภัยดี จะบริหารจัดการความปลอดภัยด้านข้อมูบที่ไปรวบรวมมา และจะทำให้โปร่งใสขึ้น และเริ่มทำ Bangkok Risk Map ระบุจุดที่เกิดอาชญากรรมบ่อยครั้ง จุดที่น้ำท่วมบ่อย จุดที่เกิดอัคคีภัยบ่อย และในอนาคตประชาชนจะเข้าถึงได้ทั้งหมด เป็นต้น
สุขภาพดี จะเพิ่มคลินิกหลากหลายทางเพศเป็น 16 แห่ง ภายในสิ้นปีนี้, มีหน่วย ER ด่านหน้าประจำศูนย์สาธารณสุข มีเตียงพักรอก่อนส่งต่อ, ขยายศูนย์คนพิการเบ็ดเสร็จ รวมถึงการจ่ายเบี้ยคนพิการและเพิ่มระบบจัดหางานคนพิการ และจะขยาย Sandbox ให้เชื่อมเขตมากขึ้น และจะเพิ่ม Sandbox สุขภาพทางกรุงเทพเหนือ
บริหารจัดการดี กำลังพัฒนา Bangkok Digital Plans เพื่อติดตามนโยบายและการทำงานด้านต่างๆได้ รวมถึงมี Sandbox สำนักงานเขต ปรับโครงสร้างการทำงานใหม่ของเขต ภายในปีนี้จะมีการกำหนด Sandbox และระบบประเมินผลงานแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์
วิศณุ: อุดฟันหลอน้ำท่วม เร่งขอพื้นที่ก่อสร้าง
ขณะที่รศ.ดร.วิศณุ เปิดเผยว่า ในส่วนของตนในระยะแรกจะใช้การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆก่อน ในส่วนของการป้องกันน้ำท่วม ได้ร่วมกับกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ในการรับมือกับน้ำเหนือที่จะไหล่บ่ามาทุกปี เมื่อลงมาถึงน้ำในคลองก็ได้ปรับปรุงสถานีสูบน้ำ บ่อสูบน้ำ ปั็มน้ำ และเขื่อนกันน้ำ รวมถึงได้ล้างท่อระบายน้ำ 3,358 กม. และขุดลอกคูคองไปแล้ว 1,665 กม.
ขณะเดียวกันในส่วนของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา เหลือจุดที่เป็นฟันหลอ 3.1 กม. จากแนวทั้งหมด 72 กม. โดยได้นำกระสอบทรายไปเสริมแล้ว โดยได้รับความร่วมมือจากเจ้าของที่ดินแล้ว และได้งบประมาณในการก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำถาวรในปีนี้แล้ว ความยาว 1.5 กม. ซึ่งในปี 2566 จะทำให้ครบ 3.1 กม. นอกจากนี้ หากพบจุดที่มีน้ำท่วมขังก็จะประสานหน่วยงานต่างๆในการจัดหารถรับส่งประชาชน จัดทีมซ่อมรถมอเตอร์ไซต์ ซึ่งเมื่อวานนี้ (8 ก.ย. 2565) ซ่อมไปแล้ว 150 คัน
วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ
ส่วนการจัดการด้านจราจร เรื่องการขอภาพกล้องวงจรปิด ได้ลดขั้นตอนและระยะเวลาในการขอภาพให้เหลือ 24 ชม. เท่านั้น โดยขอภาพไปแล้ว 1,000 ราย, การขอคืนพื้นจราจรที่ผ่านมาได้เปิดอุโมงค์ลอดแยกไฟฉายกับอุโมงค์แยกรัชดา-ราชพฤกษ์ ซึ่งในเดือน ต.ค.นี้ จะมีการขอคืนพื้นที่จากโครงการก่อสร้างอีก 5 โครงการเป็นอย่างน้อย และอีก 7 โครงการในปี 2566 ส่วนข้อมูลอุบัติเหตุย้อนหลังทั้ง 11 จุด ดำเนินการแก้ไขแล้ว 2 จุดคือ หน้าศาลอาญารัชดา และจะดำเนินการปรับปรุง 54 จุด และวิเคราะห์รายละเอียดอีก 44 จุด
ขณะที่การนำสายสื่อสารลงดิน ต้องรอให้การไฟฟ้านครหลวง เอาสายไฟฟ้าของเขาลงดินก่อน กทม.จึงจะจัดระเบียบสายสื่อสารลงดินรวมกับ กสทช.และโอเปอร์เรเตอร์ค่ายมือถือต่างๆ ตามไปด้วย โดยกทม.มีแผนจร่วมกับหน่วยงานต่างๆในการจัดระเบียบ 800 กม. ระยะเวลา 2 ปี โดยในปีแรกจะทำก่อน 390 กม. ขณะนี้ทำไปแล้ว 60 กม.
จักกพันธุ์: เพิ่มแผงลอย-หาที่ทำสวน-เน้นแยกขยะ
ต่อมา นายจักกพันธุ์ กล่าวถึงผลงานในข่ายที่รับผิดชอบว่า มี 3 เรื่องสำคัญคือ 1.จุดทำการค้า 2. สวน 15 นาที และ 3. ขยะ
เริ่มกันที่การจัดทำจุดการค้า จัดหาสถานที่ของราชการได้แล้ว 125 แห่ง รองรับผู้ค้า 8,300 คน ขั้นตอนต่อไปจะส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการพัฒนาต่อไป ส่วนทางเท้าได้ให้ 50 เขตไปสำรวจ โดยหาที่ขายได้แล้ว 198 แห่ง รองรับผู้ขาย 27,627 ราย ส่วนหลักเกณฑ์ของผู้ค้ายึดตามประกาศวันที่ 28 มกราคม 2563 ซึ่งมีบางส่วนให้ความเห็นว่าหลักเกณฑ์ในประกาศประกาศล้าสมัย ต้องการให้มีหลายภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้ ซึ่งการจะเปลี่ยนหลักเกณฑ์นี้ต้องใช้เวลาพอสมควร
ส่วนการจัดระเบียบพื้นที่การค้า ปัจจุบัน กทม.มีพื้นที่แบบนี้ 95 จุด ผู้ค้า 6,048 คน โดยจัดให้เป็นแถวแนว มีร่มกันแดดกันฝน โดยเริ่มทำที่เขตราชเทวีซ.รางน้ำและเชิงสะพานหัวช้าง ได้รับการตลอบรับค่อนข้างดี และในสิ้นปีนี้ จะมีการจัดระเบียบทางเท้า 17 จุด จนปี 2566 ทั้ง 95 จุดนี้จะสามารถจัดระเบียบได้เหมือนกันหมด
จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ
ขณะที่การทำงานของเทศกิจที่มีการเรียกร้องการรับส่วยนั้น ท่านผู้ว่าฯได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการ เช่น ปรับเปลี่ยนโยกย้ายเทศกิจ เพื่อไม่ให้ยึดติดสถานที และมาตรการจะเด็ดขาดมากขึ้น
ประเด็นที่ 2 สวน 15 นาที พื้นที่ 200 ตารางวา ตั้งเป้า 104 แห่ง กำลังจะจัดหามากขึ้นด้วย เพราะที่ผ่านมาแม้จะมีสวน 15 นาทีแล้วหลายแห่ง แต่อัตราการเข้าใช้บริการยังน้อย และใช้เวลาเดินทางมากกว่า 15 นาทีด้วย ปัจจุบันหาที่ได้แล้ว 30 แห่ง รวมใน 11 เขต
และการจัดการขยะ กทม.กำจัดขยะ 9,000 ตัน/วัน 1 ตัน ใช้เงินกำจัด 1,900 บาท ตก 1 วันใช้เงินกำจัดขยะ 17 ล้านบาท หากคิดเป็นรายปีอยู่ที่ 63,000 ล้านบาท สัดส่วน 8% ของงบประมาณกทม. หากลดขยะลงได้ก็ลดค่าใช้จ่ายไปด้วย จึงได้มอบหมายสำนักงานเขตต่างๆไปหารือสถานที่ต่างๆ เช่น วัด โรงเรียน อาคาร ชุมชน ทำให้ปัจจุบันมีสถานที่เข้ามาร่วมมือ 998 แห่ง ดังนั้น จึงมีโครงการขอความร่วมมือองค์กรต่างๆที่จะช่วยกันแยกขยะ ในปี 2565 มีองค์กรร่วมมือแล้ว 998 องค์กร ดำเนินการแล้ว 925 องค์กร และปี 2566 ตั้งเป้าเพิ่สถานที่ร่วมกิจกรรมเป็น 3,600 แห่ง
หลังจากประชาชนแยกขยะแล้ว การส่งต่อของเจ้าหน้าที่ก็มีโครงการไม่เทรวม โดยแยกขยะเป็นขยะทั่วไปและขยะเศษอาหาร จะนำร่องก่อนในเขตปทุมวัน พญาไท และหนองแขม
ศานนท์: ปลุกกิจกรรม ไม่ทิ้งผู้ด้อยโอกาส
และปิดท้ายที่นายศานนท์ ระบุว่า กิจกรรมทำให้เมืองมีชีวิต และคำว่าทุกคนสำคัญมาก เพราะจะมีคนเปราะบางรวมอยู่ด้วย โดยการสร้างเมืองที่มีชีวิตคือ การจัดกิจกรรมต่างๆที่ชวนคนออกมานอกบ้าน หลังถูกมาตรการต่างๆในช่วงโควิดติดล็อก ตัวอย่างกิจกรรม คือ ดนตรีในสวน กทม.จัดแล้ว 60 ครั้งเป็นต้น ซึ่งในอนาคตจะจัดพื้นที่ใ้มีการปลอดล้อกไป
ส่วน 12 เดือน 12 กิจกรรม ซึ่งเดือน ก.ย.นี้ มาในธีม Bangkok Ranger เน้นกลุ่มเด็กเล็กนอกจากความเพลิน ก็ทำให้ได้ไอเดีย เช่น กรุงเทพกลางแปลง ซึ่งปลายปีนี้จะกลับมาอีกและจะมีหลายสัปดาห์ ส่วนการดึงอัตลักษณ์ของย่านต่างๆ นำร่อง 11 ด้าน เช่น ถ.แปลงนาม, ตลาดพลู, ตลาดน้ำตลิ่งชัน เป็นต้นรวมถึงจะจัดกิจกรรมถนนคนเดินในกทม.ด้วย จะนำร่อง 39 แห่งใน 50 เขต ร้านรวงกว่า 1,855 ร้าน เงินหมุนเวียนกว่า 28 ล้านบาท
ขณะที่กลุ่มคนไร้บ้าน ต้องไม่ไร้สิทธิ์ ไม่ไร้งาน เปิดพื้นที่เฉพาะกิจ 4 จด มีคนมาใข้บริการ 150 -250 คน/จุด/วัน และจะขยายอีก 4 พื้นที่ได้แก่ ใต้สะพานปิ่นเกล้า, ตรอกสาเก, สถานีรถไฟฟ้าหัวลำโพง และถ.ราชดำเนินกลาง ต่อไป
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม.
ด้านผู้พิการ ได้จ้างงานเพิ่มเป็น 324 คน ส่วนงานจะปรับปรุงให้มีคุณภาพงานดีขึ้น เช่น นำมาเป็นแอดมินทราฟฟี่ฟองดูว์ หรือสนับสนุนอาชีพและเปิดพื้นที่ให้แสดงความสามารถ
การเปิดเผยข้อมูล ได้เปิด Open Bangkok ไปแล้ว โดยนำร่างงบประมาณปี 2566 ขึ้นเว็บ ซึ่งนายชัชชาติกำชับว่า ทุกหน่วยงานต้องเปิดเผยข้อมูลต่างๆภายใน 90 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในเดือน ต.ค.นี้
ขณะที่การศึกษา นโยบาย Open Education โครงการสอนน้องนอกเวลาเรียน, After School Programm, กิจกรรมวันเสาร์ เป็นต้น นำร่องไปแล้ว 85 โรงเรียน และจะขยายผลในปีถัดไป และสุดท้าย เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ โดยตั้งทีมทำงาน 10 ทีมในการช่วยเหลือด้านต่างๆ
นายศานนท์ทิ้งท้ายว่า ใน 99 วันถัดไป มีหลายเรื่องต้องทำต่อ ในช่วงปลายปี พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจะมีผลบังคับใช้ จะทำให้โรงเรียนทั้งหมดปลดล็อกระเบียบด้านการศึกษาได้ โดยจะเปิดเผยข้อมูลชุดแรกที่เอาไปใช้ต่อได้ในเดือน ต.ค.นี้ , เปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างต่างๆมากขึ้น และเปิดห้องทดลองด้านนวัตกรรม
ในเดือน พ.ย. 2565 จะนำร่องพื้นที่สวนสาธารณะเป็นพื้นที่แสดงด้านศิลปวัฒนธรรม 10 แห่ง, จัดจ้างอาสาสมัครด้านเทคโนโลยีชุมชน, ธนาคารอาหาร (Food Bank) นำร่อง 10 เขต
เดือน ธ.ค. 2565 น่าจะเริ่มใช้งบประมาณได้แล้ว จะเริ่มปรับงานด้านโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น เช่น Wi-Fi โรงเรียน, ลานกีฬา 1,000 แห่ง , บ้านหนังสือ 140 แห่ง ส่วนในปี 2566 จะเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ Made in Bangkok, พัฒนาที่อยู่อาศัยและศูนย์เด็กเล็ก