‘สุริยะ’ เผยผลการศึกษา ‘แลนด์บริดจ์’ คืบ 99% เสร็จปีนี้แน่นอน ก่อนวางแผนประมูลเฟส 1/1 วงเงิน 500,000 ล้านบาทในปี 2567 นี้ พร้อมผลักดันร่างพ.ร.บ. SEC ด้วย ก่อนขอบคุณทุกเสียงท้วงติง แต่มั่นใจเอกชนมาแน่ ส่วนไปเชียงใหม่กับนายกฯ เตรียมสแกนแผนงานถนน-ระบบรางจังหวัด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 10 มกราคม 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 10- 12 มกราคม 2567นี้ จะร่วมเดินทางไปตรวจราชการ ณ จังหวัดเชียงใหม่กับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ภารกิจสำคัญของกระทรวงคมนาคมที่จะต้องไปตามในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ประกอบด้วย โครงการระบบขนส่งต่างๆ และการส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งในจ.เชียงใหม่ มีโครงการสำคัญ อาทิ ถนนวงแหวนรอบเมืองเชียงใหม่ รอบที่ 1 (ทางหลวงหมายเลข 11 และทางหลวงหมายเลข 1141) ระยะทางรวม 18.238 กิโลเมตร, ถนนวงแหวนรอบเมืองเชียงใหม่ รอบที่ 3 (ทางหลวงหมายเลข 121 ระยะทางรวม 52.957 กิโลเมตร, แผนพัฒนาทางแยกระดับถนนวงแหวนรอบเมืองเชียงใหม่ รอบที่ 3, การพัฒนาถนนเลี่ยงเมืองแม่ริม อำเภอแม่ริม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ระยะทาง 45 กิโลเมตร และการพัฒนาถนนเลี่ยงเมืองต้นเปา (ชม.3029-ทล.1006) ระยะทาง 16.50 กิโลเมตร
รวมถึงโครงการระบบราง ได้แก่ แผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ (CM-PMAP) โดยมีระบบหลัก (Trunk Route, LRT) ประกอบด้วย สายสีแดง ระยะทาง 12.54 กิโลเมตร จำนวน 12 สถานี สายสีน้ำเงินระยะทาง 10.47 กิโลเมตร จำนวน 13 สถานี สายสีเขียว ระยะทาง 11.92 กิโลเมตร จำนวน 10 สถานี และระบบ Feeder (รถประจำทาง) ประกอบด้วย ระบบรอง จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 89 กิโลเมตร ระบบเสริม จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 85 กิโลเมตร และโครงการรถไฟฟ้า (Light Rail Transit : LRT) สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) ปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณารูปแบบการดำเนินโครงการที่เหมาะสม และพิจารณาผลการศึกษาเปรียบเทียบร่วมกันของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม
@ผลการศึกษา 'แลนด์บริดจ์' เสร็จปีนี้ พร้อมประมูลเฟสแรกด้วย
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย -อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือแลนด์บริดจ์ วงเงินโครงการ 1 ล้านล้านบาทว่า อาจจะไม่คุ้มค่าในการลงทุนนั้น นายสุริยะตอบว่า แลนด์บริดจ์มีการศึกษาโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีการศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียดพอสมควร แม้กระทั่งเรื่องสิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้น มีความเป็นไปได้ในทางที่ดี ทางกระทรวงคมนาคมก็มีการพูดคุยกับภาคเอกชนแล้วบางส่วนไม่ว่าจะที่สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือซาอุดิอาระเบีย โดยผลการตอบรับทั้งนักลงทุนและสายการเดินเรือต่างประเทศต่างก็ให้ความสนใจ
ส่วนผลการศึกษาที่ สนข.กำลังดำเนินการ นายสุริยะระบุว่า ตอนนี้เสร็จไปแล้วกว่า 99% คาดว่่าภายในปี 2567 นี้ ผลการศึกษาจะแล้วเสร็จและพร้อมเปิดประมูลเฟสที่ 1/1 มีมูลค่ารวม 522,844.08 ล้านบาท ที่มีเนื้องานประกอบด้วย การก่อสร้างท่าเรือ 2 ฝั่ง มูลค่ารวม 260,235.51 ล้านบาท แบ่งเป็น ท่าเรือฝั่งชุมพร มูลค่าลงทุน 118,519.50 ล้านบาท รองรับ 4 ล้านทีอียู ก่อสร้างท่าเรือฝั่งระนอง มูลค่าลงทุน 141,716.02 ล้านบาท รองรับ 6 ล้านทีอียู, พื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (SRTO) มูลค่ารวม 60,892.56 ล้านบาท แบ่งเป็น พื้นที่ฝั่งชุมพรมูลค่าลงทุน 38,113.45 ล้านบาท พื้นที่ฝั่งระนอง มูลค่าลงทุน 22,779.11 ล้านบาท และเส้นทางเชื่อมโยง มูลค่ารวม 201,716 ล้านบาท ประกอบด้วย มอเตอร์เวย์ขนาด 4 ช่องจราจร และรถไฟทางคู่ ขนาด 1 เมตร และขนาด 1.435 เมตร
นายสุริยะ กล่าวในช่วงท้ายว่า โครงการนี้ภาครัฐจะออกค่าใช้จ่ายเฉพาะการเวนคืนเท่านั้น ส่วนการลงทุนอื่นๆทางเอกชนจะเป็นผู้ลงทุน หากไปรับฟังมาแล้ว เอกชนยืนยันว่าจะลงทุน ก็คิดว่าในการลงทุนขนาดใหกญ่แบบนี้ ในสายตาเอกชนจะต้องมองเห็นอย่างแน่นอนว่า โครงการนี้คุ้มทุนและส่วนตัวก็เชื่อมั่นว่า ทางเอกชนที่เคยโรดโชว์จะเข้ามาลงทุน
“อย่างไรก็ตาม ผมขอขอบคุณความเห็นจากหลายๆภาคส่วนที่ให้ความห่วงใยโครงการนี้ แต่สุดท้ายความคุ้มค่าของโครงการนี้ จะอยู่ที่เอกชนว่าจะลงทุนตั้งแต่เฟสแรกซึ่งมีมูลค่ากว่า 500,000 ล้านบาท ผมเชื่อว่า เขา (นักลงทุน) จะพิจารณาอย่างดี พอไปรับฟังความเห็นเอกชนทั้งหมดแล้ว ก็จะมาสู่การออกกฎหมายนั่นคือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (พ.ร.บ. SEC) เพราะกฎหมายนี้จะช่วยให้อำนวยความสะดวกในบางประเด็นได้ เช่น การกำหนดอายุสัมปทาน 50 ปี เหมือนยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)” นายสุริยะระบุ
อ่านประกอบ