ครม.รับทราบข้อเสนอแนะ ‘กสม.’ เสนอเร่งผลักดัน ‘กม.ลูก-วางกลไก’ ป้องกัน-ปราบปรามการ ‘ซ้อมทรมาน-ทำให้สูญหายฯ’ หลังพบมีการออก ‘ระเบียบฯ’ เพียง 1 ฉบับ เร่งรัด ‘ไทย’ เข้าร่วมภาคี OPCAT-จัดทำกลไกป้องกันทรมานระดับชาติ เปิดทางเข้าตรวจ ‘สถานที่ควบคุมตัวของรัฐ’ โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า
....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. รับทราบข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 และการพิจารณาเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับ OPCAT (อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี) ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เสนอ
ทั้งนี้ ครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้สรุปผลการพิจารณาให้ ครม. ต่อไป
สำหรับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 และการพิจารณาเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับ OPCAT ของ กสม. ดังกล่าว ประกอบด้วย
1.ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เร่งผลักดันการจัดทำอนุบัญญัติตามกฎหมายดังกล่าวให้ครบถ้วน รวมทั้งมีกลไกในการพัฒนาระบบ มาตรการ และกรอบแนวทางการเยียวยาตามร่างระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ว่าด้วยการช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูผู้เสียหาย พ.ศ.....ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล
2.ให้กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงการต่างประเทศเร่งดำเนินการเข้าเป็นภาคี OPCAT และเตรียมความพร้อมโดยการสร้างความตระหนักรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3.เมื่อไทยเข้าเป็นภาคี OPCAT แล้ว กสม. พร้อมทำหน้าที่เป็น NPM (กลไกป้องกันการทรมานระดับชาติ) ดังที่กระทรวงยุติธธรรมและกระทรวงการต่างประเทศได้ให้ความเห็นไว้ในรายงานข้อเสนอแนะด้านนโยบายและการปรับปรุงกฎหมายฯ ที่ 800/2556 ลงวันที่ 26 ธ.ค.2566 โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 กสม. ได้จัดทำแผนปฏิบัติการของ กสม. ว่าด้วยการป้องกันการทรมาน พ.ศ.2567-2568
และดำเนินโครงการวิจัยแนวทางการจัดตั้ง NPM และการพัฒนามาตรฐานการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวตาม OPCAT ภายใต้ชุดโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาเครื่องมือ มาตรฐาน และระบบในการป้องกัน คุ้มครอง และเยียวยาตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 รวมทั้งได้จัดตั้งหน่วยงานภายในเพื่อดำเนินการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวให้สอดคล้องกับมาตรฐานตาม OPCAT ด้วย
“การกระทำทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกสถานที่และทุกเวลา โดยเป็นสาเหตุสำคัญของการบาดเจ็บร้ายแรงและเสียชีวิตในสถานที่ควบคุมตัว ซึ่งส่งผลกระทบในระยะยาวต่อหลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชน และความน่าเชื่อถือถือต่อกระบวนการยุติธรรมของรัฐ และการบังคับใช้กฎหมายของประเทศ จึงเป็นหน้าที่ที่รัฐต้องลดความเสี่ยง และสร้างสภาพแวดล้อมที่จะทำให้การทรมานเกิดขึ้นได้ยาก
การเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Optional Protocol to the Convention Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment : OPCAT)
และการจัดตั้งกลโกป้องกันการทรมานระดับชาติ (National Preventive Mechanism: NPM) เพื่อให้เข้าถึงสถานที่ควบคุมตัวของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นอิสระ อย่างสม่ำเสมอ และโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า จึงเป็นกลไกสำคัญในการป้องกันการทรมาน รวมทั้งเป็นการดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2557 ที่รับทราบข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายของ กสม.
การเข้าเป็นภาคี OPCAT จะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความสำคัญที่ไทยให้กับการเคารพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอแนะที่ประเทศไทยได้รับและคำมั่นโดยสมัครใจตามกระบวนการ Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ 3 เมื่อปี 2564
และข้อสังเกตเชิงสรุปของคณะกรรมการต่อต้านการทรมานในการพิจารณารายงานฉบับแรกของประเทศไทย ตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT) เมื่อปี 2557 โดยประเทศไทยจะต้องนำเสนอรายงานผลการปฏิบัติตาม CAT ในเดือน พ.ย.2567 และรายงานของประเทศไทยตามกระบวนการ UPR รอบที่ 4 ในปี 2569
นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีสิทธิมนุษยชนของไทยในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศไทยได้ลงนามในกรอบว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิก (Thailand-EU Comprehensive Partnership and Cooperation Agreement: Thai-EU PCA) เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2565 และรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 29 ส.ค.2567 ซึ่งจะทำให้ Thai-EU PCA มีผลบังคับใช้ใน 30 วันภายหลังสหภาพยุโรปได้รับหนังสือแจ้งจากไทย
โดยเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นที่สหภาพยุโรปให้ความสำคัญดังความตาม Thai-EU PCA ข้อ 30 ดังนั้น ไทยจึงควรเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ และเร่งเข้าเป็นภาคี OPCAT” กสม. ระบุ
รายงานข่าวแจ้งว่า กสม.ระบุถึงสภาพปัญหาและข้อเท็จจริงที่ทำให้ต้องจัดทำข้อเสนอแนะฯดังกล่าว ว่า เนื่องจาก กสม. พบว่านับแต่มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายได้ประกาศใช้อนุบัญญัติตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว เพียง 1 ฉบับ คือ ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายว่าด้วยการบันทึกภาพและเสียงในขณะจับและควบคุม การแจ้งการควบคุมตัว และการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว พ.ศ.2566 เมื่อวันที่ 21 ก.ย.2566
ส่วนกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ได้เห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายว่าด้วยการช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูผู้เสียหาย พ.ศ....นั้น พบว่า ยังอยู่ระหว่างการส่งให้กระทรวงการคลังพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ
นอกจากนี้ ในปี 2566 กสม. ได้ตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัว 16 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งได้พบปัญหา ดังนี้ 1.ความแออัดและสภาพไม่เหมาะสมของสถานที่ควบคุมตัว 2.การบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข 3.การกักตัวโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา 4.การกักตัวเด็กในสถานที่ควบคุมตัว 5.ข้อจำกัดด้านบุคลากรและด้านงบประมาณ 6.การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี และ7.การปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมตัวในพื้นที่ซึ่งประกาศใช้กฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉิน
ขณะเดียวกัน กสม.ยังคงได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำทรมานในประเด็นต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และได้เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามมาตรา 26(1) และเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ หรือคำสั่ง เพื่อให้ลอดดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนตามมาตรา 26 (3) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง