ผอ.สถาบันราชานุกูล เผยผลสำรวจเด็กและเยาวชนอายุ 6 ปี ถึง 25 ปีขึ้นไป จำนวน 6,771 คนทั่วประเทศ พบผลกระทบโควิด เกิดกับเด็กทุกกลุ่ม รุนแรงเป็นพิเศษในกลุ่มยากจน -เปราะบาง ห่วงครอบครัวได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจผู้ปกครองเครียด โอกาสลงโทษเด็กรุนแรงเพิ่มสูงขึ้น
วันที่ 30 พฤษภาคม 2563 แพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โรค COVID-19 แพร่ระบาด ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนในประเทศไทยและทั่วโลก ไม่เพียงแต่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาด เด็กๆต้องเก็บตัวอยู่กับบ้าน การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนสร้างความกังวลในหลายมิติ
จากการสำรวจเด็กและครอบครัวจำนวน 6,000 ครอบครัวในประเทศสหรัฐอเมริกาและบางประเทศในทวีปยุโรป พบว่า มีเด็กถึงร้อยละ 76 รู้สึกวิตกกังวล โดยสาเหตุความวิตกกังวลเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเรียน และกลัวคนรอบข้างและตนเองจะติดเชื้อ อีกทั้งจากมาตรการการควบคุมการแพร่กระจายของโรคระบาด COVID-19 ทำให้กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายในการปิดโรงเรียนของรัฐและเอกชนทั่วประเทศรวมถึงโรงเรียนกวดวิชาทุกแห่ง ส่งผลให้เด็กและเยาวชนทั้งประเทศต้องอยู่บ้านและส่วนหนึ่งต้องใช้การศึกษาออนไลน์มาเป็นวิธีในการที่จะทำให้ระบบการเรียนการสอนยังคงดำเนินต่อไป เมื่อโรงเรียนปิด เด็กและเยาวชนจึงมีโอกาสในการเรียนรู้ลดลง และขาดพัฒนาการทางสังคมตามช่วงวัย ผลกระทบนี้ส่งผลอย่างมากต่อกลุ่มเด็กกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มเด็กด้อยโอกาสมากกว่าเด็กและเยาวชนทั่วไป
ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าวว่า จากการสำรวจที่ทำโดยองค์การยูนิเซฟ ร่วมกับสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ในโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ และกองทุนประชากรแห่งสหประชา ชาติ เก็บข้อมูลผ่านแบบสอบถามออนไลน์วันที่ 27 มีนาคม ถึง 6 เมษายน จากเด็กและเยาวชนอายุ 6 ปี ถึง 25 ปีขึ้นไป จำนวน 6,771 คนทั่วประเทศ พบว่าผลกระทบเกิดกับเด็กทุกกลุ่ม แต่น่าจะมีความรุนแรงเป็นพิเศษต่อนักเรียนในกลุ่มยากจน ครอบครัวเปราะบาง มีปัญหาความรุนแรง ยาเสพติด นักเรียนกลุ่มการศึกษาพิเศษ นักเรียนผู้พิการ ผู้มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ในด้านต่างๆ ที่ต้องการการดูแลจากครูอย่างใกล้ชิด
"สาเหตุความวิตกกังวลในเด็กและเยาวชนไทยส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเรื่องสถานะการเงินของครอบครัว โอกาสในการเรียน และกังวลเรื่องการติดเชื้อไวรัส อีกทั้งความเสี่ยงต่อการถูกทารุณกรรม ทำร้ายร่างกาย เนื่องจากครอบครัวได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ปกครองมีความ เครียดสูงขึ้น ร่วมกับการอยู่บ้านด้วยกันเป็นระยะเวลานาน ทำให้โอกาสที่ผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่ในบ้านจะใช้อารมณ์ในการลงโทษเด็กอย่างรุนแรงเพิ่มสูงขึ้นได้ อีกประการหนึ่ง เด็กๆจะเข้าสู่สังคมออนไลน์มากขึ้น มีความเสี่ยงในการถูกชักจูง ล่อลวงจากผู้ไม่หวังดีที่แฝงมาในสังคมออนไลน์ได้เพิ่มมากขึ้น"
แพทย์หญิงมธุรดา กล่าวถึงการดูแลสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนทำได้โดยใช้แนวทาง “วัคซีนใจในครอบครัว” เมื่อวัคซีนครอบครัวพร้อมก็จะเปรียบเสมือนร่างกายที่มีภูมิคุ้มกัน ถึงแม้จะเจอวิกฤติ ซึ่งเปรียบเสมือนเชื้อโรค อาการจะไม่รุนแรงและกลับมาทำหน้าที่ได้อย่างเดิม ผลกระทบกับลูกหรือเด็กๆ ก็จะมีน้อยหรือไม่มีเลย
"วัคซีนใจในครอบครัว เริ่มต้นที่ ครอบครัวต้องมีพลังบวก ครอบครัวที่มองบวกจะมองเห็นทางออกในทุกปัญหา แม้ในภาวะวิกฤต เมื่อเห็นทางออกแล้วครอบครัว ต้องอาศัย พลังยืดหยุ่นเพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนบทบาท ทำหน้าที่ทดแทนกัน ช่วยกันแบ่งเบาภาระที่เกิดขึ้นและนำไปสู่การปรับตัวภายใต้ชีวิตวิถีใหม่และพลังร่วมมือ ทำให้ครอบครัวปรองดองเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆไปได้ในที่สุด"
ทั้งนี้ ในช่วงวิกฤตของโรคระบาดนี้ กรมสุขภาพจิตร่วมกับ สสส. ผลิตรายการ “บ้าน-พลัง-ใจ” ทางช่อง Thai PBS ทุกวันเสาร์ เวลา 21:10 – 22.00 ซึ่งจะเป็นรายการที่ช่วยสร้างพลังบวกจากครอบครัวตัวอย่างและเสริมความรู้ด้านสุขภาพจิตจากจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพจิตกับแนวชีวิตวิถีใหม่ได้ที่ facebook บ้าน-พลัง-ใจ
ที่มาภาพ:https://www.isranews.org/article/thaireform/thaireform-news/89128-edu-3.html
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/