อภ.พัฒนายาฟาวิพิราเวียร์ รักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคิวิด-19 ในระดับห้องปฏิบัติการ พร้อมก้าวสู่กระบวนการผลิต ตั้งแต่วัตถุดิบจนเป็นเม็ดยาสำเร็จรูป คาดสำเร็จปลายปี 64 พึ่งพาตนเองรองรับผู้ป่วยระยะยาว ให้ครบวงจร ไทยจำเป็นต้องพิจารณาลงทุนสร้างรง.สังเคราะห์วัตถุดิบยาฟาวิพิราเวียร์ และตัวยาอื่นๆ ให้ได้ด้วย
วันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฏกกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) แถลงข่าวถึงความคืบหน้ายารักษาโรคโควิด-19 ณ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่า วันนี้มียารักษาโรคโควิด-19 ทั้งสิ้น 7 รายการ โดยเป็นยาที่องค์การเภสัชกรรมผลิตเอง 5 รายการ ได้แก่
1. ยาคลอโรควิน รักษาโรคมาลาเรีย สำรองไว้ จำนวน 1.8 ล้านเม็ด
2. ยาต้านไวรัสเอดส์สูตรผสม โลพินาเวียร์ และ ริโทรนาเวียร์ (Lopinavir / Ritonavir) สำรองไว้ จำนวน 30.6 ล้านเม็ด
3. ยาต้านไวรัสเอดส์ดารุนาเวียร์ (Darunavir) สำรองไว้จำนวน 1.9 ล้านเม็ด
4. ยาต้านไวรัสเอดส์ริโทรนาเวียร์ (Ritonavir) สำรองไว้จำนวน 1.9 ล้านเม็ด
และ 5. ยาอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) ยาปฏิชีวนะใช้รักษาอาการติดเชื้อจากแบคทีเรีย สำรองไว้จำนวน 3.4 ล้านเม็ด
ส่วนยาอีก 2 รายการองค์การฯ ได้จัดซื้อมา คือ
6. ยาฟาวิพิราเวียร์ ( Favipiravir ) ซึ่งเป็นยาสำคัญสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด -19 ที่มีการจัดซื้อจากแหล่งผลิตอยู่ 2 แหล่งหลัก คือญี่ปุ่นเจ้าของสิทธิบัตร (FujiFilm Toyama Chemical Co.,Ltd.) และจีนซึ่งได้รับใบอนุญาตจากญี่ปุ่น (Zhejiang Hisum Pharmaceutical Company) โดยอภ. ได้มีการจัดหาไปแล้ว 140,000 เม็ด กรมควบคุมโรคจัดหา 47,000 เม็ด รวมเป็น 187,000 เม็ด และจะมีการส่งมอบที่จัดซื้อจากญี่ปุ่นเพิ่มอีก 103,860 เม็ด
7. ยาไฮดรอกซีคลอโรควิน อภ. ได้ดำเนินการจัดซื้อไปแล้วจากผู้ผลิตในประเทศ จำนวน 1.09 ล้านเม็ด
ดร.ภญ.นันทกาญจน์ กล่าวถึงยาฟาวิพิราเวียร์ในประเทศไทยยังไม่มีการผลิตยาตัวนี้ อภ.อยู่ระหว่างการนำเข้ายาเพื่อสำรองยาเพิ่มอีกจำนวน 303,860 เม็ด โดยเป็นการเลื่อนส่งมอบมาจากปลายเดือนเมษายน
สำหรับสิทธิบัตรยายาฟาวิพิราเวียร์ เป็นของบริษัท FujiFilm Toyama Chemical Co.,Ltd. ประเทศญี่ปุ่น ได้มายื่นคำขอสิทธิบัตรด้านการผลิตเม็ดยาฟาวิพิราเวียร์ที่ประเทศไทยในปี พ.ศ.2553 ดร.ภญ.นันทกาญจน์ กล่าวว่า ปัจจุบันยังเป็นเพียงคำขอสิทธิบัตรเท่านั้น หากยาดังกล่าวได้รับสิทธิบัตร จะได้ระยะเวลาคุ้มครอง 20 ปี โดยนับย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอสิทธิบัตรในไทย
"การพัฒนาสูตรภายในประเทศสามารถทำได้โดยไม่ถูกฟ้องร้อง แต่หากผลิตจำหน่ายในท้องตลาด อาจโดนฟ้องเพราะละเมิดสิทธิบัตรได้ ดังนั้น อาจต้องมีการเจรจาทำ Voluntary Licensing กับบริษัทเจ้าของสิทธิบัตร เพื่อให้องค์การเภสัชกรรม สามารถผลิตและจำหน่าย"
ส่วนการวิจัยและพัฒนายาฟาวิพิราเวียร์ ขนาด 200 มิลลิกรัม ของอภ. นั้น ดร.ภญ.นันทกาญจน์ คาดว่า เริ่มผลิตได้ต้นปี 2564 เดือนเมษายน 2564 ศึกษาชีวสมมูลของผลิตภัณฑ์ยา ศึกษาความคงตัวของยา เพื่อเปรียบเทียบกับยาต้นแบบ ศึกษาประสิทธิผล ยาที่พัฒนาขึ้นเอง กับอาสาสมัคร โดยคาดปลายปี 2564 จะยื่นขึ้นทะเบียนยาตัวนี้ได้ ต้นปี 2565 จะผลิตเพื่อจำหน่าย เพื่อที่ไทยจะได้มียารักษาโควิด-19 สำรองไว้
นอกจากการผลิตยาเม็ดโดยองค์การเภสัชกรรมแล้ว ดร.ภญ.นันทกาญจน์ กล่าวว่า จะมีการสังเคราะห์วัตถุดิบยาฟาวิพิราเวียร์ขึ้นเอง ในประเทศไทย ปัจจุบันอภ.ร่วมมือกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยอภ.ให้ทุนสนับสนุนจำนวน 4 ล้านบาท คาดว่าใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน
"ช่วงเดือนมิถุนายน 2564 จะได้เริ่มสังเคราะห์วัตถุดิบ ยาฟาวิพิราเวียร์ ได้ สถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้ เป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยต้องพิจารณาเรื่องของการลงทุนสร้างโรงงานสังเคราะห์วัตถุดิบยาให้ได้หลายๆ ชนิด นอกจาก ยาฟาวิพิราเวียร์ "
ที่มาภาพ:https://www.gpo.or.th