เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดโปง นักวิจัย ฝรั่งเศส เผยการสูบบุหรี่และนิโคติน ป้องกันโควิด-19 ได้ ค้นประวัติพบ มีความสัมพันธ์ยาวนานกับบริษัทยาสูบ
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ศ.นพ. ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ เปิดเผยประวัติความสัมพันธ์ของ Jean-Pierre Changeux นักวิจัยด้านประสาทวิทยา ประเทศฝรั่งเศส หัวหน้าทีมงานวิจัย ที่จะพิสูจน์สมมติฐานว่า นิโคตินจากการสูบบุหรี่ อาจจะมีผลป้องกัน การติดเชื้อโควิด-19 โดยงานวิจัย “สมมุติฐาน นิโคตินสำหรับ Covid-19 เกี่ยวกับการป้องกัน และการรักษา” “A nicotine hypothesis for Covid-19 with preventive and therapeutic implications” ซึ่งหัวหน้าทีมวิจัย Jean-pierre Changeux มีประวัติเกี่ยวพันกับธุรกิจยาสูบดังนี้
ปี 1995-1998 รับทุนรวม 220,000 ดอลลาร์ จากสถาบันยาสูบ ซึ่งเป็นองค์กรที่ร่วมกันสนับสนุนโดยบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ
ปลายทศวรรษ 90 เป็นที่ปรึกษา บริษัทเภสัชกรรม ที่เป็นบริษัทลูกของ บริษัทบุหรี่ อาร์ เจย์ เรย์โนล์ด
ปี 2006/2007 เป็นที่ปรึกษาในงานวิจัยและตีพิมพ์ ที่สนับสนุนโดย บริษัทบุหรี่ ฟิลลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล
ศ.นพ. ประกิต กล่าวด้วยว่า บริษัทบุหรี่มีประวัติอันยาวนาน ที่ออกข่าวสนับสนุนการทำวิจัยถึงประโยชน์ของนิโคตินในเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งการผลิตวัคซีนเลิกสูบบุหรี่ แต่ไม่เคยพบว่า นิโคตินในยาสูบมีผลดีต่อทางการแพทย์เลย
ล่าสุดบริษัทบุหรี่ BAT ที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศอังกฤษก็ประกาศว่า กำลังพัฒนาวัคซีนเพื่อใช้ป้องกันโควิด-19 จากใบยาสูบ และพยายามที่จะเชิญชวนรัฐบาลอังกฤษเพื่อให้เข้าร่วมการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 นี้ แต่รัฐบาลอังกฤษไม่ตอบรับข้อเสนอดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมยาสูบจึงเห็นตรงกันว่า การสร้างข่าวต่าง ๆ ของบริษัทบุหรี่เป็นการสร้างภาพและให้เกิดความหวังที่ไม่สามารถเป็นความจริงได้ เพื่อให้ผู้สูบบุหรี่สูบต่อไปเท่านั้น
ทั้งนี้ในข้อตกลงยอมความในคดีฟ้องร้องระหว่างอัยการรัฐต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา ที่เรียกร้องให้บริษัทบุหรี่ชดเชยค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยที่เกิดจากการสูบบุหรี่ที่รัฐต่าง ๆ เสียไป ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวบริษัทบุหรี่ต้องยุบสถาบันยาสูบและสถาบันวิจัยที่สนับสนุนโดยบริษัทบุหรี่ เพื่อไม่ให้บริษัทบุหรี่สนับสนุนงานวิจัยเพื่อสร้างความสับสนถึงอันตรายของการสูบบุหรี่และควันบุหรี่มือสอง แต่ล่าสุดบริษัทบุหรี่ ฟิลลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล ก็ประกาศให้ทุน Foundation for a Smoke-Free World ปีละ 80 ล้านดอลลาร์ เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 และจะให้ติดต่อกันเป็นเวลา 12 ปี เพื่อสนับสนุนงานวิจัย และส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดใหม่ ๆ ซึ่งก็คือบุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้นการพิจารณาข่าวสารงานวิจัยเรื่องบุหรี่และสุขภาพจึงต้องระมัดระวังว่าเป็นงานวิจัยที่มีแหล่งทุนจากบริษัทบุหรี่หรือไม่ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนและไม่น่าเชื่อถือ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายแพทย์ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยของประเทศฝรั่งเศสว่า การสูบบุหรี่ช่วยป้องกันการติดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ นั้น กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่าจากการตรวจสอบข้อมูลงานวิจัยดังกล่าว พบว่า ยังไม่มีบทสรุปงานวิจัย หรือแม้แต่หลักฐานที่ยืนยันว่าเป็นจริงตามที่ได้มีการเผยแพร่แต่อย่างใด นอกจากนั้นยังเป็นเพียงแค่การตั้งสมมติฐาน เพื่อเตรียมการไปสู่การทำวิจัยของนักวิจัยรายหนึ่งเท่านั้น โดยยังไม่มีข้อสรุปใดๆ จากงานวิจัยดังกล่าวเลย นอกจากนี้การวางแผนการทำวิจัยนี้ยังมีระเบียบวิธีวิจัยที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากเป็นงานวิจัยที่มีจำนวนตัวอย่างผู้ป่วยน้อย และเป็นการเก็บข้อมูลจากโรงพยาบาลเพียงแห่งเดียว อีกทั้งรายงานยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบถึงความถูกต้องตามหลักวิชาการ และที่น่ากังวลที่สุดสำหรับงานวิจัยนี้คือ ไม่สอดคล้องกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกถึงผลเสียของการสูบบุหรี่ที่ส่งผลต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รุนแรงขึ้น
ขณะที่ ดร.แพทย์หญิงเริงฤดี ปธานวนิช คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่าจากการเข้าร่วมประชุมกับคณะผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก ซึ่งมีการปรึกษาหารือในประเด็นความเชื่อมโยงระหว่างผลิตภัณฑ์ยาสูบ สารนิโคติน กับการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยที่ประชุมได้มีการหยิบยกประเด็นงานวิจัยของประเทศฝรั่งเศสขึ้นหารือ ซึ่งที่ประชุมมีมติร่วมกันว่า การอ้างอิงว่าการสูบบุหรี่ทำให้เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ลดลง ถือเป็นงานวิจัยที่ไม่น่าเชื่อถือ มีอคติในระเบียบวิจัยการเลือกสุ่มตัวอย่าง เพราะเลือกเฉพาะกลุ่มตัวอย่างที่ส่วนใหญ่อายุน้อย หรือเป็นบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งมีอัตราการสูบบุหรี่ต่ำอยู่แล้วและรู้จักการป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อโควิค-19 ที่ดีกว่าปกติ ซึ่งเท่ากับเป็นการตั้งธงหรือชี้นำผลวิจัยไปในทางใดทางหนึ่งตั้งแต่เริ่มต้นการวิจัย
ข้อมูลอ้างอิง :
https://exposetobacco.org/news/flawed-covid19-studies/
https://www.bat.com/group/sites/UK__9D9KCY.nsf/vwPagesWebLive/DOBN8QNL
https://publichealthlawcenter.org/sites/default/files/resources/MSA-Overview-2019.pdf
https://tobaccotactics.org/wiki/foundation-for-a-smoke-free-world/