วิษณุ เครืองาม แถลงยันไทยยังอยู่ระยะที่ 2 ยังไม่สู่ระยะที่ 3 การระบาดโควิดในไทย ลั่นเตรียมรับมือเอาไว้แล้ว ทั้งสถานพยาบาล เตียงรอบรับคนไข้ ทั้งรพ.ของรัฐ เอกชน ท้องถิ่น กทม. สถานพยาบาลมหาวิทยาลัย ทหาร ตำรวจ ปรับสถานที่ให้มีเตียงเพียงพอ พร้อมระดมแพทย์อาชีพ เกษียณ พยาบาลจิตอาสา อาสาสมัคร เมื่อระยะ 3 มาถึง
วันที่ 16 มีนาคม ศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (COVID-19) ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าว ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล โดยนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัมนตรี กล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้กำชับให้เตรียมการรองรับ หากมีกรณีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และเตรียมการยกระดับเป็นระดับ 3
นายเทวัญ กล่าวถึงการกักตุนสินค้าอุปโภคบริโภค ว่า สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่จำเป็น จึงอยากให้ใช้ชีวิตเหมือนปกติ ทำตามคำแนะนำที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ ล้างมือบ่อยๆ ใส่หน้ากากอนามัย
จากนั้น นายวิษณุ เครืองาน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการประชุมศูนย์บริหารโควิดครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นศูนย์ระดับชาติ มีคณะกรรมการระดับชาติมาประชุมกัน และรัฐมนตรีว่าการทุกกระทรวง อาจารย์แพทย์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เข้าประชุม ใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมง จนได้มติเป็นเอกฉันท์
"บางเรื่องต้องจะนำเสนอครม. และมีผลปฏิบัติทันที เป็นเรื่องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสั่งการได้เอง บางเรื่องต้องศึกษาต่อ โดยวางกรอบไว้ให้แล้ว ดูวิธีปฏิบัติ"
ไทยอยู่ระยะที่ 2 ยังไม่สู่ระยะที่ 3
นายวิษณุ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นตรงกัน แม้เราเตือนเป็นระยะ การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ก็ยังเป็นระยะที่ 2 ยังไม่สู่ระยะที่ 3 โดยมีเหตุผลทางวิชาการของไทยเองรองรับ ขอย้ำอีกครั้ง เป็นเกณฑ์ที่เราตั้งขึ้นเอง ไทยยังไม่เข้าสู่ระยะที่ 3 แต่จำเป็นต้องเตรียมรับมือเอาไว้แล้ว อันดับแรก สถานพยาบาล เตียงรอบรับคนไข้ ให้เตรียมโรงพยาบาลของรัฐ เอกชน และท้องถิ่น กทม. สถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลทหาร ตำรวจ เพื่อเตรียมปรับสถานที่ให้มีเตียงเพียงพอ เมื่อสถานการณ์ระยะ 3 มาถึง
"ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ เตรียมระดมแพทย์อาชีพ จากภาครัฐ เอกชน และเกษียณ พยาบาลจิตอาสา อาสาสมัคร หากสถานการณ์ถึงจุดที่จำเป็น รวมถึงการเตรียมการเวชภัณฑ์ สธ.เตรียมรับมือเอาไว้แล้วว่า หากกรณีผู้ป่วยไม่รุนแรงจะใช้ยาชนิดใด หรือผู้ป่วยอาการรุนแรงใช้ยาชนิดใด พร้อมอนุมัติค่าตอบแทนพิเศษกรณีโควิดไว้ด้วยแล้ว"
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า กรณีหน้ากากา เจลล้างมือ ได้เร่งการผลิตแล้ว กระทรวงการต่างประเทศ ระบุ บางประเทศพร้อมให้ความช่วยเหลือประเทศไทยมากขึ้น นอกจากนั้นเร่งผลิตเจลแอลกอฮอล์ให้มากขึ้น ขณะเดียวกัน นายกฯ ระบุการตรวจจับการค้าขาย ขายหน้ากากออนไลน์ในประเทศ จับและยึดของกลางได้จำนวนมาก รวมถึงของเตรียมส่งออก ของกลางตามกฎหมายเป็นล้านชิ้น ให้นำมาใช้ยังศูนย์โควิด แจกจ่ายตามโรงพยาบาลและผู้ต้องการต่อไป แต่ไม่ให้เสียรูปคดี
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงด้านการต่างประเทศ มีต่างประเทศแสดงความปรารถนาดีช่วยเหลือเรื่องยา หน้ากากอนามัย และอุปกรณ์ทางการแพทย์เข้ามา ในประเทศกระทรวงอุตสาหกรรม สธ. จะเร่งผลิต ชุด PPE ให้มากขึ้นที่สุด ส่วนรับจากต่างประเทศก็ส่วนหนึ่ง
สำหรับมาตรการป้องกัน นายวิษณุ กล่าวว่า การเตรียมรับสถานการณ์ที่สำคัญด้วยการเข้มงวดกวดขันการเดินทางเข้าประเทศให้มากยิ่งขึ้น ทั้งฟรีวีซ่า Visa on arrival ก็ยกเลิกไปแล้ว 4 ประเทศห้ามเดินทาง จีน ( ฮ่องกง มาเก๋า) เกาหลีใต้ อิหร่าน อิตาลี นอกจากนั้นประเทศอื่น ไทยยังไม่ประกาศเพิ่มเติม
ไม่หยุดสงกรานต์
"นายกฯ สั่งการ เลื่อนสงกรานต์ 13-15 เม.ย.63 ออกไปก่อน เพราะจะเสี่ยงต่อการติดโรค กระทรวงสาธารณสุขเกรงว่า จะมีการแพร่เชื้อให้กับครอบครัวในต่างจังหวัด หรือนำโรคจากต่างจังหวัดกลับสู่เพื่อนร่วมงานในกรุงเทพฯ ดังนั้นคณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์เสนอครม.งดวันหยุดราชการ ไม่หยุดสงกรานต์ ไม่หยุดงาน 13-15 เม.ย.63 จะชดเชยสิทธิ์นี้ในโอกาสอื่นต่อไป ในปีนี้เมื่อสถานการณ์บรรเทาลง"นายวิษณุ ระบุ และว่า รวมถึง ให้ปิดกิจกรรมที่มีการชุมนุม มากๆ จัดแบ่งแยกสถานที่ได้ยาก มีการชุมนุมเป็นกิจวัตร มีทางเลือกเลี่ยงมากชดเชยให้คนมาชุมนุมได้ ให้เสนอครม. ตัวอย่าง เช่น มหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชน เปิดสอนออนไลน์แทน รวมถึงร.ร.ของรัฐ เอกชน รวมถึงโรงเรียนนานาชาติ เร่งปิดให้เร็วขึ้น ลดความเสี่ยงเด็ก ครู อาจาจารย์และผู้ปกครอง ขณะที่สถานกวดวิชา เลื่อนได้ ให้ผ่อนผัน หรือคืน เลื่อนวันกวดวิชา ใช้มาตรการทำนองเดียวกันกับสายการบิน
สถานที่มีผู้คนมาชุมนุมคราวละมากๆ เพื่อทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกัน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีโอกาสแพร่เชื้อ จะเสนอครม.ให้ปิดกิจการเป็นการชั่วคราว ตัวอย่าง สถานที่ได้แก่ สนามมวย สนามกีฬา ฟุตบอล โรงภาพยนตร์อาจเข้าเกณฑ์ดังกล่าว ต้องขอดูรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง สถานที่อื่นนอกจากนี้ ร้านค้า ร้านอาหาร ที่ไม่ได้เข้าเกณฑ์ยังสามารถเปิดดำเนินการได้ตามปกติ แต่ต้องมีมาตรการป้องกันหรือมีมาตรการรองรับ เช่น ตรวจวัดไข้ มีหน้ากากอนามัยปิดปาก เจลล้างมือ
อีกทั้ง ให้ราชการเหลื่อมเวลาทำงาน เหลื่อมเวลารับประทานอาหารเที่ยง จะทำให้ไม่มีการแออัดยัดเยียดในร้านอาหาร จัดที่นั่งให้ห่างกันคนละ 1 เมตร และให้ครม.สั่งกำชับให้ราชการทำงานที่บ้าน ตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยต้องรายงานทุก 7 วัน และให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ เลื่อนการประชุมผู้ถือหุ้น หรือมีการประชุมทางไกลแทน หากจำเป็นต้องมีการประชุม ก็ต้องจัดมาตรการป้องกันการติดเชื้อด้วย
นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า กรณีโควิดเป็นปัญหาเร่งด่วนของประเทศ เรื่องใดปฏิบัติได้เลย กระทรวงต่าง ๆ รับไปดูแลจัดการ ขณะที่ยังไม่มีมาตรการปิดเมืองหรือปิดประเทศ แต่ใช้มาตรการเข้มงวดเข้าเมืองเข้าประเทศ ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ เช่น มีใบตรวจโรค มีแอฟติดตามตัว ให้ตม.ตรวจเข้มก่อนเข้าประเทศไทยเดินทางมาจากประเทศใดมาก่อน ที่แล้วมาไม่ได้ตรวจจากนี้จะเข้มงวดด้วย
แพทย์ 3 หมื่น เตียง 1 แสนเตียง รองรับ
นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นพ.ทรงคุณวุฒิเเละโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การติดเชื้อโควิด ติดต่อด้วยการไอ หรือจาม หากจะป้องกัน คนป่วยต้องใส่หน้ากากอนามัยป้องกันโรคเพื่อไอจาม ไม่กระเด็นไปโดนคนอื่น และขอให้แยกตัวอยู่ที่บ้าน แต่สำหรับโควิด ต้องรีบมาโรงพยาบาล
"เราต้องเพิ่มระยะห่างทางสังคม เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยให้มากที่สุด เปลี่ยนความกลัว เป็นความรู้ที่ถูกต้อง โรคนี้รักษาหายได้" นพ.รุ่งเรือง กล่าว และว่า กำลังแพทย์ประมาณ 3 หมื่นคนรองรับสถานการณ์ไว้แล้ว มีเตียงไม่ต่ำกว่า 1 แสนเตียง เชื่อว่าเพียงพอ พร้อมกันนี้ได้ให้แต่ละจังหวัดมีการออกแบบระบบรองรับไว้แล้ว ชุด PPE ณ สถานการณ์วันนี้ ถือว่า มีความพร้อมแล้ว
นพ.รุ่งเรือง กล่าวด้วยว่า บุคลากรทางการแพทย์ทำงานเต็มที่ ทำงานเหนื่อยจริง เราคุมสถานการณ์ได้ดี ทุกข้อมูลจึงไม่มีการปิดบัง
พบผู้ป่วยเพิ่ม 33 ราย ยอดสะสม 147 ราย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสฯ ในประเทศไทย พบว่า มีผู้ป่วยยืนยันรักษาหายกลับบ้านได้ 1 ราย เป็นหญิงชาวจีน อายุ 32 ปี และพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่ม 33 ราย นับเป็นรายที่ 115-147 จากการขยายการตรวจคัดกรองกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง แนะประชาชนปฏิบัติตัวตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดช่วยป้องกันการแพร่กระจายวงกว้าง โดยจำแนกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1. ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ จำนวน 16 คน จาก กลุ่มสนามมวย 7 คน, กลุ่มสถานบันเทิง 3 คน, สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 6 คน
กลุ่มที่ 2. ผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ จำนวน 18 คน จาก กลุ่มผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ 6 คน, กลุ่มทำงานใกล้ชิดสัมผัสต่างชาติ 6 คน, การระบาดเป็นกลุ่มก้อน 3 คน และกลุ่มผู้ร่วมพิธีทางศาสนา ในมาเลเซีย 2 คน
นอกจากนี้ อยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวนโรค และ/หรือ รอผลทางห้องปฏิบัติการ จำนวน 27 ราย
สรุปมีผู้ป่วยยืนยันที่รักษาหายกลับบ้านแล้ว 38 ราย ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 108 ราย เสียชีวิต 1 ราย ผู้ป่วยสะสมในประเทศไทยขณะนี้ 147 ราย สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก 1 ราย ที่รักษาตัวอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
สำหรับกลุ่มที่เดินทางมาจากประเทศอิตาลีที่ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี จำนวน 83 คน ในจำนวนนี้มี 6 คน รับตัวไว้สังเกตอาการที่โรงพยาบาล ทั้งหมดไม่มีไข้ ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่เหลือ 77 คน (ผู้ชาย 24 คน ผู้หญิง 53 คน) ทุกคนไม่มีไข้ ยังต้องอยู่ในการเฝ้าระวังสังเกตอาการ จนครบ 14 วัน ที่อาคารรับรองฐานทัพเรือสัตหีบ
ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่มีการระบาดของโรคขอให้กักกันตัวเองที่บ้านให้ครบ 14 วัน แยกของใช้ส่วนตัว สวมหน้ากากอนามัย ตลอดเวลา เพื่อไม่แพร่เชื้อให้คนในครอบครัว งดกิจกรรมทางสังคม ส่วนประชาชนทั่วไป ขอให้ หมั่นล้างมือบ่อย ๆ สวมหน้ากากอนามัย ไม่ไปในที่มีที่คนแออัด หากมีไข้ ร่วมกับมีอาการระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ไอ มีน้ำมูก ปวดเมื่อย ให้รีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง/ประวัติความเสี่ยง เพื่อเข้าสู่ระบบการตรวจวินิจฉัย การรักษา และเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไม่ให้แพร่กระจายในวงกว้าง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/