บริษัท ไวท์ไซท์ นำเสนอข้อมูลเหตุการณ์ที่โคราช พบเสียงประชาชนที่โพสต์ในโลกออนไลน์วันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ มีจำนวนถึง 1.2 ล้านข้อความ ภายใน 24 ชั่วโมง และมีการปฏิสัมพันธ์ หรือแชร์รวมกัน 66 ล้านครั้ง พบ 5 เนื้อหาที่ได้รับความสนใจมากที่สุด ประเด็นกราดยิง โดยเฉพาะภาพวีดีโอ แฮชแท็ก ติดอันดับ 'กราดยิงโคราช' - สื่อไร้จรรยาบรรณ
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดเวทีระดมความคิดเห็น เรื่อง “รู้เท่าทัน – วางกฏเหล็ก Mass Shooting - สังหารหมู่ซ้ำ บนสื่อทีวี - ออนไลน์” เพื่อหาแนวทางในการกำหนดมาตรการกำกับดูแลและสร้างกติกาให้กับสื่อมวลชนทุกแขนง และสร้างการเรียนรู้ให้กับสังคมและประชาชนทั่วไป จากเหตุการณ์กราดยิงประชาชนที่ห้าง Terminal 21 จ.นครราชสีมา ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม บี โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ
พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสทช. กล่าวถึงเหตุการณ์กราดยิงที่โคราช วันนี้การนำเสนอข่าวไม่ได้อยู่แค่สื่อโทรทัศน์ ยังกระจายไปยังสื่อออนไลน์ ขณะที่พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก็จัดการได้บางระดับเท่านั้น ซึ่งก่อนหน้านี้ กสทช.การจัดการข่าว Fake News มาแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้สื่อจะการรายงานข่าวด้วยความหวังดี แต่พบว่า ไปกระทบต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ อีกทั้งการรายงานข่าวดราม่า การนำเสนอข่าวผู้สูญเสีย ทำแอนนิเมชั่น วิธีการฆ่าตัวตาย แสดงขัั้นตอนต่างๆ ถามว่านำเสนอข่าวไปได้ประโยชน์อะไร เพราะสร้างผลกระทบทางลบทางจิตใจ และสุดท้ายส่งผลกระทบโดยรวมต่อสังคม
"กสทช.ร่วมมือกับกระทรวงดีอี เพราะเห็นว่า 2 องค์กรต้องเข้ามารับผิดชอบร่วมกัน กรณีเหตุที่โคราช เทียบกับกรณีข่าวเหตุการณ์ที่ถ้ำหลวง จังหวัดเชียงราย มิติการจัดการจึงจำเป็นต้องหารือร่วมกัน ใครเป็นหน่วยงานหลัก เป็นหน่วยงานรอง รวมการจัดการสื่อมวลชนด้วย มิเช่นนั้นสื่อจะวิ่งหาข่าวเอง"
พล.ท.พีระพงษ์ กล่าวถึงเสรีภาพของสื่อแม้ต้องการข้อมูลข่าวสาร แต่การไลฟ์สด หรือนำเสนอข่าวทำเป็นช่วงๆ ได้หรือไม่ ไม่จำเป็นต้องแช่ถ่ายทอดสด เป็นต้น
สถานการณ์วิกฤติจำเป็นต้องมีผบ.เหตุการณ์ด้านการสื่อสาร
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงเหตุการณ์โคราช การนำเสนอข่าวของสื่อ เชื่อว่า สื่อมีมาตรฐาน มีความรับผิดชอบ มีจรรยาบรรณเพียงพอ แต่คนที่ไม่ได้เป็นสื่อ แต่มีผู้ติดตามจำนวนมาก ปัจจุบันทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ก็ไม่มีผู้กำกับ ดังนั้นประเทศไทยไม่มีทางได้ข้อสรุปวันนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น เราจะทำอย่างไรให้สังคมนี้อยู่ต่อไปได้
“กรณีที่โคราช ประชาชนเข้าใช้บริการแพลตฟอร์มของบริษัทเอกชน ทำให้กระทรวงดีอี ไม่สามารถสั่งปิดได้ เพราะไม่มีอำนาจทำได้อย่างเดียว แค่ขอความร่วมมือ หากสิ่งนั้นทำให้สังคมไทยเสียหาย”
นายพุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า เมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤติ นอกจากฝ่ายปฏิบัติ มีผู้บัญชาการปฏิบัติหน้าที่แล้ว สิ่งที่ประเทศไทยไม่เคยมีเลย นั่นคือ ผู้บัญชาการเหตุการณ์ด้านการสื่อสาร ถือเป็นการเรียนรู้ที่เราต้องมี และมีช่องทางชัดเจนว่า ให้ติดตามทางสถานีโทรทัศน์ช่องใดเป็นช่องหลัก
“คนที่ประสบในเหตุการณ์ และรอดออกมาแล้วนอนไม่หลับทุกคืน เขาเป็นผู้ไม่ปกติ หวาดผวา แม้รอดมาแล้ว ได้รับผลกระทบจากจิตใจ ฉะนั้นคนไทย สื่อหลัก สื่อออนไลน์ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องช่วยหาทางออกกับสิ่งที่เกิดขึ้น"
จากนั้น นายกล้า ตั้งสุวรรณ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไวท์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด นำเสนอข้อมูลเหตุการณ์ที่โคราชในโซเชียลมีเดีย เสียงของประชาชนที่โพสต์ในโลกออนไลน์วันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ พบว่า มีจำนวนถึง 1.2 ล้านข้อความ ภายใน 24 ชั่วโมง และมีการปฏิสัมพันธ์ หรือแชร์รวมกัน 66 ล้านครั้ง และพบ 5 เนื้อหาที่ได้รับความสนใจมากที่สุด ประเด็นกราดยิง โดยเฉพาะภาพวีดีโอ การประมวลภาพของการทำงานของตำรวจ การเรียกร้องไม่ให้มีการนำเสนอชื่อคนร้าย ประมวลภาพความเสียใจของญาติผู้เสียชีวิต รายงานด่วนวิสามัญคนร้าย และภาพวีดีโอวินาทีวิสามัญคนร้าย
ส่วนกระแสสังคมที่มีต่อสื่อกระแสหลัก แฮชแท็ก (Hashtag) #กราดยิงโคราช พบมากสุด แฮชแท็กที่เกี่ยวข้องกับสื่อ ได้แก่ คำว่า #สื่อไร้จรรยาบรรณ ขณะที่สื่อกระแสหลักที่ได้รับการปฏิสัมพันธ์บนเฟชบุคมากที่สุด ได้แก่ ไทยรัฐ ข่าวสด ช่อง 8 ช่องวัน ช่อง 7 และช่องอัมรินทร์ 34
สำหรับโครงสร้างกลุ่มข้อความแสดงความเห็น (comment) จำนวน 60,000 ข้อความที่มีต่อ Influencers พบว่า ประชาชนติดตามเรื่องบนโซเชี่ยลมากๆ โดยไม่ได้แยกสื่อไหนเป็นสื่อกระแสหลัก สื่อออนไลน์ หรือ Influencers การแสดงความคิดเห็น ส่วนใหญ่แสดงความเสียใจต่อครอบครัว และไว้อาลัยผู้เสียชีวิต ขอให้ผู้ที่ติดอยู่ปลอดภัย ขอให้ย่าโมคุ้มครองทุกคน ขอให้ผู้เสียชีวิตไปสู่สุขคติ ขอบคุณเพจต่างๆ และการพูดถึงสื่อ และ Influencers เป็นต้น
นายกล้า กล่าวด้วยว่า คนบนโซเชียลแสดงความเห็นอกเห็นใจกัน เรามีเป้าหมายเดียวกันเพื่อให้สังคมดีขึ้น ไม่ได้บอกว่าเรื่องนี้ใครต้องออกมารับผิดชอบ คนใดคนหนึ่ง ข้อมูลพวกนี้ทำให้เห็นภาพรวมคนทั้งประเทศได้ว่า เรากำลังถกเรื่องที่ร้ายแรงมากๆ ในกลุ่มเล็กๆ หรือเรากำลังถกเรื่องกลุ่มคนใหญ่ๆ ที่กำลังทำอะไรกันอยู่"
แนะรัฐต้องประกาศยกระดับภาวะวิกฤติ
ขณะที่ ดร.สุภาพร โพธิ์แก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการสถานี สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการสื่อสารในภาวะวิกฤติเหตุการณ์โคราช ระยะเวลา 17 ชั่วโมง ปรากฎว่า ภาครัฐไม่มีการประกาศภาวะวิกฤติ หรือทำให้สังคมรู้ว่า สถานการณ์นี้ไม่ปกติ
“การประกาศสื่อสารในภาวะวิกฤติ จะเป็นการส่งสัญญาณที่คมและชัดที่สุด สังคมกำลังอยู่ในโหมดนี้ หากเราเข้าใจสื่อ และสาธารณชนจะรู้ว่า ควรมีท่าทีอย่างไร แต่กลายเป็นว่า เราผลักประชาชนทั้งหมดให้เป็นกองเชียร์ เหมือนดูหนังในหน้าจอ”ดร.สุภาพร กล่าว และว่า การสื่อสารในภาวะวิกฤติ จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา จิตวิทยาสังคม เป็นที่ปรึกษาให้กับคนทำสื่อ ชั่วโมงนี้ 1 2 3 ประเด็นที่ต้องสื่อสารคืออะไร ประเทศไทยไม่เคยมีทีมแบบนี้เลย
ดร.สุภาพร กล่าวด้วยว่า เมื่อเหยื่อกราดยิงที่โคราชสำคัญที่สุด เราจะไม่เห็นปรากฎการณ์เหยื่อวิ่งออกมาจากห้างเทอมินัล 21 แล้วถูกสื่อถามออกมาจากชั้นไหน เพราะเราถือว่า ทุกคนที่หลุดออกมาจากห้างนั้น ถือว่าได้รับบาดเจ็บทั้งสิ้น พวกเขาอาจไม่ได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย แต่จิตใจ ฉะนั้น เราไม่ควรปล่อยให้กลับบ้าน แต่หากเขาได้พบจิตแพทย์คุยกัน มีจุดพักพิงก่อน เพื่อสร้างความพร้อมก่อนปล่อยกลับบ้าน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/