หน่วยปฏิบัติการวิจัย DIRU นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เปิดผลวิจัย 15 ความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ของคนไทย แต่ละช่วงวัย พบ 5 อันดับแรก เจอทั้งเนื้อหาความรุนแรง โฆษณาสินค้าไม่มีความปลอดภัย เนื้อหาสุขภาพไม่น่าเชื่อถือ ข่าวปลอม ลามกอนาจาร
เมื่อเร็วๆ นี้ รองศาสตราจารย์ ดร.พนม คลี่ฉายา หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านความรอบรู้ทางดิจิทัลและการรู้เท่าทันสื่อ (DIRU) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวงานวิจัย "15 ความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ และความรอบรู้ทางดิจิทัลของคนไทย ณ โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส กรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ในส่วนโครงการวิจัย "การเพิ่มความสามารถในความรอบรู้ทางด้านดิจิทัลและการรู้เท่าทันที่มีต่อความผูกผันและความเสี่ยงจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของประชาชน" ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (สำนักงาน กสทช.)
รศ.ดร.พนม กล่าวถึงงานวิจัยคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ช่วงปลายปี 2563 ซึ่งสุดท้ายจะมีการพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มสำหรับเพิ่มความสามารถความรอบรู้ทางดิจิทัล
จากการวิจัยเบื้องต้น ทั้งการระดมความเห็นผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ นักวิชาชีพสาขาที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง 4 ช่วงวัย แบ่งเป็น กลุ่มอายุ 15-22 ปี กลุ่มอายุ 23-39 ปี กลุ่มอายุ 40-59 ปี และกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป รวมถึงการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 2,580 คน จาก 11 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่า สื่อสังคมออนไลน์ที่กลุ่มตัวอย่างใช้มากที่สุดและบ่อยที่สุด ได้แก่ ไลน์ เฟชบุ๊ค ยูทูป สำหรับอินสตาแกรม และทวิตเตอร์ มีจำนวนผู้ใช้น้อย
ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างใช้สื่อสังคมออนไลน์ เฉลี่ย 7-8 ครั้งในแต่ละวัน และในแต่ละครั้งใช้งานอยู่ช่วง ครึ่งชั่วโมง - 1 ชั่วโมง
ในภาพรวมกลุ่มตัวอย่างพบเจอความเสี่ยงบนสื่อสังคมออนไลน์ 15 เรื่อง เรียงลำดับ ดังนี้
1.ภาพ คลิป คำพูดที่มีความรุนแรง ถ้อยคำหยาบคาย
2.โฆษณาสินค้าไม่ได้รับการรับรองด้านความปลอดภัย สินค้าผิดกฎหมาย พบเห็นโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง
3.เนื้อหาสุขภาพที่ไม่น่าเชื่อถือ โดนได้รับเนื้อหาเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพทั่วไปที่ส่งต่อๆ กันมา ซึ่งอาจไม่ถูกต้องตามหลักการแพทย์
4.ข่าวปลอม ข่าวลือ ข่าวลวง โดยได้รับข่าวปลอมที่ส่งต่อกันมา หรือขึ้นในหน้าจอของตนเอง
5.การเข้าถึงเนื้อหาด้านเพศ ลามก อนาจาร โดยเห็นเน็ตไอดอล นุ่งน้อยห่มน้อย ไปในแนวโป๊ เปลือย อนาจาร
6.หวยออนไลน์ ได้รับเลขเด็ด ใบ้หวยบนเฟชบุ๊ก หรือไลน์ แล้วเชิญชวนเข้ากลุ่มเล่นหวย
7.การชักชวนเล่นการพนัน ถูกชักชวนให้สมัครสมาชิกเพจการพนัน บ่อนออนไลน์ หรือกลุ่มเล่นพนันออนไลน์
8.การหลอกลวงจากการซื้อสินค้าออนไลน์ โดยสั่งซื้อสินค้าแล้วได้ของที่ไม่มีคุณภาพ
9.การหลอกลวงโดยชวนให้ไปทำงานหรือหารายได้ที่ให้ผลตอบแทนสูง ถูกชวนให้สมัครงาน ทำอาชีพเสริมที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่กลับกลายเป็นการเสนอขายสินค้า
10.ความเสียหายที่เกิดจากระบบคอมพิวเตอร์ โดยพบเห็นโฆษณาที่ส่งมาถึงระบบคอมพิวเตอร์
11.แชร์ออนไลน์ เชิญชวนให้สมัครเข้ากลุ่มแชร์ออนไลน์
12.การถูกหลอกลวงจากคนแปลกหน้า โดยแจ้งว่าได้รับโชค แล้วให้กดลิงค์ที่นำไปสู่เนื้อหาที่อาจนำไปสู่การหลอกลวงได้
13.ข้อมูลส่วนตัวถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์อื่นจนเกิดความเสียหาย ถูกบังคับให้ต้องกรอกข้อมูลส่วนตัว เมื่อสมัครใช้งานเพจ หรือเข้ากลุ่มออนไลน์
14.หุ้นออนไลน์ เชิญชวนเข้ากลุ่มเล่นหุ้นหรือเว็บไซต์หุ้นออนไลน์จากในและต่างประเทศ
15.การถูกกลั่นแกลังจนเกิดความเสียหาย โดยเพื่อน หรือคนอื่นแกล้งโพสต์เรื่องที่เสียหาย น่าอับอายเกี่ยวกับตัวเรา
รศ.ดร.พนม กล่าวอีกว่า ผลการวิจัย ยังชี้ให้เห็นแต่ละช่วงวัยมีความเสี่ยงที่เหมือนกันและแตกต่างกันไป คือ กลุ่มอายุ 23-39 ปี เป็นกลุ่มที่พบเจอความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่นๆในเกือบทุกเรื่อง กลุ่มอายุ 15-22 ปี เจอความเสี่ยงเรื่องข่าวปลอม การถูกกลั่นแกล้ง มากกว่ากลุ่มอื่น และพบเจอความเสี่ยงเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์อื่นจนเกิดความเสียหาย ใกล้เคียงกลุ่มอายุ 23-39 ปี
นอกจากนี้ กลุ่มอายุ 40-59 ปี พบเจอความเสี่ยงจากการถูกหลอกลวงจากคนแปลกหน้ามากกว่ากลุ่มอื่น ขณะที่กลุ่มอายุ 60 ปี ขึ้นไป พบเจอความเสี่ยงจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์น้อยสุดในทุกเรื่อง
"ผลวิจัยแสดงให้เห็นว่า คนไทยทุกช่วงวัย มีโอกาสเจอความเสี่ยงบนโลกออนไลน์หลายเรื่องด้วยกัน ดังนั้นสิ่งที่ต้องดำเนินการคือ การเพิ่มความสามารถด้านความรอบรู้ทางดิจิทัลและรู้เท่าทันสื่อให้กับประชาชนทุกช่วงวัย ฝึกความเคยชินในการตั้งคำถามกับเนื้อหา หรือเรื่องที่ไม่ถูกต้อง อคติ ความหมายแฝง ความน่าเชื่อถือ ซึ่งการตั้งคำถามกับเนื้อหาจะเป็นจุดเริ่มต้นของการรู้เท่าทัน"