สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ -สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ ส่องพฤติกรรมการออมคนไทย พบเงินฝากกระจุกตัว คนไทยมีบัญชีเงินฝากแพร่หลาย แต่มีเงินติดบัญชีน้อย อึ้ง! 12.2 ล้านคน มีเงินในบัญชีไม่เกิน 500 บาท 4.7 ล้านคน มีไม่ถึง 50 บาท เพศหญิงมีเงินในบัญชีมากกว่าชาย 2 เท่า และ 88% ส่วนใหญ่ ฝากเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์
วันที่ 20 ธันวาคม ธนาคารแห่งประเทศไทย แถลงข่าว PIER Research Brief ส่องพฤติกรรมการออมของคนไทย ผ่านข้อมูลบัญชีเงินฝากธนาคารกว่า 80 ล้านบัญชีของ DPA (สถาบันคุ้มครองเงินฝาก) ณ ห้องแถลงข่าว อาคาร 2 ชั้น 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย โดย น.ส.อัจจนา ล่ำซำ สถาบันวิจัยป๋วย อึ๊งภากรณ์ และ น.ส. รัฐพร บุญเลิศ จากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
น.ส.อัจจนา กล่าวถึงการบัญชีเงินฝาก ถือเป็นบริการขั้นพื้นฐาน จุดเริ่มต้นที่คนจะมีการออมเกิดขึ้น และประตูสู่บริการทางการเงินอื่นๆ คนไทยการเข้าถึงบริการเงินฝากสูงขึ้นตลอดเวลา ข้อมูลจากธนาคารโลก ระบุว่า คนไทยมีบริการเงินฝาก ไม่ว่ารูปแบบเงินฝาก หรือโมบายแบงก์กิ้งอันดับ 20 ของโลก หรือประมาณลำดับ 6 ในเอเซีย แต่ภาวะการออมต่อรายได้ กลับลดลง ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นของหนี้ครัวเรือน
น.ส.อัจจนา กล่าวถึงงานการศึกษาเรื่องพฤติกรรมการออมส่วนใหญ่ใช้วิธีการสำรวจ ซึ่งได้เห็นทุกรูปแบบการออมของคน ทั้งออมในรูปของเงินสด เงินฝาก ที่ดิน บ้าน และทองคำ ฯลฯ แต่ก็มีข้อเสีย กลุ่มตัวอย่างไม่สามารถครอบคลุม คนทุกกลุ่ม จึงไม่สามารถสะท้อนพฤติกรรมการออมได้ไม่เต็มที่นัก
ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร่วมกับสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ที่เก็บไว้ที่สถาบันคุ้มครองเงินฝาก เพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมการออมของคนไทยมากขึ้น
จากข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2560 มีปริมาณเงินฝากรวมทั้งสิ้น 12 ล้านล้านบาท หรือ 72% ของเงินฝากในระบบทั้งหมด ซึ่งครอบคลุมกว่า 80.2 ล้านบัญชีฝาก ของผู้ฝากเงินในระบบธนาคารพาณิชย์กว่า 37.9 ล้านราย จากสถาบันการเงิน 34 แห่ง มาสะท้อนสถานการณ์การออมในรูปแบบบัญชีเงินฝากของคนไทย
การศึกษาชิ้นนี้มีความละเอียดในรายบัญชี จนสามารถตอบได้ว่า คนไทยกลุ่มต่างๆ มีเงินฝากรายบัญชีมากน้อยแค่ไหน และพฤติกรรมการออมของคนกลุ่มต่างๆ อายุ เพศ ภาคไหน มีพฤติกรรมแตกต่างกันหรือไม่
ทั้งนี้ งานวิจัย ได้พบ 6 ข้อเท็จจริง พฤติกรรมการออมของคนไทย ผ่านข้อมูลบัญชีเงินฝาก ดังนี้
1. เงินฝากมีการกระจุกตัวสูง โดยผู้ฝากรายใหญ่สุด 10% มีเงินฝากรวมถึง 93% ของเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด โดยมักจะกระจุกในชุมชนเมืองของจังหวัดใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา และสงขลา เป็นต้น
2.คนไทยมีบัญชีเงินฝากอย่างแพร่หลาย แต่มีเงินในบัญชีน้อย โดยคนไทยกว่าครึ่งจะมีบัญชีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ แต่ครึ่งหนึ่งของผู้ฝากมีบัญชีไม่ถึง 3,142 บาท ขณะที่เพียง 0.2% ของผู้ฝากมีเงินในบัญชีมากกว่า 10 ล้านบาท นอกจากนี้ยังพบว่า 32.8% ของผู้ฝาก หรือ12.2 ล้านคน มีเงินในบัญชีไม่เกิน 500 บาท ซึ่งในจำนวนนั้นมีผู้ฝากถึง 4.7 ล้านคนมีเงินในบัญชีไม่ถึง 50 บาท
3.ความเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝาก มีความแตกต่างทั้งในมิติอายุ พื้นที่ และระหว่างผู้ชายและผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงมีสัดส่วนของคนที่มีบัญชีเงินฝาก 'สูงกว่า' ผู้ชาย และมีเงินในบัญชีมากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่าตั้งแต่ยังเด็ก อาจสะท้อนความมีวินัยทางการเงิน หรือทักษะการบริหารจัดการเงินของผู้หญิงที่มากกว่า รวมถึงบทบาทของผู้หญิงที่สำคัญในการดูแลการเงินของครอบครัว
4.คนมีบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์มากที่สุด คือ คนที่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล น้อยสุด คือภาคใต้ นอกจากนี้คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเงินฝากในบัญชีน้อยที่สุด
5.ผู้ฝากเกือบทั้งหมดจะมีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ และผู้ฝากส่วนใหญ่ 88% จะฝากเงินไว้กับ 'บัญชีออมทรัพย์' เท่านั้น รวมทั้งนิยมฝากกับธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่เป็นหลัก นอกจากนี้ครึ่งหนึ่งของผู้ฝากจะมีเพียง 1 บัญชีเงินฝากและใช้ 1 สถาบันการเงิน
6.บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เป็นบัญชีมหาชนที่ใช้โดยคนทุกกลุ่มทุกวัย ขณะที่บัญชีเงินฝากประจำจะพบมากในกลุ่มวัยหลังเกษียณ รวมทังเงินส่วนใหญ่ของผู้ฝากทุกกลุ่ม ทุกวัย ทุกเพศ ทุกภาค จะฝากอยู่ในบัญชีอมมทรัพย์ เฉลี่ยประมาณ 93.3% ของเงินฝากในพอร์ตผู้ฝาก เพียง 6.3% ที่อยู่ในเงินฝากประจำ
สำหรับประเด็นที่ผู้วิจัยชวนคิดต่อมี 2 ประเด็น คือ ประการแรก แม้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการเงินฝาก และบัญชีเงินฝากกันอย่างแพร่หลายแล้ว แต่ยังมีระดับการออมในบัญชีเงินฝากอยู่ในระดับต่ำ หลักฐานเชิงประจักษ์แสดงให้เห็นว่า นโยบายที่ส่งเสริมการออมต้องไม่หยุดแค่การส่งเสริมการเข้าถึงบริการเงินฝากเท่านั้น แต่ควรให้ความสำคัญกับนโยบายกระตุ้นพฤติกรรมการออม ตระหนัก และเข้าใจถึงความสำคัญของการออม ประการที่สอง คนไทยส่วนใหญ่ยังฝากเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์ แทนการฝากเงินไว้ในบัญชีประเภทอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า และผู้ฝากบางกลุ่มก็ยังคงเก็บเงินในปริมาณมากในบัญชีเงินฝากที่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่าผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ หลักฐานเชิงประจักษ์นี้สะท้อนถึงการที่ผู้ฝากให้ความสำคัญในบางคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น ความยืดหยุ่น หรือสภาพคล่อง หรือการขาดความตระหนักรู้ถึงผลิตภัณฑ์เงินฝากประเภทอื่นๆ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทอื่นๆ หรือการขาดความรู้ในการบริหารจัดการเงิน