มูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย แพร่ผลวิจัยหาสาเหตุ วัน เวลา และสถานที่เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน พร้อมทดลองใช้ AI พยากรณ์อุบัติเหตุ 24 ชม. ล่วงหน้า ตั้งเป้าใช้ข้อมูล ลดอุบัติเหตุลง 20% ในเวลา 2 ปี
วันที่ 22 พฤศจิกายน มูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย (iTIC ) จัดงานสัมมนา iTIC FORUM 2019: Big Data and AI for Safer Roads” ห้องบอลรูม ชั้น 4 โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ เพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลการวิจัยหาสาเหตุ วัน เวลา และสถานที่เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน และการทดลองใช้ AI พยากรณ์อุบัติเหตุ 24 ชม. ล่วงหน้า ตลอดจนเรียนรู้การแก้ปัญหาจากประเทศญี่ปุ่น พร้อมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของภาครัฐและเอกชน
นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก ได้รายงานเมื่อปี 2017 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตบนท้องถนน 22,491 ราย ลำดับ 9 ของโลก เป็นลำดับ1 ของเอเชีย ดังนั้น การทำงานมูลนิธิฯ ตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย ทำงานเพื่อหาแนวทางการลดอุบัติเหตุลงให้ได้ 20% ในเวลา 2 ปี
สำหรับข้อมูลเบื้องต้นของอุบัติเหตุที่เกิดในกรุงเทพและปริมณฑล จนมีผู้เสียชีวิตนั้น นายนินนาท กล่าวว่า คิดเป็น 50% ของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั้งประเทศ โดยที่น่าสนใจอุบัติเหตุที่เกิดในกรุงเทพนั้น เกิดขึ้นบริเวณแคบๆ ฉะนั้น สังคมไทยมีโอกาสแก้ไขปัญหานี้ได้
ดร. ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ นักวิจัย กล่าวถึงการวิจัยหาสาเหตุ วัน เวลา และสถานที่เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน และการทดลองใช้ AI จากข้อมูลสามารถรู้ได้เป็นรายถนน ข้อมูล Road Data ถนนเส้นนี้โค้งเท่าไหร่ มีสามแยก ป้ายอะไรบ้าง มีกี่เลน และมีข้อมูลเชิงแผนที่ ถนนเส้นนี้ห่างจากร้านเหล้า เซเว่น เอทีเอ็มเท่าไหร่ รวมถึงข้อมูลสภาพอากาศ และเก็บข้อมูลเหตุการณ์
"อุบัติเหตุในประเทศเกิน 50% เกิดขึ้นรอบๆ กรุงเทพมหานคร ขณะที่การเสียชีวิต ส่วนใหญ่เกิดจากการขับขี่มอเตอร์ไซต์ ฉะนั้น การทำนโยบายจึงต้องแยกเรื่องการเกิดอุบัติเหตุกับการเสียชีวิต ออกจากกัน การแก้ไขปัญหาต้องไม่เหมือนกัน"
ดร. ณภัทร กล่าวถึงงานวิจัยที่ค้นพบพื้นที่กรุงเทพ การเกิดอุบัติเหตุจนมีผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากการขับขี่มอเตอร์ไซต์ และเวลาที่เกิดอุบัติเหตุจะเกิดช่วงค่ำถึงรุ่งสาง หรือแถวถนนรัชดาภิเษก ความเสี่ยงจะเกิดอุบัติเหตุจะเพิ่มสูงสุด ช่วงวันศุกร์ เสาร์ ค่ำๆ นี่คือข้อค้นพบ แม้ประเทศไทยพยายามแก้ไขปัญหานี้มานานแล้ว แต่แก้ไม่ได้ ค่อนข้างยาก ไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร เป็นที่ผู้ขับรถ สภาพถนน สภาพอากาศ หรือเมาแล้วขับ ซึ่งก็ยังไม่มีคำตอบ
"งานวิจัยชิ้นนี้ค้นพบ การลดอุบัติเหตุบนท้องถนนของประเทศไทยยังมีหวัง เช่น จุดที่เกิดอุบัติบ่อยๆ ก็จะเกิดซ้ำๆ ทั้งสะพาน อุโมงค์ลอด เราหวังอย่างยิ่งว่า หลังจากวันนี้จะมีหน่วยงานมาติดต่อเพื่อนำข้อมูลไปลงใช้จริง" นักวิจัย กล่าว และว่า พฤติกรรมคนขับรถ ไม่ได้เป็นปัจจัยให้เกิดอุบัติเหตุเพียงอย่างเดียว อาจเกี่ยวข้องกับสภาพของถนนด้วย
ส่วนข้อมูลเรื่องความเร็วกับการเกิดอุบัติเหตุทางถนนนั้น ดร. ณภัทร กล่าวว่า ถนนที่รถวิ่งด้วยความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ หากความเร็วเกินกว่านี้ ความเสี่ยงค่อนข้างสูง ฉะนั้น นโยบายการปรับเปลี่ยนหรือจำกัดความเร็วของรถที่วิ่งบนท้องถนน จำเป็นต้องทำการศึกษาให้ดีก่อน
ในส่วนของนโยบายภาครัฐ ดร. ณภัทร กล่าวว่า นโยบายต้องถูกการวัดผลมากขึ้น เรื่องการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ประเทศไทยมีเกือบทุกนโยบายแล้ว แต่คุ้มค่าแค่ไหน ยังเป็นคำถาม จึงอยากให้มีการวัดผลมากขึ้นหากจะออกนโยบายใดๆ มา การวัดผลนโยบาย เช่น เรื่องของการตั้งด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากการเก็บข้อมูลปี 2018-2019 พบว่า การตั้งด่านสามารถลดอุบัติเหตุลงไปได้ 757 ครั้ง และพบว่า การตั้งด่าน เขยิบไปเรื่อยๆ ไม่ได้อยู่กับที่ นี่เป็นตัวอย่างของการเก็บข้อมูล โดยเฉพาะหากข้อมูลดีจะสามารถทำอะไรได้อีกมาก และสามารถบอกได้ว่า การแก้ไขปัญหานี้ประเทศเดินมาถูกทางหรือไม่
" วันนี้เราต้องออกแบบ (Redesign) การเก็บข้อมูลอุบัติเหตุในประเทศไทยเสียใหม่ ข้อมูลอุบัติเหตุ 1 ครั้งไปโผล่ตรงไหนบ้าง พบว่า มันไปโผล่เยอะเกิน ทั้งที่จริงๆ แล้ว ต้องมีแค่ 1 ฐานข้อมูล มิเช่นนั้นเสียเวลา ผลการวิเคราะห์ได้จะต่ำมาก"
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/